ทราบไหมว่า นวนิยายไทยเรื่องไหนที่ถูกนำมารีเมค สร้างเป็นหนัง-ละครบ่อยที่สุด คำตอบคงเป็น เรื่องบ้านทรายทอง ผลงานของ ก.สุรางคนางค์ (กัณหา เคียงศิริ) เรื่องคู่กรรม ของ ทมยันตี และเรื่องจำเลยรัก ของ ชูวงศ์ ฉายะจินดา
ทราบไหมว่า นักแสดงคนไหนที่กินเนสบุ๊คบันทึกไว้ว่าเป็นนักแสดงที่แสดงเป็นพระเอกมากที่สุดในโลก คำตอบคือ คุณสมบัติ เมทะนี เป็นพระเอกถึง ๖๑๗ เรื่อง
ทราบไหมว่า ใครแต่งเพลงและร้องเพลง "ใครหนอ” ที่เรามักได้ยินได้ฟังตอนช่วงวันแม่ คำตอบคือ อ.สุรพล โทณะวณิก เป็นผู้แต่งเพลง ผู้ขับร้องคือ คุณสวลี ผกาพันธุ์
ทราบไหมว่า ศิลปินไทยคนไหน เป็นหนึ่งเดียวที่เป็นคนไทยและคนเอเซียที่ผลงานได้รับการบันทึกในหนังสือประวัติศาสตร์ศิลป์โลก (Gardner’s Art Through The Ages) ซึ่งศิลปินทั่วโลกที่ได้รับการบันทึกมีเพียง ๓๐,๐๐๐ คน และส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรปและอเมริกา คำตอบคือ อ.กมล ทัศนาญชลี
ทราบไหมว่า บุคคลที่เป็นคำตอบข้างต้น ล้วนเป็น "ศิลปินแห่งชาติ” ซึ่งเป็นศิลปินไทยที่มีความโดดเด่นในแต่ละสาขา ถือว่าเป็นปูชนียบุคคลอันล้ำค่าของประเทศ เพราะความรู้ความสามารถของแต่ละท่านล้วนสั่งสมมาจากประสบการณ์อย่างต่อเนื่องยาวนาน จนปรากฏเป็นผลงานที่มีคุณค่า เป็นที่ยอมรับ และเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเรียนรู้ของศิลปินรุ่นต่อๆมา รวมถึงช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดี และเผยแพร่ชื่อเสียงให้กับประเทศ ทั้งนี้ ศิลปินที่กล่าวถึงข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของศิลปินแห่งชาติที่มีอยู่กว่า ๓๐๐ คนในปัจจุบัน
การที่ประเทศไทยเราได้รับการยอมรับและยกย่องจากนานาประเทศว่าเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมและอารยธรรมไม่แพ้ชาติใดในโลกนั้น ส่วนหนึ่งก็เพราะเรามีศิลปินไทยจำนวนมากทั้งในอดีตและปัจจุบันที่ได้ช่วยสร้างสรรค์ผลงานทางด้านศิลปะให้กับประเทศในสาขาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านทัศนศิลป์ วรรณศิลป์ และศิลปะการแสดง ซึ่งผลงานเหล่านี้ล้วนเป็นสมบัติอันล้ำค่าที่สืบทอดต่อๆมาจนถึงคนรุ่นเรา และจะสืบทอดต่อๆไปยังอนุชนรุ่นหลัง
ด้วยรำลึกถึงคุณูปการของศิลปินเหล่านี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมจึงได้จัดทำโครงการศิลปินแห่งชาติขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๘ เป็นต้นมา เพื่อดำเนินการสรรหา คัดเลือกและประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินผู้เป็นทรัพยากรบุคคลสำคัญที่ได้อุทิศตนสร้างสร้างผลงานศิลปะอันทรงคุณค่าไว้เป็นมรดกแผ่นดินตลอดระยะเวลาอันยาวนาน ให้เป็น "ศิลปินแห่งชาติ” เพื่อเป็นการสนับสนุน ส่งเสริมให้มีขวัญกำลังใจ รวมถึงการสนับสนุนให้มีการเผยแพร่ ถ่ายทอดผลงาน และองค์ความรู้ไปยังรุ่นต่อๆไป โดยศิลปินแห่งชาติทุกคนจะได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานเข็มและโล่เชิดชูเกียรติจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือผู้แทนพระองค์
นอกจากนี้ เพื่อแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ทรงพระปรีชาสามารถล้ำเลิศในด้านศิลปกรรมต่างๆทั้งด้านกวีนิพนธ์ ด้านดนตรี และด้านประติมากรรม คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ อันเป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระองค์ท่าน เป็น "วันศิลปินแห่งชาติ” ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนส่งเสริมศิลปินให้เจริญรอยตามเบื้องยุคลบาท และเพื่อประกาศเชิดชูเกียรติเหล่าศิลปินที่ได้สร้างผลงานศิลปะชั้นเยี่ยมให้เป็นประจักษ์ต่อสาธารณชน อันนำมาซึ่งความภาคภูมิใจและเกียรติภูมิของประเทศเรา
....................................................
น.ส.ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม
?xml:namespace> ?xml:namespace> ?xml:namespace>