ในวันที่ ๒๕ มกราคม นี้จะเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของชาวจีน นั่นคือวันตรุษจีน ซึ่งจะเป็นวันเปลี่ยนปีนักษัตรจากหมู (กุน) เป็นหนู (ชวด) ด้วย จึงอยากนำเรื่อง "หนูๆ” มาเล่าสู่กันฟัง
"หนู” เป็นปีนักษัตรแรกของปี คำว่า นักษัตร อ่านว่า นัก-สัด หมายถึง การนับเวลาโดยกำหนด ๑๒ ปีเป็น ๑ รอบ และใช้สัตว์เป็นเครื่องหมายในแต่ละปี เช่น ชวด-หนู ฉลู-วัว ขาล-เสือ เป็นต้น
การที่หนูได้เป็นปีแรกของปีนักษัตร มีเรื่องเล่าว่า สมัยพระสัมมาสัมพุทธเข้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน บรรดามนุษย์ และสัตว์ต่างก็อยากรีบไปเข้าเฝ้าพระบรมศพ โดยเฉพาะพวกสัตว์ที่มีมากมายพยายามวิ่งไปให้เร็วที่สุด เดิมวัวเป็นสัตว์ตัวแรกที่ไปถึง แต่หนูตัวเล็กและเจ้าเล่ห์กว่าจึงกระโดดเกาะหลังวัวไป ครั้นถึงที่ก็กระโจนข้ามวัวไปเป็นตัวแรก จึงได้รับเกียรติให้เป็นชื่อแรกของปีนักษัตร ส่วนวัวเป็นตัวที่สอง จากนั้นก็เป็นสัตว์อื่นๆ ตามลำดับ เรื่องการใช้สัตว์มาเป็นเครื่องหมายนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่า เพื่อให้ง่ายและสะดวกต่อการจดจำ ประเทศที่ใช้สิบสองนักษัตรส่วนใหญ่อยู่ในแถบเอเซีย นอกจากไทยแล้วก็ยังมี จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และลาว เป็นต้น
ในการเปลี่ยนปีนักษัตรหลังๆ มานี้ เรามักจะได้ยินคนเรียกปีนั้นๆ ว่าปีมังกรทองบ้าง ปีไก่ทองบ้าง หมูทองบ้าง ซึ่งแท้จริงแล้ว แต่ละปีนักษัตรจะมิใช่ธาตุทองเสมอไป เพราะทางโหราศาสตร์จีนถือว่าโลกประกอบด้วย ๕ ธาตุ คือ ดิน ทอง น้ำ ไม้ และไฟ และได้กำหนดให้นักษัตรต่างๆ มีธาตุประจำปีที่ต่างกันออกไปตามแต่ละรอบ เช่น ปีหนู พ.ศ.๒๔๙๑ เป็นปีหนูธาตุดิน / ปีพ.ศ.๒๕๐๓ เป็นหนูธาตุทอง / ปีพ.ศ.๒๕๑๕ เป็นหนูธาตุน้ำ / ปีพ.ศ.๒๕๒๗ เป็นหนูธาตุไม้ / ปีพ.ศ.๒๕๓๙ เป็นหนูธาตุไฟ และพอปีพ.ศ. ๒๕๕๑ ก็จะย้อนกลับมาเป็นปีหนูธาตุไม้อีกครั้ง นั่นคือ กว่าจะย้อนมาถึงปีนักษัตรเดิมและธาตุเดิมต้องใช้ระยะเวลาถึง ๖๐ ปี (๑๒ ปีกลับมาปีหนู และอีก ๕ ปีวนมาสู่ธาตุเดิม เท่ากับ ๑๒x๕ = ๖๐) ดังนั้น ถ้านับตามนี้ ปีพ.ศ. ๒๕๖๓ จึงกลับมาเป็น ปีหนูธาตุทอง หรือ ปีหนูทอง อีกหน ในจำนวนสัตว์ทั้งสิบสองตัวนี้ "หนู” ถือว่าเป็นสัตว์สี่เท้าที่ตัวเล็กที่สุดในรอบปีนักษัตร เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีอยู่หลายชนิด แม้หนูจะเป็นศัตรูที่ทำความเสียหายให้กับมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่ขณะเดียวกันหนูก็มีประโยชน์ไม่น้อย ไม่ว่าจะใช้เป็นอาหาร หรือเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้าน โดยเฉพาะมันเป็นสัตว์ทดลองยาก่อนที่นำมาใช้กับคน เพราะคนและหนูต่างมีลักษณะโครงสร้างทางพันธุกรรมคล้ายคลึงกัน ถ้ายารักษาหนูได้ ก็จะใช้กับคนได้เช่นเดียวกัน เขาบอกว่าสมัยก่อนชาวเรือมักนิยมเลี้ยงหนูไว้เฝ้าดูเรือเวลารั่ว เพราะเมื่อน้ำเข้าเรือ หนูจะมีวิ่งพล่านไปมาและผละหนีก่อนเรือล่ม ทำให้ชาวเรือระวังได้ทัน ความที่หนูเป็นสัตว์ตัวเล็ก และฉลาด มันจึงปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ทุกที่ เราจึงพบเห็นอยู่ทั่วไปในโลก