กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> เล่าสู่กันฟัง
เล่าสู่กันฟัง...เรื่อง "สำนวน ข้อคิด คำคมจากนิยายจีน"

วันที่ 18 พ.ค. 2563
 

     "การอ่านหนังสือ” ในระหว่าง " อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” คงจะช่วยให้หลายท่านคลายความเหงาความเบื่อไปได้บ้าง ผู้เขียนเองหลังจากอ่านนวนิยายไทยมาไม่น้อย จึงได้ลองหันไปอ่านนิยายจีนในปัจจุบันบ้าง ก็พบว่าแนวการเขียนแหวกไปจากนิยายกำลังภายในอดีตมากมาย แต่ก็ให้ความสนุกสนานไม่แพ้กัน อีกทั้งยังได้เห็นสำนวน ข้อคิด คำคมหรือประโยคที่แปลกๆ ออกไป จนอยากจะมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อแบ่งปันประสบการณ์แบบอ่านเพลินๆ โดยได้เลือกประโยคหรือสำนวนที่เจอบ่อยๆ มาขอนำเสนอ ดังนี้
 
     - ข้าวสาร กลายเป็นข้าวสุก ไม้กลายเป็นเรือ หมายถึง เรื่องราวได้ดำเนินไปแล้ว ไม่สามารถกลับไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้
     - ตราบใดขุนเขายังเขียวขจี อย่ากลัวไม่มีฟืนเผา หมายถึง ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ ย่อมต้องมีความหวัง
     - มอบถ่านกลางหิมะ หมายถึง การให้ความช่วยเหลือ ในยามที่อีกฝ่ายเดือดร้อน
     - รักหยก ถนอมบุปผา หมายถึง ให้อ่อนโยนต่อผู้หญิง เหมือนที่ชอบหยก จึงถนอมหยก
     - ข้ามแม่น้ำได้ ก็รื้อสะพานทิ้ง หมายถึง เมื่อบรรลุวัตถุประสงค์ ก็ถีบส่งผู้ช่วยเหลือ
     - น้ำบ่อ ไม่ยุ่งน้ำคลอง หมายถึง ต่างคนต่างอยู่ ไม่ยุ่งเกี่ยวกัน
     - คนใกล้ชาดติดสีแดง คนใกล้หมึกติดสีดำ หมายถึง อยู่ใกล้กับคนเช่นไร ก็จะเป็นแบบคนเช่นนั้น
     - ไร้เรื่องร้อนใจ ไม่ถ่อไปวัด หมายถึง ไม่มีเรื่องเดือดร้อน ก็ไม่มาหา
     - เสือหมอบ มังกรซ่อน หมายถึง เมื่อมีการแก่งแย่งชิงดีกัน คนที่มีอำนาจหรือความรู้ความสามารถมักซ่อน คมเอาไว้ รอจนได้โอกาสเหมาะก็จะเผยอำนาจหรือความสามารถนั้นออกมา
     - ทหารมาใช้ขุนพลต้าน น้ำมาใช้ดินกลบ หมายถึง ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ให้พลิกแพลงรับมือไปตามสถานการณ์
     - น้ำไกล ดับไฟใกล้ไม่ทัน หมายถึง แม้จะมีความพร้อมจะช่วยเหลือ แต่ถ้าคนช่วยนั้นอยูไกล ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะอย่างไรก็มาช่วยไม่ทัน
     - ตั๊กแตนจับจั๊กจั่น นกขมิ้นอยู่ด้านหลัง หมายถึง จ้องจะทำร้ายหรือจัดการอีกฝ่าย โดยลืมไปว่าตัวองก็อาจจะถูกจ้องจัดการอยู่เหมือนกัน
     - ไม่ยอมดื่มสุราคารวะ ชอบสุราลงทัณฑ์ หมายถึง พูดดีไม่ฟัง ชอบให้ใช้กำลังบังคับ
     - ปากสุนัข ย่อมไม่งอกงาช้าง หมายถึง คนไม่ดี ย่อมไม่มีทางเอ่ยวาจาดี
     - พบคนถูกใจ ดื่มพันจอก ยังว่าน้อย คุยไม่ถูกคอ ครึ่งคำ ก็มากเกิน หมายถึง เจอคนรู้ใจ ชอบอะไรเหมือนๆ กัน คบหาพูดคุยกันเท่าไรก็ไม่เบื่อ แต่ถ้าเจอคนรสนิยม นิสัยต่างกัน คุยกันไม่ทันไร ก็ไม่อยากพูดด้วยแล้ว
     - สุนัขจิ้งจอก แอบอ้างบารมีเสือ หมายถึง ผู้ที่อาศัยบารมีหรืออำนาจเจ้านาย หรือผู้เป็นใหญ่ไปข่มขู่ อวดเบ่งกับผู้อื่น
     - หลอกกินเต้าหู้ หมายถึง หลอกลวนลามผู้หญิง (เปรียบเต้าหู้ที่ขาว และนุ่มนิ่มเหมือนผู้หญิง) 
     - บุปผามีใจ ธาราไร้ไมตรี หมายถึง ผู้หญิงมีใจให้ แต่ชายหนุ่มไม่รับไมตรีนั้น
     - ขโมยไก่ไม่ได้ ยังเสียข้าวสารอีกกำมือ หมายถึง นอกจากจะไม่ได้ผลประโยชน์ที่ต้องการแล้ว ยังต้องสูญเสียอย่างอื่นไปอีก
     - สี่ตำลึง ปาดพันชั่ง หมายถึง ใช้แรงน้อยชนะแรงมาก
 
     ข้างต้นที่ยกมา อ่านเข้าใจได้ไม่ยาก ค่อนข้างจะเดากันได้ แต่ยังมีบางสำนวนที่ตอนแรกอ่านก็งงว่าทำไมถึงหมายความอย่างนั้น แต่หลังจากอ่านที่มาที่ไป ก็จะร้องว่า "อ๋อ อย่างนี้นี่เอง” สำนวนที่ว่าได้แก่
 
     - ตัดแขนเสื้อ หมายถึง พวกรักร่วมเพศ (ชายรักชาย) มาจากสำนวนจีนที่ว่า "ต้วนซิ่วจือผี่” แปลว่า "พิศวาสจนตัดแขนเสื้อ” เรื่องมีอยู่ว่า ฮั่นอ้ายตี้ ฮ่องเต้สมัยนั้นทรงหลงใหลขันทีเทียมคนหนึ่ง (ไม่ได้ตอนเป็นขันทีจริง แต่ได้ติดตามรับใช้ใกล้ชิดอยู่ข้างกายฮ่องเต้ไม่ต่างจากขันที) ชื่อ "ตงเสียน” ถึงขนาดให้อำนาจ ตำแหน่งและจวนส่วนตัวอันหรูหรา และให้ติดตามเป็นเงาไม่ห่างกาย พระองค์เสด็จไปไหน ก็ต้องเห็นเขาอยู่ที่นั่น จนวันหนึ่ง ขณะที่ตงเสียนนอนหลับใหลโดยทับแขนเสื้อของพระองค์อยู่นั้น ฮ่องเต้จำต้องลุกจากที่บรรทม แต่ไม่กล้าปลุกคนรัก จึงยอมตัดแขนเสื้อตนเองเพื่อให้ตงเสียนได้นอนหลับสบายต่อไป การกระทำดังกล่าวจึงเป็นที่มาของคำว่า "ตัดแขนเสื้อ” ที่หมายถึง ชายรักชาย นั่นเอง
 
