
ตำนานยักษ์ "เทพผู้พิทักษ์ศาสนา” ตอน ๑
เคยสังเกตกันบ้างไหม เวลาเราเข้าไปในวัดเพื่อจะทำบุญ ทำทาน ไหว้พระขอพร หรือประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เรามักจะพบรูปเคารพที่เป็นรูปปั้นต่างๆ นอกจากพระพุทธรูปอันเป็นรูปเคารพแทนพระพุทธองค์แล้ว ที่พบเห็นกันบ่อยๆ ก็คือ รูปปั้นยักษ์ที่ยืนอยู่หน้าโบสถ์ หน้าวิหารบ้าง บางวัดก็มีภาพแกะสลักนูนต่ำบริเวณตรงประตู หรือแม้แต่ภาพเขียนสีที่เป็นรูปยักษ์ให้ได้พบเห็นกันทั่วไป ทำให้สงสัยว่า รูปปั้นหรือภาพเขียนยักษ์นี้ มีความสำคัญและมีที่มาอย่างไร วัดของชาวพุทธ โดยเฉพาะวัดที่สำคัญของประเทศ เช่น วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) วัดอรุณราชวรารามราชวรวิหาร (วัดแจ้ง) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) และอีกหลายวัดในประเทศไทย มักปรากฏให้พบเห็นกันทั่วไป

|

|
ยักษ์ทวารบาล หน้าซุ้มประตูมณฑปวัดโพธิ์ |
ท้าวเวสสุวรรณ วัดจฬามณี สมุทรสงคราม |
โดยตามวัดวาอารามต่าง ๆ ที่พบมักจะมีรูปปั้นยักษ์ ๑ ตน บ้าง ๒ ตนบ้าง ยืนถือกระบองค้ำพื้นอยู่ตรงกลาง ส่วนมากจะมี ๒ ตน เฝ้าอยู่หน้าประตูโบสถ์ หรือ วิหารที่เก็บของมีค่า ที่ประกอบด้วยพระพุทธรูป และโบราณสมบัติล้ำค่าของทางวัดบรรจุอยู่ ด้านละ ๑ ตน หรือไม่ก็ตั้งอยู่บริเวณลานวัด หรือที่ที่มีคนผ่านไปมาเห็นได้โดยง่าย บ้างก็สร้างเอาไว้ในวิหาร หรือ ศาลาโดยเฉพาะก็มีให้พบเห็น ซึ่งยักษ์เหล่านั้น ถ้าเป็น ตนเดียว ก็จะหมายถึงรูปเคารพที่คนทั่วไปรู้จักกันในชื่อ "ท้าวเวสวัณ” หรือ "ท้าวเวสสุวรรณ” แต่ถ้าพบเป็น ๒ ตน ก็จะเป็นบริวารของท้าวเวสสุวรรณ ที่คอยทำหน้าที่ปกปักรักษา ดูแลบริเวณวัด นั่นเอง
รูปปั้นยักษ์ทวารบาล วัดอรุณราชวรารามราชวรวิหาร (วัดแจ้ง) กรุงเทพฯ
คนไทยสมัยโบราณ มีความเชื่อว่า คนที่มีลูกเพิ่งคลอดหรือมีเด็กเล็ก มักนิยมนำผ้ายันต์ที่มีรูปยักษ์ยืนย่อเข่า ถือกระบองอยู่ตรงกลาง มาแขวนหรือตั้งไว้ตรงเหนือที่เด็กนอนหลับ เพราะมีความเชื่อว่าสามารถป้องกันภูติผีปีศาจไม่ให้มารบกวนหรือทำอันตรายต่อเด็กเล็ก เพราะเชื่อว่ายักษ์ตนนี้เป็นผู้ปกครองหรือผู้ควบคุมภูตผี-ปิศาจนั่นเอง สังเกตคนที่มีลูกอ่อนและชอบร้องไห้ตอนกลางคืน ไม่หลับไม่นอนเหมือนมีอะไรมารบกวนเด็ก ทั้งยังเชื่อว่าสามารถป้องกันภูตผี ไสยศาสตร์มนต์ดำได้อีกด้วย ซึ่งมีเรื่องราวของผู้มีอาชีพสัปเหร่อ และอาชีพประหารชีวิตนักโทษ มักพกพารูปท้าวเวสสุวรรณ สำหรับคล้องคอเพื่อเป็นเครื่องรางของขลัง ไว้ป้องกันภัยจากวิญญาณร้ายที่อาจมารบกวนได้

|

|
