หัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา
วันมาฆบูชา นอกจากจะเป็นวันที่สำคัญของพระพุทธศาสนาแล้ว ยังเป็นวันที่มีเหตุการณ์สำคัญยิ่งที่ชาวพุทธควรศึกษาและทำความเข้าใจ ให้กระจ่างชัด นำไปใช้เป็นหลักชัยในการดำเนินชีวิตให้เกิดความสุข ในฐานะพุทธบริษัทที่รู้แจ้งและเห็นจริง
พระพุทธองค์ได้ทรงแสดง โอวาทปาฏิโมกข์ ที่ถือเป็นหลักธรรมสำคัญยิ่งให้แก่พระภิกษุ ที่มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ๑๒๕๐ รูป ในวันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ หลังจากพระพุทธองค์ตรัสรู้แล้ว ๙ เดือน ในวันนี้ พระองค์ทรงแสดงธรรมปาติโมกข์ ให้ภิกษุได้ยึดเป็นหลักปฏิบัติเพื่อให้หลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์ ไว้ ๓ หลักธรรม อันเป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา ประกอบด้วย หลักการ ๓ อุดมการณ์ ๔ และวิธีการ ๖ หลักธรรมที่ทรงแสดงได้แก่
หลักการ ๓ หรือหลักคำสอนที่ควรปฏิบัติ ประกอบด้วย ๑)การไม่ทำบาปทั้งปวง คือ ลด ละ เลิก ทำบาปทั้งปวง อันได้แก่ อกุศลกรรมบถ ๑๐ ประกอบด้วย ความชั่วทางกาย คือ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม ในทางวาจา คือการพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ และในทางใจ คือ การอยากได้สมบัติของผู้อื่น การผูกพยาบาท และความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม ๒)การทำกุศลให้ถึงพร้อม คือ การทำความดีทุกอย่างตามกุศลกรรมบถ ๑๐ ทั้งความดีทางกาย ทางวาจา และความดีทางใจ ซึ่งหมายถึงการละเว้นหรือการไม่ทำอกุศลกรรมบถ ทั้ง ๑๐ ข้อ นั่นเอง ๓)ทำจิตใจให้ผ่องใส คือ ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ หลุดจากกิเลสตัณหาที่คอยขัดขวางจิตใจไม่ให้เข้าถึงความสงบ ได้แก่ ความพอใจในกาม ความพยาบาท ความหดหู่ท้อแท้ ความฟุ้งซ่าน และความลังเลสงสัย
อุดมการณ์ ๔ ประกอบด้วย ๑)ความอดทน อดกลั้น คือ ไม่ทำบาปทั้งกาย วาจา ใจ ๒)ความไม่เบียดเบียน คือ งดเว้นจากการทำร้าย หรือเบียดเบียนผู้อื่น ๓)ความสงบ ได้แก่ การปฏิบัติตนให้สงบทั้งทางกาย วาจา ใจ ๔.นิพพาน ได้แก่ การดับทุกข์ อันเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา
และวิธีการ ๖ ได้แก่ ๑)ไม่ว่าร้าย ไม่กล่าวให้ร้าย โจมตีใคร ๒)ไม่ทำร้าย ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ๓)สำรวมในปาฏิโมกข์ คือ เคารพระเบียบวินัย กฎกติกา รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของสังคม ๔)รู้จักประมาณ คือ รู้จักความพอดีในการบริโภคสิ่งต่างๆ ๕)อยู่ในสถานที่สงัด คือ การอยู่ในสถานที่ที่มีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม และ ๖)ฝึกหัดจิตใจให้สงบ หัดชำระจิตใจให้เกิดความสงบ มีสมาธิอยู่กับปัจจุบัน
ถ้าเราชาวพุทธสามารถนำธรรมะหรือคำสอนของพระพุทธองค์ "ปาฏิโมกข์” ที่แสดงในวันมาฆบูชานี้ ไปใช้เป็นแนวทาง เป็นหลักในการดำเนินชีวิต มั่นใจได้ว่าจะเป็นหนทาง เป็นหลักชัยที่จะนำพาชีวิตของผู้ที่นำไปปฏิบัติจะพบกับความสุข ความเจริญ หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง เข้าถึงซึ่งนิพพานอันคือเป้าหมายสูงสุดของพุทธศาสนา
ข้อมูล : เว็บไซต์กรมการศาสนา / เว็บไซต์ธรรมะไทย / เว็บไซต์ธรรมจักร