กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> เล่าสู่กันฟัง
เล่าสู่กันฟัง...เรื่อง “สุนทรภู่ปั้นพระอภัยมณี : พระเอกฉีกแนวคนแรกของไทย”

วันที่ 26 มิ.ย. 2563
 

     วันที่ ๒๖ มิถุนายนของทุกปี เป็นวันสุนทรภู่ กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้ได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านงานวรรณกรรมเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๒๙ ท่านมีผลงานที่เลื่องลือมากมาย แต่เรื่องที่มีการเผยแพร่ในรูปแบบต่างๆ จนเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในทุกรุ่นทุกวัยก็คือเรื่อง "พระอภัยมณี” ซึ่งเป็นนิทานคำกลอนที่มีความยาวถึง ๙๔ เล่มสมุดไทยหรือราวๆ หนึ่งพันสองร้อยหน้า จนจะกล่าวว่าเป็นวรรณคดีที่ยาวที่สุดในโลกก็ว่าได้ ที่สำคัญ ยังมีเนื้อหาที่สนุกสนาน ตัวละครและไอเท็มที่ปรากฏไม่ว่าจะเป็นชีเปลือย ม้านิลมังกร สำเภายนต์และตราราหู ล้วนมีสีสัน เทียบกับสมัยนี้ก็คงเป็นนิยายแฟนตาซีที่ชวนตื่นตาตื่นใจ กล่าวกันว่าหมอสมิธในสมัยรัชกาลที่ ๕ สามารถพิมพ์เรื่องนี้จำหน่าย และขายดีจนสร้างตึกได้เลยทีเดียว
 
     ความโดดเด่นของ "พระอภัยมณี” นอกจากเรื่องการผจญภัยต่างๆ และความแปลกใหม่แล้ว สิ่งที่ดึงดูดใจผู้อ่านอีกอย่างก็คือ ตัวพระอภัยมณี พระเอกของเรื่อง ที่ท่านสุนทรภู่ได้วางให้พระอภัยฯในเรื่องเป็น "พระเอกศิลปิน” ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในวรรณกรรมสมัยนั้น เรียกได้ว่า พี่’ภัยของเราฉีกแนว แหวกขนบต่างจากพระเอกคนอื่นได้อย่างน่าติดตาม มีอะไรบ้างนั้น ขอนำมาเล่าสู่กันฟัง ดังนี้
 
     -ด้านวิชาความรู้และอาวุธประจำกาย ก่อนจะพูดถึงเรื่องนี้ ต้องบอกก่อนว่า "พระอภัยมณี” ของเรานั้น มีมาตรฐานในเรื่องรูปหล่อ พ่อรวย (เพราะเป็นลูกกษัตริย์) เช่นเดียวกับพระเอกทั่วไป แม้จะมิใช่ประเภทหล่อ ล่ำบึกหรือมีซิกแพ็ค แต่รูปร่างหน้าตาก็คงสะท้านใจสาวๆ ไม่น้อย ไม่งั้นคงไม่มีเมียถึง ๕ คนดังจะได้กล่าวต่อไป สิ่งที่ทำให้พระเอกคนนี้ต่างกับพระเอกวรรณคดีในยุคนั้นก็คือ "ความเป็นศิลปิน” เพราะสมัยโน้นวิชาที่พระเอก โดยเฉพาะลูกกษัตริย์จะต้องเรียนก็คือ ศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการ เช่น วิชานักรบ นักปกครอง วิชาด้วยการค้า การคำนวณ การดูดวงดาว ภูมิศาสตร์ โหราศาสตร์ และฉันทศาสตร์ (การประพันธ์ต่างๆ ) เป็นต้น และยังมีวิชาที่เรียกว่าคันธัพพศาสตร์ ว่าด้วยการฟ้อนรำ และการดนตรีรวมอยู่ด้วย แต่ที่ทำให้พระบิดาทรงโกรธกริ้วจนถึงไล่พระอภัยมณีออกจากเมือง ก็เพราะพี่เราเลือกเรียนวิชา "เป่าปี่” เป็นวิชาเอกวิชาเดียวเท่านั้น ซึ่งพระบิดาคงเห็นว่านอกจากใช้ปกครองบ้านเมืองไม่ได้แล้ว ยังใช้ทำมาหากินไม่ได้ด้วย (ถ้าเป็นสมัยนี้ พระอภัยฯคงดังระเบิดไปแล้ว เพราะสามารถเปิดคอนเสิร์ต และโฆษณาได้ว่าเป็นลูกกษัตริย์คนแรกที่เป็นศิลปิน) แต่เมื่อเป็นยุคนั้น พระเอกของเราเลยต้องระเห็จออกจากบ้านเมืองมาผจญภัยภายนอกพร้อมศรีสุวรรณน้องชาย ดังนั้น พระอภัยมณี จึงเป็น "พระเอกศิลปินคนแรกของไทย” ที่แหวกขนบไปจากพระเอกคนอื่นๆ แถมยังเหน็บ "ปี่” เป็นอาวุธประจำกาย แทนที่จะเป็นกระบี่หรือคาถาอาคม
 