     - สวมหมวกเขียว หมายถึง มีชู้ สวมเขาให้สามี เรื่องนี้มาจากหญิงสาวหน้าตาดีคนหนึ่งได้แต่งงานกับพ่อค้า ซึ่งต้องเดินทางไปค้าขายต่างเมืองอยู่เป็นประจำ ทำให้นางเกิดความเหงา จึงได้คบชู้กับคนขายผ้าที่อยู่ในละแวกใกล้เคียง ครั้งหนึ่งสามีกลับมากระทันหันจนเกือบจับได้ นางจึงคิดหาวิธีปกปิดด้วยการให้สามีสวมหมวกสีเขียวทุกครั้งเมื่อจะออกไปเดินทางไปค้าขาย โดยอ้างความเป็นห่วง แต่จริงๆ คือเป็นสัญญาณให้ชายชู้รู้ว่า เมื่อใดก็ตามที่สามีนางใส่หมวกเขียว แปลว่าจะไม่อยู่หลายวัน - กินน้ำส้มสายชู หรือตกไหน้ำส้ม หมายถึง หึงหวง ขี้หึง มาจากเรื่องเล่าว่า ถังไท่จงฮ่องเต้ อยากจะพระราชทานหญิงสาวให้เป็นภริยาน้อยอำมาตย์ฝังเสวียนหลิง เพื่อตอบแทนความดีความชอบ แต่ท่านอำมาตย์ไม่ยอมรับ พระองค์ก็ทราบว่าเป็นเพราะนางหลูซื่อภรรยาเขาไม่ยินยอม และเขาก็กลัวเมีย ดังนั้น พระองค์จึงขู่นางว่า ถ้าไม่ยินยอมให้สามีมีภริยาน้อย จะต้องดื่มยาพิษแทน พระองค์นึกไม่ถึงว่า นางยอมดื่มยาพิษ ยอมตาย แต่ไม่ยอมให้สามีมีเมียน้อย โชคดีที่ว่า ยาสีดำรสเปรี้ยวที่ดื่มเข้าไป จริงๆ แล้วคือ น้ำส้มสายชู นางจึงรอดตายจากพิษรักแรงหึง เพราะฮ่องเต้เพียงลองใจเท่านั้น ไม่ได้พระราชทานยาพิษจริงให้ คำว่า "น้ำส้ม (สายชู) จึงเป็นที่มาของความหมาย "หึงหวง”
 
     - กิ่งดอกซิ่ง ยื่นออกนอกกำแพง หรือ ดอกซิ่งแดงออกกำแพง หมายถึง นอกใจ ประโยคนี้เขาบอกว่ามาจากบทกวีชื่อ "ท่องสวนไม่พบพานใคร” ของเยี่ยส้าวเวิง กวียุคราชวงส์ซ่งใต้ โดยมีใจความว่า "คงเกรงว่าเกี๊ยะไม้ เหยียบตะไคร่ทับเป็นรอย เนิ่นนานเคาะแล้วคอย จึงมิเปิดประตูฟืน เต็มสวนอายวสันต์ สุดปิดกั้นด้วยแข็งขืน หนึ่งกิ่งซิ่งแดงยื่น เผยโฉมออกกำแพงมา” (ซิ่ง คือ แอปริคอต ส่วน คำว่า อายวสันต์ หมายถึง วัยแรกรุ่น และซิ่งแดง หมายถึงหญิงสาวแรกรุ่น) ในที่นี้ความหมายรวมของ ดอกซิ่งแดงออกกำแพง คือ การที่หญิงสาววัยแรกรุ่นอยากมีคู่ พยายามทำตัวโดดเด่นเพื่อเรียกร้องความสนใจให้เพศตรงข้ามสังเกตเห็นและสนใจตน เหมือนดอกซิ่งที่ต้นอยู่ในบ้านต้นหนึ่ง แต่กลับยื่นกิ่งออกไปนอกกำแพง อวดโฉมให้คนอื่นชื่นชม และยังมีอีกนัยที่หมายถึง หญิงที่มีสามีแล้ว แต่ไม่สำรวมตน คบชู้สู่ชาย หรือนอกใจนั่นเอง
 
     ทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ที่ได้พบเห็นบ่อยๆ ในนิยายจีนที่อ่าน ก็หวังว่าเมื่อไปเจอสำนวน ประโยคเหล่านี้ที่ไหน อย่างน้อยก็ทำให้ท่านเข้าใจได้ระดับหนึ่ง เรียกว่าอ่านเล่นๆ แต่ก็ได้ความรู้ไปบ้างนะคะ
 
.....................................................................
 
น.ส.ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)