กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> อาเซียน
ตะกร้อลอดห่วง กีฬาลูกหวายไทย

วันที่ 13 พ.ค. 2563
 
 
 
     ลีลาการเตะส่งลูกตะกร้อหวายให้ลอดเข้าห่วงซึ่งแขวนอยู่สูงเหนือพื้นดินด้วยท่าทางพลิกแพลงต่าง ๆ เป็นเอกลักษณ์ของตะกร้อลอดห่วง กีฬาพื้นเมืองของไทยที่คิดสร้างสรรค์ขึ้นโดยคนไทยอย่างแท้จริง
 
     ความนิยมในการล้อมวงเตะลูกตะกร้อที่สานจากหวายเพื่อความผ่อนคลายของคนไทยตั้งแต่ในอดีต ทำให้มีการดัดแปลงกติกาการเล่นออกไปเป็นหลายประเภทเพื่อเพิ่มความสนุกสนานมากยิ่งขึ้น เช่น ตะกร้อเตะวง ตะกร้อพลิกแพลง ตะกร้อชิงธง ตะกร้อเตะทน ตะกร้อข้ามตาข่าย และตะกร้อลอดห่วงซึ่งเป็นหนึ่งในกีฬาที่เกิดจากภูมิปัญญาไทย มีอายุยาวนานกว่า ๙๐ ปี
 
     จุดเริ่มต้นของกีฬาตะกร้อลอดห่วงปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าระหว่างปี พ.ศ.๒๔๗๐- ๒๔๗๒ หลวงมงคลแมน (สังข์ บูรณะศิริ) ได้ริเริ่มการเล่นตะกร้อลอดห่วงขึ้นในกรุงเทพฯ โดยนำวิธีการเล่นตะกร้อวงมาผสานกับท่าเตะต่างๆ ของการเล่นตะกร้อพลิกแพลง และเพิ่มการแขวนห่วงที่คิดประดิษฐ์ขึ้นไว้สูงจากพื้นตรงกลางสนามเล่น ให้ผู้เล่นเตะป้อนลูกตะกร้อกันไปมาโดยมีจุดมุ่งหมายให้ลูกตะกร้อลอดเข้าห่วงที่แขวนไว้ การให้คะแนนคิดจากลูกที่เข้าห่วง และความยากง่ายของท่าเตะที่ผู้เล่นสร้างสรรค์ขึ้นตามความสามารถ ยิ่งท่วงท่ายากเท่าไร ก็จะยิ่งได้คะแนนมาก วิธีการเล่นตะกร้อลอดห่วงถูกเผยแพร่ต่อมาจนเริ่มจัดการแข่งขันครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ โดยสมาคมกีฬาสยามเป็นผู้จัดขึ้น ต่อมาจึงเริ่มกระจายไปยังจังหวัดอื่น ๆ ในภาคกลาง และแพร่หลายทั่วประเทศ
 
     การเล่นตะกร้อลอดห่วงเป็นกีฬาที่ใช้อวัยวะจากศีรษะจรดปลายเท้าอย่างครบเครื่อง สามารถออกอาวุธได้ทั้งเท้า แข้ง เข่า ไหล่ ศอก ศีรษะ ทั้งท่าเตะด้านหน้า ด้านข้าง ด้านหลัง มีทั้งยืนเตะ กระโดดเตะ ไขว้ขาเตะ และเตะให้ลอดบ่วงมือไปลอดห่วงชัย โดยใช้ท่าต่าง ๆ มีชื่อเรียกตามลีลาการเตะ เช่น พระรามบ่วงมือ (โค้งหลังใส่บ่วง) ขึ้นม้า (กระโดดไขว้) พับเพียบ มะนาวตัด รวมทั้งสิ้น ๓๒ ท่า หรือที่ในวงการตะกร้อเรียกว่า "ลูก”
 
     ลักษณะพิเศษของตะกร้อลอดห่วงที่แตกต่างจากกีฬาประเภทอื่นคือ นอกจากการประลองฝีมือกับฝ่ายตรงข้ามแล้ว ยังเป็นกีฬาที่ผู้เล่นต้องแข่งขันกับตนเอง โดยอาศัยทักษะและการฝึกฝน ประกอบกับความแม่นยำในการเคลื่อนไหวส่งลูกเข้าห่วงด้วยจังหวะท่าเตะต่าง ๆ รวมถึงพัฒนาสติปัญญาในการฝึกคิดเชิงวิทยาศาสตร์ เช่น การคำนวณมุมเตะ คำนวณแรงเตะ การตัดสินใจ ตลอดจนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างดีเยี่ยม นอกจากนี้ตะกร้อลอดห่วงยังเปี่ยมด้วยคุณค่าทางภูมิปัญญา ไม่ว่าจะเป็นการนำหวาย พืชพื้นเมืองของไทยมาสานเป็นลูกตะกร้อ รวมถึงการประดิษฐ์ห่วงสามเส้า และวิธีการเตะตะกร้อด้วยลีลาที่สวยงามโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของไทยไม่เหมือนชาติใดในโลก
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)