กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> รู้ไว้ใช่ว่า
รู้ไว้ใช่ว่า…ตอน "รู้ยัง ? ไม่มีเงิน ไม่มีทอง ก็ทำบุญได้ ทุกที่ ทุกเวลา"

วันที่ 19 มิ.ย. 2563
 

     รู้ไว้ใช่ว่าตอนที่แล้ว ได้นำเสนอวิธีการทำบุญที่คนทั่วไปนิยมทำกันมาก คือ การทำทาน ที่ทำได้ไม่ยากด้วยการสละหรือบริจาคทรัพย์สิน เงินทอง โดยต้องมีปัจจัยเกื้อหนุนใดบ้างที่จะทำให้ทานที่ทำไปนั้น ส่งผลให้ผู้ทำได้รับบุญผลมากๆ แต่สำหรับผู้ที่ขาดทุนทรัพย์ หรือเบี้ยน้อย หอยน้อย ที่ต้องการทำบุญเหมือนกันจะทำอย่างไรดี มีการทำบุญวิธีใดบ้างที่ทำได้โดยไม่เดือดร้อนเงินในกระเป๋า
 
     ในทางพุทธศาสนา หลักใหญ่ๆ ของการทำบุญที่ไม่ต้องใช้ทรัพย์สิน สามารถทำได้ ๒ วิธี อันได้แก่
 
     วิธีที่ ๑. การรักษาศีล (สีลมัย)
     ผู้ใดรักษาศีลจะได้อานิสงค์ผลบุญให้เรามีรูปร่างดี มีอวัยวะครบ ๓๒ คือ หน้าตาดี สวย หล่อ ผิวพรรณกระจ่างใส การรักษาศีล ก็คือ การรักษากาย วาจาให้เรียบร้อย จะยืน เดิน นั่ง นอน ก็อยู่ในอาการสำรวมเรียบร้อย และจะให้ดียิ่งขึ้นไปอีกคือ การรักษาใจให้เรียบร้อยด้วย คือคิดดี ไม่คิดร้าย ไม่โกรธ การโกรธนี้เป็นเรื่องสำคัญ ให้สังเกตคนที่ควบคุมอารมณ์ของตนหรือควบคุมความโกรธไม่ได้ มักจะอารมณ์เสียง่าย อาจถึงขั้นควบคุมอารมณ์ตนเองไม่อยู่ ถึงกับฆ่ากันด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่อง เช่น บีบแตรรถยนต์เพื่อเตือนให้ขับขี่ด้วยความระมัดระวังแต่กลับเป็นเรื่องราวถึงกลับฆ่ากันได้ คนที่ควบคุมความโกรธไม่ได้ จะแสดงอาการให้เห็นทางสีหน้าผิวพรรณมักไม่ผุดผ่อง หรือถ้าผิวพรรณดีก็เป็นเพราะบุญเก่า ที่ทำจากอดีตชาติ ปัจจุบันจึงรูปร่างหน้าตาดี แต่ถ้าปัจจุบันประพฤติกาย วาจา ใจ ไม่ดี มีวาจาก้าวร้าวหยาบคาย ชอบเบียดเบียนผู้อื่น ในอนาคตย่อมส่งผลในทางไม่ดีอย่างแน่นอน อดีตเป็นเหตุ ปัจจุบันเป็นผล ปัจจุบันเป็นเหตุ อนาคตเป็นผล นั่นเอง
 
     การรักษาศีล มีหลายระดับ ได้แก่ ศีล ๕ สำหรับคนทั่วไป ศีล ๘ สำหรับอุบาสกอุบาสิกา ศีล ๑๐ สำหรับสามเณร และศีล ๒๒๗ ข้อ สำหรับพระภิกษุ หัวใจของการรักษาศีลคือการไม่เบียดเบียนตนเอง และผู้อื่น ด้วยกาย วาจา และใจ
 
     ผู้ใดรักษาศีลได้จะได้รับอานิสงส์อย่างมาก เช่น ทำให้เป็นที่รักเป็นที่เคารพของคนทั้งหลาย อยู่ในสังคมอย่างสงบสุข การไม่สร้างเวรก่อสร้างภัยให้คนอื่น ทำให้เป็นคนที่สง่างาม มีผิวพรรณผ่องใส เมื่อตายไปแล้วไปเกิดใหม่จะมีรูปร่างอวัยวะที่ครบถ้วนสมบูรณ์
 
