
จากวิธีการทำบุญในตอนที่แล้ว ด้วยการ ทำทาน รักษาศีล และการเจริญภาวนา ซึ่งเป็นหลักคำสอนใหญ่ๆ ของพุทธศาสนา ในกาลต่อมาคัมภีร์ในยุคหลัง คือ อรรถกถาทีฆนิกาย และอภิธัมมัตถสังคหะ ได้มีการขยายความเพิ่มเติมอีก ๗ วิธี จึงรวมเป็น ๑๐ ก็เพื่อให้เข้าใจหลักการทำบุญในพระพุทธศาสนาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น จึงเป็นบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ
ก่อนอื่นควรเริ่มทำความเข้าใจคำว่า "บุญ” ก่อน พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย คำว่า บุญนี้ เป็นชื่อของความสุข" ฉะนั้น บุญจึงหมายถึง ความสุขความเจริญ และหมายถึง สภาพที่ทำจิตใจให้สะอาดให้ผ่องใส นั่นคือหลักการหรือหนทางที่จะทำให้จิตเกิดความผ่องใส จึงหมายถึง การกระทำหรือการทำดี เช่น การให้ทาน รักษาศีล การภาวนาหรือเจริญปัญญา เป็นต้น
บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ จึงหมายถึง หลักแห่งการบำเพ็ญบุญ หรือ สิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญ ๑๐ ประการ อันประกอบด้วย
๑. ให้ทาน หรือ ทานมัย การให้ทานเป็นการช่วยขัดเกลาความเห็นแก่ตัว ขจัด ความตระหนี่ถี่เหนียว และความติดยึดในวัตถุ นอกจากนี้สิ่งของที่เราแบ่งปันออกไปก็จะเป็นประโยชน์กับบุคคลหรือชุมชนโดยส่วนรวม
๒. รักษาศีล หรือ ศีลมัย เป็นการฝึกฝนที่จะ ลด ละ เลิกความชั่ว ไม่ไปเบียดเบียนใคร มุ่งที่จะทำความดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ผู้อื่นเป็นการบ่มเพาะให้เกิดความดีงามและพัฒนาคุณภาพชีวิตไม่ให้ตกต่ำ
๓. เจริญภาวนา หรือ ภาวนามัย เป็นการพัฒนาจิตใจและปัญญา ทำให้จิตสงบ ตัดหรือละกิเลส ค้นหาหนทางในการดับความทุกข์ ให้เห็นสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง ผู้ที่ภาวนาอยู่เสมอย่อมเป็นหลักประกันว่า จิตจะมีความสงบ ชีวิตจะพบความสุข ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ถือเป็นการสร้างบุญที่ยาก และได้รับอานิสงส์สูงสุด
๔. อ่อนน้อมถ่อมตน หรือ อปจายนมัย ผู้น้อยพึงอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็แสดงออกในความมีเมตตาต่อผู้น้อย และต่างก็อ่อนน้อมต่อผู้มีคุณธรรมรวมถึงการให้เกียรติ ให้ความเคารพในความแตกต่างซึ่งกันและกัน ทั้งในความคิด ความเชื่อและวิถีปฏิบัติของบุคคลและสังคมอื่นที่ต่างกัน เป็นการลดความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตน ถือเป็นการทำบุญรูปแบบหนึ่ง
๕. ช่วยเหลือสังคมรอบข้าง หรือ ไวยาวัจจมัย ช่วยเหลือด้วยการสละแรงกาย เพื่องานส่วนรวม หรือช่วยงานเพื่อนบ้านที่ต้องการความช่วยเหลือ ก็เป็นบุญได้ เช่น งานจิตอาสา เป็นต้น
๖. เปิดโอกาสให้คนอื่นมาร่วมทำบุญกับเรา หรือ ปัตติทานมัย การทำงานก็เปิดโอกาสให้คนอื่นมีส่วนร่วมทำ ร่วมแสดงความคิดเห็น รวมไปถึงการอุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วด้วย ถือเป็นบุญ
๗. ยอมรับและยินดีในการทำความดี หรือ ปัตตานุโมทนามัย คือการยินดีกับบุญของผู้อื่น การชื่นชมยินดีหรืออนุโมทนาไม่อิจฉาหรือระแวงสงสัยในการกระทำความดีของผู้อื่น ถือเป็นบุญ
๘. ฟังธรรม หรือ ธรรมสวนมัย การบ่มเพาะสติปัญญาให้สว่างไสว ฟังเทศนา ฟังธรรมะ ฟังเรื่องที่ดีมีประโยชน์ต่อการยกระดับสติปัญญา หรือมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตที่ดี เป็นความจริง ความดี ความงาม ถือเป็นบุญ
๙. แสดงธรรม หรือ ธรรมเทศนามัย การให้ธรรมะและข้อคิดที่ดีกับผู้อื่น แสดงธรรมนำธรรมะไปบอกกล่าว เผื่อแผ่ให้คนอื่นได้รับฟัง ให้เขาได้รู้จักวิธีการดำเนินชีวิตที่ดี เป็นเรื่องของความจริง ความดี ความงาม ถือเป็นการสร้างบุญด้วยการให้ความรู้ เผยแพร่หลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ มีอานิสงส์ส่งให้เป็นคนที่มีวิชาความรู้ ช่วยเหลือตนเองและคนรอบข้างได้
๑๐. ทำความเห็นให้ถูกต้องและเหมาะสม หรือ ทิฏฐุชุกรรม คือการปรับทิฏฐิ การแก้ไขปรับปรุงพัฒนาความคิดเห็น ความเข้าใจให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ให้เป็นสัมมาทัศนะ หรือ ความคิดดี คิดชอบ เป็นการพัฒนาปัญญาที่สำคัญ ถือเป็นบุญด้วยเช่นกัน ทิฏฐุชุกรรม เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการทำบุญทุกชนิดและทุกโอกาส จะต้องประกอบเข้ากับบุญกิริยาวัตถุข้ออื่นๆ เพื่อให้งานบุญข้อนั้น ๆ เป็นไปอย่างถูกต้องตามความหมายและความมุ่งหมาย พร้อมทั้งได้ผลที่ถูกทาง นั่นเอง
>>> โดยสรุป เห็นได้ว่า การทำบุญ ตามหลักพุทธศาสนานี้ ทำได้ถึง ๑๐ วิธี ได้แก่ ให้ทาน รักษาศีล ภาวนา อ่อนน้อมท่อมตน ช่วยเหลือสังคม ให้ทำบุญร่วมกัน ชื่นชมกับการทำบุญของคนอื่น ฟังธรรม สั่งสอนหรือเผยแพร่ธรรมะ และสุดท้ายรู้จักปรับความคิดส่วนตัวให้ถูกต้องเหมาะสม เห็นชัดแล้วใช่หรือไม่ว่าการทำบุญไม่ใช่เรื่องยากเย็น ทำได้ง่ายๆ ถ้าได้ทำความเข้าใจหลักการต่างๆ ให้กระจ่างชัดเจน จะทำให้เราสามารถทำบุญได้อย่างถูกทาง เมื่อทำแล้วจะได้รับอานิสงส์ผลบุญจากการทำนั้นอย่างแท้จริง..
ที่มา : พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ / ปุญญกิริยาวัตถุสูตร, พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย / บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ พระสาสนโสภณ วัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพฯ / 84000.org/tipitaka/dic/ditem.php?i=89