กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> อาเซียน
ตี่จับ การเล่นพื้นบ้านวัฒนธรรมข้ามแดน

วันที่ 1 ก.ค. 2563
 

     เมื่อราว ๓๐–๔๐ ปีก่อน เด็กๆ มักชวนกันวิ่งเล่นอยู่ที่สนามในยามว่าง การเล่น "ชัย” แพร่หลายอยู่ในช่วงหนึ่ง คือการวิ่งไล่จับตามเส้นที่แบ่งคนเป็นสองฝ่ายพอๆ กัน โดยขีดเส้นสมมติทางขวางราวห้าหรือเจ็ดเส้น ฝ่ายรับเข้าประจำเส้นละหนึ่งหรือสองคน (จำนวนเส้นและคนแปรตามจำนวนผู้เล่น) ฝ่ายรุกต้องฝ่าแต่ละด่านให้ได้โดยไม่ให้ฝ่ายรับแตะถูกตัว หากพลาดพลั้งก็จะต้องเปลี่ยนกลับมาเป็นฝ่ายรับแทน ถ้าฝ่ายรุกบุกทะลุไปจนแดนสุดท้ายได้ก็จะร้องประกาศว่า "ชัย” เป็นอันชนะ บางถิ่นเรียกชื่อการละเล่นชนิดนี้ต่างไป เช่น เตย บอลลูนไหลหลิน ฯลฯ ก็มี
 
     แต่ผู้ใหญ่สูงวัยกว่านั้นอาจรู้จักการวิ่งเล่นอีกประเภทหนึ่งที่คล้ายกัน นั่นคือ "ตี่จับ”
 
     การเล่นตี่จับในอดีตไม่เพียงแต่เป็นการละเล่นของเด็กเล็กๆ ด้วยหนุ่มสาววัยแรกรุ่นที่ยังถูกเนื้อต้องตัวกันไม่ได้เหมือนในยุคปัจจุบันพึงใจเข้าร่วมการละเล่นนี้ในช่วงเทศกาลงานบุญต่างๆ อาทิ ช่วงสงกรานต์ เสมอ เพราะถือเป็นโอกาสที่จะได้ไล่ต้อนเพศตรงข้ามหรือเกี้ยวกันอย่างเปิดเผย โดยไม่ถูกสังคมนินทาเช่นเดียวกับการละเล่นลูกช่วง สะบ้า ฯลฯ
 
     แม้จุดกำเนิดของตี่จับในดินแดนไทยจะยังไม่ชัดเจน แต่ในดินแดนชมพูทวีปมีบันทึกถึงกีฬาประเภทหนึ่งเรียกชื่อว่า "กาบัดดี้” (Kabaddi) นิยมเล่นกันมากว่า ๔,๐๐๐ ปีแล้ว
 
     ปราชญ์ภารตะกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการละเล่นกาบัดดี้ว่าเพื่อฝึกซ้อมประลองกำลังในการต่อสู้ ป้องกันตัวและใช้ในกองทัพเพื่อการรบ โดยมีรูปแบบและวิธีเล่นพัฒนาไปตามยุคสมัยและสภาพแวดล้อมของภูมิประเทศ แผ่ขยายในวงกว้าง จนนับว่าเป็นเกมกีฬายอดนิยมในพื้นที่ซึ่งปัจจุบันนับเป็นเอเชียใต้ อันได้แก่ประเทศอินเดีย ปากีสถาน เนปาล บังกลาเทศ ศรีลังกา เป็นสำคัญ
 
     หลักฐานของการละเล่นกาบัดดี้ย่อมมีปรากฏอยู่ในมหากาพย์มหาภารตะ แม้กระทั่งวรรณคดีทางพุทธศาสนาก็ยังกล่าวว่าเจ้าชายสิทธัตถะทรงเล่นกาบัดดี้เพื่อความแข็งแกร่งของร่างกายและจิตใจ
 
     ยังมีการอธิบายเชื่อมโยงว่าการเปล่งเสียงร้องพร้อมเคลื่อนไหวร่างกายขณะเล่นกีฬานี้ คือการกลั้นลมหายใจ เฉกเช่นเดียวกับการกำหนด "ปราณ” ในทางโยคะศาสตร์ ส่งผลดีต่อทั้งกายและจิตได้เสมอกัน
 
     ชาวไทยเราเชื่ออย่างสนิทใจว่า "กาบัดดี้” เป็นญาติสนิทร่วมเชื้อสายกับ "ตี่จับ” เมื่อครั้งกาบัดดี้เปิดตัวให้ชาวโลกประจักษ์ในกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ ๑๑ เช่นเดียวกับชาวลาวเชื่อว่า "อี่/Eu” และชาวมาเลเซียเชื่อว่า "ชิดูกูดู/Chi-du-ku-du” ก็เป็นญาติร่วมเชื้อสายกาบัดดี้เหมือนกัน
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)