ไม่ว่าจะเป็นป่าเขตร้อน ทะเลทราย ภูเขา ใต้ดินหรือห้วยหนองคลองบึงทั่วไป เมื่อมีอันตราย หนูจะส่งเสียงดังเพื่อเตือนภัย หรือถ้าเจอแหล่งอาหารมันก็จะส่งเสียงเรียกเพื่อนฝูงของมันให้มากินด้วย เขาบอกว่าฟันคู่หน้าของหนูจะงอกมาเรื่อยๆ ตลอดชีวิต มันจึงต้องแทะของเพื่อลับฟันตลอดเวลา หากไม่แทะ ฟันมันจะงอกไปเรื่อยๆ จนกินอาหารไม่ได้และตายไปในที่สุด หนูเป็นสัตว์ลูกดก ตัวเมียบางพันธุ์อายุแค่ ๖ สัปดาห์ก็สามารถมีลูกได้แล้ว และใน ๑ ปีอาจจะตกลูกได้มากกว่า ๑๐ ครอก ครอกละ ๕-๗ ตัว ดังนั้น หากหนูคู่หนึ่งออกลูกออกหลานไปเรื่อยๆ จะมีลูกถึง ๑,๒๕๐ ตัวต่อคู่
ในพจนานุกรม คำว่า "หนู” นอกจากจะหมายถึงสัตว์อย่างที่กล่าวข้างต้นแล้ว ในภาษาพูดยังหมายถึง คำแทนตัวที่ผู้น้อยใช้พูดกับผู้ใหญ่ เช่น หนูอย่างโน้น หนูอย่างนี้ หรือในทางกลับกัน ก็เป็นคำที่ผู้ใหญ่ใช้เรียกผู้น้อย หรือเป็นคำที่เรียกเด็กๆ ด้วยความเอ็นดู เช่น หนูองุ่น หนูขนม หรือจะเป็นคำที่หมายถึงของเล็กๆ ก็ได้ เช่น กุหลาบหนู พริกขี้หนู เป็นต้น นอกจากนี้ "ฟันหนู” ยังเป็นชื่อเครื่องหมายสองขีดในภาษาไทย มีรูปร่างดังนี้ " ใช้สำหรับเขียนบนสระอิ ให้เป็นสระอือ และสำนวนไทยก็มีหลายสำนวนที่ใช้หนูเป็นคำเปรียบเปรย ได้แก่ หนูตกถังข้าวสาร หมายถึง ผู้ชายที่ฐานะไม่ค่อยดีได้แต่งงานกับผู้หญิงที่ร่ำรวย เอาเนื้อหนูไปปะเนื้อช้าง หมายถึง เอาทรัพย์สิ่งของจากคนที่มีน้อยไปให้คนมีมากกว่า เล็กพริกขี้หนู หมายถึง ตัวเล็กแต่มีพิษสงมาก เป็นสำนวนที่มาจากการเปรียบพริกขี้หนูที่มีขนาดเล็กกว่าพริกอื่น แต่รสเผ็ดจัดที่สุด แมวไม่อยู่ หนูร่าเริง หมายถึง เจ้านายหรือพ่อแม่ไม่อยู่ ไม่มีใครจับตามอง ลูกน้องหรือลูกๆ ก็เลยสบายใจ ทำอะไรได้ตามใจชอบ
สำหรับความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับ "หนู” จะมีทั้งเรื่อง หนูกัดผ้า กัดส่วนต่างๆ ของร่างกาย และเสียงหนูร้อง โดยจะมีคำทำนายตามตำราโบราณอธิบายไว้ เช่น ถ้าหนูกัดผ้ารอยเหมือนพระจันทร์ จะได้ลาภได้เงินทอง ถ้ากัดเป็นรูปต้นไม้หรือดอกบัว จะได้ลาภมีความสุขเกษมเย็นใจ แต่ถ้ากัดคนโดยกัดที่ผมหรือหัว บิดามารดาจะตาย ส่วนเสียงหนูร้องจะบอกเหตุได้ว่า ถ้าร้อง "จก จก” จะได้ลาภ ร้อง "ขิกๆ ขุกๆ” ไม่ดีจะเกิดอันตราย ถ้าร้อง "จิด จิด” จะได้ข้าวปลาอาหาร ร้อง "สุด สุด” ให้ระวังจะถูกใส่ความ ที่ว่านี้เป็นเรื่องความเชื่อ ซึ่งหลายคนก็คงสงสัย ฟังเสียงหนูเป็น จกๆ ขิกๆ ได้อย่างไร เพราะฟังทีไร ก็มักเป็นเสียง จี๊ดๆ ทุกที แต่คนโบราณท่านก็ช่างสังเกตและคงเก็บเป็นสถิติเอาไว้ ส่วนสมัยนี้ใครจะเชื่อไม่เชื่อ ก็แล้วแต่วิจารณญาณ และในทางศาสนาพราหมณ์ หรือฮินดูยังถือว่า "หนู” เป็นพาหนะของพระพิฆเนศ เทพแห่งศิลปะทั้งปวงอีกด้วย โดยมีเรื่องเล่าว่า มี "กาจามุกะ” ปีศาจคชสารมาอาละวาด ท่านเลยไปปราบ ปีศาจสู้ไม่ได้แปลงกายเป็นหนูยักษ์ แต่ท่านจับได้เลยกลายมาเป็นพาหนะของท่านในที่สุด ทั้งหมดคือเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับ "หนูที่นำมาเล่าสู่กันฟัง
..............................................
นางสาวทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม