กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> รู้ไว้ใช่ว่า
รู้ไว้ใช่ว่า…ตอน "ถี่ลอดตาช้าง ห่างลอดตาเล็น"

วันที่ 29 พ.ค. 2563
 

 
     คนโบราณมักจะใช้คำพูดในการสอนหรือบอกกล่าวกันด้วยถ้อยคำที่สละสลวย คล้องจ้อง ฟังแล้วชวนให้คิดตาม มีแง่คิดสอนใจ ทั้งแบบตรงไปตรงมาและในแบบที่ต้องหยุดคิดซักนิด จึงจะได้คำตอบที่แยบยล ดังเช่นสำนวนนี้ เดิมทีใช้ว่า "ถี่ลอดตัวช้าง ห่างลอดตัวเล็น” ซึ่งเข้าใจความหมายได้อย่างไม่ยาก กาลเวลาล่วงเลยจึงเพี้ยนเสียงมาเป็นตาช้าง กับ ตาเล็น แต่ก็ยังคงสื่อความหมายเหมือนเดิม คือ สำนวนที่หมายถึง คนที่ทำอะไรดูเหมือนจะรอบคอบถี่ถ้วนแต่เอาเข้าจริงกลับไม่รอบคอบถี่ถ้วน มีช่องโหว่ ช่องว่างที่อาจส่งผลให้เกิดความเสียหายได้
 
     มาพิจารณาดูจากคำที่ประกอบในสำนวนนี้ จะพบกับคำที่มีความหมายแตกต่างหรือตรงกันข้ามกันอยู่ ๒ ชุด คือ ถี่ กับ ห่าง และ ช้าง กับ เล็น ซึ่งคำชุดแรกบ่งบอกถึงระยะห่างที่ต่างกันคือ แคบ กับ กว้าง ส่วนคำตรงข้ามชุดที่สอง คงไม่ต้องบรรยายมากว่า "ช้าง” คือ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดลำตัวที่ใหญ่โตกว่าสัตว์สี่เท้าชนิดอื่น ลำตัวมีสีเทา มีจมูกยื่นยาวเรียกว่า งวง ตัวผู้จะมีงาสองข้างสีขาว กินพืชเป็นอาหาร อยู่รวมกันเป็นโขลง เป็นสัตว์ที่ทุกคนคุ้นเคยกันดี แต่เจ้าสัตว์ที่น่าสนใจมากกว่าคือ "เล็น” เป็นตัวอะไรกันแน่ ??
 
     เล็น หมายถึง น. ชื่อแมลงหรือสัตว์ที่มีขนาดเล็กมาก ที่กัดหรือทำให้เกิดความระคายเคืองต่อร่างกาย ซึ่งอาจหมายถึงพวกไร เหา เห็บ หมัด หรือมด ก็ได้ ซึ่งคนโบราณสัตว์อะไรที่มีขนาดเล็กมากๆ มักจะเรียกเหมารวมว่าตัวเล็นไปเสียหมด
 
     ช้าง เป็นสัตว์ที่มีร่างกายขนาดใหญ่ แต่กลับมีดวงตาที่เล็กมาก จึงทำให้มีมุมมองการเห็นสิ่งต่างๆได้ในวงแคบ เมื่อเทียบกับ เล็น แมลงขนาดเล็กแต่มีดวงตาขนาดใหญ่มากเมื่อเทียบกับขนาดลำตัว สัตว์ทั้งสองชนิดนี้จึงมีลักษณะโครงสร้างอวัยวะในร่างกายที่ขัดแย้งกัน ตัวใหญ่ดวงตาเล็ก ตัวเล็กดวงตาใหญ่ ซึ่งส่งผลทำให้มีปัญหาการมองเห็นในบางมุมหรือบางสถานการณ์ จึงถูกนำมาใช้เปรียบเปรยกับพฤติกรรมของคนได้อย่างไม่น่าเชื่อ ละเอียดถี่ถ้วนขนาดนี้แล้วยังลอดพ้นสายตาไปได้อย่างไร
 
     ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับ "เล็น” เป็นอุทาหรณ์เตือนสติให้ชาวพุทธ ไม่ยึดติดกับวัตถุสิ่งของนอกกาย ที่ตายแล้วก็เอาไปไม่ได้ คือ เรื่อง "เล็นเฝ้าจีวร" เรื่องเล่าจาก หลวงพ่อฤาษีลิงดำ จากหนังสือตายแล้วไปไหน ในสมัยพุทธกาลมีพระเถระรูปหนึ่งชื่อ พระติสสะ บวชในสำนักขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขณะพระองค์ยังมีพระชนมายุอยู่ เห็นเพื่อนพระห่มจีวรแพรเนื้องาม พระติสสะก็อยากจะห่มจีวรแพรบ้าง มีจีวรอยู่ผืนหนึ่งเป็นผ้าเนื้อหยาบ จึงเอาไปให้พี่สาวจัดการทำให้ พี่สาวจึงนำผ้าของพระน้องชายที่เนื้อหยาบมาก ไปทุบไปสางไปกรอใหม่กลายเป็นผ้าเนื้อนิ่มละเอียดเย็บแล้วนำไปย้อมดูเป็นผ้าที่มีราคาสูง แล้วเอาไปให้พระน้องชาย แต่เวลานั้นพระติสสะป่วยมากจนไม่สามารถครองจีวรผืนนี้ได้ ก่อนตายอยากจะห่มจีวรผืนนี้แต่ทำไม่ได้ จึงมีจิตที่ผูกพันอยู่กับจีวร แทนที่จะนึกถึงพระรัตนตรัย เมื่อตายไปแล้วจะได้ไปอยู่ในภพสวรรค์ กลับไปเกิดเป็น "เล็น” สัตว์เดรัจฉานตัวเล็กๆ อาศัยอยู่ในตะเข็บของจีวร ต้องเฝ้าจีวรอยู่ ๗ วัน จนตาย เพราะเป็นสัตว์ที่มีอายุแค่ ๗ วัน จากนั้นถึงได้ไปเกิดเป็นเทวดาบนสวรรค์ชั้นดุสิต
 
     เรื่อง "เล็นเฝ้าจีวร" นี้ สอนให้รู้ว่าควรใช้ชีวิตอย่างมีสติ รอบคอบ ตลอดช่วงชีวิตทำดีมาโดยตลอด ก่อนตายจึงควรมีสติคิดถึงศีลธรรมอันดี คิดถึงสิ่งที่ดีงามจะได้ไปเกิดในภพภูมิที่ดี ไปถึงนิพพาน ก็เป็นไป
 
     นอกจากนี้ ยังมีสำนวนที่มีความหมายที่ใกล้เคียงกับ "ถี่ลอดตัวช้าง ห่างลอดตัวเล็น” คือ "สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง” หมายถึง คนที่มีความฉลาดปราดเปรื่อง เก่งกาจหรือมีความสามารถมาก ก็ยังทำผิดพลาดได้ ไม่ใช่ว่าทำการใดๆ จะสำเร็จลุล่วงไปได้ทุกครั้งเสมอไป สุภาษิตนี้สอนให้รู้ว่า ในโลกนี้ไม่มีใครที่ไม่เคยทำผิดพลาด แต่เมื่อรู้ข้อผิดพลาดแล้ว ขอให้นำข้อผิดพลาดหรือข้อบกพร่องนั้นมาหาวิธีการแก้ไขเพื่อป้องกันไม่ให้ทำผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำอีกๆๆๆ
 
 
อ้างอิง : พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ / เว็บไซต์ royin.go.th/dictionary / เว็บไซต์ สุภาษิต.net / วัดบนเว็บ.คอม (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ จากหนังสือ ตายแล้วไปไหน) ภาพ : เว็บไซต์ myprim.blogspot.com/
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)