เกี่ยวแฝกมุงป่า เป็นสำนวนที่ใช้เปรียบเปรย คนที่ทำอะไรที่เกินกำลังความสามารถของตนเอง คนในสมัยก่อนจึงนิยมใช้เปรียบเทียบกับคนที่ทำอะไรโดยไม่ประเมินกำลังของตนว่าจะทำได้สำเร็จหรือไม่ อันมีที่มาจากการดำเนินชีวิตของผู้คนในสมัยโบราณที่ต้องพึ่งพาอาศัยธรรมชาติ นำต้นไม้ใบหญ้ามาทำเป็นที่อยู่อาศัย
ต้นแฝก เป็นไม้ล้มลุกตระกูลเดียวกับหญ้า การนำแฝกมาทำเป็นวัสดุคลุมหรือมุงหลังคาเพื่อบังแดดบังฝนจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย เป็นเรื่องปกติที่คนทั่วไปเขาทำกัน ปัจจุบันยังพบเห็นได้ทั่วไป นิยมนำมามุงหลังคาศาลาหรือกระต๊อบตามชนบท การนำแฝกมามัดรวมหรือมัดเกี่ยวกันเพื่อนำมามุงป่า เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะผืนป่ามีขนาดที่กว้างใหญ่ การกระทำดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่เกินกำลังไม่คุ้มค่า
นอกจากนี้ ยังมีสำนวนที่มีความหมายใกล้เคียงและไม่ต่างจาก เกี่ยวแฝกมุงป่า เช่น เข็นครกขึ้นภูเขา งมเข็มในมหาสมุทร ขี้ช้างจับตั๊กแตน เป็นต้น
ท้ายนี้ ขอฝากขอคิดเล็กๆ น้อยๆ บางตอนจาก สุภาษิตสอนหญิง ที่สอดแทรกสุภาษิตโบราณนี้ไว้อย่างคมคาย ว่า
อย่าอวดดีมีทรัพย์เที่ยวจับแจก ทำเกี่ยวแฝกมุงป่าพาฉิบหาย
ใครจะช่วยตัวเราก็เปล่าดาย อย่ามักง่ายเงินทองของสำคัญ
เห็นผู้ดีมีทรัพย์ประดับแต่ง อย่าทำแข่งวาสนากระยาหงัน
ของตัวน้อยก็จะถอยไปทุกวัน เหมือนตัดบั่นต้นทุนสูญกำไร
จงนุ่งเจียมห่มเจียมเสงี่ยมหงิม อย่ากระหยิ่มยศถาอัชฌาสัย
อย่านุ่งลายกรายกรุยทำฉุยไป ตัวมิใช่ชาววังไม่บังควรฯ
อ้างอิง : พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ / เว็บไซต์ royin.go.th/dictionary / เว็บไซต์สุภาษิhttp://xn--m3c.net/ ภาพ : เว็บไซต์ verrysmilejung.com/