กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วัฒนธรรมประเพณี
อานิสงส์แห่งการทอดกฐิน

วันที่ 29 ต.ค. 2562
 

     การทอดกฐินเป็นประเพณีการบำเพ็ญกุศลอย่างหนึ่งของพุทธสาสนิกชนคนไทย การทอดกฐินเป็นประเพณีนิยมมาตั้งแต่สมัยโบราณ ด้วยคนไทยนับถือศาสนาพุทธ เมื่อทราบพุทธบัญญัติให้ภิกษุรับผ้ากฐินได้ พุทธศาสนิกชนก็ตั้งใจจะอุปถัมภ์พุทธบัญญัตินั้นไว้ไม่ให้สูญหาย ฉะนั้นการทอดกฐินจึงเป็นหน้าที่ที่พุทธศาสนิกชนพึงกระทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะการทอดกฐินถือว่าเป็นการบำเพ็ญกุศลที่ได้บุญมากทั้งผู้ให้และพระภิกษุสงฆ์ผู้รับกฐิน กฐินถือว่าเป็นทานพิเศษ จัดเป็นกาลทาน คือ ทานที่มีระยะเวลากำหนดเนื่องจากการทอดกฐินนั้น ๑ ปี กระทำได้เพียงชั่วระยะเวลา ๑ เดือน คือ ระหว่างวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึง วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ หากเป็นวันก่อนหน้าหรือหลังจากนั้นไม่ถือว่าเป็นการทอดกฐิน และในแต่ละวัดก็รับกฐินได้ครั้งเดียวเท่านั้น การทอดกฐินสามารถแบ่งออกได้ ๒ ลักษณะ ได้แก่
 
     ๑.มหากฐิน หมายถึง การทอดกฐินที่มีเวลามากในการเตรียมผ้ากฐิน พร้อมของบริวารต่างๆจำนวนมาก ซึ่งส่วนหนึ่งใช้สำหรับการทำนุบำรุงศาสนาให้คงอยู่ต่อไป
 
     ๒.จุลกฐิน หมายถึง การทอดกฐินที่มีเวลาจำกัดเพียง ๑ วัน เท่านั้น และต้องทำทุกอย่างให้เสร็จภายในวันนั้น เริ่มตั้งแต่การนำดอกฝ้ายมาทำให้เป็นปุย แล้วปั่นเป็นเส้นดาย นำมาทอเป็นผ้าแล้วจึงตัดเป็นจีวร เมื่อทำจีวรเสร็จ จึงทำพิธีถวายกฐินในวันนั้น จุลกฐินเป็นการทอดกฐินที่ต้องอาศัยความสามัคคีของคนหมู่มากจึงจะสำเร็จ ด้วยมีระยะเวลาอันจำกัด ปัจจุบันจึงไม่นิยมทำกันเท่าไหร่ มีเพียงบางแห่งที่ต้องการอนุรักษ์ประเพณีอันงดงามนี้ไว้เท่านั้น
 
     การทอดกฐินถือเป็นอานิสงส์ทั้งผู้ถวายและภิกษุผู้รับถวาย ผลดีฝ่ายผู้ทอดและคณะ มีดังนี้
 
     ๑.ชื่อได้ว่าถวายทานภายในเวลากำหนดที่เรียกว่ากาลทาน คือ ในปีหนึ่งถวายได้เพียงในระยะเวลา ๑ เดือนเท่านั้นในข้อถวายทานตามกาลนี้มีพระพุทธภาษิตว่า ผู้ใดให้ทานตามกาล ความต้องการที่เกิดขึ้นของผู้นั้นย่อมสำเร็จได้
 
     ๒.ชื่อได้ว่าสงเคราะห์พระสงฆ์ผู้จำพรรษาให้ได้ผลัดเปลี่ยนผ้านุ่งห่มใหม่ แม้ผ้ากฐินนั้นจะตกแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งก็ชื่อว่าได้ถวายแก่สงฆ์เป็นส่วนรวม มีพระพุทธภาษิตว่า ผู้ให้ผ้าชื่อว่าให้ผิวพรรณ
 
     ๓.ชื่อว่าได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ส่งเสริมผู้ประพฤติปฏิบัติชอบให้เป็นหลัก เป็นตัวอย่างแห่งคุณงามความดีแก่ประชาชนสืบไป
 
     ๔.จิตใจของผู้ทอดกฐิน ๓ กาล คือ ก่อนทอด หรือกำลังทอดและทอดแล้วที่เลื่อมใสในศรัทธาและปรารถนาดีนั้นจัดเป็นกุศลจิต คนที่มีจิตใจเป็นกุศลย่อมได้รับความสุขความเจริญ ๕.การทอดกฐินทำให้เกิดความสามัคคีธรรม คือ การร่วมมือร่วมกันทำคุณงามความดี และถ้าการถวายกฐินนั้นมีส่วนได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามด้วยแล้วย่อมเป็นการร่วมสามัคคี เพื่อรักษาศาสนวัตถุศาสนสถานให้ยั่งยืนสืบไป
 
     ในส่วนของภิกษุนั้นจะได้รับอานิสงส์ คือ การละเว้นไม่ต้องโทษ ๕ ประการตลอดฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน เดือน ๑๒ จนถึง วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ได้แก่
 
     ๑.ภิกษุสามารถเดินทางกลับบ้านได้โดยไม่ต้องบอกพระอุปัชฌาย์ หรือเจ้าอาวาสก่อน
 
     ๒.ภิกษุจากริกไปโดยไม่ต้องนำจีวรไปครบสำรับ
 
     ๓.ฉันอาหารเป็นคณะโภชน์ได้
 
     ๔.เก็บจีวรไว้ได้ตามปรารถนา
 
     ๕.ภิกษุที่ไม่ได้รับผ้ากฐิน สามรถแสวงหาผ้าเพื่อมาแทนของเก่าที่ชำรุดได้ ภายในระยะเวลา ๔ เดือน ตลอดฤดูหนาว
 
..................................
 
ที่มา : หนังสือวันและประเพณีสำคัญ โดย ศิริวรรณ คุ้มโห้ และ ปฏิทิน ประเพณี ๑๒ เดือน โดยอุดม เชยกีวงศ์
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)