     วิธีที่ ๒. การภาวนา (ภาวนามัย)
      การภาวนานั้น ถือเป็นการสร้างบุญบารมีที่สูงที่สุด และยิ่งใหญ่ที่สุดในพระพุทธศาสนา จัดว่าเป็นแก่นแท้และสูงกว่าการรักษาศีลมากนัก ด้วยทำได้ยากกว่า การเจริญภาวนานั้น มี ๒ วิธี คือ การทำสมาธิ (สมถภาวนา) และ การเจริญปัญญา (วิปัสสนาภาวนา) หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องยากที่จะทำ แต่ถ้าได้ลองทำดูแล้วจะพบหนทางสู่ความเจริญและความสุข ได้อย่างจริงแท้แน่นอน -การทำสมาธิ (สมถภาวนา) สมถภาวนา คือการทำจิตให้เป็นสมาธิ หรือเป็นฌาน ได้แก่ การทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่เพ้อเจ้อไปยังอารมณ์หรือเรื่องอื่นๆ วิธีภาวนานั้น มีมากมายหลายวิธี ซึ่งพระพุทธองค์ทรงบัญญัติแบบอย่างเอาไว้ ๔๐ ประการ เรียกกันว่า "กรรมฐาน ๔๐" ซึ่งผู้ใดจะเลือกใช้วิธีใดก็สามารถกระทำได้ขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายปลายทางของแต่ละคน (เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ไม่ขอเจาะลึก ท่านที่สนใจจริงๆ ได้หาความรู้เพิ่มเติม)
 
     แต่จุดเริ่มต้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาศีลให้ครบถ้วนบริบูรณ์ตามเพศของตนเสียก่อน คือหากเป็นฆราวาสก็จะต้องรักษาศีล ๕ เป็นอย่างน้อย หากเป็นสามเณรก็จะต้องรักษาศีล ๑๐ หากเป็นพระก็จะต้องรักษาศีลปาฏิโมกข์ ๒๒๗ ข้อให้บริบูรณ์ ไม่ให้ขาดและด่างพร้อย จึงจะสามารถทำจิตให้เป็นณานได้ หากศีลยังไม่มั่นคง ย่อมเจริญสมาธิให้ฌานให้เกิดขึ้นได้ยาก เพราะศีลเป็นรากฐาน เป็นกำลังให้เกิดสมาธิขึ้น
 
     อานิสงส์ของการทำสมาธินี้มีมากกว่าการรักษาศีล อย่างเทียบกันไม่ได้ พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า "แม้จะได้อุปสมบทเป็นภิกษุรักษาศีล ๒๒๗ ข้อ ไม่เคยขาด ไม่ด่างพร้อยมานานถึง ๑๐๐ ปี ก็ยังได้บุญกุศลน้อยกว่าผู้ที่ทำสมาธิเพียงให้จิตสงบนานเพียงชั่วไก่กระพือปีก ช้างกระดิกหู"
 
      คำว่า "จิตสงบ" นี้หมายถึง จิตที่เป็นอารมณ์เดียวเพียงชั่ววูบที่พระท่านเรียกว่า "ขณิกสมาธิ" คือสมาธิเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งยังห่างไกลต่อการที่จิตถึงขั้นเป็นอุปจารสมาธิและฌาน หรือขั้นสูงของการเจริญสมาธิ เห็นได้ว่าการทำสมาธิมีอานิสงส์ไม่น้อยเลย
 
     -การเจริญปัญญา (วิปัสสนาภาวนา)
     การเจริญปัญญานี้ เมื่อจิตของผู้บำเพ็ญตั้งมั่นอยู่ในสมาธิจนมีกำลังดีแล้ว วิปัสสนาเป็นการเจริญสติ ใช้จิตคิดและใคร่ครวญหาเหตุและผลในสภาวธรรมทั้งหลาย คือ "ขันธ์ ๕" มีทั้งรูปธรรม กับนามธรรมได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็คือส่วนประกอบหรือสะสารต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์หมายถึง เซลล์หลายๆเซลล์ ที่มารวมตัวกันเกิดเป็นสิ่งมีชีวิต มนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ในทางพุทธ คือ ธาตุทั้ง ๔ มาประชุมรวมกัน คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ นั่นเอง ให้ใช้ปัญญาคิดวิเคราะห์จนเห็นความจริงว่าสิ่งเหล่านี้ มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เป็นปกติ ไม่มีใครที่จะควบคุมได้
 
     โดยสภาวธรรม "ขันธ์ ๕" นี้จะอยู่ในสภาพที่เป็นไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา เป็นกฎธรรมชาติ นั่นเอง "อนิจจัง” หมายถึง ความไม่เที่ยง คือสรรพสิ่งทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ สมบัติ เพชร หิน ดิน ทราย และรูปกายของเรา ล้วนแต่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน เมื่อมีเกิดขึ้นแล้วก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา "ทุกขัง” หมายถึง สภาพที่ไม่สามารถอยู่คงทนได้ ทุกขังนอกจากหมายถึง ความทุกข์กาย ทุกข์ใจ ยังรวมถึงสรรพสิ่งทั้งหลายที่รวมเป็นสังขาร อันเป็นเหตุแห่งความทุกข์
 
     และการเจริญปัญญาจนเข้าถึงความเป็น "อนัตตา” ได้แก่ "ความไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่สิ่งของ" ด้วยสรรพสิ่งทั้งหลาย ล้วนมีที่มาจากการปรุงแต่ง สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นและมีตัวตนนั้นต้องอาศัยพึ่งพาสะสารมากมายมารวมตัวกัน ไม่มีผู้ใดจะควบคุมได้
 
     ฉะนั้น ก่อนที่จะเจริญปัญญา หรือวิปัสสนาภาวนาได้ การฝึกทำสมาธิจึงเป็นพื้นฐานที่ต้องเข้าถึงให้ได้ก่อน หากยังทำสมาธิยังไม่ได้ จึงเป็นเรื่องยากที่เจริญวิปัสสนาปัญญาให้สำเร็จ ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า
 
     "ผู้ใดแม้จะทำสมาธิจนจิตเป็นณานได้นานถึง ๑๐๐ ปี และไม่เสื่อม ก็ยังได้บุญน้อยกว่า ผู้ที่มองเห็นความเป็นจริงที่ว่า สรรพสิ่งทั้งหลายอันเนื่องมาจากการปรุงแต่งล้วน แล้วแต่มาจาก อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แม้จะเห็นเพียงชั่วขณะจิตเดียวก็ตาม"
 
     การเจริญปัญญา หรือวิปัสสนาภาวนา จึงเป็นที่สุดของการสร้างบุญกุศลมากกว่าวิธีการให้ทาน และการรักษาศีล ด้วยการเจริญปัญญานี้ทำได้ยากที่สุดและมีผลลัพธ์มากที่สุด เพราะเป็นหนทางที่จะนำไปสู่การตัดกิเลศตัณหาทั้งหลาย และเข้าถึงพระนิพพาน คือการหลุดพ้นจากทุกข์อย่างสิ้นเชิง…
 
     กล่าวโดยสรุป การทำบุญ ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ทรัพย์สินเงินทอง นี้ สามารถทำได้ด้วย การรักษาศีล จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับสถานะและจุดมุ่งหมายของแต่ละคน ที่สำคัญคือไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ด้วยกาย วาจา และใจ และอีกวิธีการที่ถือเป็นที่สุดของการทำบุญ สร้างบุญบารมี นั่นคือ การเจริญภาวนา เพื่อเข้าใจเข้าถึงกฎของธรรมชาติสรรพสิ่งต่างๆ อันจะนำพาชีวิตของท่านสู่ความเจริญ สะอาด สว่าง และสงบ หลุดพ้นจากกิเลสและตัณหาทั้งปวง... แค่สั้นๆ รู้จัก "รักษาศีล - ทำสมาธิ - เจริญปัญญา” เท่านั้นเอง
 
     ได้เวลาอันสมควร จึงขอลาสายบุญทุกท่านไปด้วยธรรมโอวาท ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระอริยะสงฆ์ต้นบุญแห่งพระสายวิปัสสนาธุระ และบุคคลสำคัญของโลก สาขาสันติภาพ วาระครบรอบ ๑๕๐ ปีชาตกาล พ.ศ. ๒๕๖๓
 
"ทาน ศีล ภาวนา ธรรมทั้ง ๓ นี้
เป็นรากแก้วของความเป็นมนุษย์ และเป็นรากเหง้าของพระศาสนา
ผู้เกิดมาเป็นมนุษย์ต้องเป็นผู้เคยสั่งสมธรรมเหล่านี้
มาอยู่ในนิสัยของผู้จะมาสวมร่างเป็นมนุษย์
ที่สมบูรณ์ด้วยมนุษยสมบัติอย่างแท้จริง”
 
     >>>ในตอนต่อไป "รู้ไว้ใช่ว่า” จะพูดถึง บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ คือ การกระทำความดี ๑๐ ประการ ที่เป็นการสร้างบุญ ที่ขยายความออกมาจาก ทาน ศีล และภาวนา เพื่อให้เข้าใจ เข้าถึงและปฏิบัติได้โดยง่าย...
 
ที่มา : ภูริทตฺตธมฺโมวาท จากหนังสือภูริทตฺตมหาเถรานุสรณ์ / หนังสือเรื่อง "วิธีสร้างบุญบารมี” พระนิพนธ์ในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดบวรนิเวศวิหาร / kanlayanatam.com/sara/sara68.htm
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)