กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> เล่าสู่กันฟัง
เล่าสู่กันฟัง...เรื่อง “พระอานนท์ : อรหันต์องค์แรกหลังพุทธกาล ผู้บรรลุธรรมในท่าพิเศษและนิพพานกลางอากาศ”

วันที่ 13 ก.ค. 2563
 
     ในบรรดาพุทธสาวกทั้งหมด อาจกล่าวได้ว่า "พระอานนท์” เป็นผู้อยู่ใกล้ชิดพระพุทธเจ้าที่สุด เพราะมีตำแหน่งเป็นพุทธอุปัฏฐากหรือเทียบได้กับเลขานุการส่วนตัวของพระพุทธองค์ แต่น่าแปลกไหมว่าแม้ท่านจะได้รับการยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะถึง ๕ ประการซึ่งเหนือกว่าเอตทัคคะผู้อื่น ท่านกลับสำเร็จอรหันตผลหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว และยังบรรลุธรรมกับนิพพานในท่าที่ไม่เหมือนใคร เป็นเช่นไรนะหรือ เรามาเล่าสู่กันฟังค่ะ
 
     "พระอานนท์” เป็นพระราชโอรสของพระสุกโกทนะ ผู้เป็นพระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนะ กับพระนางกีสาโคตมี มีศักดิ์เป็นพระอนุชาของพระบรมศาสดา หรือพูดแบบสามัญก็คือเป็นลูกของอาเจ้าชายสิทธัตถะ และเป็นสหชาติกับพระพุทธเจ้าคือเกิดวันเดือนปีเดียวกัน ท่านออกบวชพร้อมกับเจ้าชายเพื่อนสนิทอีก ๕ องค์รวมกับอุบาลีผู้มีหน้าที่รับใช้โดยเป็นทั้งนายภูษามาลาและกัลบก (ช่างตัดผม) รวม ๗ คน ครั้นบวชแล้ว ได้ฟังโอวาทจากพระปุณณมันตานีบุตร ก็บรรลุพระโสดาบัน
 
     ในช่วงปฐมกาลหลังตรัสรู้แล้ว ๒๐ พรรษา พระพุทธองค์ยังไม่มีพระภิกษุใดอยู่ประจำรับใช้ มีเพียงการเปลี่ยนเวรมาปฏิบัติ บางครั้งต้องประทับลำพัง ระหว่างรอผู้มาผลัดเวร หรือบางคราวพระภิกษุผู้ปฏิบัติก็ดื้อดึงขัดรับสั่ง ทำให้พระองค์ได้รับความลำบากพระวรกายไม่น้อย โดยเฉพาะขณะนั้นทรงเข้าสู่วัยชราแล้ว (อายุประมาณ ๕๕ ปี) จึงขอให้พระสงฆ์เลือกภิกษุรูปใดรูปหนึ่งมาทำหน้าที่เป็นพุทธอุปัฏฐาก อยู่ประจำดูแลพระองค์ ซึ่งในตอนแรกก็มีภิกษุหลายรูปเสนอตนขอทำหน้าที่ดังกล่าว แต่ทรงปฏิเสธไปหมด คงเหลือพระอานนท์ทำเฉยไม่ได้ทูลขอ พระพุทธองค์ก็ได้ตรัสเป็นนัย จนที่สุดภิกษุทั้งหลายก็ได้มีฉันทามติขอให้พระอานนท์รับหน้าที่ ด้วยเห็นว่าท่านเป็นผู้มีสติปัญญา มีความขยันอดทน รอบคอบ อีกทั้งยังเป็นพระญาติใกล้ชิดย่อมทราบพระอัธยาศัยของพระพุทธองค์ได้เป็นอย่างดี แต่ก่อนที่พระอานนท์จะยอมรับตำแหน่งพุทธอุปัฏฐาก ท่านก็มีเงื่อนไขที่เรียกว่า "พร ๘ ประการ” ทูลขอต่อพระพุทธเจ้า นั่นคือ
 
