กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วัฒนธรรมประเพณี
หอศิลป์เอมเจริญ รุ้งทองแห่งงานศิลป์อันทรงพลังบนผืนผ้าใบ

วันที่ 30 ม.ค. 2563
 
เรื่อง/ภาพ : ศรีศิลป์ เอมเจริญ
 
หอศิลป์เอมเจริญ รุ้งทองแห่งงานศิลป์อันทรงพลังบนผืนผ้าใบ
 
 
 
     ณ โค้งแม่น้ำแม่กลอง บนเนื้อที่กว่า ๘ ไร่ เป็นที่ตั้งของหอศิลป์เอมเจริญ แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมล้ำค่าแห่งงานศิลป์ จังหวัดกาญจนบุรี
 
     หอศิลป์เอมเจริญ เป็นเจตนารมณ์สูงสุดในชีวิตของอาจารย์ "ประเทือง เอมเจริญ” ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ผู้อุทิศชีวิตให้กับงานจิตรกรรมจนเป็นที่ประจักษ์ ท่านได้รับรางวัลมากมายทั้งในและต่างประเทศ อาทิ ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิติมศักดิ์ สาขาศิลปกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ประกาศเกียรติคุณด้านจิตรกรรม จากพิพิธภัณฑ์ลาสเวกัส ประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนั้นท่านยังเป็นผู้ถ่ายทอดงานศิลปะให้แก่ผู้สนใจตามโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ทั้งยังได้เขียนภาพเพื่อการกุศลมากมายควบคู่ไปกับการทำงานศิลปะ
 
     ศิลปินผู้ยิ่งยง ผู้เชื่อในคุณงามความดีและเข้าใจปรัชญาชีวิต ได้ถ่ายทอดผลงานของท่านออกมาอย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ด้วยปลายพู่กันที่พลิ้วไหว เฉียบคม สีสันเข้มสด ที่ผสมผสานกันอย่างลงตัว มีความหมายและทรงพลัง สะท้อนถึงจักรวาล ธรรมชาติ และชีวิต กลายมาเป็นผลงานชุดต่างๆ อันมีคุณค่ายิ่ง อาทิ ชุดเผชิญความทุกข์ เรียนรู้จักรวาล ฯลฯ
 
     ด้วยเจตนารมณ์อันแน่วแน่ ที่ต้องการให้ศิลปะดำรงอยู่สืบไป ท่านจึงต้องการสร้างสถานที่เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และเผยแพร่ผลงานศิลปะทั้งของตนเองและของศิลปินต่างๆ ผลงานทุกชิ้นที่จัดแสดงอยู่ภายในหอศิลป์แห่งนี้ล้วนมีคุณค่าและสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินรุ่นใหม่ เป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นหลังได้สืบทอดงานศิลปะ อีกทั้งเป็นสถานที่ปลูกฝังรสนิยมทางศิลปะให้กับเด็กและเยาวชน รวมถึงประชาชนผู้สนใจได้เข้าชมและศึกษางานด้านศิลปะ โดยมีกิจกรรมมากมายให้สามารถเข้ามาเรียนรู้การทำงานจิตรกรรมและงานหัตถกรรมอันหลากหลาย ท่ามกลางบรรยายกาศท้องทุ่งอันเงียบสงบ ริมแม่น้ำแม่กลอง อาทิ การระบายสีเบญจรงค์ การเพนต์ขวดแก้ว เพนต์เสื้อ ด้วยสีอะคริลิก งานดอกไม้ใบตองพวงมาลัย งานจักสาน การทอผ้ากะเหรี่ยงด้วยกี่เอว การปักผ้าไทยทรงดำบ้านหมอสอ เป็นต้น
 
     การก่อตั้งหอศิลป์เอมเจริญ
     ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ อาจารย์ประเทือง เอมเจริญ ได้ตอบรับการเชื้อเชิญเพื่อไปวาดรูปที่รีสอร์ตชลพฤกษ์ (เป็นรีสอร์ตส่วนตัว) ในเทศบาลตำบลสำรอง อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ด้วยคำบอกเล่าว่าที่นี่สงบเงียบและสวยงาม เมื่อมาอยู่แล้วอาจารย์ประเทืองรู้สึกประทับใจในความเงียบสงบ ความงามของทิวทัศน์ที่มองเห็นได้ทั้งภูเขาและแม่น้ำ อีกทั้งยังชื่นชอบในน้ำใจของผู้คนชาวตลาดสำรอง จึงมีความใฝ่ฝันที่อยากมีที่ดินผืนติดริมแม่น้ำเพื่อจะสร้างสตูดิโอเล็กๆ ไว้สำหรับวาดภาพ เพราะนอกจากชอบในสถานที่แล้ว การเดินทางมาที่ตำบลสำรองนี้ก็ไม่ได้ไกลจนเกินไป ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ เพียงแค่สองชั่วโมง ประจวบเหมาะกับที่เวลานั้นภรรยาเพิ่งได้รับเงินมรดกจากการขายที่ดิน และชาวบ้านได้ทราบว่าอาจารย์ประเทืองอยากได้ที่ดินเพื่อสร้างสตูดิโอวาดภาพจึงแบ่งที่ดินขายให้ นับว่าเป็นการซื้อที่ดินครั้งที่หนึ่งจากห้าครั้ง (ที่ซื้อเพิ่มในภายหลัง) ที่ดินแปลงแรกนี้มีรูปร่างเป็นตัวแอล โดยมีจุดเด่นคือด้านหน้าติดกับแม่น้ำแม่กลอง สามารถมองเห็นอาทิตย์อัสดง โค้งแม่น้ำแม่กลองที่รับกับทิวเขาไกลๆ สวยงามมาก
 
     ในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ เมื่อได้ที่ดินแล้ว จึงเริ่มสร้างสตูดิโอวาดภาพหลังเล็กๆ ไว้สองหลังใกล้กัน หลังหนึ่งสำหรับตัวอาจารย์ประเทือง และอีกหลังสำหรับลูกศิษย์ จากนั้นความฝันของศิลปินก็เริ่มใหญ่ขึ้นคือ ต้องการสร้างหอศิลป์ไว้เป็นสถานที่เก็บและจัดแสดงผลงานศิลปะของตนเอง ที่ได้สร้างสรรค์มาตลอดชีวิตซึ่งมีจำนวนค่อนข้างเยอะ และหลายชิ้นมีขนาดใหญ่มาก อีกทั้งยังเป็นผลงานชิ้นสำคัญๆ เช่น ภาพผลงานชื่อ ธรรม อธรรม เป็นผลงานสำคัญที่สะท้อนชีวิตและการเมืองในเหตุการณ์วันมหาวิปโยค ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ ปีที่สร้างคือปี พ.ศ. ๒๕๑๗–๒๕๑๘ ขนาดของงาน ๑๕๐x๕๙๐ ซม. ภาพผลงานแกรนด์แคนยอน ขนาดของงาน ๑๕๐x๑๒๐๐ ซม. ภาพทะเลเดนมาร์ก ขนาดของงาน ๑๕๐x๕๐๐ ซม. เป็นต้น
 
 
     ปี พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้เริ่มสร้างอาคารหลังแรกแต่สร้างได้เพียงครึ่งเดียวก็ต้องหยุดเพราะไม่มีเงินที่จะทำต่อ อีกครึ่งปีต่อมาจึงได้สร้างต่อจนเสร็จ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ อาจารย์ประเทืองได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ และมีความตั้งใจที่จะทำพิธีเปิดหอศิลป์เอมเจริญอย่างเป็นทางการ และเพื่อให้หอศิลป์มีพื้นที่และดูสมบูรณ์ จึงได้สร้างอาคารเพิ่มสำหรับศิลปินหรือผู้ที่ทำงานศิลปะ ที่มีความสนใจหรือต้องการพื้นที่สำหรับแสดงออก รวมทั้งสร้างอาคารไว้เป็นแกลเลอรีชอป (ภายหลังถูกปรับเป็นสตูดิโอวาดรูปของบุตรสาวทั้งสอง คือ ศรีศิลป์ เอมเจริญ และศุภฤดี มณีจันทร์)
 
     ในการสร้างหอศิลป์อาจารย์ประเทืองได้ใช้ทุนของตัวเองทั้งหมด ท่านจึงตัดสินใจประกาศขายงานในราคาเพียงครึ่งเดียวภายในระยะเวลา ๑ เดือนเพื่อรวบรวมให้ได้เงินก้อน สำหรับซื้อที่ดินเพิ่มและเป็นค่าก่อสร้าง รวมถึงเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการดูแลหอศิลป์
 
     ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ มีพิธีเปิดบ้านศิลปินแห่งชาติโดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม และพิธีเปิดหอศิลป์เอมเจริญอย่างเป็นทางการ หอศิลป์เอมเจริญตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ ๘ ไร่ มีอาคาร ๔ หลัง ประกอบด้วย
 
     • อาคารวงกลม เป็นอาคารสำหรับจัดแสดงผลงานถาวร เป็นผลงานจิตรกรรมสีน้ำมันและผลงานวาดเส้น ของอาจารย์ประเทือง เอมเจริญ โดยผลงานที่ติดตั้งได้ถูกเรียงเป็น ๗ ยุค ตั้งแต่ที่เริ่มสร้างสรรค์ผลงานคือปี พ.ศ. ๒๕๐๖–๒๕๕๐ มีผลงานชิ้นสำคัญที่จะติดตั้งถาวร ได้แก่ภาพธรรม ในชุดจักรวาล พ.ศ. ๒๕๑๓ ภาพธรรม อธรรม พ.ศ. ๒๕๑๗–๒๕๑๘ ภาพพระพุทธเจ้าบำเพ็ญทุกรกิริยา พ.ศ. ๒๕๑๙ และภาพสมาธิ พ.ศ. ๒๕๒๖ ซึ่งภาพทั้ง ๔ ชิ้นนี้อาจารย์ประเทืองมีความประสงค์ที่จะไม่จำหน่าย
 
