กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> เล่าสู่กันฟัง
เล่าสู่กันฟัง...เรื่อง “สัตว์...ผัก...ผลไม้ ไฉนกลายเป็นคำด่า”

วันที่ 15 มิ.ย. 2563
 

     ขึ้นชื่อว่า "คำด่า” หรืออาจจะเรียกให้เพราะว่า "คำผรุสวาท” (อ่านว่า ผะ-รุด-สะ-วาด) แม้บางคำจะไม่หยาบคาย ลามก แต่มักเป็นคำระคายหู และทำให้คนถูกด่าไม่พอใจทั้งสิ้น เพราะคำเหล่านี้ส่วนใหญ่แสดงถึงการดูถูกเหยียดหยามอีกฝ่าย
 
     "คำด่า” โดยตัวมันเองก็เป็นภาษาที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและบริบทของสังคม ถ้าเอามาใช้ผิดยุคผิดสมัย คนฟังก็อาจไม่เข้าใจหรือแปลไม่ออก ซึ่งก็ดีทำให้มีเรื่องน้อยลง แต่ก็มีบางคำที่อยู่มาอย่างยาวนาน ด่าทีไรก็เป็นเรื่องทีนั้น เช่น อีดอก ไอ้เหี้ย ไอ้ควาย อีแรด เป็นต้น
 
     เป็นที่น่าสังเกตว่ามีสัตว์อยู่สามสี่ชนิดที่นำมาเป็น คำด่า ซึ่งหลายคนคงสงสัยว่ามาได้อย่างไร จึงอยากนำมาเล่าสู่กันฟัง รวมถึงผลไม้บางอย่างในปัจจุบัน ที่กลายมาเป็นคำกระทบกระเทียบเปรียบเปรย ว่ามาจากไหนและแปลว่าอะไร
 
     สัตว์ตัวแรกที่จะกล่าวถึงคือ "หมา” อันที่จริงสัตว์ชนิดนี้อยู่ใกล้ชิดคนที่สุด เป็นสัตว์เลี้ยงที่แสนจะน่ารัก แต่ทำไมจึงมีคำด่าที่เกี่ยวกับหมาไม่น้อย ทั้งนี้ ก็เพราะว่าแม้หมาจะมีข้อดีหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นความซื่อสัตย์ รักเจ้าของ เป็นเพื่อนที่ดี แต่พฤติกรรมบางอย่างก็เป็นเรื่องลบ จึงถูกนำมาเปรียบเทียบกับการแสดงออกของคนจนกลายเป็นคำด่า เช่น
 
     -ปากหมา เปรียบกับคนชอบพูดไม่ดี ชอบว่าร้ายคนอื่น โดยนำมาจากนิสัยหมาที่เจออะไรก็จะเห่าดะไปหมด หรือบางทีก็ว่ากระทบคนที่พูดมาก ว่าเหมือนหมาที่ชอบ "เห่า”
 
     -หมาหมู่ เปรียบกับคนที่พาพวกมากไปรุมสกรัมคนๆเดียว โดยดูจากหมาเมื่ออยู่รวมเป็นกลุ่ม จะมีนิสัยนักล่าและรุมทำร้ายตัวอื่นนอกฝูง
 
     -หมาลอบกัด เปรียบกับคนที่ลอบทำร้ายผู้อื่นแบบไม่ให้รู้ตัว มาจากพฤติกรรมของหมาบางตัวที่ชอบแอบกัดตัวอื่นทีเผลอ
 
     -หมาหวงก้าง เปรียบกับคนที่ชอบกันท่าคนอื่น ไม่ให้ได้ในสิ่งที่ตนได้ใช้ประโยชน์แล้ว หรือใช้ประโยชน์ไม่ได้ โดยดูจากหมาที่ชอบแทะกระดูก จนหมดแล้วก็ยังเก็บไว้ ไม่ยอมให้ใครแย่งไป
 
     -หมาเดือนสิบสอง เป็นสำนวนค่อนขอด หรือแดกดันว่า ร่านในการประเวณี (ร่วมเพศ) เปรียบกับคนที่ชอบไปมาหาสู่กับเพศตรงข้ามอย่างขาดไม่ได้ เนื่องจากสังเกตธรรมชาติของหมาว่ามักติดสัดผสมพันธุ์กัน ในเดือนสิบสอง
 
     สัตว์ตัวที่สองที่มักใช้เป็นคำด่าผู้หญิง คือ "แรด” ในที่นี้เป็นคำกิริยาหมายถึง จัดจ้าน ดัดจริต แก่แดด ไวไฟ เหตุที่คำๆนี้กลายเป็นคำด่าก็เพราะอิงมาจากธรรมชาติของแรด ซึ่งเป็นสัตว์บกใหญ่ที่สุดรองลงมาจากช้าง เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ แรดตัวเมียจะต้องต่อสู้แย่งชิงตัวผู้ ตัวเมียตัวไหนชนะก็จะได้ตัวผู้ตัวนั้นไปครอง และถ้าหากตัวผู้นั้นไม่ยอม ก็จะชะตาขาด ถูกตัวเมียนั้นๆขวิดตาย ดังนั้น ผู้หญิงที่ทะเลาะเบาะแว้งแย่งชิงผู้ชายจึงถูกเรียกว่า "แรด” ต่อมายังเป็นคำด่าถึงผู้หญิงที่ดัดจริต แก่แดดเกินวัยด้วย สำหรับยุคปัจจุบันคำนี้ไม่ได้ใช้เฉพาะเจาะจงกับเพศหญิงเท่านั้น เพศใดที่ชอบแย่งชิงแฟนคนอื่นก็ถูกเรียกว่า "แรด” ได้เช่นกัน บางครั้งยังเพิ่มจำนวน "นอ”ของแรด เพื่อขยายความแสดงถึงมากขึ้นด้วย เช่น "แรดสองนอ” ก็แปลว่า แรดมากกว่าปกติ
 
     สัตว์ตัวที่สามที่ถูกใช้เป็นคำด่าอีกตัว คือ "ควาย” ซึ่งจะมีความหมายว่าเป็น คนโง่ เซ่อ ตัวใหญ่มีกำลังแต่ไม่ฉลาด ที่เปรียบเช่นนี้ก็เพราะคนมองควายว่าเป็นสัตว์ตัวโต แต่ยอมทำตามคำสั่งคนโดยไม่ขัดขืน ยอมอยู่นิ่งให้เฆี่ยนตี หรือยอมถูกเจาะจมูกไว้ลากจูงเกวียนหรือไถนาโดยไม่ต่อสู้ จึงคล้ายกับคนโง่ที่ยอมทำตามคนอื่น หรือให้คนอื่นจูงจมูกเหมือนควาย อันที่จริงถ้ามองอีกมุมหนึ่ง เราจะเห็นว่าควายเป็นสัตว์ที่แสนซื่อและใจดี ถึงยอมให้คนใช้มันทำงานต่างๆนานา แต่ก็แปลกที่เรามองพฤติกรรมเช่นนี้ว่าเป็นความโง่ ที่ยอมให้คนอื่นเอาเปรียบตนได้
 
     สัตว์ตัวสุดท้ายที่จะกล่าวถึง และเป็นสัตว์ที่คนนิยมใช้เป็นคำด่ามากที่สุด คือ "เหี้ย” ซึ่งบางครั้งก็เลี่ยงไปใช้คำว่า "ตะกวด หรือตัวเงินตัวทอง” แทน การที่มันถูกใช้เป็นคำด่าก็เพราะ คนไปเปรียบพฤติกรรมของมันที่ชอบกินแบบตะกรุมตะกราม กินของเน่าเสีย และที่แย่ที่สุดคือ ชอบลักกินสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านกับคนที่นิสัยไม่ดี เป็นที่รังเกียจของคนอื่นว่าเป็นแบบเดียวกัน
 
     นอกจากสัตว์ข้างต้นแล้ว ในยุคนี้เรายังได้ยินชื่อผัก ผลไม้บางชนิดก็ถูกใช้เป็นคำด่าเช่นกัน เพียงแต่ระดับความรุนแรงอาจจะไม่มากเท่าไร แต่ทั้งนี้ ก็ขึ้นกับผู้ใช้และสถานการณ์ในเวลานั้นๆด้วย ซึ่งคำเหล่านี้มักจะเป็นคำสแลงที่ใช้ในกลุ่มวัยรุ่น หรือมาจากกลุ่มเพศที่สาม ซึ่งหลายคำก็ค้นหาที่มาไม่ได้ บางคำก็เป็นคำเพี้ยนมาหรือเลียนเสียง บางคำก็ตัดต่อเอาเฉพาะคำที่ต้องการมารวมกันใหม่ โดยส่วนใหญ่มักไม่เกี่ยวกับลักษณะตามธรรมชาติของพืชนั้นๆแต่อย่างใด ตัวอย่างเช่น
 
