วิถีชีวิตของผู้คนในสังคม ที่คนส่วนใหญ่ทำมาหากิน เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ด้วยการประกอบอาชีพด้านการเกษตรเป็นหลัก ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคกี่สมัย จึงมักได้ยินคำพูดที่ติดหูและได้ฟังกันอยู่เป็นประจำ เช่น ฟ้าฝนไม่เป็นใจ ฝนทิ้งช่วง ฝนตกไม่ทั่วฟ้า ฟ้าหลังฝน ฝนตกก็แช่ง ฝนแล้งก็ด่า หรือแม้แต่คำว่า ฝนหยาดสุดท้าย คำหรือสำนวนเหล่านี้ ล้วนเป็นคำที่สะท้อนภาพชีวิตของคนที่ต้องพึงพาธรรมชาติ ดินฟ้าอากาศ โดยเฉพาะเกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ ที่ทำการเพาะปลูกในแบบดั้งเดิม ต้องพึ่งฟ้าพึ่งฝน ช่วยหล่อเลี้ยงต้นข้าวในแปลงนา พืชพันธ์ธัญญาหาร ให้ออกดอกออกผลต้องตามฤดูกาล
มีสำนวนหนึ่งที่มีที่มาจากสภาพดินฟ้าอากาศ ฤดูกาล ซึ่งถูกนำมาใช้เปรียบเปรยกับพฤติกรรมของคนในทางอุปมา ความหมายจากพจนานุกรมฯ สำนวนที่ว่า "ฝนสั่งฟ้า ปลาสั่งหนอง” อธิบายไว้ว่า (สำ) สั่งเสียเป็นครั้งสุดท้าย, ทำการอันใดที่เป็นสิ่งสำคัญเพื่อไว้อาลัยก่อนจากไป หรือบ้างก็ใช้ ฝนสั่งฟ้า ปลาสั่งน้ำ เป็นสำนวนที่ใช้สำหรับการสั่งลาก่อนจากกันไป เป็นการสั่งลาด้วยการบอกให้รู้ล่วงหน้า ไม่ได้อยู่ดีๆ ก็จากกันไปอย่างหน้าตาเฉย โดยไม่ได้ร่ำรากัน
จริงแล้วสำนวน "ฝนสั่งฟ้า ปลาสั่งหนอง” นี้มีที่มาจากการทำมาหากินของชาวนา ชาวสวน ที่ได้สังเกตและรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพดินฟ้าอากาศ ในช่วงเปลี่ยนฤดูกาลก่อนที่จะเข้าหน้าแล้ง เกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ปลายฤดูฝน ฝนจะตกเป็นการทิ้งท้าย จะมีฟ้าร้อง ฝนฟ้าคะนอง และตกหนัก เป็นครั้งสุดท้ายก่อนเปลี่ยนเข้าฤดูแล้ง เสมือนเป็นการสั่งลา จึงเป็นที่มาของคำ "ฝนสั่งฟ้า” ในส่วน "ปลาสั่งหนอง” โดยธรรมชาติของสัตว์น้ำ จะมีระบบประสาทสัมผัสการรับรู้ที่ไวกว่ามนุษย์มาก หลังจากฝนตกหนักในช่วงท้ายฤดู ฝูงปลาจึงอพยพเคลื่อนย้าย ว่ายออกจากห้วยหนองเดิมที่น้ำลดและเหือดแห้งลงเรื่อยๆ ไปสู่แม่น้ำลำคลอง ซึ่งมีปริมาณน้ำที่ลึกกว่า จึงจะทำให้มีชีวิตอยู่รอดได้ในช่วงฤดูแล้ง นั่นเอง
สำนวนโบราณนี้ เป็นถ้อยคำที่คนในปัจจุบัน ไม่ค่อยได้พบได้ยินกัน แต่เมื่อได้ทราบความหมาย ที่มาที่ไปแล้ว จึงทำให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นว่า คนในยุคก่อนมีความสามารถด้านการใช้ภาษาได้อย่างแยบยล ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ฟ้า ฝน ยังนำมาใช้เปรียบเปรยกับการแสดงอาการของคนที่รำลากัน หรือพูดจาสั่งเสียกัน ก่อนที่จะจากกันไป เช่น คุณทวด เหมือนรู้ตัวว่าอยู่ในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตแล้ว จึงได้เรียกลูกหลาน เหลนทุกๆคน ให้มาพร้อมหน้าพร้อมตากัน เพื่อฟังคำสอนและสั่งเสียเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่จะจากไป..
อ้างอิง : พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ / เว็บไซต์ royin.go.th/dictionary / เว็บไซต์ สุภาษิhttp://xn--m3c.net/ ภาพ : เว็บไซต์ yandex.ru