กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วัฒนธรรมประเพณี
สะล้อ ซอ ปิน ดนตรีพื้นบ้านเมืองน่าน

วันที่ 13 ก.พ. 2563
 
เรื่อง : กุลธิดา สืบหล้า
ภาพ : สายัณห์ ชื่นอุดมสวัสดิ์ และ ยอด เนตรสุวรรณ
 
สะล้อ ซอ ปิน ดนตรีพื้นบ้านเมืองน่าน
 
 
 
     บ้านซาวหลวง ตำบลบ่อสวก จังหวัดน่าน
     บ้านไม้ใต้ถุนสูงที่สร้างอยู่ริมทุ่งนาหลังนั้น ดูท่าทางเย็นสบายยิ่งนัก ได้ยินเสียงทอผ้าดังเป็นจังหวะแว่วมาจากด้านในนั่นเอง สมพร ดวงมูล วัย ๖๒ ปี ช่างซอแห่งคณะซออรุณศิลป์ที่โด่งดังของเมืองน่าน ยามว่างเว้นจากการงาน แม่ครูสมพรจะนั่งลงทอผ้า หนึ่งในภูมิปัญญาของผู้หญิงหมู่บ้านนี้ นอกจากจะส่งให้กลุ่มทอผ้าเพื่อจำหน่ายแล้ว แม่ครูยังทอผ้าซิ่นงาม ๆ เก็บไว้หลายผืน สำหรับสวมใส่เวลาไปออกงานกับคณะซอ
 
     ครู่เดียวอรุณศิลป์ ดวงมูล ลงบันไดบ้านมาสมทบ ในวัย ๖๗ ปี พ่อครูอรุณศิลป์ยังคล่องแคล่ว เส้นเสียงนั้นไม่ต้องพูดถึง ยังคงขับซอเคียงข้างแม่ครูคู่ชีวิตได้ไพเราะกินใจ และหากรับงานใหญ่ พ่อครูก็จะเล่นปินด้วย ปินตัวเก่งนี้ พ่อครูทำขึ้นเองกับมือ
 
     ปินก็คือพิณที่ถูกเรียกด้วยภาษาเหนือ เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องดีดสายคู่ แบ่งออกเป็นสายคู่บนและสายคู่ล่าง รวมทั้งสิ้น ๔ สาย ให้เสียงทุ้มเหมาะที่จะบรรเลงประกอบการขับซอ เราอาจเคยได้ยินคำว่า "สะล้อ ซอ ซึง” แต่สำหรับเมืองน่าน วงดนตรีพื้นบ้านของที่นี่จะเรียกว่าวง "สะล้อ ซอ ปิน” ประกอบด้วยเครื่องดนตรี คือ สะล้อและปิน ส่วนซอคือวิธีการขับร้องลักษณะหนึ่งตามขนบของล้านนา ทั้งนี้คนเมืองน่านนิยมจ้างวงสะล้อ ซอ ปิน ไปแสดงในงานมงคล เช่น งานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ งานทำบุญครบรอบอายุ งานเกษียณอายุราชการ และงานอุปสมบท
 
     สะล้อ ซอ ปิน นับเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเมืองน่าน ด้วยความไพเราะ มีคุณค่า จึงได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ เดิมทีวงสะล้อ ซอ ปิน ประกอบด้วยคนขับซอ ชาย ๑ คน หญิง ๑ คน ใช้สะล้อ ๑ ตัว และปิน ๑ ตัว แต่ในปัจจุบันหากเป็นวงสะล้อ ซอ ปิน แบบเต็มรูปแบบจะมีคนขับซอเป็นชาย ๑ คน หญิง ๑ คน ช่างฟ้อน ๒ คน ใช้สะล้อ ๑ ตัว และปิน ๒ ตัว
 
     ลมบ่ายพัดใบข้าวโอนเอนขณะพ่อครูย้อนอดีตในวัยเด็กประถม ความรู้สึกแรกที่ได้จับปินยังตราตรึงมิรู้ลืม มันคือปินของคนงานที่มาช่วยพ่อกับแม่ของเด็กชายทำนา ขณะผู้ใหญ่วุ่นวายกับงานกลางแจ้ง เด็กชายพอสบโอกาสก็ย่องไปหยิบปินมาดีดเล่นตามประสา ลักจำขณะเจ้าของเขาเล่นบ้าง เมื่อเริ่มจับจังหวะได้ ใจก็ฮึกเหิม ไม่เป็นอันช่วยงานพ่อแม่ ปล่อยทิ้งวัวควายหลงใหลอยู่กับปิน กระทั่งแม่ของเด็กชายจำต้องบอกให้คนงานนำปินไปไว้ที่บ้านตนเองเถิด ด้วยลูกชายไม่เป็นอันทำอะไรแล้ว เอาแต่เล่นปินเช้าจดค่ำ
 
