เรื่อง : ทรงยศ กมลทวิกุล
ภาพ : ยอด เนตรสุวรรณ
ตีโพน เมืองพัทลุง วิถีแห่งกลองท้องถิ่นใต้
คือภูมิปัญญา คือวิถีชีวิตวัฒนธรรมและพุทธศาสนา นี่อาจเป็นความเชื่อมโยงที่สามารถบอกกล่าวได้เป็นเบื้องต้นเมื่อพูดถึงโพน หรือตะโพน กลองของภาคใต้หรือกลองเพลของภาคกลาง จัดอยู่ในเครื่องดนตรีประเภทตี
ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบันโพนของท้องถิ่นภาคใต้มีหน้าที่สำคัญประการหนึ่งมิเคยเปลี่ยนแปลง นั่นคือ การเป็นเครื่องตีบอกเวลาในวัด ใช้ตีประโคมเรือพระในเทศกาลออกพรรษาหรือชักพระ เรียกว่า "คุมโพน”
ในภาคใต้โพนถือเป็นสมบัติของวัดที่ใช้ในโอกาสต่าง ๆ อาทิ ตีโพนบอกเวลาพระฉันภัตตาหาร บอกเวลาในวันที่ไม่เห็นดวงอาทิตย์ติดต่อกันเป็นเวลานาน บอกสัญญาณนัดแนะประชุมหรือรวมกลุ่ม เตือนการเตรียมงานของกลุ่ม เช่น ลากพระ รับกฐิน รวมถึงตีโพนบอกเหตุร้ายหรือขอความช่วยเหลือ หรือเร่งเร้าความพร้อมของหมู่คณะ เช่น ลากพระ ลากซุง ตลอดจนตีโพนแข่งขันเสียงดังของโพน
ปัจจุบันจังหวัดที่มีชื่อเสียงและมีการสืบสานวิถีชีวิตของเครื่องดนตรีที่เรียกว่า "โพน” เห็นจะไม่มีที่ใดที่มีประวัติศาสตร์และมีชื่อเสียงเท่าจังหวัดพัทลุง
คำว่า โพน คือภาษาท้องถิ่นของจังหวัดพัทลุง ใช้เรียกชื่อเครื่องดนตรีไทยที่มีรูปร่างคล้ายกลองทัด มีขาตั้ง จำนวน ๓ ขา ตีด้วยไม้แข็ง ๒ มือ ตัวโพนทำด้วยการขุดเจาะจากไม้เนื้อแข็ง เช่น จากไม้ต้นตาล ไม้ขนุน มีขนาดรูปทรงต่าง ๆ กัน ส่วนมากมีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ ๓๕-๘๐ เซนติเมตร หน้าโพนนิยมหุ้มด้วยหนังควายทั้งสองหน้า ไม้ตีโพนกลึงด้วยไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้สาวดำไม้หลุมพอ
สำหรับโพนที่ทำพิเศษเพื่อเข้าแข่งขัน เรียกว่า "โพนแข่ง” โพนที่มีชื่อเสียงของจังหวัดพัทลุงมีอยู่เป็นจำนวนมาก อาทิ ฟ้าลั่น ฟ้าสะท้าน เต่าทอง ก้องนภา อีโครงพุก ทุก ๆ ปี เมื่อเทศกาลออกพรรษาเดินทางมาถึงการแข่งขันตีโพนจะเป็นกิจกรรมที่ทุกคนรอคอย
เราเดินทางลงใต้เพื่อไปพบกับฉลอง ศิลปินสร้างโพนแข่งแห่งค่ายโพนป่ายางหูเย็น หนึ่งในมือสร้างโพนและครูโพนของเยาวชนที่หลงใหลในวิถีแห่งการตีโพน
ฉลอง นุ่มเรือง ในวัย ๕๐ ปี เล่าถึงที่มาและความผูกพันกับโพนให้ฟัง ท่ามกลางบรรยากาศของสวนยางที่ชูลำต้นสูงขึ้นไปหาแดด มีสายลมของฤดูโยกเรือนยอดยางส่งเสียงราวกับทำนองดนตรีแทรกสลับบทสนทนาเป็นช่วง ๆ
ฉลองเริ่มต้นเข้ามาเกี่ยวพันกับโพนอย่างจริงจังตั้งแต่อายุ ๑๕ ปี ครอบครัวเกี่ยวพันกับการทำโพนตีโพนมาตั้งแต่รุ่นทวด ตัวฉลองเริ่มจากเป็นลูกมือให้น้าชาย เรียนรู้การฝึกสร้างโพน ไปจนฝึกตีโพน แต่ดูเหมือนว่าความหลงใหลนั้นจะเป็นเรื่องของการสร้างโพนมากกว่า ไม่เพียงแต่ทำงานอยู่กับน้าชายเท่านั้น เขายังมีโอกาสได้สร้างโพนร่วมกับครูโพนหลายท่าน
ฉลองชี้ไปที่ลานกว้างหน้าบ้านบอกว่า "ทุกเย็นเด็ก ๆ จะมารวมตัวกันซ้อมตีโพนที่นี่ ยิ่งใกล้ช่วงออกพรรษาจะคึกคัก เมื่อก่อนมาก แต่เดี๋ยวนี้น้อยลง”
บริเวณชายคาหน้าบ้านเต็มไปด้วยโพนหลายลูก ทั้งที่เป็นของฉลองเองและที่ถูกส่งมาซ่อมแซม ล้วนต้องลงแรงทำด้วยความตั้งใจ นอกจากทุ่มเททำโพนเพื่อแข่งขันแล้ว ยังมีโพนหลายลูกที่ถูกว่าจ้างให้ทำขึ้นเพื่อถวายวัด หรือเพื่อใช้ในงานชักพระ ซึ่งก็มุ่งมั่นทำสุดฝีมือเช่นกัน
การแข่งขันตีโพนนั้นไม่ได้เริ่มต้นขึ้นในวันแข่งขัน หากแต่เริ่มต้นขึ้นเมื่อช่างตีโพนคิดสร้างโพนลูกหนึ่งขึ้นมาแล้ว โดยเริ่มหาท่อนไม้ที่ได้ขนาดมาทำโพนแข่ง เสาะหาหนังควาย นำวัสดุธรรมชาติที่ได้มาเริ่มลงมือผ่านกระบวนการต่าง ๆ จนถึงปรับแต่งเสียง ที่ต้องใช้เวลาความทุ่มเททั้งฝีมือแรงกายและแรงใจในการให้กำเนิดโพนลูกหนึ่งขึ้นมา
"ผมจดบันทึกความเป็นมาขั้นตอนการทำ วิธีทำไว้เป็นคู่มือ ไว้ใช้สอนให้คนที่สนใจ” ฉลองเปิดสมุดบันทึกให้ดูเมื่อถูกถามถึงรายละเอียดต่าง ๆ ของการสร้างโพนและการแข่งตีโพน "สิ่งที่เราพูดถ่ายทอดต่อออกไปจะได้ไม่ผิดเพี้ยน” เป็นความตั้งใจของฉลองที่ว่าจะถ่ายทอดความรู้ที่ได้มาทั้งจากครูบาอาจารย์และการทดลองด้วยตนเองจนเป็นความรู้ มีรูปแบบเป็นแนวทางของตนเอง การจดสิ่งที่ตนเองรู้ออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร และใช้เป็นคู่มือในการถ่ายทอดส่งต่อความรู้ ถือเป็นวิถีแห่งครูอย่างแท้จริง
บริเวณที่ดินส่วนตัวได้สร้างเป็นที่ทำงานสำหรับสร้างโพน มีลักษณะเป็นโรงเรือนไม้ขนาดเล็กเปิดโล่งทั้งสี่ด้าน ภายในเต็มไปด้วยเครื่องไม้เครื่องมือและวัตถุดิบสำหรับทำโพนมากมาย ด้านหลังยังติดกับลำคลองเล็ก ๆ ทำให้สะดวกในการเตรียมหนังควายที่ใช้สำหรับทำโพน และแม้ว่าจะมีเครื่องมือเครื่องทุ่นแรงหลายอย่างเพื่อช่วยให้การทำงานสะดวกรวดเร็วขึ้น แต่สำหรับบางขั้นตอนก็ยังใช้วิธีแบบโบราณดั้งเดิมที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมา เช่น การหุ้มหนังหรือหุ้มโพน
แม้ตัวหนังกลองนั้นสามารถใช้หนังวัวทำได้ แต่ก็ไม่เป็นที่นิยม ด้วยคุณสมบัติของการให้เสียงสู้หนังควายไม่ได้ หนังควายกว่าจะพร้อมสำหรับการทำเป็นผืนหนังต้องผ่านกระบวนการล้างทำความสะอาด แช่น้ำ ตาก และผ่านการตำหนัง (ตี) เพื่อให้ผืนหนังนิ่ม
ไม้ที่ทำโพน จะคัดเลือกไม้ที่คิดว่ามีเนื้อแน่นที่สุด เรียงตามความนิยม คือ ไม้ตะเคียนทอง ไม้พังตาน ไม้ขนุน ไม้ตาลโตนด
การแข่งขันตีโพนจะส่งเข้าแข่งขันกี่ใบก็ได้ ด้วยเหตุนี้การเตรียมโพนเพื่อตีแข่งขันจึงต้องทำหลายใบ แต่ละใบมีเสียงที่แตกต่างกันออกไป มือตีก็มักจะมีใบที่ชอบเป็นของตนเองสำหรับใช้ประจำตัวในการแข่งขัน
ฉลองเป็นผู้สร้างค่ายโพนป่ายางหูเย็นขึ้นมา โพนจากค่ายของฉลองชนะสนามใหญ่ถ้วยพระราชทานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ตามด้วยปี พ.ศ. ๒๕๕๒-๒๕๕๔ เว้นไปหนึ่งปีก่อนกลับมาอีกในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ ฉลองบอกว่าสมัยที่น้าชายยังเป็นคนนำในการทำโพนเข้าแข่งขันอยู่นั้น ตั้งใจอย่างยิ่งว่าจะต้องชนะเลิศถ้วยพระราชทานสักครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ แต่มาได้ในยุคของเขาเอง
โพนแต่ละลูกมีเอกลักษณ์ของตัวเอง บ้างทุ้ม บ้างแหลม แต่ทั้งแหลมและทุ้มก็ยังมีระดับที่แตกต่างกันไปอีก กรรมการผู้ตัดสินเสียงโพนนั้นจะต้องตั้งใจฟัง ที่สำคัญกรรมการมิได้นั่งอยู่ใกล้กับโพนที่ตี แต่นั่งห่างออกไปไกลจากจุดตีเป็นร้อยเมตร เพราะคุณสมบัติสำคัญประการหนึ่งของโพนแข่งคือเสียงที่สามารถก้องกังวานไปไกล
แข่งโพน แข่งตะโพน หรือชันโพน
ถือเป็นประเพณีอย่างหนึ่งของภาคใต้ ตามประวัตินั้นเชื่อกันว่าเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับประเพณีชักพระ เพราะเป็นการปฏิบัติที่เกี่ยวร้อยต่อเนื่องกัน
