
แน่นอน "ตลก” ทำให้ท่านได้หัวเราะ ช่วยคลายเครียด ลดความเซ็งไปได้ไม่น้อย โดยเฉพาะในช่วงนี้ ที่ต่างคนต่างก็ต้องอยู่บ้าน หลายๆ คนคงได้รับเรื่องราวตลกๆ ภาพตลกๆ ฯลฯ จากญาติมิตรผ่านการสื่อสารทางออนไลน์ช่วยให้เกิดรอยยิ้มกันบ้าง ดังนั้น จึงคิดอยากเล่าเกี่ยวกับคำว่า "ตลก” ให้ฟังกันสักหน่อย
พจนานุกรมให้ความหมายของ "ตลก” ว่า ทำให้คนอื่นขบขันด้วยคำพูดหรือกิริยาท่าทาง บางแห่งก็แปลว่า ขำขัน ทำให้หัวเราะ ทำแปลกๆ หรืออาจจะหมายถึงคนคะนอง คนที่เล่นขันๆ ตัวละครที่เล่นให้ขบขัน ซึ่งความหมายส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นหนังตลก ตัวตลก คณะตลก หรืออะไรตลกๆ ก็คือ สิ่งทำให้คนหัวเราะและมีความสุขนั่นเอง (ส่วน "ตลกร้าย” หรือ ตลกที่ทำให้หัวเราะไม่ออก ถือเป็นส่วนน้อย)
ในวิกิพีเดีย บอกว่า "ความตลกขบขัน” หรือที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า "Humor” นั้นเป็นประสบการณ์ทางการรู้คิดที่มักทำให้หัวเราะ และสร้างความบันเทิงสนุกสนาน โดยคำว่า Humor (บางแห่งเขียน Humour) มาจากศัพท์ทางการแพทย์ของชาวกรีกโบราณ ซึ่งสอนว่า ความสมดุลของธาตุน้ำต่างๆ ในร่างกายมนุษย์ที่เรียกเป็นภาษาละตินว่า Humor (แปลว่า ของเหลวในร่างกาย) เป็นตัวควบคุมสุขภาพและอารมณ์ของมนุษย์ ทั้งนี้ อารมณ์ขันของบุคคลนอกจากจะขึ้นกับรสนิยมส่วนตัวแล้ว ยังขึ้นกับตัวแปรอีกหลายอย่าง รวมถึงวัฒนธรรม อายุ ระดับการศึกษา ความเฉลียวฉลาด พื้นเพและบริบทที่เกี่ยวข้องอีกด้วย เช่น เด็กเล็กๆ อาจจะชอบเรื่องตลกที่มีการตีกัน อย่างการ์ตูนทอมกับเจอรี่ เพราะเด็กดูแล้วเข้าใจง่าย ขณะที่ตลกแบบล้อเลียนหรือเสียดสี ผู้ใหญ่จะชอบมากกว่า เป็นต้น
มนุษย์เราทุกคนล้วนมีอารมณ์ขัน ส่วนจะมากหรือน้อยก็คงแล้วแต่บุคคล อย่างไรก็ดี อารมณ์ขันที่ทำให้เราหัวเราะและรู้สึกเบิกบานใจนับเป็นสิ่งสำคัญต่อชีวิตไม่น้อย เพราะอารมณ์นี้ไม่เพียงจะช่วยบรรเทาความเบื่อหรือลดความเครียดให้เราได้เท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ต่อการสร้างความสัมพันธ์ หรือเสริมมิตรภาพกับคนอื่นๆ ได้ด้วย เราจะเห็นว่า ใครก็ตามที่เป็นคนมีอารมณ์ขัน มักมีเสน่ห์ คนอยากเข้าใกล้ เพราะอยู่ด้วยแล้วสบายใจ นอกจากนี้ ยังพบว่า อารมณ์ขันเป็นอีกคุณสมบัติหนึ่งของการเลือกคู่ครองทั้งของชายและหญิง (เราถึงได้ยินว่า พวกตลกมักมีเมียสวยไงคะ)