     ๑. อย่าประทานจีวรอันประณีตที่พระองค์ได้แล้ว แก่ข้าพระองค์
     ๒. อย่าประทานบิณฑบาตอันประณีตที่พระองค์ได้แล้ว แก่ข้าพระองค์
     ๓. อย่าโปรดให้ข้าพระองค์อยู่ในที่ประทับของพระองค์
     ๔. อย่าพาข้าพระองค์ไปในที่ที่ทรงรับนิมนต์ไว้
     ๕. ขอพระองค์เสด็จไปสู่ที่นิมนต์ที่ข้าพระองค์รับไว้
     ๖. ขอให้ข้าพระองค์พาบริษัทซึ่งมาแต่ที่ไกลเพื่อเข้าเฝ้าพระองค์ได้ ในขณะที่มาแล้ว
     ๗. ถ้าความสงสัยของข้าพระองค์เกิดขึ้นเมื่อใด ขอให้เข้าเฝ้าทูลถามได้เมื่อนั้น
     ๘. ถ้าทรงแสดงธรรมเทศนาอันใดในที่ลับหลังข้าพระองค์ จักเสด็จมาตรัสบอกพระธรรมเทศนานั้นแก่ข้าพระองค์อีก
 
     พระพุทธเจ้าได้ตรัสถามถึงเหตุผลที่พระอานนท์ขอพรทั้งแปด ท่านก็ตอบว่าข้อ ๑-๔ มีไว้เพื่อป้องกันคนครหานินทาท่านว่า อยากเป็นพุทธอุปัฏฐากเพื่อหวังลาภสักการะ ส่วนข้อ ๕-๖ หากท่านไม่ขอไว้ ภายหน้าคนก็อาจหมิ่นท่านว่าอยู่ดูแลใกล้ชิดกับพระพุทธองค์เสียเปล่า แค่รับนิมนต์หรือพาใครเข้าเฝ้าก็สงเคราะห์ให้ไม่ได้ สำหรับข้อ ๗-๘ ก็เพื่อว่า ถ้ามีคนมาถามลับหลังถึงพระธรรมคำสอนว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสที่ไหน อย่างไร จะได้ตอบและอธิบายได้ ไม่เป็นที่ติฉินว่าพระอานนท์ติดตามพระองค์เหมือนเงา อยู่กับพระองค์นานกว่าใคร แต่เรื่องแค่นี้กลับไม่รู้ เมื่อได้ฟังพระอานนท์ตอบแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงประทานพรให้ตามที่ขอทุกประการ พระอานนท์จึงได้รับตำแหน่งพุทธอุปัฏฐากและได้อุปัฏฐากพระพุทธองค์อย่างดียิ่งนับแต่นั้น จนถึงวันเสด็จดับขันธปรินิพพาน รวมเป็นเวลา ๒๕ พรรษา
 
     กิจที่พระอานนท์ทำประจำ ได้แก่ ถวายน้ำสรง ๒ ครั้ง ถวายไม้ชำระพระทนต์ ๓ ครั้ง คอยนวดพระหัตถ์ พระบาท และพระปฤษฎางค์(หลัง) คอยกวาดพระคันธกุฎีและบริเวณโดยรอย คอยรับใช้ใกล้ชิดอยู่ตลอด คิดอยู่เสมอว่าเวลานั้นเวลานี้พระองค์ควรจะได้ ควรจะทำอะไร ก็จะคอยทำให้ รวมถึงคอยจัดคิวเข้าเฝ้าฯ รู้ว่าเวลาใด ใครควรเข้าเฝ้า เป็นต้น เมื่อคราวที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพานจึงได้ทรงตรัสชมว่า "อานนท์ เธอได้อุปัฏฐากตถาคตด้วยกายธรรม วจีกรรมมโนกรรม อันประกอบด้วยเมตตา ซึ่งเป็นประโยชน์เกื้อกูล เป็นความสุข ไม่มีสอง หากประมาณมิได้มาช้านานแล้ว เธอได้ทำบุญไว้มากแล้วอานนท์ เธอจงประกอบความเพียรเถิด จักเป็นผู้ไม่มีอาสวะโดยฉับพลัน" อาจกล่าวได้ว่าพระอานนท์เป็นเลขานุการส่วนพระองค์ที่ทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยม ท่านจึงเป็นเพียงหนึ่งเดียวที่ได้รับการสรรเสริญจากพระผู้มีพระภาคเจ้าว่าเป็นเอตทัคคะถึง ๕ ประการ ได้แก่
     ๑. เป็นพหูสูต คือ สดับตรับฟังธรรมมาก และยังจำได้ ไม่ลืม
     ๒. เป็นผู้มีสติ ระลึกอะไรต่างๆ ได้รวดเร็ว ทำอะไรก็มีความรอบคอบ
     ๓. เป็นผู้มีคติ คือ มีหลักดำเนินชีวิต เป็นแบบฉบับแก่บุคคลทั้งหลายได้เป็นอย่างดี
     ๔. เป็นผู้มีความเพียร ในการปฏิบัตกิจการทุกอย่าง
     ๕. เป็นยอดพุทธอุปัฏฐาก ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยม ยากจะหาผู้ใดเสมอเหมือน
 