     พ่อครูยิ้มพลางเล่าต่อ พออายุได้ ๑๗ ปี พี่ชายก็พาไปฝากตัวกับคณะซอไชยลังกาของพ่อครูไชยลังกา เครือเสน ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน) ประจำปี พ.ศ. ๒๕๓๐ เพื่อฝึกฝนการเล่นปินให้เป็นเรื่องเป็นราว ด้วยเห็นว่าน้องชายคงเอาดีด้านนี้ได้อยู่ พ่อครูในวัยหนุ่มตระเวนไปกับคณะซอของพ่อครูไชยลังกาทุกถิ่นที่ ไม่ว่าต่างอำเภอหรือต่างจังหวัด ใช่เพียงเท่านั้น ยังช่วยงานการทุกอย่าง ตั้งแต่งานในบ้านไปจนถึงงานในไร่นา เรียกได้ว่าฝากชีวิตไว้กับคณะซอเลยก็ว่าได้
 
     พ่อครูไชยลังกาเองก็ดูเหมือนจะพอใจลูกศิษย์คนนี้ เพราะหัวไวเข้าท่า ปินนั้นมีพื้นฐานมาก่อนหน้าแล้ว ฝึกเทคนิคอีกนิดหน่อยก็ได้เรื่อง ครั้นถ่ายทอดบทซอให้ ทั้งบทเกี้ยวสาว บทบวชพระ บทขึ้นบ้านใหม่ ไม่ทันไรก็จำได้ นอกจากนี้ยังแต่งคำกลอนซอ แต่งโน้ตเพลง ประดิษฐ์สะล้อกับปินได้อีก สั่งสมประสบการณ์นานวันเข้าก็ได้ทำหน้าที่เป็นตัวรองของพ่อครูไชยลังกา ทั้งด้านการขับซอ สีสะล้อ และดีดปิน
 
     ครั้นสิ้นพ่อครูไชยลังกาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๕ พ่อครูอรุณศิลป์ก็ได้สืบสานวงสะล้อ ซอ ปิน ต่อในนาม "คณะซออรุณศิลป์” บางโอกาสยังได้รับงานร่วมกับพ่อครูคำผาย นุปิง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน-ขับซอ) ประจำปี พ.ศ. ๒๕๓๘ เนื่องจากวงของพ่อครูคำผายไม่มีผู้หญิงที่จะขับซอ พ่อครูทั้งสองรับงานร่วมกันเป็นครั้งคราว จนกระทั่งพ่อครูคำผายเสียชีวิตในปี พ.ศ. ๒๕๕๗ คงเหลือเพียงพ่อครูอรุณศิลป์ที่สืบทอดภูมิปัญญาจากศิลปินแห่งชาติทั้งสองมาจนถึงทุกวันนี้ และแม้ว่าเมืองน่านจะมีวงสะล้อ ซอ ปิน หลัก ๆ อยู่ประมาณ ๑๒ วง ทว่าคณะซออรุณศิลป์นั้น นับเป็นวงสะล้อ ซอ ปิน ที่เก่าแก่ที่สุดถึง ๒๕ ปี
 
 
     อย่างไรก็ตามพ่อครูอรุณศิลป์กล่าวว่า การขับซออยู่คู่เมืองน่านมานานแล้ว อีกทั้งยังโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ เรียกว่า ซอล่องน่าน โดยมีที่มาจากเมื่อครั้งพระยาการเมืองอพยพชาวเมืองวรนคร (เมืองปัว) ล่องมาตามแม่น้ำน่านเพื่อไปยังชัยภูมิใหม่ ณ เชิงดอยภูเพียงแช่แห้ง พระองค์ได้สั่งให้จัดทำแพขึ้น ๗ ลำ สำหรับบรรทุกราษฎร แพลำที่ ๗ พิเศษตรงที่เป็นแพของเหล่าศิลปิน ระหว่างทาง แพลำที่ ๗ นำโดยปู่คำมาและย่าคำบี้ได้ขับซอบอกเล่าความรู้สึกของคนที่ต้องจากบ้านเกิดเมืองนอน รวมถึงพรรณนาทิวทัศน์สองฝั่งแม่น้ำน่านไปด้วย และนี่คือท่วงทำนองที่คนทั่วไปรู้จักกันในนาม "ซอล่องน่าน” หมายถึงการล่องแพมาตามแม่น้ำน่านในการอพยพครั้งนั้นนั่นเอง พ่อครูอรุณศิลป์สันนิษฐานว่า วงสะล้อ ซอ ปิน ก็น่าจะมีต้นกำเนิดจากแพลำที่ ๗ ของปู่คำมาและย่าคำบี้เช่นกัน
 
     กาลเวลาผันผ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปี ๒ ปีมานี้ พ่อครูรู้สึกได้ว่าความนิยมในการจ้างคณะซอลดน้อยถอยลงมากนัก แปรเปลี่ยนไปเป็นการจ้างวงดนตรีที่อวดความหวือหวาของนักร้อง จากยุคเฟื่องฟูของคณะซอที่ต้องรอนแรมออกไปแสดงนานนับเดือนโดยไม่ได้กลับบ้าน อาศัยนอนตามวัด หรือไม่ก็บ้านเจ้าภาพ ทุกวันนี้เดือนหนึ่งมีงานแค่ราว ๆ ๑๐ งานเท่านั้น โดยงานจะชุกช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงก่อนเข้าพรรษา ช่วงนี้แต่ละคณะจะรับงานบวชเป็นส่วนใหญ่ ครั้นออกพรรษาก็จะเป็นงานกฐิน งานผ้าป่า สนนราคาก็ว่ากันไปตามระยะทาง งานในพื้นที่เขตตัวเมืองน่าน ราคาประมาณ ๓,๐๐๐ บาท ต่างอำเภอคิดราคาประมาณ ๔,๐๐๐ บาท แต่ถ้าต่างจังหวัดส่วนใหญ่พ่อครูขอปฏิเสธ เนื่องจากอายุอานามมากขึ้น ทำให้ไม่สะดวกในการเดินทางเหมือนแต่ก่อน
 
      นอกเหนือจากงานแสดง พ่อครูยังมีหน้าที่สอนการเล่นสะล้อและปินให้เด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านซาวหลวงทุกวันพฤหัสบดี โดยพ่อครูคิดรูปแบบตัวโน้ตเพลงเป็นระบบตัวเลข เพื่อให้เด็ก ๆ เข้าใจได้ง่ายขึ้น ทั้งยังบอกด้วยว่า ปินนั้นหากตั้งใจฝึกจริง ๆ วันหนึ่งอาจเล่นได้ถึง ๒ เพลงเลยทีเดียว นอกจากนี้หากช่วงไหนไม่มีงานแสดงก็จะทำสะล้อและปินเพื่อขายเป็นอาชีพเสริม โดยอาศัยประสบการณ์ในการฟังแล้วเทียบเสียง ซึ่งไม่เคยผิดเพี้ยน ปินจากไม้ประดู่พ่อครูว่าดีที่สุด เพราะให้เสียงหนักแน่น
 
     ว่าพลางพ่อครูก็หยิบปินประจำตัวขึ้นมาบรรเลง พร้อมกับกล่าวว่า ไม่เคยเบื่อที่จะดีดปินเลยสักครั้ง ตลอดระยะเวลาตั้งแต่เด็กล่วงเข้าวัยชรา ปินคือเพื่อนคลายทุกข์ ยามได้ดีดปินเล่นอยู่กับบ้าน คือช่วงเวลาแห่งความสุขใจที่สุด
 
     เมื่อถามถึงเพลงที่ใช้ขับซอ พ่อครูบอกว่ามีประมาณ ๒๔ เพลง เช่น เพลงไทลื้อ เพลงฤาษีหลงถ้ำ เพลงพระลอเดินดง เพลงกล่อมนางนอน เพลงเจ้าสุวัติ-นางบัวคำ เพลงปั่นฝ้าย ฯลฯ โดยเฉพาะเพลงปั่นฝ้ายนั้น คนดูจะชื่นชอบเป็นพิเศษ เพราะทางคณะจะแสดงท่าทางประกอบด้วย ทำให้ไม่รู้สึกเบื่อ และที่สะกดผู้ชมอีกอย่างหนึ่งก็คือ ช่วงที่มีการฟ้อนแง้น และนี่คือเหตุผลว่าทำไมคณะซอแต่ละคณะจึงต้องมีผู้หญิง ซึ่งนอกจากจะทำหน้าที่ขับซอแล้ว ก็ต้องมีช่างฟ้อนสาว ๆ รูปร่างหน้าตาชวนมอง เป็นสีสันให้คณะซอได้อย่างดี
 
     แม่ครูยิ้มขณะพ่อครูอธิบายคำว่า ฟ้อนแง้น คำว่า "แง้น” หมายถึง แหงน หรือหงาย ฟ้อนแง้นก็คือการฟ้อนในท่าสะพานโค้ง ซึ่งต้องอาศัยการฝึกฝน คณะซอทุกคณะจะต้องมีช่างฟ้อนที่ฟ้อนแง้นได้ เพราะคนดูจะชอบ ทั้งนี้เจ้าภาพหรือคนดูจะนำเงิน (ธนบัตร) วางไว้ให้ช่างฟ้อนฟ้อนแง้น เมื่อหงายจนศีรษะจดพื้น ช่างฟ้อนจะใช้ปากคาบเงินขึ้นมา ถือว่าเป็นทิปไป
 
     ว่างเว้นจากงานแสดงมาสักระยะหนึ่งแล้ว พรุ่งนี้คณะซออรุณศิลป์ได้รับการว่าจ้างให้ไปแสดงในงานบวชที่บ้านเด่น ซึ่งอยู่ไม่ไกลเท่าไร แม่ครูจะเตรียมซิ่นลายน้ำไหลผืนสวยไว้สวมใส่ ส่วนพ่อครูชอบชุดพื้นเมืองอยู่แล้ว ด้านนักดนตรีกับช่างฟ้อนสาว ก็เป็นที่รู้กันว่าจะต้องสวมใส่ผ้าซิ่นและผ้าพื้นเมืองน่านด้วยเช่นกัน พรุ่งนี้คณะซออรุณศิลป์ ซึ่งประกอบไปด้วยทีมงาน ๖ คน จะไปเจอกันที่บ้านเด่นแต่เช้า
 
 
     บ้านเด่น ตำบลไชยสถาน จังหวัดน่าน
     ในงานอุปสมบทของ นัฐพล มหายศนันท์ พ่อของเขาซึ่งอันที่จริงกำลังวุ่นอยู่กับการเตรียมงาน ถึงกับยกนิ้วโป้งเป็นสัญลักษณ์เชิงยอดเยี่ยม เมื่อถามถึงคณะซออรุณศิลป์ที่ทางครอบครัวว่าจ้างให้มาแสดงตั้งแต่เช้าจดบ่าย
 
     เสียงเพลงแหล่จากลำโพงขนาดใหญ่ดังขจรขจายไปทั่วหมู่บ้าน พ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยทยอยเดินทางมา ต่างนั่งลงตรงโต๊ะที่จัดเตรียมไว้ สักพักคณะซออรุณศิลป์ก็มาถึง พ่อครูอรุณศิลป์สวมชุดพื้นเมืองดูภูมิฐาน แม่ครูสมพรสวมซิ่นลายน้ำไหลสีแดงเลือดหมูและเสื้อเข้าชุด ทั้งสองทำหน้าที่ขับซอคู่กัน หรือที่เรียกว่า คู่ถ้อง ช่างฟ้อนเป็นหญิงสาว ๒ คน อรชรอ้อนแอ้น แต่งหน้าสวยงาม และนักดนตรีหนุ่มอีก ๒ คน คนหนึ่งเล่นปิน อีกคนหนึ่งเล่นสะล้อ รวมทั้งหมด ๖ คน
 
     เพลงแหล่ถูกปิด ได้ยินเสียงแขกเหรื่อคุยกันพึมพำ คณะซออรุณศิลป์นั่งลงกับพื้นเวที วางเครื่องดนตรีไว้ทางด้านซ้าย โดยมีข้อห้ามคือ จะไม่ให้ใครเดินข้ามเครื่องดนตรีเด็ดขาด พ่อครูตั้งขันบูชาครูทางด้านหน้า ทั้งนี้การแสดงซอจะเริ่มด้วยพิธีไหว้ครู โหมโรง เกริ่น เข้าสู่เนื้อหา และบทลา ดูเหมือนการแสดงของคณะซออรุณศิลป์จะเริ่มขึ้นในไม่ช้า
 
     เจ้าภาพนำกระดาษขนาด A 4 มายื่นให้พ่อครู สิ่งนี้เองที่ทุกคนรออยู่ ในนั้นมีลายมือเขียนถึงประวัติของพ่อนาค รวมถึงรายนามเจ้าภาพและบุคคลที่มาร่วมงาน เพื่อให้พ่อครู-แม่ครูใช้ในการขับซอ จะว่าไปแล้วเรื่องราวในส่วนของเจ้าภาพนี้ คือเนื้อหาสำคัญที่คณะซอแต่ละคณะจะหยิบยกมา "ด้นสด” ให้กินใจผู้ชมที่สุด และหากทางเจ้าภาพกับคณะซอรู้จักกันมาก่อนหน้านี้แล้วก็จะยิ่งง่ายสำหรับการขับซอ
 
     คณะซออรุณศิลป์เปิดการแสดงด้วยซอดาดน่าน ซึ่งเป็นทำนองซอที่ได้รับความนิยมมาก ถือเป็นซอบทครู เพราะช่างซอส่วนใหญ่จะซอดาดน่านเป็นทำนองแรกในการแสดงเสมอ หลังจากนั้นแม่ครู ที่ตอนนี้ถือประวัติพ่อนาคอยู่ในมือ ก็เริ่มขับซอกล่าวถึงรายนามผู้เกี่ยวข้อง สลับการขับขานว่าด้วยเรื่องของพระคุณบิดา-มารดา ขณะเดียวกันเมื่อเห็นบุคคลสำคัญมาร่วมงาน แม่ครูก็จะขับซอทักทาย สร้างความพอใจให้แขกคนสำคัญไม่น้อย
 
     ดูเหมือนว่าการจดจำทำนองเพลงซอได้อย่างขึ้นใจเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอสำหรับช่างซอ ปฏิภาณไหวพริบ ความจำ และความรู้รอบตัว ยังจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อช่างซอจะได้หยิบยกสถานการณ์ หรือสิ่งรอบข้างมาประกอบการขับซอได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ รวมไปถึงการโต้ตอบกับคู่ของตนอย่างทันท่วงที คือต้องทันกันนั่นเอง
 
     ช่วงหนึ่งของเพลงซอแม่ครูกล่าวถึงยายของพ่อนาคซึ่งล่วงลับไปแล้ว โดยขับซอเป็นทำนองว่าวันนี้หลานชายจะบวชเรียน ไม่ว่าดวงวิญญาณจะอยู่แห่งหนไหน ขอให้รับรู้และร่วมยินดี ช่วงแรก ๆ การขับซอเน้นไปที่เรื่องราวของตัวพ่อนาคและเจ้าภาพ ล่วงเข้าสาย ถึงเวลาโกนผมนาคและอาบน้ำนาค พ่อครู-แม่ครูก็ขับซอเกี่ยวกับพิธีในส่วนนี้ กระทั่งใกล้พิธีบายศรีสู่ขวัญจะเริ่มต้น ซึ่งคณะซอจะต้องหยุดการแสดงในช่วงนี้ เจ้าภาพก็นำทิปมาวางให้ช่างฟ้อนฟ้อนแง้นรับทิปไปอย่างยิ้มแย้ม
 
      หลังผ่านพ้นพิธีที่เป็นทางการ ช่วงท้ายของการแสดงเป็นการขับซอแบบสนุก ๆ เกี้ยวกันบ้างระหว่างพ่อครู-แม่ครู โดยปราศจากคำพูดประเภทสองแง่สองง่ามหรือหยาบคาย เมื่อใกล้จบก็ถึงเวลาสรุปความสำคัญของงานและขออภัยผู้ชมหากขับซอออกไปแล้วทำให้ระคายหูไม่ถูกใจ
 
 
     บ่ายแก่ วงสะล้อ ซอ ปิน สิ้นสุดการแสดงไปพักใหญ่แล้ว พ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยทยอยเดินทางกลับ เสียงเพลงแหล่กระหึ่มขึ้นมาจากลำโพงอีกครั้ง ไกลออกไปคือภาพของทุ่งนาแผ่ไพศาล นึกถึงสมัยก่อนที่แม่ครูสมพรเล่าว่าเวลาพ่อครูไชยลังกามาที่หมู่บ้าน หนุ่มสาวทุกคนจะไปออกันต้อนรับและขอฝากตัวเป็นลูกศิษย์ลูกหา พ่อครูก็เอื้อเอ็นดูสอนเพลงซอให้โดยไม่เกี่ยงว่าใครจะอยู่คณะไหน
 
     เวลาล่วงเลยผ่าน หนุ่มสาวในวันนั้นบางคนยังยึดมั่นสิ่งที่พ่อครูเพียรสอน และถ่ายทอดภูมิปัญญาล้ำค่านี้แก่คนรุ่นลูกหลาน วงสะล้อ ซอ ปิน จึงยังคงบรรเลงแว่วหวาน มอบอรรถรสแห่งถ้อยคำที่แสนเอิบอิ่มอยู่ที่ไหนสักแห่งในเมืองน่าน
 
ข้อมูล : วารสารวัฒนธรรม ฉบับที่ ๔ ปี ๒๕๖๐
http://magazine.culture.go.th/2017/4/index.html
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)