ก่อนที่จะมีการชักพระในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ในช่วงปลายเดือน ๑๐ ตามวัดต่าง ๆ จะเตรียมการชักพระเริ่มตั้งแต่การทำบุษบกหุ้มโพน และเริ่มคุมโพนก่อนประกาศให้ชาวบ้านรู้ว่าทางวัดจะจัดให้มีการชักพระหรือลากพระ ตามประเพณีที่เคยปฏิบัติกันมาเหมือนทุกปี แต่เนื่องจากวัดส่วนมากอยู่ในละแวกเดียวกัน เสียงโพนที่ดังออกไปไกล บางครั้งชาวบ้านก็ไม่รู้ว่าเป็นเสียงของวัดใด จึงทำให้วัดต่าง ๆ แข่งเสียงโพนกันว่าโพนของวัดใดเสียงดังกว่ากัน
ในระยะแรกก็ตีแข่งกันในวัด กลางทุ่งกลางนา หรือสถานที่เตรียมไว้ ในวันชักพระก็จะมีโพนประจำเรือพระไว้คอยตีให้สัญญาณเพราะเสียงดังไปไกลได้ยินทั่วถึง เพื่อคุมการลากเรือพระว่าต้องการลากช้าหรือเร็ว เพราะเรือพระใช้เชือกลากเส้นใหญ่ ๆ มีขนาดยาวไม่น้อยกว่า ๓๐ เมตร เสียงโห่ร้องของคนที่มาลากพระ ทำให้ไม่สามารถวิ่งสั่งงานด้วยปากเปล่าได้ทั่วถึงกัน เช่น ถ้าให้ลากเร็วก็ตีรัวให้ถี่ ถ้าจะให้ช้าก็ตีจังหวะช้า ในบางครั้งเมื่อชาวบ้านจากหลายวัดลากพระมารวมกัน ก็มักจะมีการแข่งโพนกันต่อ จากเหตุการณ์นี้จึงทำให้เกิดการแข่งโพนขึ้นซึ่งพบมากในหมู่บ้านชนบทของภาคใต้
การแข่งโพน แบ่งเป็น ๒ อย่างคือ
๑. การแข่งขันมือ (ตีทน) การแข่งขันแบบนี้ไม่ค่อยนิยมเพราะต้องใช้เวลานาน แข่งขันจนผู้ตีมืออ่อนหรือผู้ตีหมดแรงจึงตัดสินได้
๒. การแข่งเสียง การแข่งแบบนี้เป็นที่นิยมกันมากในปัจจุบัน เพราะใช้เวลาสั้น ๆ ก็สามารถคัดเลือกคนชนะได้
การแข่งโพนส่วนมากจะเริ่มในปลายเดือน ๑๐ และสิ้นสุดในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ นิยมแข่งขันในเวลากลางคืน ถ้าหากมีโพนหลายคู่ การแข่งขันจัดเป็นคู่ ๆ แต่ละฝ่ายใช้ผู้ตีเพียงคนเดียว โดยเริ่มจากการตีลองเสียงว่าโพนใบไหนเสียงใหญ่ และใบไหนเสียงเล็ก กรรมการจัดไว้เป็น ๒ ชุด สำหรับควบคุมมิให้ผู้แข่งขันเปลี่ยนคนตีชุดหนึ่ง และเป็นกรรมการฟังเสียง ซึ่งมีราว ๓-๕ คนอีกชุดหนึ่ง กรรมการชุดหลังจะอยู่ห่างจากที่ตีไม่ต่ำกว่า ๑๕๐ เมตร เพื่อฟังเสียงและตัดสินโพนลูกดังกล่าวกัน
กติกาการแข่งขันโพน
๑. โพนที่ส่งเข้าแข่งขันต้องส่งในนามของวัดใดวัดหนึ่งเท่านั้น
๒. วัดหนึ่งจะส่งโพนเข้าแข่งขันกี่ใบก็ได้
๓. แข่งแบบแพ้คัดออกโดยจับฉลากทีละคู่
๔. หากคะแนนเสมอให้เข้ารอบต่อไปทั้งคู่ รอบสุดท้ายแข่งจนแพ้ในเวลาที่จำกัด
๕. เวลาการแข่งขัน รอบแรก ๔ นาที รอบที่ ๒ เวลา ๕ นาที และรอบชิงชนะเลิศ ๖ นาที
๖. โพนเสียงทุ้มตียืน (ซ้ายขวาสลับสม่ำเสมอ) เสียงแหลมตีขัด (ความถี่มากกว่า จังหวะแบบใดอิสระ)
๗. หากมีปัญหาให้อยู่ในดุลยพินิจของกรรมการ การตัดสินของกรรมการถือเป็นสิ้นสุด
ฉลองบอกว่าทุกครั้งที่เข้าแข่งเขาจะส่งโพนเข้าร่วมประมาณสิบลูก มีทั้งโพนเสียงทุ้มและเสียงแหลม โพนที่ใช้แข่งนั้นความยากคือการปรับแต่งเสียง ในช่วงแข่งขันจึงต้องทำงานกันเป็นทีม มีครูฝึก คนปรับแต่งโพนซึ่งต้องตามดูตลอดการแข่งขัน นับเป็นงานใหญ่ที่ต้องรวมผู้คนมาร่วมด้วยช่วยกัน ก่อนขึ้นเวทีประกบคู่จะไม่มีทางรู้เลยว่าโพนของคู่แข่งจะให้เสียงแบบไหน ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องส่งโพนหลายใบเป็นการวางกลยุทธ์ในการแข่งขันเพื่อจะจับทางโพนของคู่ต่อสู้ การแข่งขันจะเป็นแบบแพ้คัดออก สู้กันไปจนเหลือโพนคู่สุดท้ายและเหลือหนึ่งเดียวคือผู้ชนะ
เย็นวันนั้นโพนสองใบจัดวางเคียงคู่กัน จำลองการแข่งขันให้ผู้มาเยือนได้เห็น เสียงโพนฟังดูเสมือนเสียงที่ดิบกร้าน ตรงไปตรงมา สมกับพื้นฐานที่ถูกออกแบบมาเป็นเสมือนเครื่องตีส่งสัญญาณที่ต้องการให้เสียงเดินทางไปได้ไกล เพราะในอดีตบ้านเรือนแต่ละหลังอาจอยู่ห่างจากศูนย์กลางสำคัญเช่นวัด เมื่อจะทำการใด ๆ หรือเมื่อเกิดเรื่องฉุกเฉินสำคัญ การจะแจ้งให้ทุกบ้านทราบในเวลารวดเร็วเห็นจะเป็นไปไม่ได้ การใช้โพนตีเพื่อส่งสัญญาณจึงเกิดขึ้น "ถ้าเงียบจริง ๆ นี่เสียงโพนดี ๆ ลูกหนึ่งดังไกลหลายไปหลายกิโล” ฉลองกล่าว
ยุคสมัยที่แปรเปลี่ยนการแข่งขันตีโพนก็มีรายละเอียดที่ปรับไปบ้าง รวมทั้งความนิยมของเยาวชนก็มิได้มีมากเฉกเช่นในอดีต แรกเริ่มเดิมทีค่ายโพนของฉลองเคยมีเด็ก ๆ มาฝึกตีโพนมากถึงยี่สิบกว่าคน ปัจจุบันนี้มีเพียงสิบคนที่หมุนเวียนกันมา แต่สิ่งที่มิได้เปลี่ยนแปลงไปเลยคือ ความทุ่มเทของนักสร้างโพนแห่งค่ายป่ายางหูเย็นยังคงเข้มข้นเฉกเช่นเดิม ทุก ๆ ปี ยังคงส่งโพนเข้าแข่งขัน สร้างมือตีโพน สร้างโพนลูกแล้วลูกเล่าทั้งโพนแข่ง โพนถวายวัด รวมทั้งซ่อมแซมปรับแต่งเสียงให้กับโพนมากมายที่เดินทางมาอยู่ในมือของช่างโพนที่ชื่อว่า ฉลอง นุ่มเรือง
ขอบคุณ ฉลอง นุ่มเรือง ค่ายโพนป่ายางหูเย็น ตำบลปรางหมู่ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง