กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วัฒนธรรมประเพณี
“รัตนสูตร” สร้างพลังใจ เรียกสติ พิชิตโรคร้าย

วันที่ 20 มี.ค. 2563
 

"รัตนสูตร” สร้างพลังใจ เรียกสติ พิชิตโรคร้าย
 
    "รัตนสูตร” คือพระสูตรที่ว่าด้วยรัตนะ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก (สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร) ทรงอธิบายคำว่า "รัตนะ” แปลว่า "สิ่งที่นำความยินดี คือ ให้เกิดให้เจริญความยินดี หมายถึงสิ่งที่กระทำให้เกิดความยำเกรง สิ่งที่มีค่ามาก สิ่งที่ไม่มีสิ่งอื่นเสมอเหมือนหรือว่าชั่งไม่ได้เปรียบไม่ได้ สิ่งที่หาดูได้ยาก สิ่งที่เป็นของบริโภคของสัตว์ผู้ไม่ต่ำทราม สิ่งที่ทำให้เกิดความยินดีอันมีลักษณะดังกล่าวนี้ ได้ชื่อว่ารัตนะ…”
 
     รัตนสูตร ตามตำนานเกิดขึ้นสมัยพุทธกาล ใช้สวดเพื่อใช้ขจัดปัดเป่าภัยพิบัติร้ายแรงทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นกับชาวกรุงเวสาลี ที่ประสบกับโรคระบาด อันตรายจากภูติผีปีศาจ ความอดอยากล้มตาย พระพุทธองค์ทรงแสดงพระสูตรนี้แก่พระอานนท์ และให้พระอานนท์ นำพระสูตรนี้ไปแสดงแก่ชาวเมืองเวสาลีให้ทั่วเมือง ให้รำลึกคุณพระรัตนตรัย คือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ และประพรหมน้ำพระพุทธมนต์ให้เกิดความสุขสวัสดีแก่ชาวกรุงเวสาลี ด้วยอานุภาพแห่งพระรัตนสูตรนี้ ภัยพิบัติร้ายแรงได้ระงับลงอย่างฉับพลัน ปัจจุบันนิยมสวดรัตนสูตรทุกครั้ง ที่มีการทำน้ำพระพุทธมนต์ ทั้งยังมีอานุภาพป้องกันจากโจรผู้ร้าย นายผู้ปกครอง อาวุธ เคราะห์กรรม สัตว์ร้ายและภัยธรรมชาติอีกด้วย
 
     บทสวดนี้มีมูลเหตุมาจากเมืองเวสาลี ซึ่งเป็นเมืองหลวงแห่งอาณาจักรวัชชี ประสบวิกฤติเศรษฐกิจ เกิดข้าวยากหมากแพง ฝนแล้งไม่ตกต้องตามฤดูกาล ข้าวกล้าแห้งเหี่ยวตาย เกิดทุพภิกขภัยใหญ่ และมีโรคระบาด พวกคนยากจนอดอยากล้มตายเป็นจำนวนมาก ซากศพที่ถูกนำไปทิ้งไว้นอกเมืองก็เผาแทบไม่ทันก็ส่งกลิ่นเหม็นตลบไปทั่ว พวกอมนุษย์ก็พากันเข้าเมือง เมื่อมีคนยิ่งล้มตายกันมากขึ้น ก็เกิดโรคระบาดตามมา
 
     กษัตริย์ลิจฉวีจึงสั่งให้ประชาชนประชุมพร้อมกันที่ท้องพระโรง เพื่อร่วมกันพิจารณาสอดส่องความประพฤติของบรรดากษัตริย์ทั้งหลายว่า ทำผิดประเพณีอันใดไว้จึงเป็นเหตุให้เกิดเภทภัยต่าง ๆ เมื่อเห็นว่าไม่มีความผิดอันใด จึงเห็นชอบร่วมกันว่า ควรกราบทูลนิมนต์พระพุทธเจ้ามาช่วย เพื่อปัดเป่าเภทภัยให้สงบ
 
     คราพระพุทธเจ้าเสด็จถึงประตูเมืองเวสาลีในเวลาเย็น ได้สั่งให้พระอานนท์เรียนเอา ''รัตนสูตร'' เพื่อนำไปทำการสวดป้องกันในระหว่างกำแพง ๓ ชั้น ในเมืองเวสาลีพระสูตรนี้จึงเรียกว่า ''รัตนะ'' เพราะมุ่งเอาอานุภาพของพระรัตนตรัย คือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะ มาปกป้องคุ้มครองภัยสำหรับชาวเมือง
 
     เมื่อพระอานนท์เรียนเอารัตนสูตรจากพระพุทธเจ้า แล้วก็ถือเอาบาตรของพระพุทธเจ้าใส่น้ำถือไปยืนที่ประตูเมือง แล้วน้อมระลึกถึงพระพุทธคุณตั้งแต่ทรงตั้งความปรารถนาที่จะได้บรรลุพระโพธิญาณจนถึงทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตนสูตร แล้วเดินสวดมนต์เข้าไปภายในพระนคร พวกอมนุษย์ที่ยังหลงเหลืออยู่ พากันกลัวหนีออกจากเมืองไปหมด ในระหว่างที่พระพุทธองค์ทรงประทับอยู่ที่เมืองเวสาลี ภัยทั้งหลายก็สงบและหายไปอย่างน่าอัศจรรย์
 
     >>> ความหมายของ รัตนสูตร (จาก เว็บไซต์ 84000.org) ขอยกมาเฉพาะคำแปลเพื่อให้เข้าใจกันโดยทั่วหน้า
 
     ภูตเหล่าใด ประชุมกันแล้วในประเทศนี้ก็ดี หรือภุมมเทวดา เหล่าใดประชุมกันแล้วในอากาศก็ดี ขอหมู่ภูตทั้งปวงจงเป็นผู้มีใจดีและจงฟังภาษิตโดยเคารพ ดูกรภูตทั้งปวง เพราะเหตุนั้นแล ท่านทั้งหลายจงตั้งใจฟัง ขอจงแผ่เมตตาจิตในหมู่มนุษย์ มนุษย์เหล่าใด นำพลีกรรมไปทั้งกลางวัน ทั้งกลางคืน เพราะเหตุนั้นแล ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่ประมาทรักษามนุษย์เหล่านั้น
 
     ทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างใด อย่างหนึ่งในโลกนี้ หรือในโลกอื่น หรือรัตนะใดอันประณีต ในสวรรค์ ทรัพย์และรัตนะนั้น เสมอด้วยพระตถาคตไม่มี เลย พุทธรัตนะแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์เหล่านี้
 
     พระศากยมุนีมีพระหฤทัย ดำรงมั่น ได้บรรลุธรรมอันใดเป็นที่สิ้นกิเลส เป็นที่สำรอกกิเลส เป็นอมฤตธรรมอันประณีต ธรรมชาติอะไรๆ เสมอด้วยพระธรรมนั้นย่อมไม่มี
 
     ธรรมรัตนะแม้นี้เป็นรัตนะ อันประณีต ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์ เหล่านี้ พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด ทรงสรรเสริญแล้ว ซึ่งสมาธิใด ว่าเป็นธรรมอันสะอาด บัณฑิตทั้งหลายกล่าว ซึ่งสมาธิใด ว่าให้ผลในลำดับ สมาธิอื่นเสมอด้วยสมาธินั้น ย่อมไม่มี ธรรมรัตนะแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์เหล่านี้
 
     บุคคล ๘ จำพวก ๔ คู่ อันสัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญแล้ว บุคคลเหล่านั้นควรแก่ทักษิณาทาน เป็นสาวกของพระตถาคต ทานที่บุคคลถวายแล้วในท่านเหล่านั้น ย่อมมีผลมาก
 
     สังฆรัตนะ แม้นี้เป็นรัตนะอันประณีตด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมี แก่สัตว์เหล่านี้ พระอริยบุคคลเหล่าใด ในศาสนาของพระ โคดม ประกอบดีแล้ว [ด้วยกายประโยคและวจีประโยคอันบริสุทธิ์] มีใจมั่นคง เป็นผู้ไม่มีความห่วงใย [ในกายและชีวิต] พระอริยบุคคลเหล่านั้น บรรลุอรหัตผลที่ควรบรรลุ หยั่งลงสู่อมตนิพพาน ได้ซึ่งความดับกิเลสโดยเปล่า เสวยผลอยู่
 
     สังฆรัตนะแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยสัจจวาจา นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์เหล่านี้ เสาเขื่อนที่ฝังลงดิน ไม่หวั่นไหวเพราะลมทั้งสี่ทิศ ฉันใด ผู้ใดพิจารณาเห็นอริยสัจทั้งหลาย เราเรียกผู้นั้นว่าเป็นสัตบุรุษ ผู้ไม่หวั่นไหว เพราะโลกธรรมมีอุปมาฉันนั้น สังฆรัตนะนี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์เหล่านี้
 
     พระอริยบุคคลเหล่าใด ทำให้แจ้งซึ่งอริยสัจทั้งหลาย อันพระศาสดาทรงแสดงดีแล้ว ด้วยปัญญาอันลึกซึ้ง พระอริยบุคคลเหล่านั้น ยังเป็นผู้ประมาทอย่างแรงกล้าอยู่ก็จริง ถึงกระนั้น ท่านย่อมไม่ยึดถือเอาภพที่ ๘ สังฆรัตนะ แม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์เหล่านี้
 