พระไพศรพณ์ สัญลักษณ์แห่งความเที่ยงธรรม |
ตราประจำจังหวัดอุดรธานี |
ท้าวเวสสุวรรณ คือใคร "ท้าวเวสสุวรรณ” ที่คนทั่วไปรู้จักนี้คือหนึ่งในจตุโลกบาล หรือเทวดาผู้รักษาโลก เป็นอธิบดีหรือหัวหน้าผู้ปกครองสวรรค์ชั้นแรก คือ จาตุมหาราชิกา เป็นสวรรค์ชั้นล่างที่สุดในบรรดาสวรรค์ทั้งหมด มีเทพสี่องค์หรือท้าวมหาราช ๔ องค์ ทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองโลกมนุษย์ทั้งสี่ทิศ โดยท้าวเวสสุวรรณ เป็นท้าวมหาราชปกครองทิศอุดรหรือทิศเหนือ เป็นใหญ่ในยักษ์เทวดาทั้งหลาย ท้าวธตรฐ ปกครองทิศตะวันออก มีเหล่าคนธรรพ์เทวดาเป็นบริวาร ท้าววิรุฬหก ปกครองทิศใต้ มีเหล่ากุมภัณฑ์เทวดาเป็นบริวาร ท้าววิรูปักษ์ ปกครองทิศตะวันตก มีนาคะเทวดาเป็นบริวาร
ภาพลายเส้น ท้าวจตุโลกบาล ทั้ง ๔
ในสารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่มที่ ๓ หน้า ๑๔๓๙ กล่าวถึง ท้าวกุเวรหรือท้าวเวสวัณ ไว้ว่า กุเวรท้าว พระยายักษ์ผู้เป็นเจ้าแห่งขุมทรัพย์มียักษ์ และคุยหกะ(ยักษ์ผู้เฝ้าขุมทรัพย์) เป็นบริวาร ท้าวกุเวรนั้น บางทีก็เรียกว่า ท้าวไวศรวัน (เวสสุวรรณ) ภาษาทมิฬเรียก "กุเวร" ว่า "กุเปรัน" ซึ่งมีเรื่องราวอยู่ในรามเกียรติ์ ที่ได้รับอิทธิพลมาจากมหากาพย์รามายณะของอินเดีย
ขอขยายความ "ยักษ์” เป็นอมนุษย์พวกหนึ่ง มีกล่าวถึงทั้งในทางศาสนาและวรรณคดี ยักษ์มีรูปร่างใหญ่โต มีเขี้ยว มีฤทธิ์ เป็นบริวารของท้าวกุเวรผู้เป็นโลกบาลประจำทิศเหนือ ตามความเชื่อทางพระพุทธศาสนา นามว่า ท้าวกุเวร ผู้ปกครองเหล่ายักษ์ ยึดมั่นรักษาศีล นับถือและปกป้องพระพุทธศาสนา คนไทยจึงนิยมสร้างประติมากรรมรูปยักษ์ขนาดใหญ่ไว้บริเวณซุ้มประตูทางเข้าศาสนสถานสำคัญ ๆ หรือเขียนรูปยักษ์ไว้ที่บานประตู เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นทวารบาลปกป้องพุทธสถาน
|
คติความเชื่อเกี่ยวกับยักษ์ตนนี้ ในสถานะเป็นเทพผู้พิทักษ์รักษาและคุ้มครองไม่ให้เกิดภยันตราย ได้แพร่หลายในสังคมไทยอย่างมาก แม้แต่ราชสำนักยังพบเห็นการนำชื่อของ ท้าวเวสสุวรรณและโลกบาลมาตั้งเป็นชื่อของสถานที่ เช่น ที่พระนครคีรี(เขาวัง) อันเป็นที่ตั้งของพระราชวัง ที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการสร้างป้อมล้อมอยู่ทั้ง ๔ ทิศ ทรงนำชื่อของจตุโลกบาลแบบพุทธมาตั้งเป็นชื่อของป้อมทั้ง ๔ โดยป้อมทางทิศตะวันออกมีชื่อว่า ธตรฐป้องปก ป้อมทางทิศใต้ชื่อ วิรุฬหกบริรักษ์ ป้อมทางทิศตะวันตกชื่อ วิรูปักษ์ป้องกัน ป้อมทางทิศเหนือชื่อ เวสสุวัณรักษา