     อันที่จริงวิชา "เป่าปี่” ที่พระอภัยมณีไปเล่าเรียนนั้นมิใช่จะมาลงคอร์สเรียนกันง่ายๆ เพราะพิณทพราหมณ์ ผู้เป็นอาจารย์ตั้งค่าเรียนสูงถึงแสนตำลึงทอง แต่เพราะพระเอกผู้มีดนตรีในหัวใจเห็นว่า วิชานี้เป็นดังคำกลอนที่ว่า "ถึงการเล่นเป็นที่ประโลมโลก ได้ดับโศกสูญหายทั้งชายหญิง” จึงยอมถอดธำมรงค์ที่ตีค่าได้ตามราคาที่พระอาจารย์ต้องการ จึงได้ร่ำเรียนสมใจ เรียนได้ ๗ เดือนก็จบหลักสูตร และอาจารย์ก็คืนแหวนให้พร้อมบอกว่าที่เรียกค่าเล่าเรียนแพง เพราะไม่อยากให้คนไม่ดีมาเรียนและใช้วิชาไปในทางที่ไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ ยังได้บอกอีกว่า วิชาปี่ที่สอนนี้ "ถ้าแม้นข้าศึกมันโจมจับ จะรบรับสารพัดให้ขัดสน เอาปี่เป่าเล้าโลมน้ำใจคน ด้วยเล่ห์กลโลกาห้าประการ คือรูปรสกลิ่นเคียงสัมผัส เกิดกำหนดลุ่มหลงในสงสาร ให้ใจอ่อนนอนหลับดังวายปราณ จึงคิดอ่านเอาชัยเหมือนใจจง” ดังนั้น เพลงปี่ของพระอภัยมณีจึงร้ายกาจและเป็นอาวุธประจำกายดังที่พูดข้างต้น
 
     และเพราะวิชาเป่าปี่ที่ว่าเป็นเหมือนดังอาวุธร้าย ดังนั้น แต่ละครั้งที่เป่า พระอภัยมณีจึงไม่ได้เป่าอย่างพร่ำเพรื่อหรือเพื่อความบันเทิง แต่ล้วนมีจุดมุ่งหมายเฉพาะ ซึ่งเรื่องนี้ได้มีผู้ศึกษาว่า เมื่อนับทั้งเรื่องแล้ว พระอภัยมณีได้มีการเป่าปี่ไปทั้งหมด ๑๓ ครั้ง แต่บางแห่งก็ว่า ๑๒ ครั้ง โดยอีกครั้งสินสมุทรเป็นผู้เป่า และการเป่าครั้งแรก บางแห่งก็นับตั้งแต่ที่พระอภัยมณีเรียนกับอาจารย์ บางแห่งก็นับตอนเป่าให้สามพราหมณ์ฟังเป็นครั้งแรก
 
     อย่างไรก็ดี อ.เสรี หวังในธรรม ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ปีพ.ศ. ๒๕๓๑ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการสังคีต ได้รวบรวมเฉพาะเพลงปี่ที่เป่าในช่วงสำคัญของเรื่องและมีจุดประสงค์ที่ชัดเจน ได้ ๙ ครั้ง โดยใช้ชื่อว่า พบสามพรหมณ์, สังหารนางผีเสื้อ, คิดถึงนางสุวรรณมาลีและสินสมุทร, สะกดทัพเจ้าละมาน, สยบกองทัพทั้งเก้า, กล่อมนางละเวง, ปลุกทหาร, กล่อมทัพลังกา, และรำพึงรักนางละเวง ทั้งนี้ ท่านยังได้กล่าวถึงเนื้อเพลงและจังหวะทำนองที่ใช้ในแต่ละครั้งไว้ด้วย ตัวอย่างเช่น
 
     -ครั้งแรกที่พบสามพรหมณ์ เรียกว่า "เพลงปี่พิศวาส เป่าด้วยทำนองเพลง พัดชา ๒ ชั้น ทำนองเก่า ใช้หน้าทับปรกไก่ มีเนื้อว่า "ในเพลงปี่ว่าสามพี่พราหมณ์เอ๋ย ยังไม่เคยชมชิดพิสมัย ถึงร้อยรสบุปผาสุมาลัย จะชื่นใจเหมือนสตรีไม่มีเลย พระจันทร์จรสว่างกลางโพยม ไม่เทียบโฉมนางงามพี่พราหมณ์เอ๋ย แม้นได้แก้วแล้วค่อยประคองเคย ถนอมเชยชมโฉมประโลมลาน”
 
     -ครั้งที่ ๒ สังหารนางผีเสื้อ ใช้เพลง "พราหมณ์เก็บหัวแหวน” ๒ ชั้น เป็นเพลงแรก ในเพลงชุดนางหงส์ เป็นเพลงที่มีท่วงทำนองช้า โหยหวน ซึ่งเพลงนางหงส์นิยมใช้ในงานอวมงคลและการละคร โดยมีเนื้อเรื่องว่า "แล้วทรงเป่าปี่แก้วให้แจ้วเสียง สอดสำเนียงนิ้วเอกวิเวกหวาน พวกโยคีผีสางทั้งนางมาร ให้เสียวซ่านซับซาบวาบหัวใจ แต่เพลินฟังนั่งโยกจนโงกหงบ ลงหมอบซุกซอนซบสลบไสล พอเสียงปี่ที่แหบหายลงไป ก็ขาดใจยักษ์ร้ายถึงวายวาง”
 
