
ขวัญ คืออะไร ขวัญมีความหมายอยู่ ๒ ประการ ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ดังนี้
๑. ขวัญ ที่มีลักษณะเป็นรูปธรรม เป็นสิ่งที่แลเห็นได้ หมายถึง หมายถึง ผมที่ขึ้นเวียนเป็นก้นหอยมีทั้งคนและสัตว์ โบราณมีตำราทำขวัญ(ขน) ที่ขึ้นตามที่ต่างๆ ของร่างกายด้วย
๒. ขวัญ ที่มีลักษณะเป็นนามธรรม เป็นสิ่งที่แลไม่เห็น ไม่มีตัวตนแต่เชื่อกันว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่อยู่ในร่างกาย สามารถหลบหนีไปได้ ดังที่เคยได้ยินบ่อยๆ ว่า ขวัญหนีและ ขวัญหาย ซึ่งสามารถเรียกกลับคืนมาได้เช่นกัน เชื่อกันอีกว่า ถ้าขวัญอยู่กับตัวของผู้ใด ผู้นั้นจะมีความสุขกายสบายใจ ไม่เจ็บไม่ไข้ ถ้าขวัญหนีหายไปจะเกิดอันตรายแก่ผู้นั้นได้
ส่วนรูปร่างลักษณะของขวัญจะเป็นอย่างไรนั้นไม่สามารถกำหนดได้ เพียงแต่เชื่อว่าเป็นสิ่งที่มีพลังอย่างหนึ่ง เจริญเติบโตได้ตามตัวคน (เจ้าของขวัญ) เวลาคนยังเป็นทารก ขวัญมักตื่นเต้นตกใจง่ายและอาจละทิ้งเจ้าของหลบหนีกระเจิดกระเจิงไปจนหายตกใจจึงจะกลับมาสู่ร่างอย่างเดิม เมื่อคนเราเติบใหญ่ขึ้นขวัญค่อยจะรู้จักหนักแน่นมีสติอารมณ์ยิ่งขึ้นตามตัวคนโดยลำดับ จนเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ พ่อเหย้าเจ้าเรือนขวัญเป็นผู้ใหญ่ไปด้วยกัน
ดังนั้นจึงเกิดความเชื่อที่ว่า ขวัญเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่จะต้องมีทุกคน ก่อให้เกิดพิธีกรรมต่างๆ ที่จะทำให้ขวัญอยู่กับตัวตลอดไป จะเห็นได้ทุกระยะของชีวิตตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งเข้าสู่วัยชราจะมีประเพณีที่เกี่ยวกับชีวิตหลายอย่างที่ทำขวัญอยู่กับคนผู้นั้นเสมอ อาทิ การทำขวัญแรกเกิด ทำขวัญเดือน โกนจุก บวชนาค แต่งงาน การสร้างบ้านปลูกเรือน การยกเสาเอก วางศิลาฤกษ์ เป็นต้น ตลอดจนทำขวัญผู้ที่เพิ่งหายป่วยไข้ หรือ รอดพ้นอันตรายกลับมา การได้รับตำแหน่งใหม่ เลื่อนยศ เลื่อนขั้น การกลับสู่บ้านเกิดเมืองนอน หรือไปอย่างต่างถิ่นนานๆ แม้กระทั่งการจะไปอยู่ในต่างถิ่นแดนไกล นอกจากนี้ยังมีการทำขวัญในโอกาสพิเศษต่างๆ อาทิ การต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง เป็นต้น นอกจากนี้ ความสำคัญของขวัญยังอนุโลมไปถึงสัตว์และสิ่งของอีกด้วย ในสมัยโบราณ หากมาการซื้อวัว ควาย ช้างม้า ก็จะดูที่ขวัญเป็นอันดับแรก ถ้าพบว่าขวัญไม่ดี เช่น ขวัญปั่นพื้น ขวัญรั่วเรือน ขวัญดมเน่า ขวัญกบาลแตก ถือว่าสัตว์ตัวนั้นไม่ดี ห้าวซื้อขายถ้าขืนซื้อมาก็จะเป็นอัปรีย์จัญไรเป็นภัยแก่ตัวเองและครอบครัว แต่หากพบขวัญดี เช่น ขวัญจอมปราสาท ขวัญห้อยหิ่ง ขวัญเศวตฉัตร ถือว่าสัตว์ตัวนั้นดี ราคาแพงเท่าไหร่ก็ให้ซื้อเพราะจะนำลาภมาให้และเจ้าของก็จะเป็นสุขใจปราศจากโรคภัยทุกข์ทั้งปวง เมื่อเชื่อว่าขวัญเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสัตว์ สิ่งของ ด้วยเหตุว่าสัมพันธ์กับมนุษย์ในการพึ่งพาอาศัยกันในการทำมาหากิน จึงมีการทำขวัญสัตว์และสิ่งของ อาทิ ทำขวัญวัว ควาย ช้าง ทำขวัญนา ขวัญข้าว ทำขวัญเสา ทำขวัญเรือน เป็นต้น เพราะเชื่อว่าเทพารักษ์จะช่วยคุ้มครองสัตว์หรือสิ่งของของตนเอง
พิธีทำขวัญจึงเป็นแนวความคิดของมนุษย์ที่จะทำให้ขวัญอยู่กับเราตลอดไป ออกมาในรูปแบบของการร้องขอ วิงวอน แม้กระทั่งหลอกล่อขวัญให้หลงเชื่อกลับมาหรือคงอยู่กับเจ้าของขวัญตลอดไป โดยมีสิ่งจูงใจทั้งในเรื่องอาหารการกิน แม้กระทั่งคำเชิญก็ต้องไพเราะ น่าฟังและสละสลวยจนเกิดคำกลอนเชิญขวัญขึ้นและมีคนกลางในการประกอบพิธีกรรมซึ่งได้แก่พราหมณ์หรือผู้รู้ชำนาญ เรียกว่าหมอขวัญ เป็นผู้ทำพิธี และมีบายศรีเข้ามาเป็นเครื่องใช้ในพิธีกรรมนั้นๆ ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งการทำขวัญที่จะขาดเสียมิได้เลย
ที่มา : บายศรี : สัญลักษณ์ของพิธีกรรมที่เกี่ยวกับชีวิต โดย กรมศิลปากร