แม้แต่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ได้มีการนำชื่อท้าวโลกบาลของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มาตั้งเป็นชื่อประตูรอบพระตำหนักคล้องจองกันไปตามทิศ คือ พระอินทร์อยู่ชม พระยมอยู่คุ้ม พระพิรุณอยู่เจน พระกุเวรอยู่เฝ้า รวมไปถึงจังหวัดอุดรธานีมีการสร้างรูปเคารพท้าวเวสสุวรรณขนาดใหญ่อยู่คู่กับศาลหลักเมืองถือเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด และยังนำรูปท้าวเวสสุวรรณยืนถือกระบองมาเป็นตราประจำจังหวัดตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๓ ซึ่งตรานี้ออกแบบโดยกรมศิลปากรนี่เอง |
เรื่องราวของยักษ์หรือเทพองค์นี้ จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจและน่าค้นหาอย่างมาก ในศาสนาพุทธเน้นสอนให้มีความเชื่อโดยยึดหลักธรรมชาติ ด้วยเหตุด้วยผล ไม่ให้งมงายกับสิ่งที่มองไม่เห็นหรือจับต้องไม่ได้ แต่คัมภีร์ทางพุทธศาสนา ก็ไม่ได้ปฏิเสธเรื่องราวที่เหนือธรรมชาติ เพียงแต่พระพุทธองค์มีข้อห้ามไม่ให้นักบวชหรือภิกษุ แสดงอิทธิปาฏิหารย์ หรือแสดงสิ่งที่เหนือธรรมชาติ จึงแสดงให้เห็นว่าเรื่องเหนือธรรมชาติมีอยู่จริง ซึ่งเรื่องราวของยักษ์ตนนี้ ถือว่ามีความสำคัญ มีเรื่องราว มีที่มาที่ไป และมีความน่าสนใจอย่างมากเพราะถูกบันทึกไว้ในพระไตรปิฎกหลายฉบับของศาสนาพุทธ ในคัมภีร์ของพราหมณ์และฮินดู ซึ่งเป็นศาสนาที่เกิดขึ้นก่อนพุทธศาสนาเป็นพันปี และเรื่องราวของยักษ์ตนนี้ยังเกี่ยวข้องกับคติความเชื่อของหลายประเทศที่นับถือศาสนาพุทธเช่นเดียวกับประเทศไทย ได้แก่ อินเดีย พม่า จีน เกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม ธิเบต เป็นต้น
|
|
รูปปั้นท้าวเวสสุวรรณ หน้าศาลหลักเมือง จ.อุดรธานี |
รูปปั้นยักษ์ทวารบาล วัดพระแก้ว กรุงเทพฯ |
ตำนานแรกเริ่ม ยุคก่อนการกำเนิดของพุทธศาสนา... (ติดตามอ่าน ตำนานยักษ์ "เทพผู้พิทักษ์ศาสนา” ตอน ๒)
ข้อมูล : ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จ
พระเจ้าอยู่หัว, กรุงเทพพฯ / ท้าวเวสสุวัณคือใครในคัมภีร์ทางพุทธศาสนาและฮินดู บทความวิจัย วารสารมนุษยศาสตร์ ปีที่ ๑๔ ฉบับที่ ๓ ประจำเดือนกันยายน - ธันวาคม ๒๕๖๐ มหาวิทยาลัยนเรศวร / ท้าวเวสสุวัณในสังคมและวัฒนธรรมไทย วารสารรามคำแหง ฉบับมนุษย์ศาสตร์ ปีที่ ๓๖ ฉบับที่ ๒ / การศึกษาเชิงวิเคราะห์บทบาทและหน้าที่ท้าวมหาราชใน พุทธปรัชญาเถรวาทตามทรรศนะพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ) มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วารสารสันติศึกษาปริทรรศน์ มจร ปีที่ ๕ ฉบับพิเศษ