เรื่อง : ศรัณย์ บุญประเสริฐ
ภาพ : ยอด เนตรสุวรรณ
ท่องเที่ยวชุมชน บนเส้นทางเรียนรู้
สมัยเป็นเด็กตำราเรียนสอนว่ารายได้หลักของประเทศไทยมาจากการขายข้าว แร่ดีบุก ไม้สัก และยางพารา นั่นคงเป็นอดีตเนิ่นนาน...นานจนคนสมัยนี้ไม่อาจเข้าใจได้
เพราะหลายสิบปีมานี้รายได้หลักที่ทำให้ประเทศไทยยังสามารถเติบโตทางเศรษฐกิจได้นั้นมาจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
บางคนอาจกล่าวว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นรายได้ที่ไม่ต้องลงทุนสิ่งใดเลย ไม่ต้องหาวัตถุดิบ ไม่ต้องมีโรงงาน ถ้าจะลงทุนก็น้อยมาก แค่แรงงานเพียงเท่านั้น และเก็บรักษาสิ่งสวยงามไว้ แค่นี้ก็ดึงดูดคนมาเที่ยวได้แล้ว นี่นับว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
เพราะแท้จริงแล้วการรักษาคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่ามรดกทางธรรมชาติ หรือมรดกทางวัฒนธรรม ไม่ว่ามรดกที่จับต้องได้หรือจับต้องไม่ได้ เป็นสิ่งซึ่งต้องรักษาไว้ไม่ให้เสื่อมโทรมไปจากที่เคยเป็นเคยมีอยู่ และการรักษาไว้ให้คงอยู่ล้วนต้องดำเนินการโดยใช้ทุนทรัพย์เสมอ โดยเฉพาะทรัพยากรทางการท่องเที่ยว ซึ่งมีทั้งที่จับต้องมองเห็นได้ หรือเป็นสิ่งที่ไม่อาจจับต้องได้แต่สัมผัสได้ด้วยความรู้สึก
การท่องเที่ยวจึงจำเป็นต้องดำเนินควบคู่ไปกับการดูแลรักษาแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นเสมือนต้นทุนที่จะทำให้อุตสาหกรรมนี้ก้าวเดินต่อไป
ในอดีตเวลาพูดถึงการท่องเที่ยวมักหมายถึง หากมิใช่การเที่ยวธรรมชาติ ไม่ว่าขุนเขาหรือท้องทะเล ก็จะเป็นการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์วัฒนธรรม ทว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในรอบราวสิบปีที่ผ่านมา คือ การท่องเที่ยวเชิงวิถีวัฒนธรรม กลับเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวไม่ว่าชาวไทยหรือต่างประเทศล้วนให้ความนิยมมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
เหตุผลสำคัญคงเป็นการเติบโตของเมืองใหญ่ที่ทำให้ผู้คนห่างไกลจากวิถีชีวิตที่เรียบง่าย สงบงาม ไม่เร่งร้อนกับการมีชีวิต คนในเมืองใหญ่หรือคนจากสังคมที่เจริญทางวัตถุมาก ๆ จึงโหยหาวิถีชีวิตสงบ มีความอิ่มเอมกับสถานที่และผู้คนที่ได้ไปสัมผัส หลายคนนิยามการท่องเที่ยวเช่นนี้ว่า "เที่ยวแบบสโลว์ไลฟ์”
ชุมชนท้องถิ่นในชนบทจึงกลายเป็นหมุดหมายใหม่สำหรับนักท่องเที่ยวผู้อยากสัมผัสวิถีวัฒนธรรมของชาวบ้านอย่างแท้จริง สมัยหนึ่งเราเคยเรียกขานการท่องเที่ยวแบบนี้ว่า "โฮมสเตย์” แต่เมื่อแนวทางของการท่องเที่ยวแบบนี้เริ่มชัดเจนขึ้น มีการพัฒนารูปแบบการจัดการโดยชาวบ้านเอง ผ่านตัวกลางอย่างเอเจนซีหรือบริษัททัวร์น้อยที่สุด ทำให้ปัจจุบันเรียกแนวทางการท่องเที่ยวแบบนี้ว่า "การท่องเที่ยวโดยชุมชน”
กำเนิดการท่องเที่ยวโดยชุมชน