     นอกจากด้านวิชาความรู้ที่พระอภัยมณีแตกต่างจากพระเอกในเรื่องอื่นๆ แล้ว ด้านเมียของพระอภัยมณียังมีความพิเศษไม่เหมือนใครอีกด้วย จริงอยู่ที่พระอภัยฯมีเมียหลายคนคล้ายขุนแผน อิเหนา แต่เมียของพระเอกเหล่านี้ล้วนเป็นมนุษย์ ส่วนหนุมานที่มีเมียหลากหลายทั้งเงือก ยักษ์ นางฟ้า แต่หนุมานก็เป็นลิงเผือก มิใช่คน ส่วนพระอภัยมณีที่เป็นคนกลับมีเมียถึง ๓ สายพันธุ์ กล่าวคือ สายพันธุ์ยักษ์ ได้แก่ นางผีเสื้อสมุทร เป็นเมียแรก มีลูกคือสินสมุทร สายพันธุ์เงือก เป็นเมียคนที่สอง ได้แก่ นางเงือกสาว มีลูกคือ สุดสาคร ส่วนสายพันธุ์มนุษย์มี ๓ คน คนแรกที่เป็นมนุษย์แต่เป็นเมียคนที่สาม ได้แก่ นางสุวรรณมาลี ธิดาเจ้าเมืองผลึก มีลูกแฝด คือ สร้อยสุวรรณ-จันทร์สุดา เมียมนุษย์คนที่สองแต่เป็นเมียลำดับที่ ๔ คือ นางวาลี เป็นสาวสามัญที่มีสติปัญญาดี แม้นางจะมีหน้าตาขี้ริ้วขี้เหร่ แต่ก็มีความใฝ่ฝันอยากได้สามีรูปงาม สูงศักดิ์ เมื่อพระอภัยฯประกาศรับคนดีมีฝีมือเข้ารับราชการ นางจึงไปสมัครและสามารถกล่อมจนพระอภัยมณียอมรับนางเป็นสนมได้ แถมยังพูดจนนางสุวรรณมาลีมเหสีเอกหายงอนกลับมาหาพระอภัยมณี ที่ร้ายกว่านั้นคือ สามารถใช้วาทศิลป์เชือดเฉือนจนอุศเรนอกแตกตาย นางวาลีไม่มีลูกกับพระอภัยมณี ส่วนเมียมนุษย์คนสุดท้าย และเป็นชาวต่างชาติ คือ นางละเวงวัณลา มีลูกชื่อ มังคลา เมียฝรั่งคนนี้ พระอภัยฯเห็นครั้งแรกก็ปิ๊ง นอกจากใช้เพลงปี่เกี้ยวนางแล้ว ยังมีคำสัญญาที่ว่า
 
     "ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน แม้อยู่ในใต้หล้าสุธาธาร ขอพบพานพิศวาสไม่คลาดคลา แม้นเนื้อเย็นเป็นห้วงมหรรณพ พี่ขอพบศรีสวัสดิ์เป็นมัจฉา แม้เป็นบัวตัวพี่เป็นภุมรา เชยผกาโกสุมปทุมทอง แม้เป็นถ้ำอำไพใคร่เป็นหงษ์ จะร่อนลงสิงสู่เป็นคู่สอง ขอติดตามทรามสงวนนวลละออง เป็นคู่ครองพิศวาสทุกชาติไป” ฟังแล้วนางละเวงคงใจละลาย เลยยอมเป็นเมียคนที่ห้า จะว่าไปแล้วพระเอกของท่านสุนทรภู่คนนี้มีเสน่ห์ไม่เบา และยังมีเมียสวยไม่ซ้ำแบบใคร คือ มีทั้งสวยแปลง (ผีเสื้อสมุทร) สวยแปลก (เงือก) สวยเฉิดฉัน (สุวรรณมาลี) สวยเจ้าปัญญา (นางวาลี) และสวยต่างแดน (นางละเวง)
 
     อ่านมาถึงตรงนี้ ทำให้อดทึ่งไม่ได้ว่า "สุนทรภู่” ช่างมีจินตนาการที่กว้างไกลและก้าวกระโดดไม่น้อย เพราะเมื่อสมัย ๒๐๐ กว่าปีก่อน ใครจะแต่งจินตนิยายได้พิสดารและล้ำยุคถึงเพียงนี้ ทั้งสนุก ให้ความรู้ แฝงคติธรรม และแสดงให้เห็นถึงความรักหลากหลายรูปแบบ ขอจบด้วยคำกลอนที่ยังใช้ได้อยู่เสมอ
 
     แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์         มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด
     ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด      ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน
     มนุษย์นี่ที่รักอยู่สองสถาน           บิดามารดารักมักเป็นผล
     ที่พึ่งหนึ่งพึ่งได้แต่กายตน            เกิดเป็นคนคิดเห็นจึงเจรจา 
     แม้นใครรักรักมั่งชังชังตอบ        ให้รอบคอบคิดอ่านนะหลานหนา
     รู้สิ่งไรไม่สู้รู้วิชา                           รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี
.........................................................................
 
น.ส.ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)