กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วัฒนธรรมประเพณี
๑๑ ปริศนาธรรมที่ซ่อนไว้ในบายศรี พิธีทำขวัญบวชนาค

วันที่ 28 ก.ค. 2563
 

     บายศรี ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้คำจำกัดความไว้ว่า หมายถึง เครื่องเชิญขวัญหรือรับขวัญทำด้วยใบตอง รูปคล้ายกระทงเป็นชั้นๆมีขนาดเล็กใหญ่สอบขึ้นไปตามลำดับ เป็น ๓ ชั้น ๕ ชั้น ๗ ชั้น หรือ ๙ ชั้น มีเสาปักตรงกลางเป็นแกนมีเครื่องสังเวยวางอยู่ในบายศรีและมีไข่ขวัญเสียบอยู่กลางยอดบายศรี

 
     บายศรี เป็นส่วนสำคัญในพิธีกรรมในสังคมไทยเรามาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อาทิ การทำขวัญ บวงสรวง บูชาเทพยดา บูชาครู ฯลฯ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนหรือส่วนรวม เพราะบายศรีจะใช้เฉพาะในงานที่เป็นมงคลเท่านั้น และยังแฝงด้วยคติธรรมคำสอน ดังเช่น บายศรีที่ใช้ในพิธีทำขวัญบวชนาคก็แฝงด้วย ๑๑ ปริศนาธรรม ที่ให้แง่คิดไว้เตือนสติ ดังนี้
 
     ๑.บายศรีต้น ๕ ชั้น หมายถึง ศีล ๕ ข้อ
 
     ๒.บายศรีปากชาม ๓ หวี หมายถึง ไตรสิกขา ๓ อย่าง ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา
 
     ๓.อาหารคาวหวาน หมายถึง เนื้อหนังมังสาโลหิตในร่างกายของเราท่านทั้งหลายย่อมจะต้องอยู่ไม่นาน อีกหน่อยก็เน่าเปื่อยผุพัง
 
     ๔.ไม้ไผ่ ๓ ซีก (ที่ใช้ค้ำตัวบายศรี) เปรียบดั่งบุญกุศล กรรม ค้ำจุนชีวิตสัตว์ไว้ให้เป็นอยู่
 
     ๕. ดายผูกมัดบายศรี เปรียบได้กับทิฐิ (ความเห็น) อุปาทาน (ความยึดมั่น) ถือตนว่าเป็นนั้นเป็นนี่ มีความคลาดเคลื่อนไปจากครรลองครองธรรม ๖.ใบตองสด ๓ ใบ หมายถึง โลภะ โสทะ โมหะ เข้าห่อหุ้มจิตใจให้เห็นธรรม
 
     ๗.ผ้าหุ้มบายศรี เปรียบด้วยบุคคลที่ยังไม่ได้บรรพชาอุปสมบท ย่อมมืดมนอนธการ ไม่รู้จักรับผิดชอบชั่วดี บาปบุญคุณโทษ ไม่รู้จักแม้คุณพระรัตนตรัย คุณบิดา มารดา
 
     ๘.แว่นติดเทียนเวียนไป ๓ รอบ ได้แก่ภพทั้ง ๓ ภพ คือ กามภพ รูปภพและอรูปภพ
 
     ๙.การที่หมอขวัญเอาไฟเทียนมาจ่อที่หน้าผากของนาคนั้น เพื่อให้พิจารณาว่าไฟนี้เป็นของร้อน แล้วจึงเป่าให้ดับเสีย ๓ ครั้ง
 
     ๑๐.แป้งหอมละลายเจิมให้นาค เป็นเครื่องเตือนใจพ่อนาคว่า จงดับไฟ ๓ กอง ได้แก่ ไฟคือราคะ ไฟคือ โทสะ ไฟคือโมหะ เมื่อดับไฟลงแล้วจะรู้สึกเย็นสบายเหมือนแป้งหอมละลายทาเจิมให้ที่เขียนเป็นอักษรตัว มะ อะ อุ นั้น เป็นอักษรย่อ ได้แก่ อุปัชฌาย์คู่สวดทั้งซ้ายขวา
 
     มะ อยู่ไหล่ขวา เปรียบด้วย พระกรรมวาจาจารย์
     อะ อยู่ไหล่ซ้าย เปรียบด้วย พระอนุสาวาจาจารย์
     อุ ตรงหน้าผาก เปรียบด้วย พระอุปัชฌาย์
 
     ท่านทั้ง ๓ นี้จะเป็นผู้ชี้หนทางให้นาคได้บรรลุถึงนิพพานด้วยอริยมรรค ๘
 
     ๑๑. น้ำมะพร้าว เปรียบด้วยจิตของนาคอันบริสุทธิ์ยามจะได้บรรพชาอุปสมบท และเมื่อบวชแล้วจิตจงบริสุทธิ์ผ่องใสจนเกิดปัญญาสว่างไสวดุจประทีปเปลวไฟปักไว้บนยอดบายศรีให้ดวงปัญญาบังเกิดเห็นคุณพระรัตนตรัย คุณบิดา มารดา ผู้อุปการคุณ
 
........................................
 
ที่มา : หนังสือ บายศรี สัญลักษณ์ของพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับชีวิต กรมศิลปากร
ภาพ : ล้านใบตอง"บายศรี"ดอกไม้สด เเจ๊กซ์บายศรีแม่กลอง www.facebook.com/pongtap34
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)