
หลักฐานเกี่ยวกับการลอยกระทงที่เด่นชัดในภูมิภาคอุษาคเนย์ น่าจะเป็นภาพแกะสลักหินอายุราว ๘๐๐ ปี ที่ระเบียงทิศใต้ของปราสาทบายน ภาพสตรีในราชสำนักกำลังปล่อยสิ่งประดิษฐ์รูปทรงกลมลงในน้ำ ตรงกับพระราชพิธีสิบสองเดือนกรุงกัมพูชา ที่ระบุว่าในเดือนกัตติก หรือเดือน ๑๒ จะมี "พระราชพิธีพายเรือ ลอยประทีป ไหว้พระแข” (พระจันทร์) ซึ่งราชสำนักกัมพูชายังสืบทอดมาตราบจนวันนี้ เรียกกันว่า "เทศกาลน้ำ” ในช่วงเดือนพฤศจิกายน โดยถือเป็นวันหยุดราชการถึง ๓ วัน เพื่อระลึกถึงบุญคุณ และแสดงความขอบคุณต่อแม่น้ำโขง สุโขทัยก่อนจะเป็นอาณาจักรใหญ่ ก็เคยขึ้นกับราชสำนักกัมพูชามาก่อน จึงสันนิษฐานว่า พระราชพิธีลอยประทีปอาจส่งอิทธิพลให้เกิดประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟในสุโขทัยด้วย ดังข้อความในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ระบุว่า "เมืองสุโขทัยนี้มีสี่ปากประตูหลวง เที้ยรย่อมคนเสียดเข้ามาดูท่านเผาเทียนเล่นไฟ” จึงกล่าวได้ว่า ประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟในประเทศไทย กับเทศกาลน้ำของกัมพูชา มีต้นรากทางวัฒนธรรมเดียวกัน คือรับอิทธิพลศาสนาพราหมณ์ฮินดู และศาสนาพุทธฝ่ายเถรวาท ในขณะที่วัฒนธรรมของชาวเวียดนาม จะไม่มีวันลอยกระทงแบบเจาะจงวันใดวันหนึ่ง แต่จะลอยในวันสำคัญทางพุทธศาสนา อาทิ วันมาฆบูชา วิสาขบูชา โดยมีต้นรากจากศาสนาพุทธฝ่ายมหายาน และจากลัทธิบูชาบรรพบุรุษของขงจื๊อ ดังนั้น นอกจากลอยกระทงถวายเป็นพุทธบูชาในวันสำคัญทางศาสนาแล้ว ชาวเวียดนามจะนิยมลอยกระทงที่เป็นกระดาษสี ทุกครั้งที่จัดกิจกรรมรำลึกถึงบุญคุณของบรรพบุรุษธรรมเนียมของชาวเวียดนามจึงสามารถลอยกระทงได้ทุกวัน จนกลายเป็นจุดขายทางการท่องเที่ยว เพราะกระทงกระดาษหลากสีสัน ยามเมื่อต้องแสงเทียนระยิบระยับล่องลอยไปในสายน้ำ สร้างความประทับใจให้อาคันตุกะผู้ไปเยือนยิ่งนัก ประเพณีลอยกระทงของชาวอุษาคเนย์ อาจมีต้นรากจากศาสนาหรือลัทธินิกายที่แตกต่างกัน ทว่า ในส่วนลึกของประเพณีนี้ ล้วนสอนให้เราสำนึกถึงบุญคุณของธรรมชาติ และบรรพบุรุษ รู้จักการขออภัย และปรับปรุงแก้ไข หากทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องดีงาม เพื่อสังคมที่ร่มเย็นเป็นสุขนั่นเอง
อ่านเรื่องลอยกระทงในภูมิภาคอุษาคเนย์ ได้ที่ http://magazine.culture.go.th/2014/4/culturemag2014-4/assets/basic-html/index.html#I