     ด้วยความที่ท่านฟังมาก จำได้มากและไม่หลงลืมราวกับเครื่องคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันที่บรรจุข้อมูลของพระพุทธเจ้าไว้อย่างมากมาย ภายหลังพุทธปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสปะจึงได้เลือกท่านเป็น ๑ ใน ๕๐๐ พระอรหันต์สาวกที่จะมาร่วมสังคายนาพระธรรมวินัย เพียงแต่ว่าในขณะนั้น พระอานนท์ยังเป็นแค่พระโสดาบัน ยังขาดคุณสมบัติที่จะเข้าร่วมด้วย แต่อย่างใดก็เว้นท่านไม่ได้ เพราะเหตุผลข้างต้น ดังนั้น พระมหากัสสปะจึงให้โอกาสพระอานนท์ไปเร่งทำความเพียร ให้ทันกำหนดที่จะสังคายนาในอีก ๓ เดือนข้างหน้า ซึ่งท่านก็ได้พยายามเร่งบำเพ็ญเพียรทางจิตอย่างหนัก แต่ดูเหมือนว่ายิ่งทำยิ่งห่างไกลจากความสำเร็จ แต่ท่านก็นึกได้ว่า ครั้งที่ตนร้องไห้เสียใจ เพราะคิดว่าจะไม่สามารถบรรลุอรหันต์ได้ในขณะที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่นั้น พระองค์ก็ได้เรียกตนไปเข้าเฝ้าและตรัสว่า"อานนท์ เธอจะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ในวันปฐมสังคายนา” คิดได้ดังนี้ท่านจึงเร่งความเพียรให้มากขึ้นกว่าเดิม จนวันหนึ่งหลังเพียรภาวนาอย่างหนักก็ให้รู้สึกเหนื่อย คิดว่าจะพักสักครู่ค่อยเริ่มใหม่ จึงนั่งลงเอนกายนอนพัก เท้าไม่ทันพ้นพื้น ศีรษะยังไม่ทันถึงหมอน ท่านก็บรรลุอรหันตผล ณ ขณะนั้น ซึ่งเป็นเย็นก่อนวันสังคายนา ๑ วันตรงตามพุทธพยากรณ์พอดี ซึ่งอิริยาบทที่ท่านสำเร็จเป็นพระอรหันต์นั้น ไม่ได้เป็นท่ายืน นั่ง นอน หรือเดิน แต่เป็นท่าล้มตัวลงนอน จึงนับได้ว่าเป็นท่าพิเศษที่แปลกกว่าใคร อีกทั้งการที่ท่านได้บรรลุพระอรหันตผลหลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ๓ เดือน จึงกล่าวได้ว่า ท่านเป็นพระอรหันต์องค์แรกที่เกิดขึ้นหลังพุทธกาล
 