     • อาคารสามเหลี่ยม เป็นอาคารสำหรับจัดแสดงผลงานหมุนเวียนสำหรับศิลปินที่สนใจ ในปัจจุบันแสดงผลงานของอาจารย์บุญยิ่ง เอมเจริญ ศรีศิลป์ เอมเจริญ ศุภฤดี มณีจันทร์
 
     • อาคารริมน้ำ ซึ่งวัตถุประสงค์แรกคือเป็นแกลเลอรีชอปด้านหลังและดาดฟ้าของอาคารเป็นจุดชมวิว จะเห็นภูมิทัศน์ที่สวยงามของแม่น้ำแม่กลอง ปัจจุบันด้านในเป็นสตูดิโอสำหรับวาดภาพ
 
     • บ้านสีดำ แต่เดิมเป็นสตูดิโอวาดภาพของอาจารย์ประเทือง เอมเจริญ ภายหลังเปลี่ยนเป็นบ้านพักจึงไม่อนุญาตให้เข้าชม
 
     • ประติมากรรมเมล็ดข้าวสีรุ้ง เป็นประติมากรรมที่ออกแบบโดยอาจารย์ประเทือง เอมเจริญ สื่อความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์และความสำคัญของเมล็ดข้าวที่หล่อเลี้ยงมวลมนุษยชาติ ใช้สีรุ้งเพื่อแทนสีสันจากสายรุ้งและสีของธรรมชาติ
 
     ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ อาจารย์ประเทืองได้อุทิศตัวให้กับการศึกษาธรรมชาติ เริ่มต้นการฝึกฝนด้วยการเพ่งมองดวงอาทิตย์ตั้งแต่ยามรุ่งอรุณเป็นเวลาสามถึงสี่ชั่วโมง จึงสามารถเพ่งมองดวงอาทิตย์ได้แม้เวลาเที่ยงวัน ในการเพ่งมองดวงอาทิตย์ทำให้ได้แรงบันดาลใจในเรื่องสีสัน แสงสีรุ้ง แสงเงินแสงทองสีของดอกไม้ ใบไม้ สีของแร่ธาตุในดิน ฯลฯ สีทุกสีมีความสัมพันธ์กันอย่างมีเอกภาพ และเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างงาน ภาพธรรมเป็นผลงานในชุดจักรวาล ภาพมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและส่งอิทธิพลต่อศิลปินรุ่นหลังเป็นอย่างมาก เสน่ห์ของงานชิ้นนี้อยู่ที่การใช้พู่กันขนาดเล็ก บรรจงเขียนเป็นเส้นเล็กๆ ทำให้ภาพมีความละเอียด ละเมียดละไม
 
 
     สัญลักษณ์ของดวงตะวันหรือวงกลมจะปรากฏในภาพเกือบทุกชิ้นของอาจารย์ประเทือง จนมีคำกล่าวแบบติดตลกว่า "รูปพระอาทิตย์นี่พี่เทืองเค้าสัมปทานไปแล้ว พอใครเขียนก็เป็นพี่เทืองหมด” นอกจากที่อาจารย์ประเทืองจะได้แรงบันดาลใจจากดวงอาทิตย์ ยังศึกษาเรื่องธรรมะอย่างลึกซึ้ง ทำให้ผลงานออกมาในลักษณะสะท้อนธรรมะและธรรมชาติเสมอ อาจารย์ประเทืองได้เขียนบทกวีบทหนึ่งว่า
 
     วงกลมในอดีตคือ การเวียนว่ายตายเกิด
     วงกลมในปัจจุบันคือ ดวงปัญญาเรืองโรจน์
     วงกลมในอนาคตคือ ความว่างเปล่า
 
     และอีกบทคือ
 
     จงทำความว่างเปล่าให้เป็นความหวัง
 
     และทำความสำเร็จให้เป็นความว่าง
 
     สัมผัสพลังศิลป์อันยิ่งใหญ่ของ อ.ประเทือง เอมเจริญ ได้ที่ หอศิลป์เอมเจริญ เลขที่ ๒๕/๓ หมู่ ๓ ตำบลสำรอง อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ท่ามกลางบรรยากาศธรรมชาติของสายน้ำแม่กลอง เปิดทำการวันจันทร์ และวันพฤหัส–อาทิตย์ เวลา ๐๙.๐๐–๑๗.๐๐ น. โทร. ๐๖ ๔๖๒๔ ๕๖๑๕ (คุณน้ำ) ค่าเข้าชม คนไทย ๓๐ บาท ชาวต่างชาติ ๕๐ บาท นักเรียน–นักศึกษาเข้าชมฟรี เมื่อแสดงบัตรประจำตัว
 
 
ข้อมูล : วารสารวัฒนธรรม ฉบับที่ ๑ ปี ๒๕๖๒
http://magazine.culture.go.th/2019/1/index.html
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)