เรื่อง : ดร.ประเสริฐ ตระการศุภกร
คึ-ฉื่ย ไร่หมุนเวียน
เกษตรนิเวศสังคม วิถีคนกะเหรี่ยง

กลุ่มชาติพันธุ์ กะเหรี่ยง ในประเทศไทย จำแนกออกได้เป็น ๒ กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มสะกอ หรือ ปกาเกอะญอ และ กลุ่มโปว หรือ โพล่ง คนกะเหรี่ยงอาศัยอยู่ระหว่างไทยและพม่ามายาวนานหลายพันปี พอมีการประกาศเป็นรัฐชาติ คนกะเหรี่ยงจึงถูกแบ่งแยกออกมาเป็นกะเหรี่ยงไทย และ กะเหรี่ยงพม่า พอนานวันเข้า วัฒนธรรมในการดำเนินชีวิตของกะเหรี่ยงพม่า และ กะเหรี่ยงไทย จึงมีความแตกต่างกัน รวมทั้งพวกที่ไม่อยู่ใกล้ทั้งไทยทั้งพม่า ก็มีความแตกต่างกันเข้าไปอีก วัฒนธรรมในการดำเนินชีวิตของกะเหรี่ยงจึงมีความแตกต่างหลากหลาย แต่ทั้งหมดนี้มีอยู่อย่างหนึ่งที่มีความใกล้เคียงกัน นั่นคือ วัฒนธรรมการอยู่อาศัยกับธรรมชาติป่าเขา ซึ่งชาวกะเหรี่ยงได้ชื่อเลื่องลือว่า สามารถอยูกับป่าได้อย่างยั่งยืน สมดุลด้วยวิถีอย่างที่ภาษากะเหรี่ยง สะกอเรียกว่า คึ-ฉื่ย หรือ ไร่หมุนเวียน นั้นเอง
คึ-ฉื่ย (ไร่หมุนเวียน) คืออะไร
ไร่หมุนเวียนเป็นระบบเกษตรที่เก่าแก่ที่มีอายุนานหมื่นปีก่อนคริสตกาล ปัจจุบันมีผู้ทำเกษตรระบบนี้ ไม่น้อยกว่า ๕๐๐ ล้านคนทั่วโลก เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ไม่น้อยกว่า ๓,๐๐๐ กลุ่มและพื้นที่คิดเป็น ๓๐ % ของพื้นที่เกษตรทั่วโลก การทำความเข้าใจกับวิถีชีวิตกะเหรี่ยงนั้น จำเป็นต้องทำความเข้าใจเรื่องการเพาะปลูก คึ-ฉื่ย (แบบไร่หมุนเวียน) ของชาวกะเหรี่ยง อย่างไรก็ตามการทำ คึ-ฉื่ย นี้ได้ข้อถกเถียงระหว่างรัฐกับชาวกะเหรี่ยงเพราะรัฐมองว่าการทำ คึ-ฉื่ย เป็นการทำลายป่า แต่คนกะเหรี่ยงอธิบายว่า การทำ คึ-ฉื่ย เป็นการเกษตรกรรมที่สอดคล้องกับการดำรงอยู่ของป่า ทำให้ป่ากลับฟื้นคืนมาได้และเป็นระบบเกษตรกรรมที่ทำให้ชุมชนพึ่งตนเอง เพราะในการผลิตเน้นการบริโภคเป็นหลักแบบเศรษฐกิจพอเพียง มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ซึ่งในปัจจุบันนักวิชาการในสาขาที่เกี่ยวข้อง เช่น เกษตรศาสตร์ วนศาสตร์ นิเวศวิทยาและมานุษยวิทยานิเวศ ต่างก็ยอมรับในความสำคัญ ในเชิงนิเวศของระบบ คึ-ฉื่ย หรือการทำเกษตรแบบไร่หมุนเวียน