สมัยก่อนการที่นักเดินทางจะไปนอนค้างตามหมู่บ้านในชนบทนับเป็นเรื่องปกติ หากแต่ในโลกปัจจุบัน การเกิดขึ้นของสถานบริการที่พักมีแทบทุกเมืองในโลกนี้ ทำให้การไปพักค้างคืนกับชาวบ้านท้องถิ่นนั้นอาจไม่สะดวกเท่าไรทั้งฝ่ายเจ้าของบ้านและผู้มาเยือน
หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี พ.ศ. ๒๕๔๐ รัฐบาลไทยใช้การท่องเที่ยวเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยประกาศให้ปี พ.ศ. ๒๕๔๑-๒๕๔๒ เป็นปีส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย หรือที่รู้จักติดปากว่า Amazing Thailand ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ เกิดโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (One Tambon One Product : OTOP) ขึ้น เพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวหาซื้อผลิตภัณฑ์จากชุมชนเป็นของฝากของที่ระลึก กระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ มีการให้มาตรฐานสถานที่พักในชุมชน หรือโฮมสเตย์ขึ้น โดยเรียกชื่ออย่างเป็นทางการว่า "ที่พักสัมผัสวัฒนธรรมชนบท”
ปัจจุบันหากให้ชุมชนนิยามตนเองว่าการดำเนินการท่องเที่ยวที่ชาวบ้านจัดทำขึ้นควรเรียกอย่างไร จะพบว่ามีชื่อเรียกถึง ๔ ชื่อด้วยกันในกลุ่มชุมชนที่ทำการท่องเที่ยวโดยชุมชน ได้แก่ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การท่องเที่ยวโดยชุมชน และการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์
แต่ไม่ว่าจะถูกเรียกชื่ออย่างไร เราอาจนิยามความหมายของ "การท่องเที่ยวโดยชุมชน” ที่ใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชนได้ดังนี้
- เป็นการท่องเที่ยวที่ชุมชนเป็นเจ้าของ ชาวบ้านในชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางและตัดสินใจ
- เป็นการท่องเที่ยวที่ช่วยดำรงเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของท้องถิ่น สร้างเสริมความภาคภูมิใจในวิถีวัฒนธรรมของตนเอง เคารพในวัฒนธรรมที่แตกต่างและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยเท่าเทียม
- เป็นการท่องเที่ยวที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนท้องถิ่น ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้และการแลกเปลี่ยนระหว่างคนต่างวัฒนธรรม
- สามารถสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมให้กับท้องถิ่น
- เป็นการท่องเที่ยวที่เกิดผลตอบแทนที่เป็นธรรมแก่คนท้องถิ่น
การท่องเที่ยวโดยชุมชนไม่ได้เกิดจากการตอบคำถามว่า "ชุมชนจะได้ประโยชน์อย่างไรจากการท่องเที่ยว” แต่เป็นการสร้างโจทย์ใหม่ว่า "การท่องเที่ยวจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชนได้อย่างไร”
