
ถ้านับตามปฏิทินสากล เดือน "พฤษภาคม” จะเป็นเดือนที่ ๕ ของปี และจะเป็น ๑ ใน ๗ เดือน ที่มี ๓๑ วัน ใช้ตัวย่อว่า "พ.ค.” (มีสองจุด) และเป็นเพียงเดือนเดียวของปีที่ตัวย่อและตัวเต็มในภาษาอังกฤษเขียนเหมือนกันคือ "May”
คำว่า พฤษภาคม มาจาก พฤษภ + อาคม แปลว่า การมาถึงของราศีพฤษภ โดย "พฤษภ” (อ่านว่า พฺรึด-สบ) เป็นคำที่ยืมมาจากภาษาสันสกฤตว่า "วฤษภ” (อ่านว่า วฺรึสบ) แปลว่า วัวตัวผู้ คำนี้ยังเป็นชื่อกลุ่มดาวกลุ่มหนึ่งในจักรราศี ที่ประกอบด้วยดาว ที่เรียงกันคล้ายรูปวัวตัวผู้ ที่มีเขาใหญ่โค้งง้อ ในภาษาไทย "พฤษภ” มี ๒ ความหมาย อย่างแรกก็หมายถึง วัวตัวผู้เช่นเดียวกับภาษาสันสฤต แต่ใช้เฉพาะในวรรณคดี ส่วนความหมายที่เป็นกลุ่มดาวในจักรราศี มักจะใช้คำว่า "ราศีพฤษภ”
สมัยก่อนไทยเรานับเดือนตามจันทรคติ โดยดูปรากฎการณ์ข้างขึ้นข้างแรมตามการโคจรของดวงจันทร์ ต่อมา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ (พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๔) ซึ่งสนใจพระทัยในวิชาโหราศาสตร์ ได้ทรงคิดปฏิทินไทยใช้ตามสุริยคติ เรียกว่า "เทวะประติทิน” โดยได้กำหนดชื่อเดือนขึ้น มาใหม่ จากเดิมที่ใช้เดือนอ้าย เดือนยี่ เดือนสาม จนถึงเดือนสิบสอง กลายเป็นการเรียกชื่อเดือนอย่างปัจจุบัน ทั้งนี้ พระองค์ทรงใช้ตำราจักรราศี ซึ่งแสดงการโคจรของดาวเคราะห์รอบดวงอาทิตย์ในหนึ่งปีตามวิชาโหราศาสตร์ ด้วยการนำคำสองคำมาสนธิกัน คำต้นจะเป็นชื่อราศีที่ปรากฎในช่วงเวลานั้นๆ รวมกับคำว่า "อาคม” หรือ "อายน” ที่แปลว่า "การมาถึง” โดยคำลงท้ายว่า "คม” ใช้กับเดือนที่มี ๓๑ วัน และ "ยน” ใช้กับเดือนที่มี ๓๐ วัน ยกเว้นเดือนกุมภาพันธ์ที่มี ๒๘ วัน หรือมี ๒๙ วันในปีอธิกสุรทิน) เช่น
มกราคม คือ มกร (มังกร)+อาคม = มกราคม หมายถึง การมาถึงของราศีมังกร
เมษายน คือ เมษ (แกะ) +อายน = เมษายน หมายถึง การมาถึงของราศีเมษ
ดังนั้น พฤษภาคม คือ พฤษภ (วัว, โค) + อาคม = พฤษภาคม หมายถึง การมาถึงของราศีพฤษภ ซึ่งชื่อเดือนทั้ง ๑๒ เดือนดังกล่าว ได้เริ่มประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๒ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา
โดยทั่วไปถ้าพูดถึงเดือนพฤษภาคม ก็จะนับตั้งแต่วันที่ ๑ –๓๑ พฤษภาคม แต่เมื่อไรก็ตามที่นับตามหลักโหราศาสตร์ เดือนพฤษภาคมจะเริ่มต้น เมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีพฤษภ และสิ้นสุดเมื่อเคลื่อนไปสู่ราศีเมถุน แต่ในทางดาราศาสตร์ ต้นเดือนพฤษภาคมดวงอาทิตย์ยังอยู่ในกลุ่มดาวแกะ และปลายเดือนถึงจะไปอยู่ในกลุ่มวัว ด้วยเหตุนี้ เมื่อพูดถึง "ราศีพฤษภ” (ราศี แปลว่า กองหรือหมู่) ที่มีสัญญลักษณ์เป็นรูปวัว จึงมีการนับต่างกัน ๒ แบบ ได้แก่
๑.ถ้านับระหว่างวันที่ ๒๑ เมษายนถึง ๒๐ พฤษภาคม จะเป็นแบบที่เรียกว่า สายนะ (Tropical Astrology) เป็นระบบที่เปลี่ยนราศีประมาณวันที่ ๒๑ ของแต่ละเดือน ซึ่งเป็นระบบที่โหราศาสตร์ตะวันตกนิยมใช้กัน รวมถึงโหราศาสตร์ยูเรเนียมด้วย โดยอ้างอิงจากการเปลี่ยนฤดูกาลของโลก เช่น ๒๑ มีนาคม พระอาทิตย์จะเคลื่อนเข้าราศีเมษ ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิของซีกโลกเหนือ
๒.ถ้านับระหว่างวันที่ ๑๖ พฤษภาคมถึง ๑๕ มิถุนายน หรือประมาณกลางเดือนของแต่ละเดือน จะเรียกว่าแบบ นิรายนะ (Sidereal Astrology) ซึ่งเป็นระบบโหราศาสตร์ที่นิยมใช้ทางฝั่งตะวันออก เช่น ไทย อินเดีย ฯลฯ จะเป็นการอ้างอิงจักรราศีกับกลุ่มดาวฤกษ์บนท้องฟ้า ซึ่งเป็นช่วงหมู่ดาวตามราศีนั้นๆอยู่บนท้องฟ้า
