กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วัฒนธรรมประเพณี
เรื่องเล่า.....พระภูมิ ๙ พระองค์ เป็นใคร มาจากไหน

วันที่ 4 ส.ค. 2563
 

     เรื่องเล่าสมัยบรรพกาล เมื่อครั้งพระเจ้าทศราช ครองราชย์สมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี ซึ่งถือกันว่าเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ และมีพระมเหสีทรงนามว่า สันทรทุกเทวี นางได้ประสูติพระโอรส ๙ พระองค์ ประกอบด้วย พระชัยมงคล พระนครราช พระเทเพล หรือ พระเทเพน พระชัยศพน์ หรือ พระชัยสพ พระคนธรรพ์ พระธรรมโหรา พระเทวเถร (พระวัยทัตหรือ พระเทวเถรวัยทัต) พระธรรมิกราช และพระทาษธารา ต่อมาเมื่อพระราชโอรสเจริญวัยเติบใหญ่แล้ว เจ้ากรุงพาลีได้ให้ไปครอบครองภูมิสถานต่างๆ ดังนี้
 
     ๑.พระชัยมงคล ให้ไปครอบครอง เคหสถาน บ้านเรือน โรงร้านต่างๆ
     ๒.พระนครราช ให้ไปครอบครอง ประตู ป้อมค่าย หอรบ บันได
     ๓.พระเทเพล หรือ พระเทเพน ให้ไปครอบครอง คอกสัตว์ต่างๆ
     ๔.พระชัยศพณ์ หรือ พระชัยสพ ให้ไปครอบครอง คลังเสบียง ยุ้ง ฉาง
     ๕.พระคนธรรพ์ ให้ไปครอบครอง โรงพิธีการแต่งงาน และเรือนหอ
     ๖.พระธรรมโหรา หรือ พระเยาวแผ้ว ให้ไปครอบครอง ภูเขา ป่า เรือกสวนไร่นา
     ๗.พระวัยทัต หรือ พระเทวเถรวัยทัต ให้ไปครอบครอง วัดวาอาราม ปูชนียสถานต่างๆ ฯลฯ
     ๘.พระธรรมมิคกะราช ให้ไปครอบครอง พืชพันธุ์ ธัญญาหาร อุทยาน สวนต่างๆ ฯลฯ
     ๙.พระทาษธารา ให้ไปครอบครอง บึง บ่อ ลำธาร ห้วยหนอง ลำคลอง ฯลฯ
 
     ครั้นกาลนานมา เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลก พระองค์ทรงขอพื้นที่จากพระเจ้ากรุงพาลี ๓ ก้าว เพื่อขอเป็นที่เผยแพร่ประกาศคำสอนของพระองค์ เมื่อพระภูมิอนุญาต พระพุทธองค์ทรงแสดงปาฏิหาริย์ ก้าวย่าง ๒ ก้าว ก็พ้นเขตพระภูมิทั้งหมด ทำให้บรรดาพระภูมิทั้งหลายไม่มีที่อยู่ต้องออกไปอยู่นอกขอบจักรวาลและได้รับความทุกข์ยากอดอยากเพราะขาดแคลนเครื่องสังเวย ไม่มีคนมาเอาเอกเอาใจอย่างที่เคยเป็นมา จึงเกิดการอดอยากในเครื่องสังเวย ดังนั้นท้าวทศราชจึงได้ใช้ให้โอรสทั้ง ๙ องค์ที่เป็นพระภูมิเจ้าที่ให้มากราบทูลพระพุทธเข้า เพื่อทูลขอเครื่องบัตรพลี (เครื่องสังเวย) และขอที่ดินคืน อย่างน้อยก็พอได้เป็นที่อยู่อาศัยบ้าง ครั้งเมื่อพระพุทธเจ้าทรงรับทราบถึงเรื่องที่พระภูมเจ้าที่ทูลพระองค์ก็ทรงมีพุทธานุญาต ให้ทราบโดยทั่วกันทั้งประชาชนและเทพยดาทั้งหลายว่า "ต่อไปนี้ ถ้าใครผู้ใด จะสร้างบ้านเรือนหรือก่อพระเจดีย์ ปลูกพระศรีมหาโพธิ์ ทำพระวิหาร ทำสถานนี้ปลูกศาลา ปั้นพระพุทธรูบวชพระภิกษุ หรือการมงคลใด ๆ ก็ให้จัดตั้งพระภูมิเอาไว้ แล้วบอกกล่าวทุกครั้งไป เพื่อพระภูมิจะได้เป็นผู้มาดูแลเป็นหูเป็นตาแทน”
 
     อีกตำนานหนึ่งกล่าวว่า ท้าวทศราชเกิดความโลภมาก เห็นแก่ตัว เบียดเบียนมนุษย์ปกครองบ้านเมืองอย่างไร้คุณธรรม กดขี่ข่มเหงราษฎรอย่างไม่กลัวบาป ได้รับความเดือนร้อนไปทั่วทุกแห่ง นอกจากนี้ยังรับสั่งให้พระโอรสทั้ง ๙ พระองค์ กระทำความผิดโดยเรียกร้องเครื่องเซ่นสังเวยต่างๆ จนราษฎรได้รับความทุกข์ยาก ไม่สามารถขัดขืนและหาทางออกได้ เมื่อพระศิวะมหาเทพทรงทราบ จึงมีโองการให้พระนารายณ์ (พระวิษณุ) อวตารลงมาปราบพระเจ้ากรุงพาลี เมื่อพระนารายณ์ที่อวตารลงมาได้เติบใหญ่เป็นพราหมณ์น้อย มีวิชา ความรู้ได้เดินทางมาเฝ้าท้าวทศราช เมื่อท้าวทศราชเห็นพราหมณ์น้อยก็เกิดความเลื่อมใส จึงถามพราหมณ์น้อยว่าต้องการอะไรเป็นเครื่องบูชา พราหมณ์น้อยจึงออกอุบายขอที่เพียง ๓ ก้าวเท่านั้น ท้าวทศราชก็รับปากและหลั่งน้ำอุทกธาราอุทิศ ขณะที่กำลังหลั่งนั้น พระศุกร์ ผู้เป็นอาจารย์ของท้าวทศราชรู้ทันอุบายของพราหมณ์น้อยก็ได้แปลงกายเข้าไปอุดรูน้ำไว้ พราหมณ์น้อยจึงเอาปลายหญ้าคาแยงเข้าถูกนัยน์ตาของพระศุกร์ จนได้รับความเจ็บปวดและทนไม่ไหวเหาะหนีไปน้ำจึงไหลออกมา
 
     จากนั้นพราหมณ์น้อยก็แสดงอิทธิฤทธิ์กลับเข้าสู่ร่างเดิมซึ่งใหญ่กว่าปราสาทราชมณเฑียร เมื่อก้าวเพียง ๓ ก้าว ก็กินอาณาเขตของกรุงพาลีทั้งหมด เมื่อท้าวทศราชเห็นก็ทรงลงก้มกราบเพื่อขอขมาพระนารายณ์ทันที(พราหมณ์น้อย) พระนารายณ์จึงทรงขับไล่ท้าวทศราชและครอบครัวให้ไปอยู่นอกเขตป่าหิมพานต์ นับจากนั้นราษฎรก็อยู่เย็นเป็นสุข ฝ้ายท้าวทศราช พระมเหสี และพระโอรส ต้องพบกับความยากลำบากแสนสาหัส ทำให้สำนึกถึงความผิดที่ตนได้กระทำไว้แต่หนหลัง ดังนั้น ท้าวทศราชจึงได้พาพระโอรสทั้ง ๙ พระองค์ ไปเข้าเฝ้าพระนารายณ์เพื่อขออภัยโทษและแสดงความสำนึกผิดอย่างแท้จริง พร้อมทั้งได้ปวารณาว่าจะตั้งอยู่ในศีลในธรรม ประกอบกรรมดี มีจิตใจเผื่อแผ่ พระนารายณ์เห็นถึงจิตอันแรงกล้าที่จะประกอบคุณงามความดีของท้าวทศราชและพระโอรสทั้ง ๙ พระองค์ จึงทรงอภัยโทษให้และอนุญาตให้กลับมาอยู่กรุงพาลีได้ดังเดิม แต่ไม่ใช่ฐานะกษัตริย์ แต่ให้ประทับอยู่บนศาลาที่มีเสาเพียง ๑ เสาปักลงบนผืนดินและจะต้องปฏิบัติตามคำสัญญาอย่างเคร่งครัด มิเช่นนั้นจะไม่ให้อยู่ในโลกอีกต่อไป
 
................................................
 
ที่มา : หนังสือ ประเพณี พิธีมงคล และวันสำคัญของไทย, วิกิพีเดีย, https://siamrath.co.th/n/47046, http://www.thaiphraphoom.com/history4.html
 
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)