ความเป็นจริงอย่างหนึ่งคือ ชุมชนแต่ละแห่งมีศักยภาพไม่เท่ากันและไม่เหมือนกันในการจะพัฒนาไปสู่ "ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม” ได้ ชุมชนที่มีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมา มีวิถีชีวิตแบบชุมชนท้องถิ่นที่แท้จริง มิใช่ปรุงแต่งมาเพื่อการท่องเที่ยว และมีประเพณีท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง สามคุณลักษณะสำคัญนี้สามารถสะท้อนถึงศักยภาพของชุมชนนั้น ๆ ในการพัฒนาไปสู่ "ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม” หากกล่าวอย่างสรุปก็คือ ต้องเป็นชุมชนที่มีรากเหง้าและมีความเข้มแข็งนั่นเอง
นอกจากมีคุณลักษณะดังกล่าวแล้ว ชุมชนนั้นยังต้องมีประสบการณ์ มีรูปแบบและความพร้อมในการบริหารจัดการการท่องเที่ยว การพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการที่ดี เพื่อนำไปสู่รายได้ของชุมชน และมีการแบ่งปันผลประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมอย่างเป็นธรรม ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถส่งเสริม ฝึกฝน และพัฒนาขึ้นได้ภายหลัง
ปัจจุบันการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนมิได้มีแต่กลุ่มชาวบ้านในท้องถิ่นทำกันโดยโดดเดี่ยวเท่านั้น ยังมีทั้งหน่วยงานภาครัฐและองค์กรพัฒนาภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทสนับสนุนการในหลายรูปแบบ ทั้งด้านการฝึกฝนอบรมการจัดการด้านต่าง ๆ หรือการนำกลุ่มชาวบ้านออกไปดูงานตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ
กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ถือเป็นหน่วยงานหลักของรัฐ ที่ส่งเสริมชุมชนให้มีการนำมรดกภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรมและประเพณีของแต่ละชุมชนซึ่งเป็นทุนทางวัฒนธรรมดั้งเดิม มาเพิ่มมูลค่า สร้างความเข้มแข็งและรายได้ให้แก่ชุมชนในรูปแบบการท่องเที่ยว
เที่ยววิถีถิ่น ชมวิถีไทย ไปได้ทุกภาค
เพื่อสนับสนุนทิศทางของการท่องเที่ยวโดยชุมชน กระทรวงวัฒนธรรมมีนโยบายส่งเสริมการเที่ยว "วิถีถิ่น วิถีไทย” นั่นคือสนับสนุนให้ผู้คนออกท่องเที่ยวไปตามชุมชนวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่มีการจัดการดูแลนักท่องเที่ยวโดยมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ และนับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๙ เป็นต้นมา กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้คัดเลือกชุมชนที่มีประสบการณ์และรูปแบบการบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ถือว่าประสบความสำเร็จ ให้เป็นเสมือนชุมชนต้นแบบในการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยมีชุมชนท้องถิ่นเป็นผู้บริหารจัดการด้วยตนเอง ซึ่งกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ
มาดูตัวอย่าง ๕ ชุมชนที่จัดการท่องเที่ยวด้วยตัวเองจนมีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับว่าเป็นชุมชนต้นแบบอย่างแท้จริง เยือนวิถีคนไต ชาวไทใหญ่แห่งแม่ฮ่องสอน ดินแดนที่ราบในหุบเขา ปกคลุมด้วยสายหมอกชั่วนาตาปี แม่ฮ่องสอนได้ชื่อว่าเป็น "เมืองสามหมอก” และมีชื่อเสียงในเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ทำให้ผู้คนอาจลืมไปว่าเมืองนี้มีวิถีวัฒนธรรมของคนกลุ่มชาติพันธุ์ที่โดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งในดินแดนภาคเหนือ
แม่ฮ่องสอนเป็นถิ่นฐานของ "คนไต” หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อ "ไทใหญ่” คนไตเกือบทั้งหมดในประเทศไทยอาศัยอยู่ที่นี่ มีประเพณี วิถีชีวิต และวัฒนธรรมโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ แหล่งที่ได้ชื่อว่ายังคงรักษาวิถีชีวิตของชาวไทใหญ่ไว้ได้อย่างมั่นคงคือที่อำเภอขุนยวม
บ้านต่อแพ ตำบลแม่เงา เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ในอำเภอขุนยวม แต่กลับยิ่งใหญ่ด้วยวิถีวัฒนธรรมของชาวไทใหญ่ที่เต็มไปด้วยสีสันงดงาม ที่นี่เป็นหนึ่งในสถานที่ซึ่งเราสามารถชื่นชมงานประเพณีปอยส่างลองหรืองานบวชลูกแก้ว (บรรพชาสามเณร) ที่เป็นธรรมชาติที่สุด บ้านต่อแพจึงถูกเลือกให้เป็นชุมชนตัวอย่างของการท่องเที่ยวโดยชุมชนในภาคเหนือ
จุดเด่นของชุมชนบ้านต่อแพคือการเดินเที่ยวในหมู่บ้าน สัมผัสวัฒนธรรม ชมวิถีชีวิตของชาวไทใหญ่ บางบ้านมีอาชีพตีเหล็กโดยยังใช้วิธีการแบบดั้งเดิมตามภูมิปัญญาท้องถิ่น เพราะชาวไทใหญ่ได้ชื่อว่ามีฝีมือด้านการตีเหล็กไม่แพ้ชนชาติใด หรือชมการสานหมวกไต หรือ กุ๊บไต ซึ่งเป็นเครื่องใช้คู่วิถีชีวิตชาวไทใหญ่ เพราะเมื่อลงจากเรือนไปไร่ไปนา ทุกคนต้องติดกุ๊บไตไว้ใส่กันแดดกันฝนเสมอ
ในบ้านต่อแพยังมีสถานที่สำคัญซึ่งพลาดไม่ได้ นั่นคือ วัดต่อแพ ซึ่งเป็นวัดประจำชุมชน และเป็นวัดเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดแม่ฮ่องสอน สร้างมานานกว่า ๑๕๐ ปี สิ่งก่อสร้างที่งดงามที่สุดคือ ศาลาการเปรียญที่สร้างขึ้นตามแบบสถาปัตยกรรมไทใหญ่ เป็นไม้สักทั้งหลัง หลังคาซ้อนชั้นแบบสองคอสามชายสร้างลดหลั่นกันลงมาอย่างสวยงาม ใกล้ ๆ กันเป็นเจดีย์ศิลปะพม่าผสมกับไทใหญ่ สวยงามโดดเด่น นอกจากนี้ยังมีผ้าพระบฏฝีมือช่างโบราณที่ประดับด้วยทับทิมอย่างงดงาม เก็บรักษาไว้ให้ชมด้วย
สำหรับผู้สนใจธรรมชาติสามารถให้ชาวบ้านนำทางเดินป่าชมธรรมชาติบนเส้นทางประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ ๒ จากวัดต่อแพไปยังค่ายห้วยปลามุง ระยะทางประมาณ ๖.๕ กิโลเมตร เพลิดเพลินกับเส้นทางผ่านทุ่งนา ข้ามลำห้วย ขึ้นสู่สันเขา และที่ราบบนยอดดอย ไปจนถึงที่พักซึ่งเป็นที่ราบริมลำน้ำห้วยปลามุง
หน้าหนาวเป็นฤดูกาลที่เหมาะมากสำหรับการไปนอนโฮมสเตย์บน "เฮินไต” หรือเรือนไทใหญ่แบบโบราณท่ามกลางธรรมชาติในหมู่บ้านแห่งนี้ และเต็มอิ่มกับอาหารพื้นเมืองไทใหญ่อย่าง จะส่าน เมี่ยงเต้าเจี้ยว ข้าวกั้นจิ้น ข้าวเหลืองไก่อุ๊บ รวมทั้งขนมพื้นบ้านไทใหญ่ เช่น อาละหว่า ส่วยทะมิน เป็งม้ง
บ้านต่อแพ ตั้งอยู่ในตำบลแม่เงา อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน แยกออกจากทางหลวงหมายเลข ๑๐๙ บริเวณย่านตัวเมืองขุนยวม ทางแยกอยู่ตรงข้ามวัดม่วยต่อไปอีกประมาณ ๗ กิโลเมตร
ออนซอนอีสาน เขมราฐ นาแวง เจียด
เที่ยวชุมชนแบบคนอีสานต้องไปยังริมฝั่งแม่น้ำโขงที่อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ที่นี่มีการท่องเที่ยวโดยชุมชนซึ่งเรียกว่า "ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเขมราฐ นาแวง เจียด” ซึ่งชุมชน ๓ หมู่บ้านในตำบลนาแวงร่วมกันจัดตั้งขึ้นมา คือ บ้านลาดเจริญ บ้านนาแวง และบ้านเจียด
เหมาะสำหรับใครที่อยากพักผ่อนในเมืองเล็ก ๆ บรรยากาศสงบเงียบ ต้องลองมาเยี่ยมชุมชนริมแม่น้ำโขงที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ของบ้านไม้ - ตึกแถวเก่าแก่ ยามเช้าชาวบ้านมานั่งรอใส่บาตร เป็นภาพที่สบายตาและทำให้มีความสุขโดยไม่รู้ตัว พอสายหน่อยก็ไปเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่กลุ่มทอผ้าแม่ติ๋ว ซึ่งสืบทอดการทำผ้าทอมือด้วยกรรมวิธีโบราณ ใช้น้ำย้อมจากสีธรรมชาติ จึงทำให้ผ้าทอของที่นี่งดงาม มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
เลยไปที่บ้านเจียด เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดภูถ้ำพระศิลาทอง แหล่งรวบรวมโบราณวัตถุยุคก่อนประวัติศาสตร์ซึ่งพบในพื้นที่ หรือจะเที่ยวตามรอยพระบาทในหลวงรัชกาลที่ ๙ ไปยังวัดโขงเจียมปุราณวาส อยู่ติดริมแม่น้ำโขง มีทัศนียภาพที่สวยงาม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ เคยประทับที่นี่เมื่อครั้งเสด็จฯ มาเยี่ยมราษฎรบ้านนาแวง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙
จุดเด่นสำคัญคือรายการท่องเที่ยวผจญภัยที่หาดทรายสูง ซึ่งเป็นความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติที่หลายคนขนานนามให้ที่นี่เป็น "ทะเลทรายชายฝั่งโขง” เพราะเป็นสันทรายสูงใหญ่ที่เกิดจากกระแสน้ำพัดพาตะกอนทรายมาสะสมไว้ในฤดูน้ำหลาก พอถึงฤดูแล้ง น้ำลดลงจะปรากฏเป็นหาดทรายสูงหลายสิบเมตร และในช่วงนี้เองจะมีแก่งหินโผล่ขึ้นมาจากแม่น้ำโขงมากมาย ทั้งยังมีการค้นพบภาพเขียนโบราณในบริเวณนี้ด้วย เป็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่น่าไปเยี่ยม
เยือน
เขมราฐ-นาแวง-เจียด อยู่ริมแม่น้ำโขงในบริเวณตัวเมืองเขมราฐและพื้นที่รอบ ๆ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ห่างจากย่านตัวเมืองอุบลราชธานี ไปตามทางหลวงหมายเลข ๒๐๕๐ ระยะทางประมาณ ๑๐๕ กิโลเมตร
บ้านน้ำเชี่ยว เที่ยวเพลิน ๆ
หากเอ่ยถึงภาคตะวันออก แทบทุกคนมักคิดถึงหาดทรายและชายทะเล แต่การท่องเที่ยวชุมชนในภูมิภาคนี้โดดเด่นไม่แพ้ที่อื่น ๆ โดยเฉพาะที่จังหวัดสุดชายแดนบูรพาอย่างจังหวัดตราด ซึ่งเป็นที่ตั้งของแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนที่มีชื่อเสียงที่สุด นั่นคือ บ้านน้ำเชี่ยว อำเภอแหลมงอบ
บ้านน้ำเชี่ยว เป็นชุมชนชาวมุสลิมที่อพยพมาอยู่ที่นี่ยาวนานกว่าร้อยปีแล้ว บรรพบุรุษของชาวบ้านน้ำเชี่ยว เป็นชาวจามซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณที่เป็นประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน ในสมัยรัชกาลที่ ๓ เกิดสงครามระหว่างสยามกับอาณาจักรเวียดนาม ซึ่งเรียกว่าสงคราม "อันนัมสยามยุทธ” การสู้รบในดินแดนกัมพูชาปัจจุบัน ชาวบ้านในพื้นที่สู้รบจึงอพยพหนีภัยเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารยังแผ่นดินสยามเป็นจำนวนมาก รวมทั้งชาวจามผู้เป็นบรรพบุรุษของคนน้ำเชี่ยวด้วย กาลเวลาผ่านมากว่าร้อยปีทุกวันนี้ "มัสยิดอัลกุบรอ” ที่ตั้งอยู่ริมคลองน้ำเชี่ยว ยังคงเป็นศูนย์รวมใจของชาวบ้านเช่นในอดีต
คนบ้านน้ำเชี่ยวนอกจากประกอบอาชีพประมงชายฝั่งแล้ว งานหัตถกรรมทำงอบก็เป็นภูมิปัญญาจากอดีตที่ยังสืบทอดมาถึงปัจจุบัน งอบจากบ้านน้ำเชี่ยวได้ชื่อว่าดีที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทย ทั้งความคงทนและรูปแบบที่หลากหลาย ปัจจุบันกลายเป็นของที่ระลึกที่ใครมาเที่ยวก็อดซื้อติดมือกลับไปไม่ได้
มาเที่ยวบ้านน้ำเชี่ยว นอกจากได้ชมวิถีชุมชนมุสลิมแล้ว เขายังมีกิจกรรมสัมผัสธรรมชาติให้ลิ้มลอง อย่างการล่องเรือชมธรรมชาติป่าชายเลน และตกปลาชายฝั่ง หากมีเวลามากพอก็อาจออกเรือไปไดหมึกตกปลา หรือดำน้ำดูปะการังก็ย่อมได้
บ้านน้ำเชี่ยว ตั้งอยู่ตำบลน้ำเชี่ยว อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด อยู่ใกล้ย่านตัวเมืองตราด ไปตามทางหลวงหมายเลข ๓๑๔๘ ระยะทางประมาณ ๘ กิโลเมตร
เที่ยวสวนสมรม ชุมชนพรหมโลก
ในอำเภอพรหมคีรี นครศรีธรรมราช เป็นชุมชนที่ติดกับเขตอุทยานแห่งชาติเขาหลวง พื้นที่อุดมสมบูรณ์ด้วยป่าไม้ สายธาร และตามชายขอบป่าใหญ่ นั่นเป็น "สวนสมรม” ที่อุดมด้วยผลหมากรากไม้ อาทิ ทุเรียน มังคุด สะตอ ฯลฯ ซึ่งหล่อเลี้ยงวิถีชีวิตผู้คนที่นี่มาเนิ่นนาน วันนี้ชมรมการท่องเที่ยวโดยชุมชนพรหมโลก ได้เปิดพื้นที่ของชุมชนเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นด้วยโปรแกรมสบาย ๆ เดินป่า เล่นน้ำตกพรหมโลก ภายในอุทยานฯ ชมสวนสมรมช่วยกันเก็บผักผลไม้ ปั่นจักรยานเรียนรู้วิถีชุมชน เรียนรู้การทำบาติกและฝึกทำด้วยตัวเอง รวมทั้งสาธิตการแสดงมโนราห์ศิลปะการแสดงของภาคใต้โดยเยาวชนในชุมชน
ความโดดเด่นอย่างหนึ่งของวัฒนธรรมคนใต้ก็คือ วัฒนธรรมด้านอาหารรสจัด เผ็ดร้อน มากด้วยเครื่องเทศพื้นถิ่น และตัดความเผ็ดด้วยผักสมุนไพรพื้นบ้าน ดังนั้นต้องเตรียมท้องมาสำหรับอาหารพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน เช่น แกงไตปลา น้ำพริกกะปิ ผัดสะตอ น้ำพริกลูกประ สะตอดอง ผักกูดหรือผักเหรียงราดน้ำกะทิ ขาดไม่ได้สำหรับสำรับอาหารปักษ์ใต้คือ ผักเหนาะมากมายหลายชนิด ทั้งผักกูด ยอดกาหยูหรือเล็ดล่อ (มะม่วงหิมพานต์) ลูกฉิ้ง ลูกตอ ล้วนแล้วแต่เป็นผักพื้นบ้านหาเอาได้ตามสวนสมรม หรือชายคลองชายขอบริมรั้ว และปลอดสารพิษแน่นอน แต่ที่เด็ดสุดของชุมชนนี้คือ แกงเหลืองมังคุดคัด ซึ่งจะมีเฉพาะช่วงต้นฤดูฝนหน้ามังคุดออกลูกเท่านั้น
