กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วัฒนธรรมประเพณี
รู้ไหมว่า...ขันหมากเอกและขันหมากโท ต้องประกอบด้วยสิ่งที่เป็นมงคลอะไรบ้าง

วันที่ 16 มิ.ย. 2563
 

     การจัดขันหมากทั้งขันหมากเอกและขันหมากโทหรือขันหมากบริวาร เป็นหน้าที่ของพ่อแม่และญาติฝ่ายชาย เป็นผู้จัดเตรียมไว้ให้เรียบร้อย ซึ่งนิยมจัดหากันตามความสะดวกและเหมาะสม เช่น เงินทอง สร้อย แหวนกำไล โดยจัดเอาไว้ล่วงหน้าหลายๆวัน ขนมนมเนยผลไม้มักจัดเตรียมไว้ล่วงหน้าประมาณสักสองวัน เพราะถ้าเก็บไว้นานจะเน่าเสียได้ ส่วนต้นกล้วย ต้นอ้อย หมากพลูที่จะใช้ก็ทำการเสาะหาหรือเจรจา ขอเพื่อนบ้านไว้เป็นการล่วงหน้า เมื่อถึงวันงานค่อยไปขุดไปตัดหามา ส่วนสำหรับฝ่ายหญิง จะต้องเตรียมของเลื่อนเตือนขันหมาก เช่น ผ้าไหว้ ของสำหรับเลี้ยงแขกและจัดหาผู้ที่ทำหน้าที่รับขันหมาก ผู้ดูแลเกี่ยวกับพิธีทางศาสนา ฯลฯ

 
     การจัดขันหมากเอกและขันหมากโท ต้องประกอบด้วยสิ่งต่างๆที่เป็นมงคล ดังนี้
     ขันหมากเอก ประกอบด้วย
 
     ๑.พานขันหมาก เป็นพานของฝ่ายชายเชิญมาที่บ้านฝ่ายหญิง ประกอบด้วย พลู ๒ พาน ในพานจะมี หมาก ๘ ผล, พลู ๔ เรียง เรียงละ ๘ ใบ, ถุงเงิน ๒ ใบ, ถุงทอง ๒ ใบ ข้างในบรรจุ ถั่วเขียว, งาดำ, ข้าวเปลือก, ข้าวตอก และซองเงิน ๑ ซอง
 
     ๒.พานสินสอด พานทองหมั้น ใช้สำหรับใส่เงิน, ทอง, เพชร, นาค ไว้ในพานเดียวกัน ใช้สองพานหรือ ๑ พานก็ได้ ซึ่งพานนี้จะมีผ้าคลุมไว้ ส่วนใหญ่ใช้ผ้าลูกไม้ ภายในพาน นอกจากสินสอดเงินทองแล้ว จะต้องมีใบเงิน, ใบทอง, ใบนาค, กลีบกุหลาบ, กลีบดาวเรือง, กลีบบานไม่รู้โรย, ดอกมะลิ, ดอกรัก, ถุงเงิน และถุงทอง
 
     ๓.พานแหวนหมั้น ใช้พานขนาดเล็กซึ่งจะมีการออกแบบที่รองแหวนด้วยการจัดประดับพานด้วยดอกไม้ เพื่อความสวยงามด้วย
 
     ๔.พานธูปเทียนแพ ไม่ต้องทำขนาดใหญ่มากจนเกินไป เพื่อจะใช้พานนี้ในการรับไหว้ ผู้ใหญ่ด้วยก็สามารถทำได้เช่นกัน
 
     ๕.พานผ้าสำหรับไหว้ หรือพานธูปเทียนแพ จำนวนแล้วแต่จะกำหนด ซึ่งพานไหว้ผู้ใหญ่ในสมัยก่อนจะใช้พานธูปเทียนแพเท่านั้น แต่ในปัจจุบัน จะแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นผ้าขาวสำหรับนุ่ง ๑ ผืน และผ้าสำหรับห่ม ๑ ผืน เทียน และธูปหอม ดอกไม้ ๑ กระทง อันนี้สำหรับเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว แต่ถ้ายังมีชีวิตอยู่ไม่ต้องจัดพานดังกล่าว แต่จะจัดในส่วนที่สอง คือสำรับที่จะใช้ไหว้ ญาติผู้ใหญ่ พ่อและแม่ของทั้งสองฝ่าย โดยการใช้ผ้าขาวสำหรับนุ่งและผ้าห่ม อย่างละ ๑ ผืน หรือจะใช้เสื้อผ้า หรือของอื่น ๆ แทนก็ได้ แต่ไม่ต้องใช้ธูปเทียนและดอกไม้
 
      ๖.พานเชิญขันหมาก ๑ พาน โดยจะให้เด็กผู้หญิง ฝ่ายเจ้าสาว ถือต้อนรับขันหมาก นำขันหมากเจ้าบ่าว พานธูปเทียนแพ ไม่ต้องทำขนาดใหญ่มากจนเกินไป เพื่อจะใช้พานนี้ในการรับไหว้ ผู้ใหญ่ด้วยก็สามารถทำได้เช่นกัน
 