     สำหรับการสังคายนาครั้งนี้กระทำ ณ ถ้ำสัตตบรรณคูหา นอกเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ มีพระเจ้า อชาตศัตรูทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ มีพระมหากัสสปะเป็นประมุขสงฆ์ กระทำอยู่ ๗ เดือนจึงสำเร็จ โดยเรียกการสังคายนาครั้งแรกนี้ว่า "สังคายนาพระธรรมวินัย” เนื่องจากตอนนั้นยังไม่มีพระไตรปิฎก และได้ถ่ายทอดสืบกันมาด้วยระบบ "มุขปาฐะ” คือ การท่องจำ
 
     หลายคนอาจจะสงสัยว่า พระอานนท์เก่ง ฉลาด และเยี่ยมยอดขนาดนี้ ทำไมจึงสำเร็จเป็นพระอรหันต์ช้ากว่าคนอื่น เหตุผลง่ายๆ ก็คือ ท่านทราบทฤษฎีมากมาย จากการฟังและจำที่พระพุทธเจ้าสอน แต่เวลาเกือบทั้งหมดพระอานนท์ได้อุทิศถวายเป็นพุทธอุปัฏฐากดูแลพระพุทธเจ้าผู้เป็นทั้งอาจารย์และพี่ชายไปหมดแล้ว ท่านจึงไม่มีเวลาลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง อีกทั้งการบรรลุเร็วหรือช้ายังต้องขึ้นกับเหตุปัจจัยหลายอย่างทั้งความพร้อมของอินทรีย์ ญาณ กาลวาระ ฯลฯ ซึ่งแต่ละบุคคลย่อมมีอัธยาศัยต่างๆ กัน ตามแต่บุญบารมีที่สั่งสมกันมา มิใช่ว่าจะอาศัยความเฉลียวฉลาดของสติปัญญาอย่างเดียว
 
     นอกเหนือจากความเป็นเอตทัคคะแล้ว พระอานนท์ยังมีเกียรติคุณอีกอย่าง คือ เป็นผู้ออกแบบจีวรอย่างที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเกิดเมื่อครั้งหนึ่งพระพุทธองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นคันนาชาวมคธเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีคั่นนาสั้นๆ คั่นในระหว่าง จึงตรัสถามพระอานนท์ว่าจะเย็บจีวรอย่างนั้นได้ไหม ท่านก็รับว่าได้ แล้วก็ได้เย็บไปถวายให้ทอดพระเนตร พระองค์ยังตรัสชมว่าพระอานนท์เป็นคนเจ้าปัญญา สามารถทำสิ่งที่พระองค์รับสั่งออกมาได้ โดยไม่ต้องอธิบายให้มากความ นอกจากนี้ ท่านยังเป็นผู้ช่วยทูลขอให้พระนางมหาปชาบดี พระเจ้าน้าของพระพุทธเจ้าได้บวชเป็นภิกษุณีสำเร็จเป็นองค์แรก
 
     พระอานนท์ได้เที่ยวจาริกสั่งสอนเวไนยสัตว์แทนองค์พระศาสดา จนมีอายุล่วง ๑๒๐ ปีก็ได้เข้าสู่พระนิพพาน โดยได้กำหนดนิพพานที่ปลายแม่น้ำโรหิณี ที่ตั้งอยู่ระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์และเทวหะ จากนั้นได้แสดง อิทธิปาฏิหารย์ตั้งจิตอธิษฐานเหาะขึ้นกลางอากาศแล้วเจริญเตโชกสิณทำให้เปลวเพลิงเผาผลาญกายและเลือดเนื้อจนเหลือเพียงพระอัฐิธาตุแตกเป็น ๒ ส่วนตกไปทั้งสองฝั่งแม่น้ำ เพื่อให้พระประยูรญาติและชุมชนแต่ละฝ่ายได้พระอัฐิธาตุโดยไม่ต้องทะเลาะแย่งกัน ซึ่งแต่ละฝ่ายก็ได้สร้างพระเจดีย์รองรับเพื่อสักการะพระธาตุ ณ ริมฝั่งน้ำนั้น
 
.........................................................
 
น.ส.ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม
ภาพ : ภาพพุทธประวัติ วัดพระบาทน้ำพุ - พระอานนท์พุทธอุปัฎฐากถวายน้ำที่ริมฝั่งแม่น้ำโรหิณี
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)