บ้านพรหมโลก ตั้งอยู่ในตำบลพรหมโลก อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช อยู่ห่างย่านตัวเมืองนครศรีธรรมราช ไปตามทางหลวงหมายเลข ๔๐๑๖ ระยะทางประมาณ ๒๐ กิโลเมตร
ชุมชนคลองแดน ดินแดน "สามคลอง สองเมือง”
ใต้ลงไปจากนครศรีธรรมราช ติดทะเลในเขตรอยต่อจังหวัดนครศรีธรรมราชกับจังหวัดสงขลา เป็นที่บรรจบพบกันของลำคลองสามสาย คือ คลองระโนด คลองชะอวด และคลองปากพนัง พร้อมกับแบ่งเขตจังหวัดทั้งสองไปในตัว นี่จึงเป็นที่มาของชื่อ "คลองแดน” อันหมายถึง คลองแบ่งเขตแดนนั่นเอง และเป็นที่มาของสโลแกนในปัจจุบันของตลาดน้ำคลองแดนว่าดินแดน "สามคลอง สองเมือง”
คลองแดนเป็นชุมชนเก่าแก่ตั้งแต่สมัยที่การสัญจรยังใช้ลำน้ำเป็นหลัก มีตลาดห้องแถวเก่าแก่ที่สร้างมายาวนานตั้งเรียงรายเลียบริมลำน้ำ เป็นชุมทางค้าขายที่สำคัญในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง เป็นแหล่งพบปะแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่าง "เกลอเลและเกลอเขา” ซึ่งเป็นจารีตในยุคที่การค้าขายยังอยู่ในรูปการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างชุมชนบนขุนเขาและชายฝั่งทะเล โดยไม่มีเงินตราเบี้ยอัฐเป็นสื่อกลาง นี่คือความงดงามของวัฒนธรรมท้องถิ่นปักษ์ใต้ที่มีมานับแต่อดีต
เมื่อการเดินทางด้วยรถยนต์เข้ามาแทนที่การคมนาคมทางน้ำ ชุมชนคลองแดนที่เคยคึกคักก็กลับเงียบงัน เมื่อผู้คนอพยพออกไปหาที่ทำกินใหม่ กระทั่งได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ โดยใช้ทุนทางธรรมชาติและวัฒนธรรมริมคลองมาพัฒนาบริหารจัดการท่องเที่ยวให้ยั่งยืนด้วยความร่วมมือของคนในชุมชน ใช้ธรรมชาติเป็นฐานไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วิถีทางธรรมชาติ และวัฒนธรรม เปิดโอกาสให้ผู้มาเยือนได้สัมผัส เรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และวิถีชีวิตของคนถิ่นนี้ โดยเรียกขานกันว่า "ตลาดน้ำคลองแดน” ซึ่งจะติดตลาดกันเฉพาะวันสุดสัปดาห์เท่านั้น
จุดเด่นของตลาดน้ำคลองแดนคือ ความหลากหลายของอาหารท้องถิ่น เช่น ปลาทอดทรงเครื่องสูตรดั้งเดิม แป้งแดง ข้าวยำ ข้าวมันแกงไก่ เต้าคั่ว ขนมกอ ขนมจาก ขนมลูกโดน ขนมโค ขนมพิมพ์ ขนมทราย (ขนมขี้หนู) ขนมดอกลำเจียก ขนมหน้ามัน และอาหารพื้นบ้านอีกมากมาย เน้นที่ความสะอาด อร่อย และราคาถูก พร้อมทั้งใช้วัสดุธรรมชาติห่อรัดมัดมาเป็นภาชนะ แถมยังมีการแสดงโนราบนเวทีกลางน้ำให้เพลิดเพลินระหว่างทานอาหารด้วย
นอกจากตลาดนัดแล้ว ชุมชนคลองแดนยังมีโฮมสเตย์หลายแห่งบริการนักท่องเที่ยวที่อยากสัมผัสวิถีชนบท วิถีพุทธ วิถีคลอง เช่น โฮมสเตย์ครูสายัณห์ เรือนพี่โย บ้านร้อยปี บ้านริมน้ำ เรือนไม้ไทย ระเบียงไทย และโฮมสเตย์ของชาวบ้านริมคลองอีกหลายแห่ง
บ้านคลองแดน ตั้งอยู่ตรงบริเวณรอยต่อจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดสงขลา ไปตามทางหลวงหมายเลข ๔๐๘ ห่างจากย่านตัวเมืองสงขลาและย่านตัวเมืองนครศรีธรรมราชประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร
"การท่องเที่ยวโดยชุมชน” ถือเป็นทิศทางใหม่ที่สำคัญต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยมีชุมชนท้องถิ่นเป็นศูนย์กลางในการกำหนดทิศทาง คิดค้นกิจกรรม และนำมาสู่การพัฒนาวิถีและคุณภาพชีวิตของผู้คนในชุมชน พร้อม ๆ กับสร้างความเข้าใจอันดีต่อกันระหว่างเจ้าบ้านและนักท่องเที่ยวผู้มาเยือน เพื่อก่อเกิดมิตรภาพอย่างยั่งยืน และสร้างสายใยสัมพันธ์ให้คนที่เคยมาท่องเที่ยว ช่วยบอกกล่าวเรื่องราวไปยังเพื่อนฝูงมวลมิตร และทำให้คนที่เคยมาครั้งหนึ่งแล้วอยากกลับไปใหม่อีกครั้งและอีกครั้งเรื่อยไป
วัฒนธรรมคือทุนของชุมชน
ประเทศไทยและประเทศต่าง ๆ ได้นำทุนมรดกทางวัฒนธรรมมาจัดการเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลกระทบในเชิงบวกและเชิงลบโดยตรงกับมรดกวัฒนธรรม ผลกระทบเชิงบวกพบว่า การท่องเที่ยวทำให้เกิดการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และรักษามรดกทางวัฒนธรรมไม่ให้สูญหาย และทำให้คนรุ่นปัจจุบันได้ตระหนักและเห็นความสำคัญมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความเจริญงอกงาม การถ่ายทอด การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันทางวัฒนธรรม และการจรรโลงไว้ซึ่งวัฒนธรรมมากมาย นอกจากนี้ยังส่งผลให้เกิดความเข้าใจอันดีต่อกันของมนุษย์
ส่วนผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นกับมรดกทางวัฒนธรรม เช่น การเลียนแบบวัฒนธรรม การนำวัฒนธรรมมาเป็นสินค้าการท่องเที่ยว การไม่เข้าใจรากเหง้าของวัฒนธรรมและนำมาสื่อสารหรือสร้างสรรค์เป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ไม่เหมาะสม ตลอดจนการสื่อสารวัฒนธรรมที่ก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดี เสื่อมเสีย เสียหาย และสูญเสียซึ่งวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ได้เช่นกัน
สำหรับการท่องเที่ยวโดยชุมชนนั้น ชุมชนที่จัดการการท่องเที่ยวต้องไม่มองว่า "วัฒนธรรม” คือ "ทุนทางธุรกิจ” และไม่ใช้วัฒนธรรมเป็นทุนเพื่อการหารายได้หรือหาผลประโยชน์ แต่ให้มองว่า "วัฒนธรรม คือทุนของชุมชน” ซึ่งเมื่อนำมาจัดการเพื่อการท่องเที่ยวแล้ว ควรคำนึงถึงสังคมและคนในสังคมที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรม ให้สิทธิและเคารพในศักดิ์ศรีของเจ้าของวัฒนธรรม ให้พวกเขามีโอกาสจัดการกับวัฒนธรรมของตนเอง เพื่อการอนุรักษ์และรักษาวัฒนธรรม ตลอดจนการนำทรัพยากรทางวัฒนธรรมซึ่งเป็นต้นทุนมาจัดการเพื่อให้เกิดการพัฒนาคน เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสังคม สู่ความยั่งยืนและความสุขของผู้คนในชุมชน
ที่มา : การจัดการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมโดยชุมชนสู่ความยั่งยืน องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)