
ประเพณีบุญคูณลาน หรือการสู่ขวัญข้าว เป็นประเพณีของชาวนาในภาคอีสาน จัดขึ้นในเดือนยี่ ตามปฏิทินอีสานของทุกปี จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่างาน "บุญเดือนยี่” ซึ่งการทำบุญคูณลานในแต่ละพื้นที่จะทำไม่พร้อมกัน ขึ้นอยู่ว่าการเก็บเกี่ยวข้าวจะเสร็จเมื่อไหร่ ชาวนาในภาคอีสานนิยมนำข้าวที่นวดแล้วกองขึ้นให้สูง จากนั้นจึงทำบุญประเพณีเพื่อเป็นสิริมงคล เรียกว่าบุญคูณลาน คำว่า "ลาน” คือสถานที่สำหรับนวดข้าว ส่วนคำว่า "คูณลาน” คือเพิ่มเข้าให้เป็นทวีคูณ หรือทำให้มากขึ้นนั่นเอง ซึ่งมีตำนานเล่าขานสืบต่อกันมาเกี่ยวกับประเพณีบุญคูณลานของชาวอีสานว่า
เมื่อครั้งพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้า พระนามว่า พระกัสสปะพุทธเจ้า (อังกฤษเขียนแบบบาลี: Kassapa Buddha) มีชายสองคนเป็นพี่น้องกัน ทำนาในที่เดียวกัน พอข้าวออกรวงเป็นน้ำมัน น้องชายได้ชวนพี่ชายทำข้าวมธุปายาสถวายพระสงฆ์ แต่พี่ชายไม่เห็นชอบด้วย ทั้งสองพี่น้องจึงแบ่งนากันคนละส่วน เมื่อน้องชายได้เป็นเจ้าของที่นาที่แบ่งกันแล้ว จึงได้ถวายทานแด่พระสงฆ์ตามความพอใจ โดยทำบุญเป็นระยะถึงเก้าครั้ง นับแต่เวลาข้าวเป็นน้ำนมก็ทำข้าวมธุปายาสถวายครั้งหนึ่ง เวลาข้าวพอเม่าก็ทำข้าวเม่าถวายครั้งหนึ่ง เวลาจะลงมือเก็บเกี่ยวก็ถวายทานครั้งหนึ่ง เวลามัดข้าวทำเป็นฟ่อนก็ถวายทานครั้งหนึ่ง เวลาขนข้าวเข้าลานก็ถวายทานครั้งหนึ่ง เวลาเก็บข้าวใส่ยุ้งฉางเสร็จก็ทำบุญอีกครั้งหนึ่งและตั้งปณิธานปรารถนาให้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในอนาคต พอถึงพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้า พระนามว่า พระพุทธโคดม (อังกฤษ: Gautama Buddha) ชาวนาผู้เป็นน้องชาย ได้เกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล ในหมู่บ้านโทณวัตถุ กรุงกบิลพัสดุ์ ชื่อโกณฑัญญะ เมื่อเจริญเติบโตขึ้นได้ศึกษาศิลปะวิทยาจบไตรเพท และเรียนมนต์ คือ วิชาการทำนายลักษณะอย่างเชี่ยวชาญ เวลาต่อมา ท่านโกณฑัญญะ อยู่ในจำนวนพราหมณ์ทั้ง ๘ คน ได้ทำนายพระลักษณะพระโพธิสัตว์สิทธัตถะกุมาร (ต่อมาคือ พระพุทธโคดม) ครั้นกาลเวลาล่วงเลยมาถึง ๒๙ ปี เจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จออกบรรพชา ท่านโกณฑัญญะจึงพามาณพทั้ง ๔ คน (บุตรของพราหมณ์ในจำนวนทั้ง ๗ คน ที่ร่วมทำนายพระลักษณะพระโพธิสัตว์) พร้อมทั้งตนด้วยรวมเป็น ๕ ได้นามบัญญัติว่าปัญจวัคคีย์ ได้ออกบวชติดตามพระมหาบุรุษ (นามบัญญัติของเจ้าชายสิทธัตถะ หลังจากบรรพชา ก่อนตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ) หลังจากนั้น ท่านโกณฑัญญะสำเร็จพระอริยบุคคลเป็นปฐมสาวก ได้ชื่อว่าอัญญาโกณฑัญญะ ส่วนชาวนาผู้เป็นพี่ชาย ได้ทำบุญเพียงครั้งเดียวเฉพาะตอนทำนาเสร็จแล้ว เมื่อถึงพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้า พระนามว่า พระพุทธโคดม ได้เกิดเป็นสุภัททปริพาชก ได้สำเร็จอนาคามิผลเป็นพระอริยบุคคลองค์สุดท้ายในพระพุทธศาสนาเนื่องจากอานิสงส์จากให้ข้าวเป็นทานน้อยกว่าน้องชาย ชาวอีสานเมื่อทราบอานิสงส์จากการทำบุญดังกล่าวจึงได้นิยมทำบุญคูณลาน เป็นบุญประเพณีในเดือนยี่หรือเดือนสองของปี สืบต่อกันมา