วันดังกล่าวอาจจะมีการคลาดเคลื่อนไป ๑-๒ วันบ้างแล้วแต่ตำรา เรียกว่าจะนับแบบไหน ก็อยู่ที่จะใช้ตำราโหราศาสตร์เล่มใด จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้ที่เกิดเดือนพฤษภาคม อาจอยู่ได้ทั้งราศีเมษหรือราศีพฤษภ
ส่วนชื่อเดือนว่า "May” ในภาษาอังกฤษนั้น เป็นการตั้งตามชื่อเทพธิดากรีกองค์หนึ่งที่ชื่อว่า "Maia” (ไมอา) ซึ่งเป็นเทพธิดาแห่งความอุดมสมบูรณ์และการเจริญเติบโต โดยมีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า "Maiores”ที่แปลว่า "Elder” หรือสูงวัย
นอกจากนี้ ยังมีคำพิเศษอีกคำ คือ คำว่า "เมย์เดย์” (Mayday) จะมี ๒ ความหมาย กล่าวคือ
-ถ้าพูดคำว่า "เมย์เดย์” คำเดียว จะหมายถึง "วันแรงงาน” ซึ่งตรงกับวันที่ ๑ พฤษภาคมของทุกปี และใช้กันในหลายๆประเทศ บางแห่งก็เรียกว่า "วันแรงงานสากล (National Labour Day หรือ International Workers’Day) ถือเป็นวันระลึกถึงความเสียสละของชนชั้นกรรมาชีพ หรือผู้ใช้แรงงาน
-หากพูดว่า "เมย์เดย์ เมย์เดย์ เมย์เดย์” จำนวน ๓ ครั้ง ถือเป็นสัญญาณระดับนานาชาติ เป็นคำที่ใช้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน หรือเหตุการณ์ร้ายแรง อีกทั้งยังเป็นสัญญาณที่เหล่านักบินหรือกัปตันเรือจะใช้เวลามีภัยอันตรายคุกคาม บางประเทศนักผจญเพลิง ตำรวจ หรือองค์การขนส่งต่างๆ ก็นำสัญญาณนี้ไปใช้ด้วยเช่นกัน การที่เรียก "เมย์เดย์” ถึง ๓ ครั้ง ก็เพื่อป้องกันความสับสน หรือการฟังผิด เพราะขณะที่ส่งสัญญาณเสียงรอบข้างอาจจะดัง ทำให้ได้ยินไม่ถนัด คำนี้เริ่มใช้โดยหอบังคับการบินสนามบินครอยดอน (Croydon Airport)ในกรุงลอนดอน ผู้คิดคำนี้คือเจ้าหน้าที่เฟรดเดอริค สแตนลีย์ ม็อคฟอร์ด ที่ถูกขอร้องให้คิดหาคำที่เข้าใจง่ายไว้ใช้ในกรณีมีเหตุร้ายแรง เนื่องจากตอนนั้น การบินระหว่างสนามบินครอยดอนและสนามบินเลอ บูเช ในกรุงปารีสค่อนข้างหนาแน่นและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องหาคำที่ทำให้นักบินจากทั้งสองประเทศเข้าใจตรงกันในสัญญาณเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินหรือต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เขาจึงได้คิดคำว่า "Mayday” ที่พ้องเสียงกับภาษาฝรั่งเศสคำว่า "M’aider” (แอมเมเด) ที่แปลว่า ช่วยฉันด้วย อันย่อมาจากประโยค "venez m’aider” ที่แปลว่า มาช่วยฉันด้วยขึ้นมาใช้
สำหรับคนดังที่เกิดเดือนนี้ ได้แก่ สมเด็จพระราชินีนาถวิตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร (๒๔ พ.ค.) / โฮจิมินห์ (๑๙ พ.ค.) ผู้นำประเทศเวียดนาม /เดวิด เบ็คแฮม (๒ พ.ค.) นักฟุตบอลชาวอังกฤษ / โจว เหวินฟะ (๑๘ พ.ค.) นักแสดงฮ่องกง /ส่วนดาราไทย ได้แก่ นิรุตติ์ ศิริจรรยา (๒ พ.ค.) น้องนาย ณภัทร เสียงสมบุญ (๕ พ.ค.) /ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์ (๑๘ พ.ค.) และใหม่ดาวิกา โฮร์เน่ (๑๖ พ.ค.) เป็นต้น
วันสำคัญสากลและของไทยในเดือนนี้ปีนี้ ได้แก่ ๑ พ.ค. วันแรงงาน /๔ พ.ค. วันฉัตรมงคล /๖ พ.ค. วันวิสาขบูชา / ๘ พ.ค.วันกาชาดโลก /๑๑ พ.ค. วันพืชมงคล และ ๓๑ พ.ค.วันงดสูบบุหรี่โลก
..........................................................
น.ส.ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม