
ในสมัยโบราณการแต่งงานบางคู่ต้องให้ฝ่ายชายนอนเฝ้าเรือนหอก่อน เนื่องจากบางทีฤกษ์ส่งตัวอาจจะมีหลังจากแต่งงานแล้วหลายวัน ดังนั้นเจ้าบ่าวจึงต้องมานอนเฝ้าเรือนหอก่อนซึ่งอาจจะเป็น ๓ คืน ๕ คืน หรือ ๗ คืน โดยต้องรอจนกว่าจะถึงฤกษ์เรียงเคียงหมอนส่งตัวเจ้าสาว ในตอนค่ำเจ้าสาวจะส่งผ้านุ่งมาให้เพื่อให้เจ้าบ่าวผลัดนุ่ง เรียกว่า "ผ้าห้อยหอ” และระหว่างที่นอนเฝ้าหอ ผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าบ่าวและฝ่ายเจ้าสาวจะจัดหาบัณฑิตผู้รอบรู้มาฝ่ายละ ๒ คน เพื่อสวดมาลัยสูตรเป็นการอบรมสั่งสอนให่เจ้าบ่าวรู้หน้าที่และความประพฤติที่มีน้ำใจ รู้บาปบุญคุณโทษ บางที่อาจจะเปลี่ยนจากสวดมาลัยสูตรเป็นการกล่าวคำสั่งสอนด้วยทำนองและเสียงอันไพเราะ หรือมีดนตรีปี่พาทย์บรรเลงเป็นการกล่อมหอ การบรรเลงกล่อมหอบางทีก็ทำกันในคืนส่งตัวก็มี
หน้าที่ของสามีที่มีต่อภรรยา ได้แก่
๑.ให้การกย่องภรรยาตน
๒.ไม่ดูหมิ่นภรรยา
๓.ไม่ประพฤตินอกใจภรรยา
๔.มอบความเป็นใหญ่ในบ้านให้
๕.ให้เครื่องประดับตามสมควร
หน้าที่ของภรรยาที่มีต่อสามี ได้แก่
๑.จัดการงานดี
๒.สงเคราะห์คนข้างเคียงสามีดี
๓.ไม่ประพฤตินอกใจ
๔.รักษาทรัพย์สมบติที่สามีหามาได้
๕.ขยัน ไม่เกียจคร้านในกิจการงานทั้งปวง
สามีนั้นถือเป็นผู้นำครอบครัว ส่วนภรรยาเป็นผู้ร่วมครอบครัวที่ตนจะต้องดูแลรับผิดชอบและให้เกียรติทั้งต่อหน้าและลับหลัง ไม่ประพฤตินอกใจอันเป็นเหตุให้มีปากเสียงและทำให้ครอบครัวแตกแยก สามีควรมอบความเป็นใหญ่ในบ้านให้ภรรยาดูแลโดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการครัวการดูแลทำความสะอาด โดยตนจะต้องคอยให้ความช่วยเหลือตามสมควรมิใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของภรรยาแต่เพียงผู้เดียว ส่วนภรรยานอกจากจะเป็แม่บ้านโดยไม่ขาดตกบกพร่องแล้ว ยังต้องให้การสงเคราะห์ญาติของตนเองและฝ่ายสามี รวมทั้งเพื่อนสนิทมิตรสหายตามสมควร ไม่ประพฤตินอกใจ รักษาทรัพย์และเป็นคู่คิดที่ปรึกษาหรือคอยปลุกปลอบให้กำลังใจสามี เพื่อความผาสุกของครอบครัว ยิ่งปัจจุบันทั้งชายและหญิงต่างก็ต้องช่วยกันทำมาหากินทำงานนอกบ้านด้วยกันทั้งคู่ ยิ่งต้องเห็นอกเห็นใจกันไม่ใช่ให้ใครคนใดคนหนึ่งต้องแบกรับภาระหนักอยู่ฝ่ายเดียว ครอบครัวจะเป็นครอบครัวที่อบอุ่นได้ต้องช่วยกันประคับประครองเอาใจเขามาใส่ใจเราและรู้จักให้อภัยกันแล้วชีวิตคู่จะอยู่กันจนแก่เฒ่าถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชรสมดังคำโบราณว่าไว้
..........................................
ที่มา : ประเพณี พิธีมงคล และ วันสำคัญของไทย เรียบเรียง โดย ธนากิต