     ๗.ร่มสีขาว ๒ คัน โดยจะให้เถ้าแก่ ๒ ฝ่ายถือ ๘. ช่อดอกไม้เล็ก ๆ สำหรับเจ้าบ่าวถือ ๙. พานต้นกล้วย ๑ คู่ ต้นอ้อย ๑ คู่ เพื่อสื่อถึงให้คู่บ่าวสาวทำมาค้าขายเจริญรุ่งเรือง นอกจากนี้ ต้นกล้วยยังหมายถึงให้มีลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง ทั้งนี้ ส่วนใหญ่แล้วจะใช้เป็นต้นเล็กนำมาให้เถ้าแก่ฝ่ายเจ้าบ่าวเป็นคนถือ
 
     ขันหมากโท หรือ ขันหมากบริวาร ประกอบด้วย
 
     ๑.พานขนมมงคล ๙ อย่าง จำนวน ๒ พาน อาทิ ทองหยิบ, ทองหยอด, ฝอยทอง, ทองเอก, ขนมจ่ามงกุฎ, ขนมเสน่ห์จันทร์, ขนมลูกชุบ, ขนมหม้อแกง, ขนมข้าวเหนียวแดง, ขนมข้าวเหนียวแก้ว และขนมชั้น ซึ่งในสมัยก่อนจะใช้ขนมโบราณ อย่าง ขนมกง, ขนมทองเอก, ขนมชะมด, ขนมสามเกลอ, ขนมโพรงแสม, ขนมรังนก ซึ่งปัจจุบันหายากแล้ว และหลายคนก็ไม่รู้จักแล้ว ส่วนขนมที่ไม่นิยมนำมาใช้ในงานมงคล คือ ขนมต้มแดง ต้มขาว
 
     ๒.พานไก่ต้ม พานหมูนอนตอง
 
     ๓.พานวุ้นเส้น ๑ คู่
 
     ๔.พานมะพร้าว ๑ คู่
 
     ๕.พานกล้วยหอม (จำนวนหวีต้องเป็นคู่) และส้ม ๑ คู่
 
     ๖.พานส้มโอ ๑ คู่
 
     ๗.พานชมพูเพชร ๑ คู่
 
     ๘.พานคู่ขนมเสน่ห์จันทร์หรือขนมเปี๊ยะ ๑ คู่
 
     ๙.พานขนมกล่อง จำนวนตามญาติผู้ใหญ่ที่เราจะแจก ซึ่งจะใช้ขนมอะไรก็ได้แล้วแต่ความเชื่อของแต่ละบ้าน
 
นอกจากนี้ยังมีพานผ้าเครื่องเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ประกอบด้วย
 
     ๑.ธูป ๕ ดอก เทียน ๒ เล่ม
 
     ๒.มะพร้าวอ่อน ๑ คู่, กล้วยน้ำว้า ๒ หวี, ไก่ต้ม ๑ ตัว, หมูนอนตอง ๑ ที่
 
     ๓.เหล้า ๑ คู่
 
     ๔.ผ้าขาว ๑ พับ (ประมาณ ๔ ศอก หรือ ๒ เมตร)
 
     สำหรับตัวเจ้าสาวจะต้องเตรียม คือ
     ๑.พานเชิญขันหมาก เมื่อขบวนขันหมากมาถึงบ้านฝ่ายหญิงและผ่านประตูเงินประตูทอง ฝ่ายหญิงก็จะลงมาเชิญขันหมากขึ้นเรือน เป็นธรรมเนียมมารยาทที่เชื้อเชิญญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายขึ้นเรือน
 
     ๒.เด็กสาวที่เป็นลูกหลานวัยเด็ก ๆ ไว้ล้างเท้าเจ้าบ่าว ก่อนขึ้นเรือนของฝ่ายหญิง 
 
     ๓.ประตูเงิน ประตูทอง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นญาติของฝ่ายหญิงถือกั้นไว้
 
     ปัจจุบันการจัดงานแต่งงานมีความสะดวกสบายมากขึ้น และคู่บ่าวสาวส่วนใหญ่ก็มักนิยมใช้บริการของบริษัทพรีเวดดิ้ง เพื่อให้ดูแลเรื่องการจัดงานแต่งทั้งหมดและต้องจัดหาสิ่งเหล่านี้ให้พร้อมเสร็จ ซึ่งจะมีความแตกต่างกันจากงานแต่งงานของรุ่นคุณพ่อ คุณแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ที่มักจะจัดเตรียมกันเองตามความเหมาะสมของแต่ละครอบครัว
 
.............................
 
ที่มา : ประเพณี พิธีมงคล และ วันสำคัญของไทย เรียบเรียง โดย ธนากิต , https://wedding.kapook.com/: weddingsquare.com, weddinginlove.com
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)