คนไทยเป็นชนชาติที่มีวิธีการใช้ภาษาได้หลากหลาย สื่อออกมาในรูปแบบการเขียนและการพูดจา การแสดงวาทกรรม ทั้งการใช้คำที่ตรงไปตรงมาเข้าใจได้โดยง่าย และการใช้ถ้อยคำที่ร้อยเรียงให้สละสลวย คล้องจองกันที่เรียกว่าโวหาร หรือสำบัดสำนวน โดยสื่อความหมายออกมาในรูปของคำที่เป็นประโยค ถ้าเป็นคำพูดก็จะเป็นประโยคที่ฟังแล้วไพเราะเสนาะหู มีความหมายแฝงอยู่ สะท้อนถึงภูมิปัญญาของผู้พูด ที่มีความละเมียดละไมในการใช้ภาษา ทำให้ผู้ฟังเกิดความเข้าใจได้คิดตามและสามารถขยายความให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงลักษณะพิเศษของภาษาไทยที่เป็นภาษาที่มีชีวิต มีพัฒนาการสามารถประดิษฐ์คิดค้นถ้อยคำใหม่ๆ เพื่อใช้ให้เหมาะกับกลุ่มชน เหมาะสมกับยุคสมัยและสถานการณ์ต่างๆ อย่างไม่น่าเชื่อ
สุภาษิต คำพังเพย รวมถึงสำนวนหรือคำคมต่างๆ ถือเป็นตัวอย่างของวิวัฒนาการการใช้ภาษาของชนชาติไทยได้อย่างชัดเจน มีพัฒนาการไปตามยุคตามสมัย จากการใช้ภาษาในชีวิตประจำวันที่หลากหลาย ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน ปรากฏให้เห็นในรูปแบบของคำสุภาษิต คำพังเพยรวมถึงสำนวนที่ใช้สื่อสารกันในสังคมไทย ซึ่งมีข้อสันนิษฐานว่า สำนวนที่ใช้มีอยู่ในภาษาพูดก่อนที่จะมีภาษาเขียนและเกิดขึ้นในยุคอาณาจักรสุโขทัย โดยเมื่อพิจารณาจากข้อความในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงแล้ว พบว่ามีสำนวนไทยปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ เช่น "ไพร่ฟ้าหน้าใส” หมายถึง ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว" ซึ่งหมายถึง บ้านเมืองมีความอุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยอาหารการกิน เป็นต้น
เชื่อเหลือเกินว่าหลายๆคนในยุคนี้ คงเกิดคำถามและข้อสงสัยว่า สำนวน สุภาษิต คำพังเพย มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร หลายคนอาจยังแยกไม่ออกว่า อะไรคือ สุภาษิต หรือคำพังเพย มีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร เรามาทำความเข้าใจความหมายของแต่ละคำกัน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้ให้ความหมายของคำทั้งสามไว้ดังนี้
สุภาษิต หมายถึง ถ้อยคำหรือข้อความที่กล่าวสืบต่อกันมาช้านานแล้ว มีความหมายเป็นคติสอนใจ เช่น รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ , น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ (ส.; ป. สุภาสิต ว่า ถ้อยคำที่กล่าวดีแล้ว) พังเพย หรือ คำ
พังเพย หมายถึง ถ้อยคำหรือข้อความที่กล่าวสืบต่อกันมาช้านานแล้ว โดยกล่าวเป็นกลาง ๆ เพื่อให้ตีความเข้ากับเรื่อง มีความหมายแฝงอยู่ อาจเป็นคำที่ใช้สื่อในทางเปรียบเปรย หรือในทำนองเสียดสี เช่น กระต่ายตื่นตูม เสียน้อยเสียยากเสียมากเสียง่าย
สำนวน หมายถึง ถ้อยคำที่เรียบเรียง, โวหาร, บางทีก็ใช้ว่า สำนวนโวหาร เช่น สารคดีเรื่องนี้สำนวนโวหารดี ความเรียงเรื่องนี้สำนวนโวหารลุ่ม ๆ ดอน ๆ สำนวนอีกนัยหนึ่ง หมายถึง ถ้อยคำหรือข้อความที่กล่าวสืบต่อกันมาช้านานแล้ว มีความหมายไม่ตรงตามตัวหรือมีความหมายอื่นแฝงอยู่ เช่น สอนจระเข้ให้ว่ายนํ้า รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง, ถ้อยคำที่แสดงออกมาเป็นข้อความพิเศษ เฉพาะภาษาหนึ่ง ๆ เช่น สำนวนฝรั่ง สำนวนบาลี, ชั้นเชิงหรือท่วงทำนองในการแต่งหนังสือหรือพูด นั่นเอง
ท่านที่อ่านบทความมาถึงตอนนี้แล้ว คงเกิดความเข้าใจและชัดเจนยิ่งขึ้นว่า สำนวนใดเป็น สุภาษิต สำนวนใดคือคำพังเพย สรุปได้ว่า สุภาษิต คือ ถ้อยคำหรือข้อความที่ใช้สอนเป็นคติสอนใจ พังเพย คือ ถ้อยคำที่มีความหมายแฝงใช้ในทางเสียดสีหรือเปรียบเปรย ส่วนสำนวน ก็คือ โวหาร ชั้นเชิงหรือท่วงทำนองที่ใช้ในการเขียนหรือการพูด นั่นเอง
ท้ายนี้ ชื่อของบทความนี้ "รู้ไว้ใช่ว่า ...” จากประโยคเต็มคือ "รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม” คือ สุภาษิต ที่ใช้สื่อความหมายให้คนได้แง่คิด มีคติสอนใจ มีความหมายว่า เรียนรู้ไว้ไม่หนักเรี่ยวหนักแรงหรือเสียหายอะไร หรือหมายถึง การเรียนรู้สิ่งต่างๆไว้ ไม่ได้อยากลำบากหรือเสียหายอะไร ความรู้ที่มากขึ้นมีแต่จะเกิดประโยชน์แก่ตนเอง อาจจะไม่จำเป็นในวันนี้ แต่วันข้างหน้าอาจจะมีประโยชน์ก็เป็นได้
และสำนวน คำคม ที่เชื่อว่าทุกๆคน สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ในยุคที่เชื้อโรคกำลังระบาด ได้เป็นอย่างดี นั่นคือ "อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” นี่เอง
ตอนต่อๆ ไป จะขอทยอยนำ สุภาษิต คำพังเพย สำนวนของไทย และสาระความรู้ทางวัฒนธรรม มาคุยผ่านทางคอลัมน์ "รู้ไว้ใช่ว่า ...” คอยติดตามกัน นะครับ...
อ้างอิงข้อมูล : พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ / เว็บไซต์ royin.go.th/dictionary / เว็บไซต์ สุภาษิhttp://xn--m3c.net/ ภาพ : เฟสบุ๊ค สำนวนสุภาษิตและคำพังเพยหน้ารู้