     สักกายทิฏฐิและวิจิกิจฉา หรือแม้สีลัพพตปรา มาส อันใดอันหนึ่งยังมีอยู่ ธรรมเหล่านั้น อันพระอริยบุคคลนั้นละได้แล้ว พร้อมด้วยความถึงพร้อมแห่งการเห็น นิพพาน ทีเดียว
 
     อนึ่ง พระอริยบุคคลเป็นผู้พ้นแล้วจากอบายทั้ง ๔ ทั้งไม่ควรเพื่อจะทำอภิฐานทั้ง ๖ คืออนันตริยกรรม ๕ และการเข้ารีต สังฆรัตนะแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์เหล่านี้
 
     พระอริยบุคคลนั้นยังทำบาปกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา หรือด้วยใจ ก็จริง ถึงกระนั้น ท่านไม่ควร เพื่อจะปกปิดบาปกรรมอันนั้น ความที่บุคคลผู้มีธรรมเครื่องถึงนิพพานอันตนเห็นแล้ว เป็นผู้ไม่ควรเพื่อปกปิดบาปกรรมนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว สังฆรัตนะแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์เหล่านี้
 
     พุ่มไม้ในป่ามียอดอันบานแล้วในเดือนต้นในคิมหันตฤดู ฉันใด พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงธรรมอันประเสริฐยิ่ง เป็นเครื่องให้ถึงนิพพาน เพื่อประโยชน์เกื้อกูลมีอุปมา ฉันนั้น พุทธรัตนะแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์เหล่านี้
 
     พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ทรงทราบธรรมอันประเสริฐ ทรงประทานธรรมอันประเสริฐ ทรงนำมาซึ่งธรรมอันประเสริฐ ไม่มีผู้ยิ่งไปกว่า ได้ทรงแสดงธรรมอันประเสริฐ พุทธรัตนะแม้นี้เป็นรัตนะอัน ประณีต ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์เหล่านี้
 
     พระอริยบุคคลเหล่าใดผู้มีจิตอันหน่ายแล้วในภพต่อไป มีกรรมเก่าสิ้นแล้ว ไม่มีกรรมใหม่เครื่องสมภพ พระอริยบุคคลเหล่านั้น มีพืชอันสิ้นแล้ว มีความพอใจ ไม่งอกงามแล้ว เป็นนักปราชญ์ ย่อมนิพพาน เหมือนประทีปอันดับไป ฉะนั้น สังฆรัตนะแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์เหล่านี้
 
     ภูตเหล่าใดประชุมกันแล้วในประเทศนี้ก็ดี หรือภุมมเทวดา เหล่าใดประชุมกันแล้วในอากาศก็ดี เราทั้งหลาย จงนมัสการพระพุทธเจ้าผู้ไปแล้วอย่างนั้น ผู้อันเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายบูชาแล้ว ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์เหล่านี้
 
     ภูตเหล่าใดประชุมกันแล้วในประเทศก็ดี หรือภุมมเทวดาเหล่าใด ประชุมกันแล้วในอากาศก็ดี เราทั้งหลายจงนมัสการพระธรรม อันไปแล้วอย่างนั้น อันเทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์เหล่านี้
 
     ภูตเหล่าใดประชุมกันแล้วในประเทศนี้ก็ดี หรือภุมมเทวดาเหล่าใดประชุมกันแล้วในอากาศก็ดี เราทั้งหลาย จงนมัสการพระสงฆ์ผู้ไปแล้วอย่างนั้น
 
     อันเทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์เหล่านี้ ฯ
 
     ความหมายของรัตนสูตร นี้ แสดงถึงอานุภาพของพระรัตนตรัยโดยตรง เมื่อเทวดาและมนุษย์รู้คุณค่าของพระรัตนตรัย ยอมรับนับถือ บูชาเป็นที่พึ่งที่ระลึกแล้ว ย่อมก่อให้เกิดพลังใจ ทำให้พุทธบริษัทที่ยึดมั่นในศีล ในธรรม มีสติในการต่อสู้ฟันฝ่าวิกฤติการณ์ต่างๆ รวมถึงมีชัยชนะเหนือโรคร้ายที่กำลังระบาดในขณะนี้
 
 
ที่มา : เว็บไซต์ 84000.org (พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต) / สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก (๒๕๕๔). เจ็ดตำนานพุทธมนต์และสิบสองตำนานพุทธมนต์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์หามกุฎราชวิทยาลัย. / นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๓ ภาพประกอบจาก thebuddh.คอม
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)