
ขึ้นชื่อว่างานมงคลอย่างงานแต่งงาน ทุกอย่างที่อยู่ภายในงานก็ต้องมีความหมายที่ดี เพื่อส่งเสริมให้ชีวิตคู่ของคู่บ่าวสาวมีแต่ความสุข แม้กระทั่งเรื่องอาหารการกินสำหรับเลี้ยงแขกก็ต้องเป็นมงคลด้วย ซึ่งมีคติความเชื่อเกี่ยวกับอาหารที่ใช้เลี้ยงพระและรับรองแขกในงานแต่งงาน เนื่องจากสมัยโบราณนิยมทำกับข้าวกันเอง ตามธรรมเนียมโบราณจึงห้ามไม่ให้มีได้แก่
แกงบอน เพราะเปรียบได้กับปากบอน ปากเสีย เป็นเหตุให้ทะเลาะกันจนเลิกรา
ต้มยำ เพราะเป็นอาหารรสชาติเผ็ดร้อน เชื่อว่าจะทำให้ชีวิตคู่เกิดการทะเลาะกันแบบร้อนแรง
ยำผัก เพราะพ้องเสียงกับคำที่ไม่เป็นมงคล
อาหารหมักดอง จำพวก ปลาร้า เพราะมีกลิ่นเหม็น เชื่อว่าจะทำให้ความรักของทั้งคู่โดนดอง จนเบื่อและเหม็นหน้ากัน รวมถึงปลาส้ม ก็ห้าม
ข้าวต้ม ตามปกติเป็นอาหารที่ใช้ในงานอวมงคลหรืองานศพ จึงไม่นิยมนำมาใช้ในงานแต่งงาน
หอยขม ด้วยชื่อสื่อถึงความรักที่ขมขื่น จึงไม่นิยมนำหอยขมมาทำเป็นอาหารในงานมงคล
หมี่กรอบ เพราะมีลักษณะหักเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยได้ง่าย สื่อความหมายถึงความรักที่เปราะบางถึงขั้นแตกหัก
ตีนไก่ ไม่นิยมนำมาทำเป็นอาหารในงานแต่ง เพราะเชื่อว่าจะทำให้คู่บ่าวสาวทะเลาะวิวาทจนถึงขั้นเลือดตกยางออก
ส่วนขนมจีน ในอดีตนิยมทำเลี้ยงแขก เพราะขั้นตอนการทำขนมจีน สามารถเสี่ยงทายชีวิตคู่ได้ หากโรยแป้งลงไปในน้ำร้อน เมื่อตักขึ้นมาแล้ว จับเป็นเส้นสวยงาม ไม่ขาด ไม่ยุ่ย จะถือว่าบ่าวสาวจะอยู่กินกันอย่างร่มเย็นเป็นสุข แต่ถ้าแป้งเละและจับไม่เป็นเส้น คู่สามีภรรยาก็จะมีปัญหาในอนาคต
ในปัจจุบันความเชื่อเรื่องอาหารเหล่านี้ถูกลดทอนลงไปบ้างแล้ว อาจจะด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปจึงทำให้คติความเชื่อบางอย่างค่อยๆ จางหายไป อย่างเช่น ต้มยำ หมี่กรอบ หรือข้าวต้ม ก็เป็นอาหารที่พบเห็นกันมากขึ้นในงานแต่ง แต่สุดท้ายความรักที่มั่นคงต้องเกิดจากความเข้าใจของคนสองคน ซึ่งมีอิทธิพลกับชีวิตคู่มากกว่าสิ่งอื่นใด ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณและความเชื่อของบ่าวสาวและครอบครัว เพราะองค์ประกอบของการครองเรือนนั้นก็มีอีกหลายประการ เพื่อที่จะสร้างครอบครัวเล็กๆ ให้เป็นสุข ส่วนคำสอนและคติความเชื่อต่างๆ ที่ปู่ ย่า ตา ยาย ได้สืบทอดกันมา ก็เอามาปรับใช้ให้เหมาะสมเพราะเป็นสิ่งที่ดีงามที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณ
.........................................
ที่มา : ประเพณี พิธีมงคล และ วันสำคัญของไทย เรียบเรียง โดย ธนากิต