กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จัดงานแถลงข่าวและพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ (Video Conference) กับมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง ๓๘ แห่ง ในเรื่องความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมและมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๓
ในวันพุธที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๓ ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในการนี้ ได้รับเกียรติจากท่านองคมนตรี (พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (นายอิทธิพล คุณปลื้ม) เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โดยมีประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จรูญ ถาวรจักร์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี) และอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ ๖ แห่ง เดินทางมาลงนามด้วยตนเองที่หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ส่วนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอีก ๓๑ แห่ง จะลงนามผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ (Video Conference) พร้อมกันทั่วประเทศ
นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวถึง ความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมและมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมว่า ภายใต้สถานการณ์ในปัจจุบันนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของคนไทยทุกคนและสภาวะเศรษฐกิจของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง ๓๘ แห่ง ทั่วประเทศในวันนี้ นอกจากส่งเสริมความร่วมมือด้านวัฒนธรรมแล้ว ยังเป็นการเตรียมการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากภายหลังจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-๑๙ คลี่คลาย โดยใช้วัฒนธรรมและภูมิปัญญาของชุมชนท้องถิ่นเป็นฐาน และใช้การบูรณาการองค์ความรู้วิชาการที่สอดรับกับบริบทของพื้นที่ในทุกมิติเป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งจะต้องลงมือทำทันที เพื่อเยียวยาสภาพจิตใจของประชาชนทั่วทุกท้องถิ่น ดังนั้น บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ จึงมิใช่แค่การเขียนโครงร่างความร่วมมือแบบกว้างๆ แต่มีแผนปฏิบัติการที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรมและมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ จะดำเนินการทันทีเมื่อผ่านพ้นวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-๑๙ ประกอบด้วย
๑. การพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมผ้าไทยสู่สากล ซึ่งจะเป็นการขยายตลาดและสร้างมูลค่าเศรษฐกิจเพื่อสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชน
๒. การจัดทำข้อมูลมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชุมชน/ท้องถิ่น และการตรวจสอบสถานะ รวมไปถึงการปรับปรุง ข้อมูลรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ที่ขึ้นบัญชีของชาติ จำนวน ๓๕๔ ราย เพื่อสร้างฐานการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่จะนำรายได้มาสู่ชุมชนท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
๓. การสร้างการมีส่วนร่วมของนักศึกษา คณาจารย์ และชุมชนท้องถิ่น ในลักษณะ Area Based เพื่อต่อยอดสร้างสรรค์วัฒนธรรมท้องถิ่นให้มีมูลค่าเพิ่มกลับคืนสู่คนในชุมชน
๔. การวิจัยงานด้านวัฒนธรรมและมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
โดยทั้ง ๔ หัวข้อที่กล่าวมา ในช่วงระหว่างการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-๑๙ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จะขอความอนุเคราะห์ให้ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏที่มีความพร้อม จัดส่งข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของกรมได้ดำเนินการจำแนกและจัดเก็บข้อมูล สำหรับการจัดทำแผนการลงพื้นที่ แผนการส่งเสริม สนับสนุน รวมไปถึงการพัฒนาต่อยอดได้ในทันที หลังจากกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
ท้ายที่สุดนี้ ผมขอเน้นย้ำอีกครั้งว่า การอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรม สร้างความเป็นชาติและความภาคภูมิใจให้กับเรา แต่การต่อยอดให้วัฒนธรรมที่เราภาคภูมิใจสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนเจ้าของภูมิปัญญาเหล่านั้นต่างหากที่เป็นสิ่งท้าทายสำหรับความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมวัฒนธรรมและมหาวิทยาลัยราชภัฏ ที่จะฝ่าวิกฤติของประเทศในครั้งนี้ |