เป็นที่น่าสังเกตว่า คนที่ตลกหรือมีอารมณ์ขันจำนวนไม่น้อย มักเป็นคนที่มีปฏิภาณไหวพริบดี สามารถหยิบยกสิ่งต่างๆ รอบตัวมาทำให้คนหัวเราะได้ สามารถบิดเรื่องราวที่ดูธรรมดาให้น่าขบขัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงทักษะหรือความรู้รอบของคนๆ นั้นด้วย บางคนบอกว่า คนตลก เป็นคนน่ารัก เพราะการที่คนๆ หนึ่งทำให้คนรอบตัวหัวเราะ มีความสุขได้นั้น บ่งชี้ถึงความเอาใจใส่หรือการคิดถึงคู่สนทนาของเขา ที่จะต้องเลือกเรื่อง ที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายเชื่อมโยงเข้าหากัน หรือมีประสบการณ์ร่วมกัน จนหัวเราะด้วยกันได้
สำหรับผู้สูงอายุ ผลการศึกษา พบว่า อารมณ์ขันจะทำให้สามารถรับมือกับการมีอายุมากขึ้นได้ ใน ๓ ด้าน คือ
สุขภาพกาย อารมณ์ขันที่สม่ำเสมอเสมอจะทำให้ไม่เครียด และมีความภูมิใจในตนเองดีกว่า ซึมเศร้าน้อยกว่า วิตกกังวลน้อยกว่า เพราะจะเป็นคนมองโลกในแง่ดี คิดมุมบวกเสมอ จึงมีผลให้สุขภาพดีไปด้วย
การสื่อสารทางสังคม สามารถดำรงความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดีได้ แม้ชีวิตจะเปลี่ยนไป เช่น หากต้องย้ายไปอยู่สถานพยาบาลหรือสถานดูแลผู้สูงอายุ ทำให้ปฏิสัมพันธ์กับครอบครัวลดลง แต่กระนั้นผู้สูงอายุที่มีอารมณ์ขันก็สามารถหาเพื่อนใหม่ได้ ไม่ยึดติด และสามารถปรับตัวได้ดีกว่า
ความพอใจในชีวิต แม้การมีอายุสูงขึ้นจะทำให้สมรรถภาพในการดำเนินชีวิตเปลี่ยนไป เช่น อาจจะไม่สามารถขับรถได้ดังเดิม ทำให้ความพึงพอใจในชีวิตลดลง แต่คนที่มีอารมณ์ขันหรือตลกจะสามารถชะลอหรือลดความพึงพอใจต่างๆ ได้ดีกว่า ทำให้เครียดหรือวิตกกังวลน้อยกว่า เพราะทำใจให้ยอมรับได้ ไม่กระวนกระวายจนเกินเหตุ
จะว่าไปแล้ว อารมณ์ขันหรือเรื่องตลกๆ ซึ่งเป็นความสุขแบบง่ายๆที่หาได้ไม่ยาก หากรู้จักผ่อนปรนในภาวะที่โลกตึงเครียด ด้วยวิกฤตโควิด-19 นี้ อาจมีส่วนช่วย "เยียวยา” รักษาจิตใจให้คนคลายทุกข์ได้ไม่มากก็น้อย ที่สำคัญ "เสียงหัวเราะ” หรือ "รอยยิ้ม” ล้วนมีส่วนทำให้โลกน่าอยู่และดูสดใสขึ้น
ดังนั้น ก่อนจะจบ จึงขอมอบสองเรื่องราวจากคนช่างคิด ที่ได้จากมิตรทางไลน์มาเรียกรอยยิ้มจากท่านสักเล็กน้อย เรื่องแรก "โควิด ทำพิษ อันตรายมากครับ” เรื่องมีอยู่ว่า
ผมและภรรยาไปซื้อของที่ซุปเปอร์มาร์เก็ต แน่นอนว่า ต้องใส่หน้ากากอนามัยและแว่นตาด้วย เพื่อความปลอดภัย พอถึงซุปเปอร์ฯ พบว่าคนเยอะมาก น่ากลัวๆ ผมเลยตัดสินใจดึงภรรยากลับบ้าน เพราะกลัวจะติดเชื้อโควิด แต่เธอขัดขืน ยังไม่อยากกลับบ้าน ผมเลยต้องลากเธอไปที่รถ เธอโกรธมาก และไม่ยอมพูดกับ พอถอดหน้ากากออก ผมจึงพบว่าเธอไม่ใช่ภรรยาผม
เรื่องที่สอง Work from home (WFH)
เจ้านาย : กูโทรหามึง เมียมึงบอกว่า มึงกำลังทำกับข้าว ทำไมมึงไม่โทรกลับวะ
ลูกน้อง : ผมโทรกลับไปแล้วครับ แต่ภรรยาหัวหน้าบอกว่า หัวหน้ากำลังซักผ้าอยู่
...................................................................
น.ส.ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม