กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> เล่าสู่กันฟัง
เล่าสู่กันฟัง...เรื่อง “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” มิใช่ “มรดกโลก”

วันที่ 12 ก.พ. 2563

     เมื่อเอ่ยถึงคำว่า "มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” เชื่อว่าหลายคนคงเคยผ่านหูผ่านตามาบ้าง และบางคนก็ยังจำสับสนกับคำว่า "มรดกโลก” ซึ่งอาจเป็นเพราะต่างมีคำว่า "มรดก” อันหมายถึง สมบัติที่ได้รับตกทอดต่อๆกันมายังรุ่นลูกรุ่นหลาน แต่แท้จริงแล้วสองคำนี้มีความหมายที่เหมือนและต่างกันไม่น้อย
 
     เริ่มในส่วนที่เหมือนกันก่อนก็แล้วกัน ทั้งมรดกโลก (World Heritage) และมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ซึ่งบางแห่งจะเรียกว่า มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage –ICH) นั้น ในระดับสากล ต่างมีอนุสัญญาขององค์การยูเนสโกรองรับ เพื่อให้ประเทศสมาชิกที่อยู่ภายใต้อนุสัญญาได้นำไปปฏิบัติ และสามารถไปขึ้นทะเบียนกับยูเนสโกได้ว่า มรดกโลก หรือมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ซึ่งบ้านเราจะเรียกเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมนั้นๆ เป็นสิ่งที่ปรากฏหรือมีอยู่ในประเทศที่ขอขึ้นทะเบียน เสมือนหนึ่งประกาศให้โลกได้รับรู้ว่า พื้นที่นั้น สิ่งนั้น มีประเทศใดเป็นเจ้าของหรือผู้ปฏิบัติ ซึ่งหากใครหรือประเทศอื่นจะนำไปใช้ก็ต้องรับรู้หรือมีความเคารพต่อผู้ถือครอง และควรปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
 
     สำหรับอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกซึ่งมี ๒ ประเภท คือ ทางธรรมชาติและวัฒนธรรมนั้น เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๕ โดยมีวัตถุประสงค์ที่ปกป้องคุ้มครองพื้นที่หรือสถานที่ที่มีความสำคัญ และมีคุณค่าทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์อย่างที่เคยเขียนไว้แล้วในบทความเรื่อง "มรดกโลก คือ อะไร” เพื่อมิให้สิ่งเหล่านี้ถูกทำลายหรือสูญหายไปด้วยภัยสงครามหรือภัยอื่นๆ อย่างไรก็ดี เราจะเห็นว่าอนุสัญญาดังกล่าวเป็นการปกป้องคุ้มครองมรดกโลก ที่เป็นสิ่งที่จับต้องได้และเห็นได้ชัดทางกายภาพ อย่างกำแพงเมืองจีน ซึ่งเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม หรือผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ของไทย ซึ่งเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ต่างก็เป็นสิ่งที่มองเห็นด้วยตัวของมันเอง และไม่เคลื่อนที่ไปไหน แต่ในส่วนของ "มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” หรือ "มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” นั้น จะต่างกัน แต่ก่อนจะพูดถึงความหมายของคำๆนี้ อยากจะพูดถึงแนวคิดที่ทำให้เกิดอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (ICH) ของยูเนสโกเสียก่อน
 
     หลังจากที่มีอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลก ที่มีลักษณะจับต้องมองเห็นได้นั้น ต่อๆมาประเทศสมาชิกขององค์การยูเนสโกจำนวนไม่น้อย ก็เห็นพ้องต้องกันว่า มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ อย่างเช่น ประเพณี พิธีกรรม ความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ฯลฯ ที่มีความผูกพันอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คนในแต่ละพื้นที่ แต่ละประเทศก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ควรค่าแก่การคุ้มครองรักษาไว้เช่นกัน เพราะความรู้หลายๆอย่าง เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ไม่ควรปล่อยให้สูญหายไป โดยเฉพาะในภาวะปัจจุบันที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้าหากไม่ช่วยกันปกป้องรักษาไว้ สิ่งเหล่านี้จะถูกกลืนหายไปอย่างน่าเสียดาย อาทิ พืชยาสมุนไพร การช่างฝีมือ การทำอาหาร เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ อนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ จึงเกิดขึ้น แต่กว่าจะร่างอนุสัญญาฉบับนี้เสร็จ และมีผลบังคับใช้ ก็ราวปีพ.ศ.๒๕๔๙ ห่างจากอนุสัญญามรดกโลกกว่า ๓๐ ปี ทั้งนี้ เพราะมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และบางอย่างก็ค่อนข้างเป็นนามธรรม เห็นได้ยากกว่ามรดกโลกที่มีกายภาพที่ชัดเจน
 
     ในประเทศไทยเรา เรื่อง "มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” หรือที่เราเรียกว่า "มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” แม้จะดูเหมือนเรื่องใหม่ แต่จริงๆแล้ว สิ่งที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้อยู่ในวิถีชีวิตของเรามาโดยตลอดอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้มองเป็นเรื่องเฉพาะเจาะจง แต่เมื่อเป็นเรื่องที่เวทีโลกให้ความสนใจและเป็นประโยชน์ เราจึงได้มีการศึกษาและดำเนินการในเรื่องนี้ จนสามารถออกเป็นพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ.๒๕๕๙ ขึ้น ทั้งนี้ เพื่อรองรับการเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญาดังกล่าว ขณะเดียวกันก็เป็นการปกป้องคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของเราเองไปด้วย
 
     ยูเนสโกได้ให้ความหมายของคำว่า "มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” หมายถึง การปฏิบัติ การเป็นตัวแทน การแสดง ความรู้ทักษะ ตลอดจนเครื่องมือ วัตถุ สิ่งประดิษฐ์ และพื้นที่ทางวัฒนธรรมอันเป็นผลจากสิ่งเหล่านี้ ซึ่งชุมชน กลุ่มชน และในบางกรณีปัจเจกบุคคลยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางวัฒนธรรมของตน
 
     ส่วนพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ให้ความหมายว่า "มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” หมายถึง ความรู้ การแสดงออก การประพฤติปฏิบัติ หรือทักษะทางวัฒนธรรมที่แสดงออกผ่านบุคคล เครื่องมือ หรือวัตถุ ซึ่งบุคคล กลุ่มบุคคล หรือชุมชน ยอมรับและรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน และมีการสืบทอดกันมาจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง โดยอาจมีการปรับเปลี่ยนเพื่อตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมของตน ซึ่งตามพ.ร.บ.ฉบับนี้จะมีอยู่ ๖ ประเภทคือ
     ๑.วรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา
     ๒.ศิลปะการแสดง
     ๓.แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณีและเทศกาล
     ๔.ความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล
     ๕.งานช่างฝีมือดั้งเดิม
     ๖. การเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้าน และศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว
 
     อ่านแล้วไม่ว่าจะเป็นความหมายของยูเนสโกหรือตามพ.ร.บ.คงทำให้หลายคนงง และรู้สึกเข้าใจยาก ทั้งนี้ คงเป็นเพราะมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ค่อนข้างเป็นนามธรรม ที่ว่าจับต้องไม่ได้ ก็มิได้หมายความว่าสัมผัสไม่ได้ เพียงแต่การรับรู้การคงอยู่ของสิ่งเหล่านี้ต้องผ่านการแสดงออกจากสิ่งอื่นๆ เช่น วรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา ต้องแสดงผ่านนิทานหรือตำนานพื้นบ้าน ที่เล่าต่อๆกันมาหรือมีการบันทึกไว้ ความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาลก็แสดงผ่านองค์ความรู้ วิธีการ ทักษะ ความเชื่อที่เกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติเพื่อการดำรงชีวิต อย่างเรื่องอาหาร โภชนาการ การแพทย์แผนไทย เรื่องดาราศาสตร์และโหราศาสตร์ หรืองานช่างฝีมือดั้งเดิม ก็แสดงผ่านผ้า เครื่องปั้นดินเผา เครื่องโลหะ เป็นต้น
 
     วิธีจำง่ายๆว่า "มรดกโลก” ต่างกับ "มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” หรือ "มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” อย่างไร ก็ให้จำเพียงว่า
 
     "มรดกโลก” จะมีสองอย่างคือ ทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ เป็นสิ่งที่อยู่กับที่ ไม่เคลื่อนไปไหน คล้ายๆกับอสังหาริมทรัพย์ อยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่นั่น
 
     ส่วน "มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” หรือ "มรดกทางวัฒนธรรที่จับต้องไม่ได้” จะมีอยู่ ๖ ประเภทข้างต้น ค่อนข้างเป็นนามธรรม จะรับรู้ได้ต้องผ่านสิ่งอื่นๆ เช่น ลวดลายผ้าต้องแสดงผ่านผืนผ้า ศิลปะการแสดงผ่านท่ารำ ดนตรี นอกจากนี้ยังมีถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น พูดง่ายๆว่าคนเป็นผู้ปฏิบัติสืบทอด จึงอาจจะอยู่ที่ใดที่หนึ่ง หรือมีการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานไปยังที่อื่นได้ เช่น ส้มตำ ซึ่งเราทราบว่าเป็นอาหารของคนอีสาน แต่มีปรากฎอยู่แทบทุกภาคของไทย เพราะคนอีสานไปไหน ก็พาเรื่องอาหาร อันเป็นหนึ่งในมรดกภูมิปัญญาของตนไปด้วย หรืออย่างคนจีน คนไทย ไปอยู่ประเทศไหน ก็นำเอาวัฒนธรรมที่เป็นมรดกภูมิปัญญาของตน เช่น พิธีกรรมในประเพณีตรุษจีน สงกรานต์ ไปปฏิบัติด้วย เป็นต้น เท่านี้ คงพอให้ท่านผู้อ่านเห็นถึงความต่างของ มรดกโลก และมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม แล้วกระมัง
 
 
 
น.ส.ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม
 
 
 
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)