กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> รู้ไว้ใช่ว่า
รู้ไว้ใช่ว่า…ตอน "ตีวัวกระทบคราด"

วันที่ 22 พ.ค. 2563
 

     ตีวัวแล้วได้อะไร ?? ทำไมถึงต้องตีวัว ถ้าตีเพื่อให้ไปกระทบคราด แล้ว "คราด” คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร น่าสงสัยจริง เชื่อว่าถ้าเป็นคนรุ่นพ่อ รุ่นแม่ คนที่ประกอบอาชีพทำนาทำไร่ โดยเฉพาะชาวนา ที่ยังใช้วิธีการทำนาแบบดั้งเดิม โดยไม่พึ่งพาเครื่องไม้เครื่องมือสมัยใหม่ จะรู้และเข้าใจได้ดีว่า คราด คืออะไรทั้งยังมีความสำคัญเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพื่อให้เข้าใจถึงความหมายของสำนวนนี้ เราต้องทำความรู้จักกับ "คราด” เป็นลำดับแรก
 
     "คราด” มีด้วยกัน ๓ ความหมาย ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตฯ ได้แก่ ความหมายแรก (คราด) น. เครื่องมือทำไร่ทำนาใช้วัวหรือควายลาก ลักษณะเป็นคาน มีซี่ห่าง ๆ กัน มีคันชักสำหรับลากขี้หญ้าและทำให้ดินที่ไถแล้วซุย, เครื่องมือสำหรับชักหรือลากขี้หญ้าหรือหยากเยื่อเป็นต้น ทำเป็นซี่ ๆ มีด้ามสำหรับจับชักหรือลากไป ความหมายที่สอง (คราด) ก. ชักหรือลากขี้หญ้าเป็นต้นด้วยคราดนั้น
 
     และยังอีกความหมายที่ไม่เกี่ยวข้องกับสำนวนนี้ (คราด) น. ชื่อไม้ล้มลุกหลายชนิดในวงศ์ Compositae ขึ้นตามที่รกร้างว่างเปล่าในที่ชื้นแฉะ เรียกกันว่า ผักคราด หรือ ผักคราดหัวแหวน เช่น ชนิด Acmella oleracea (L.) R. K. Jansen ดอกสีเหลืองทรงกรวยแหลม ขนาดเท่าปลายนิ้วก้อย, พายัพ(ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ) เรียก ผักเผ็ด
 
     เห็นได้ว่า คราด มีความสำคัญอย่างมากต่อชาวนา ด้วยเป็นเครื่องมือที่ใช้ทำให้ดินร่วนซุย ใช้ลากขี้หญ้าที่ปกคลุมดินอยู่ให้ออกไป คราด จึงเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญในการเปิดผิวดินหรือเตรียมดินให้พร้อมก่อนที่ชาวนาจะหว่านเมล็ดข้าวลงไปเพาะปลูกเพื่อให้เกิดเป็นต้นข้าวต่อไป
 
     การที่จะให้ "คราด” ทำหน้าที่ได้ดีจึงต้องอาศัยแรงงานจากวัวหรือควาย โดยชาวนาเป็นผู้ควบคุม ให้ไถไปในทิศทางที่ต้องการ คราดคือสิ่งที่ไม่มีชีวิต จะตีคราดหรือทำอะไรคราดโดยตรงจึงไม่มีผล ชาวนาจึงจำเป็นที่ต้องใช้วิธีการตีวัวให้เจ็บเพื่อทำให้คราดทำงานหรือเคลื่อนที่ไปอย่างที่ต้องการได้
 
     สำนวน ตีวัดกระทบคราด จึงหมายถึง (สำ) ก. โกรธคนหนึ่งแต่ทำอะไรเขาไม่ได้ ไพล่ไปรังควานอีกคนหนึ่งที่เกี่ยวข้องและตนสามารถทำได้. ถูกนำมาใช้เปรียบเปรยกับคนที่โกรธหรือไม่พอใจกับคนหนึ่ง แต่ไม่สามารถทำอะไรกับคนนั้นได้โดยตรง จึงต้องไปกระทำหรือระบายออกกับอีกคนซึ่งจะมีผลกระทบไปถึงคนที่ตนไม่พอใจได้นั่นเอง
 
อ้างอิง : พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ / เว็บไซต์ royin.go.th/dictionary / เว็บไซต์ สุภาษิhttp://xn--m3c.net/ ภาพ : เว็บไซต์ huangjuikonblog.wordpress.com
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)