ในการทำบุญคูณลาน จะต้องเตรียมสถานที่ทำบุญที่ลานนวดข้าวของตนเองแล้วนำข้าวที่นวดแล้วมากองขึ้นสูง เรียกว่าคูณลาน จากนั้นจะนิมนต์พระภิกษุมาเจริฯพระพุทธมนต์ จัดน้ำอบ น้ำหอมไว้ประพรม ขึงด้ายสายสิญจน์รอบกองข้าว เมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์จบแล้ว ถวายภัตตาหารเพลแด่พระภิกษุสงฆ์ จากนั้นจะนำข้าวปลาอาหารมาเลี้ยงญาติพี่น้อง ผู้มาร่วมทำบุญ พอพระสงฆ์ฉันเสร็จก็จะประพรมน้ำมนต์ให้กับกองข้าว ให้กับเจ้าภาพและทุกคนที่มาร่วมงาน เสร็จแล้วพระสงฆ์ก็จะให้พรและกลับวัด จากนั้นเจ้าภาพก็จะนำน้ำพระพุทธมนต์ที่เหลือไปประพรมให้แก่วัวควาย ตลอดจนเครื่องมือในการทำนาเพื่อความเป็นสิริมงคลในการทำนาในปีต่อไป แต่ปัจจุบันประเพณีบุญคูณลานเริ่มจะเลือนหายไปกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง เนื่องด้วยคนรุ่นใหม่ ไม่ค่อยมีผู้สนใจประพฤติปฏิบัติกันเหมือนรุ่นปู่ย่า ตายาย เช่นในอดีต เพราะการเกี่ยวข้าวในปัจจุบันนิยมใช้รถเกี่ยวข้าวแทนการใช้แรงงานคนและชาวนาไม่นิยมนวดข้าวเหมือนเก่าก่อน หลังจากเกี่ยวเสร็จก็นำข้าวมาตากแดดบนผ้ายางในลานบ้านของตนเอง จากนั้นก็นำข้าวขึ้นเก็บในยุ้ง แต่ก็ยังคงมีบางหมู่บ้านในภาคอีสานที่ยังรวมกันทำบุญโดยการนำเอาข้าวเปลือกมากองรวมกันเป็น กุ้มข้าวใหญ่ ก่อเกิดประเพณีต่อมาภายหลังเรียกว่า บุญกุ้มข้าวใหญ่ แทนการทำบุญคูณลาน ซึ่งนับว่าเป็นการประยุกต์ใช้ฮีตสิบสองคลองสิบสี่ ให้เหมาะสมกับยุคสมัย เช่น อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ได้จัดงานบุญกุ้มข้าวใหญ่และของดีเมืองบ้านไผ่ เป็นงานประจำปีในช่วงเดือนมกราคมของทุกปี เพื่ออนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรม การสู่ขวัญข้าว ตลอดจนสร้างความภาคภูมิใจวัฒนธรรมท้องถิ่น ประชาสัมพันธ์ชื่อเสียงของอำเภอบ้านไผ่ ให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว ซึ่งกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย พิธีสวดบูชาพระแม่โพสพและสู่ขวัญข้าว การขับร้องสรภัญญะพระแม่โพสพ ขบวนแห่นางรำ การแสดงแสง สี เสียง ชุด "ตำนานพระแม่โพสพ”, การแสดงคุ้มวัฒนธรรม, การแสดงมหรสพสมโภชน์, การแสดงและจำหน่ายสินค้า otop ของดีเมืองบ้านไผ่
..................................................
ที่มา : https://www.norkaew.net และ http://district.cdd.go.th/banphai/ ภาพ : Gate Kaewprachamit