     -ลำไย แปลว่า ชักช้า น่ารำคาญ น่าเบื่อหน่าย หรือร่ำไร มาจากคำว่า รำคาญ+พิรี้พิไร = ลำไย เป็นการผสมคำโดยเอาคำพ้องเสียงมาใช้
 
     -มะม่วง แปลว่า โง่ ควาย มาจากภาษาอังกฤษว่า Mango อ่านว่า แมงโก้ แปลว่า มะม่วง เป็นการแฝงคำ ว่า แม่ง-โง่ ที่ออกเสียงคล้ายแมงโก้
 
     -แตงโม แปลว่า อ้วน คำนี้น่าจะมาจากรูปร่างของแตงโม ที่อ้วนกลม
 
     -เผือก แปลว่า เสือก โดยใช้ "ผ” แทน "ส” เพื่อให้ฟังดูสุภาพ คำนี้เขาว่ามาจากสมัยแรกๆที่บางเว็บไซต์มีการเซ็นเซอร์คำหยาบ ทำให้พิมพ์ไม่ผ่าน คนเลยเลี่ยงไปใช้คำนี้แทน แต่ความหมายยังคงเดิม
 
     -ส้ม แปลว่า เสือก ชอบยุ่งเรื่องคนอื่น คำนี้หาที่มาไม่ได้ว่า ทำไมจึงแปลเช่นนี้ เพราะไม่ว่าจะพ้องเสียงหรือภาษาอังกฤษ ว่า Orange ออเร้นจ์ หรือรสชาติที่เปรี้ยว ก็ไม่น่าจะแปลเช่นนี้ได้ (ใครทราบเข้ามาตอบได้นะคะ)
 
     -สตอเบอรี่ หรือ สะตอ แปลว่า ตอแหล พูดไม่จริง คำนี้เขาว่ามาจาก สะตอรี่ (Story ) ซึ่งมีความหมายหลายอย่าง โดยอาจจะแปลว่าเรื่องเล่า นิทาน นิยาย เรื่องเล่าลือ เรื่องโกหก เรื่องแต่ง ฯลฯ ดังนั้น จึงนำมาใช้แทนคำว่า "ตอแหล” ที่หมายถึง คนที่ชอบแต่งเรื่อง ชอบพูดเท็จ
 
     -อ้อย แปลว่า แรด, อ่อย คำนี้เดาว่า น่าจะเลี่ยงคำว่า "อ่อย” ที่หมายถึง การโปรยเสน่ห์ หรือล่อเหยื่อให้ติดกับ แต่ไม่อยากพูดตรงๆ เลยเพี้ยนเป็น อ้อย และส่วนที่แปลว่าแรดด้วย ก็คงเพราะคนที่ชอบอ่อย แสดงว่าเป็นคนที่ชอบหว่านเสน่ห์ไปทั่ว จึงถูกประณามว่าเป็นพวกแรด
 
     -เชอรี่ แปลว่า กะหรี่ คำนี้น่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า "เคอรี่” (Curry) ที่แปลว่า แกง ซึ่งเวลาออกเสียงจะฟังคล้ายๆกับคำว่า "กะหรี่” ที่หมายถึง โสเภณี หรือผู้หญิงหาเงิน โดยคำว่า เชอรี่ เองก็ออกเสียงใกล้เคียงกัน จึงนำมาใช้แทนคำๆนี้
 
     -ห่าน เป็นคำแถมท้ายที่เป็นชื่อสัตว์ เป็นคำด่าของคำว่า "ห่า” นั่นเอง เพียงแต่เติม น.หนู เข้าไปให้ฟังดูสุภาพขึ้น หวังว่าคำต่างๆที่ยกมานี้ คงจะทำให้ท่านได้เรียนรู้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคำด่าจำพวกพืช หากใครมาเสริฟผัก ผลไม้เหล่านี้ให้ท่านรับประทานในสถานการณ์แปลกๆ จะได้ไม่งงหรือยิ้มรับ เพราะไม่รู้คำแปล เลยถูกด่าฟรี
 
..............................................
 
 น.ส.ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)