งานศึกษาไร่หมุนเวียนตามแนวทางสายนิเวศวิทยามนุษย์ (human ecology) ในยุคต้นๆ ที่สำคัญในเมืองไทย คือ Farmers in the Forest: Economic Development and Marginal Agriculture in Northern Thailand, (Peter Kunstadter, E.C. Chapman, Sanga Sabhasri edited, 1978) ซึ่งเป็นการร่วมทำวิจัยระหว่างนักสังคมศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์ ในการศึกษาเกษตรกรรมบนพื้นที่สูง โดยพยายามชี้ให้เห็นถึงความหลากหลายของระบบการทำไร่หมุนเวียนในภาคเหนือของคนไทย ซึ่งไม่ใช่ระบบเกษตรที่จำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงเท่านั้น แต่คนชนพื้นราบเองก็มีส่วนสำคัญในการ ทำไร่ระบบนี้ ซึ่งจำแนกระบบการทำไร่หมุนเวียนในภาคเหนือขณะนั้นออกเป็น ๔ ระบบด้วยกัน คือ
๑. ระบบที่ทำการเกษตรซ้ำพื้นที่ในระยะสั้นและทิ้งให้ไร่ฟื้นตัวในระยะสั้น (คนชนพื้นราบหรือคนเมืองที่เรียกกัน)
๒. ระบบที่ทำการเกษตรซ้ำพื้นที่ในระยะสั้นและทิ้งให้ไร่ฟื้นตัวในระยะยาว (ลัวะและกะเหรี่ยง) ระบบนี้คนกะเหรี่ยงเรียกว่า คึ-ฉื่ย หรือไร่หมุนเวียนที่เราพูดถึงเป็นระบบที่ ๒ ซึ่งเป็นระบบที่มีการทำการเกษตรทำซ้ำในระยะสั้นหนึ่งปีและทิ้งให้ไร่ฟื้นตัวในระยะยาวราว ๗-๑๐ ปี กลุ่มชาติพันธุ์ที่ทำเกษตรระบบนี้ คือ ลัวะและกะเหรี่ยงและเป็นระบบที่ค้นพบจากงานวิจัยทั้งชาวต่างประเทศและชาวไทยว่าเป็นระบบสร้างเสถียรภาพให้กับระบบนิเวศตลอดมา
๓. ระบบที่ทำการเกษตรซ้ำพื้นที่ในระยะยาวและทิ้งให้ไร่ฟื้นตัวในระยะยาว (ม้ง เมี่ยน ลาหู่ อาข่า ลีซู เป็นต้น เคยทำกินใช้ระบบนี้มาก่อนหน้านั้นแต่ปัจจุบันถูกทำไห้เป็นไร่ถาวรไปหมดแล้ว)
๔. สวนไม้ยืนต้นถาวร/สวนเมี่ยง ปัจจุบันเรียกว่า ระบบวนเกษตร (คนเมืองและไม่จำกัดกลุ่มชาติพันธุ์) ข้อค้นพบที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งของงานศึกษา Farmers in the Forest มาจากงานศึกษาวิทยาศาสตร์กายภาพ ของ สง่า สรรพศรี และคณะ เรื่องการจัดการดินในไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงและลัวะ ซึ่งพบว่าหากรักษารอบการหมุนเวียนไว้ได้ระหว่าง ๗-๑๒ ปี ธาตุอาหารในดินจะคืนความสมบูรณ์เต็มที่ ให้ผลผลิตที่ดี งานศึกษานี้ยังชี้ให้เห็นถึงบทบาทของทรัพยากรในป่าและพื้นที่เกษตรอื่นๆ เช่น นาและสวน ในการผลิตอาหาร ให้กับครัวเรือนที่ทำการผลิตแบบไร่หมุนเวียน
งานวิจัยให้ความหมายกับระบบ คึ-ฉื่ย เป็นระบบเกษตรนิเวศสังคม (ตามศาสตร์พระราชา) ที่เป็นระบบผสมผสานระหว่างการเกษตรและป่าไม้โดยมีพลวัตรของการจัดการและการปรับตัวอย่างต่อเนื่องกับเงื่อนไขระบบนิเวศ โดยการเปลี่ยนพื้นที่ ฉื่ย (hsgif) (ไร่เหล่า) ให้เป็นพื้นที่ คึ (Quv) ด้วยการฟันไร่ และทำการเพาะปลูก ๑ ปี และทิ้งพื้นที่ให้พักฟื้นเป็นพื้นที่ ฉื่ยในระยะที่เหมาะสม มีการพักดินอย่างเป็นระบบเพื่อรักษาดุลยภาพดิน น้ำ ป่า เพื่อสามารถทำกินได้ต่อเนื่องและครบวงจรของ คึ-ฉื่ย นอกจากนั้น คึ-ฉื่ย ยังเป็นระบบเกษตรที่ผสมผสานกับระบบเกษตรรูปแบบอื่นๆ เช่น นา สวน เกษตรป่า (ป่าเมี่ยง)การเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ ระบบนี้ ให้ความสำคัญหลักในการผลิตแบบพี่งพาตนเองและสืบทอดความหลากหลายของพันธุ์พืชราว ๒๐๗ ชนิด (อานันท์ฯ ๒๕๔๖) เป็นแหล่งอาหารหรือความมั่นคงทางอาหารและการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพทั้งจากใน คึ ไร่ปีที่ทำกินและใน ฉื่ย ไร่ฟื้นตัว เป็นสำคัญ
คึ-ฉื่ย กระบวนการตามวิถีธรรมชาติ
คำถามที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ในกระบวนการทำไร่หมุนเวียนคือ การตัด ฟัน โค่นและเผา ซึ่งบางคนเรียกระบบนี้ว่า Slash and Burn โดยเน้นกิจกรรมเชิงเทคนิคในขั้นตอนของการเตรียมพื้นที่โดยผ่านการตัดฟันและเผา ไม่ได้มองไร่หมุนเวียนเป็นองค์รวมซึ่งมีกระบวนการปฏิบัติการทั้งระบบ ฤดูการผลิตไร่หมุนเวียนเริ่มต้นในเดือนเตอะเล (ปลายเดือนมกราคม) โดยผ่าน พิธีมัดมือปีใหม่ (หนี่ซอโข่) ของชุมชน การเตรียมพื้นที่ปลูกข้าวในไร่หมุนเวียนเริ่มต้นด้วยการถางไร่ในเดือน ทีแพะ (เดือนกุมภาพันธ์) แปลว่าเดือนการถางไร่ ที่เลือกเดือนนี้ชาวไร่หมุนเวียนอธิบายว่า การถางไร่เดือนนี้ ตอไม้ที่ถางจะไม่ตาย ไม่นานจะมีงอกกิ่งก้านใหม่ขึ้นมา(แต่หากถางไม้ในฤดูอื่นเช่นหน้าฝน ตอไม้ที่ถางจะไม่มีงอกใหม่ขึ้นมาอีก) การถางไร่จะเก็บตอไม้สูงจากพื้นดินราวหนึ่งเมตรเพื่อตอไม้จะไม่ตายรากไม้ยังไม่ตาย นอกจากนั้นยังเป็นการรักษาโครงสร้างเดิมของดินไว้มิให้เกิดดินพังทลายเพราะโครงสร้างของดินไม่ถูกกระทบจึงไม่เปลี่ยนแปลง
อาจารย์สมศักดิ์ได้พูดว่า "ประเทศต่างๆ ในเขตร้อนดินหลังภูเขาไฟราว ๔๐-๕๐ ล้านปีในเขตภูเขาจะมีธาตุอาหารในดินเบาบางมาก แต่ธาตุอาหารจะอยู่ในใบไม้ เพราะฉะนั้นชุมชนที่อาศัยในเขตภูเขาจึงต้องอาศัยธาตุอาหารจากต้นไม้โดยเฉพาะใบไม้ จึงต้องเลือกทำ คึ-ฉื่ย (ไร่หมุนเวียน) เป็นเกษตรภาคบังคับจากธรรมชาติ ซึ่งตรงกับงานวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ของการศึกษาต้นไม้ใน ฉื่ย (ไร่เหล่า) ต้นไม้ชื่อ เปอะด๊ะ (ตองเต๊า) ในพื้นที่ ไร่เหล่าของไร่หมุนเวียน ตองเต๊าเป็นไม้โตเร็วมีใบกว้างกลมใหญ่ ขึ้นตรงไหนของไร่เหล่าดินแถบนั้นจะเพาะปลูกพืชพรรณงอกงามดีมาก ค้นพบว่ารากของตองเต๊าจะทำการดูดธาตุอาหารจากดินไปยังใบและพอใบร่วงลงมาจะสร้างอาหารบนผิวดินได้เป็นอย่างดี ใบตองเต๊าจึงเป็นแหล่งสร้างธาตุอาหารให้กับดินในไร่เหล่าได้เป็นอย่างดี (ดร.มนัส ยิ้มแย้ม คณะเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยเขียงใหม่)

ดร.สมศักดิ์ ยังได้บอกว่า "การทำไร่หมุนเวียนเสมือนเป็นเกษตรภาคบังคับเพราะเป็นรูปแบบที่เหมาะสมกับภูมินิเวศแบบภูเขาที่เป็นแบบไหล่เขาที่ลาดเอียง (slope) คนที่อยู่บนภูเขาที่ไม่มีพื้นที่ราบจึงต้องอาศัยใบไม้มาสร้างปุ๋ยในดิน จึงเลือกทำไร่หมุนเวียนเป็นเกษตรภาคบังคับซึ่งต้องถางไม้หนุ่มในไร่เหล่าลงมา ส่วนต้นไม้ใหญ่จะเลือกริดเฉพาะกิ่งลงมานำมาตากแห้งแล้วเผาเพื่อสร้างปุ๋ยในดินในการเพาะปลูก ซึ่งระบบนี้ไม่ต้องการปุ๋ยจากภายนอกจะอาศัยปุ๋ยจากธรรมชาติ พืชที่ปลูกเหล่านี้จึงเป็นผลผลิตที่สะอาด (clean products) ไม่มีสารปนเปื้อนหรือเคมีเจือปนเลยเป็นผลผลิตผ่านกระบวนการธรรมชาติและก่อเกิดผลผลิตที่เป็นธรรมชาติ
ก่อนทำการเผาไร่สิ่งสำคัญที่ต้องทำคือทำแนวกันไฟรอบไร่ที่ถางแล้ว เพราะหัวใจการจัดการคือการเผาไร่จะต้องกระทบต่อระบบนิเวศให้น้อยที่สุดเพราะฉะนั้นจะต้องให้การเผาไร่เกิดขึ้นในทุ่งไร่ที่ถางแล้วเท่านั้นจะไม่ให้ไฟลามออกไปนอกเขตทำไร่ เพราะฉะนั้นแนวกันไฟจึงสำคัญต่อการจัดการไฟมาก การเผาไร่จะมีเทคนิคการเผาไร่โดยการเรียกลมผ่านการผิวปากและการอธิษฐานเพื่อให้ไร่ไหม้ได้ดี รวดเร็วและไม่ลามออกไปนอกเขตไร่ เทคนิคที่ง่ายๆ คือ มีคนสองคนติดไฟจากเขตแนวกันไฟด้านในจากหัวไร่โดยเริ่มจากจุดเดียวกันแล้วแยกกันออกไปในทางตรงกันข้ามกันจนถึงก้นไร่ โดยปล่อยให้ไฟจากเขตแนวกันไฟลงมาจนเกือบถึงหัวไร่แล้วจึงเผาไล่จากก้นไร่ขึ้นไป ทำให้ไฟที่ลามขึ้นไปอ่อนลงพอมาถึงหัวไร่ จึงง่ายต่อการควบคุมไฟมิให้ลามออกไปข้ามเขตแนวกันไฟได้ การรักษาพื้นที่ ฉื่ย (ไร่เหล่า) ถือเป็นหัวใจสำคัญของการจัดการไร่หมุนเวียนทีเดียว
หลังจากเผาไร่ไม่นานราว ๑-๒ อาทิตย์ ตอไม้ตอไผ่จะแตกกิ่งใหม่ ซึ่งใบอ่อนต่างๆ จากตอไม้หลายอย่างเหมาะกับการนำไปรับประทานอาหาร และกิ่งใผ่ก็เหมาะกับการนำไปทำหน่อกิ่งไผ่มาทำอาหารได้อย่างมีรสชาติดี นอกจากนั้นในขี้เถ้าที่เผาไร่ เห็ดขี้เถ้าก็จะขึ้นมาล้วนเป็นยอดอาหารในการเอาไปหุงต้มแทบทั้งนั้น
การจัดการไฟมีความสำคัญในการจัดการไร่หมุนเวียนและระบบนิเวศ เพราะพื้นที่ทุกผืนที่เป็นไร่เหล่าฟื้นตัวจะต้องไม่มีไฟเข้ามาลุกไหม้ หากไฟลุกไหม้ในไร่เหล่าเป็นความสูญเสียอย่างหนักเพราะวงจรหมุนเวียนไม่สามารถฟื้นตัวใหม่ได้ดังปกติในวงจรฟื้นตัวตามธรรมชาติได้ จะกลายเป็นพื้นที่ไร่ที่ขาดความสมบูรณ์ชาวไร่หมุนเวียนจะระมัดระวังเป็นอย่างมากจะไม่ให้เกิดขึ้น
คึ-ฉื่ย ยังมีการจัดการในมิติของจิตวิญญาณโดยผ่านพิธีกรรมในทุกขั้นตอนการทำไร่ ซึ่งไม่สามารถนำเสนอได้ทั้งหมดจึงขอยกตัวอย่าง พิธีหลื่อเหม่ (พิธีบูชาเทพไฟ) ตามความเชื่อของปกาเกอะญอมีเทพไฟในกระบวนการผลิตไร่หมุนเวียน จึงมีพิธีบูชาเทพไฟในช่วงลาคุปู (เดือนพิธีกรรมเลี้ยงเทพไร่หมุนเวียนราวเดือนสิงหาคม) ข้าวโตเต็มที่และใกล้จะท้องเพื่อออกรวง ซึ่งมีการบูชาเทพหลายองค์ด้วยกัน หนึ่งในเทพเหล่านั้นจะมีการบูชาเทพไฟ จะบูชาด้วยไก่ตัวผู้สีแดง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของไฟโดยอธิษฐาน ขอขมาเทพไฟที่ใช้ในการเผาไร่ทำให้ระบบนิเวศร้อนรุ่มไปทั่ว จึงขอให้เทพไฟโปรดปรานให้ความร่มเย็นมาแทนที่ ให้ร่มเย็นปลอดภัยทั้งพืชผลในไร่ แผ่นดิน ป่า ขุนเขา ระบบนิเวศทั้งระบบและผู้คนที่ทำไร่และชุมชนทุกสิ่งเกี่ยวข้องกับนิเวศ แถบนั้นได้รับความร่มเย็นเป็นสุขโดยทั่วหน้ากันปฏิทินวงจรการผลิตของ คึ-ฉื่ย
การทำ คึ-ฉื่ย (ไร่หมุนเวียน) เป็นกระบวนการสำคัญในการรักษาความหลากหลายของพันธุ์พืชและแหล่งอาหารตลอดทั้งปี งานวิจัยของอานันท์และคณะ (๒๕๔๖) ได้ค้นพบว่าความหลากหลายของพันธุ์พืชที่อยู่ในไร่หมุนเวียน มีสูงถึง ๒๐๗ สายพันธุ์ในภูมินิเวศไร่หมุนเวียนเพราะระบบนี้เป็นการเก็บรักษาพันธุ์ผ่านกระบวนการปฏิบัติการ (in situ) พื้นที่ไร่หมุนเวียนไม่ได้ผลิตแต่ข้าวอย่างเดียวเท่านั้นแต่ผลิตพืชผักอื่นๆ อีกหลายชนิด สามารถยังชีพให้กับครอบครัวผู้ทำไร่หมุนเวียนได้ตลอดทั้งปี และมีความแตกต่างผลผลิตในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งขอยกตัวอย่างผลผลิตแต่ละช่วง ดังต่อไปนี้
การปลูกหว่านจะเริ่มต้นราวๆ ปลายเดือนลาเซอ (เมษายน) ผักบางชนิดก็สามารถเริ่มเก็บมาทำอาหารได้แล้ว เช่น ต้นอ่อนผักกาดและยอดฟักทองที่ปลูกตามริมลำห้วยลำธาร เป็นต้น ดังลำนำบทหนึ่งที่ได้กล่าวถึงเรื่องราวอาหารที่เริ่มเก็บกินได้ในช่วงนี้มีคำกล่าวที่ว่า "เดือนลาเซอ (เมษายน) จะสิ้นสุดลงและเดะญา (พฤษภาคม) จะเริ่มต้น ฝนฟ้าโปรยปรายลงมา ทำให้เมล็ดผักกาดแตกใบอ่อนเขียวขจีไปทั่วท้องไร่”
ช่วงกลางเดือนเดะญา (พฤษภาคม) ที่เข้าสู่ฤดูฝน พันธุ์พืชหลายอย่างที่ถูกหว่านเมล็ดลงไปก็จะงอกเป็นต้นอ่อนออกมาและเริ่มเก็บทำเป็นอาหารได้ เช่น ต้นอ่อนผักกาด ต้นอ่อนห่อวอ (ตระกูลกะเพรา) ยอดอ่อนฟักทอง ผักชี ต้นหอม เป็นต้น เดือนเดะญา เป็นเดือนของการแตกหน่อ แตกหัว แตกเมล็ดของพันธุ์พืชทุกชนิด โดยมีพอเดะญา (ว่านสี่ทิศ) เป็นสัญลักษณ์ประจำเดือนนี้ ดังคำกล่าวที่ว่า "เดือนเดะญาว่านสี่ทิศชูก้านออกดอก”
เดือนลา-นวี (มิถุนายน) อาหารตามธรรมชาติประเภทหน่อไม้จะแทงหน่ออกมาและมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ เป็นอาหารที่คอยเลี้ยงชาวบ้านได้อย่างเหลือเฟือ และยังมีพืชผักอื่นๆ อีก เช่น ผักขี้อ้นป่า (ห่อเต่อมี) ผักขี้อ้นบ้าน (ห่อเต่อเดอ) ยอดบวบเหลี่ยม (เดเรส่า) ยอดกระเจี๊ยบ ยอดมะเขือลื่น (ซาโยเต้) ต้นอ่อนหอมซู (เสอะเกล๊อ) สาระแหน่ ผักจีน ต้นหอม พริก เป็นต้น
เดือนกรกฎาคม (ลาเฆาะ) เป็นช่วงเวลาของการเก็บยอดอ่อนและดอกผักกาดเขียวที่เรียกกันว่า "เสอะบะแย” พอราวกลางเดือนสิงหาคม (ลาคุ) เป็นหน้าเก็บข้าวโพด แตงลาย (ดีหมื่อ) แตงส้ม (ดีฉี่) เริ่มเก็บลูกอ่อนได้ ในแต่ละเดือนตั้งแต่กันยายน (ชิหมื่อ) ถึงธันวาคม (ลาปลือ) พืชผักจะมีหลากหลาย แต่เดือนพฤศจิกายน (ลานอ) เป็นเดือนที่ปกาเกอะญอจะได้รับผลผลิตจากไร่ที่สมบูรณ์ที่สุดเพราะพืชพันธุ์ส่วนใหญ่จะให้ผลผลิตในเดือนนี้ ทั้งพืชให้ยอด ผล ดอก ต้น เมล็ด ฝัก เหง้า หัว เถา เช่น ลูกบวบ ลูกมะระ ลูกฟักทอง ลูกแตงกวา ลูกอ่อนฝ้าย เมล็ดถั่ว หัวมัน หัวเผือก เหง้าขิง ขมิ้น ต้นอ้อย ต้นข้าวฟ่าง (เป่เชอโบ) ดอกกะเพราแดง (ห่อวอพอ) รวมถึงข้าวที่เป็นพืชหลักในไร่ก็ได้เวลาเก็บเกี่ยวในเดือนนี้เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ไร่หมุนเวียนยังมีคุณูปการต่อชีวิตมนุษย์ ในบทบาทการเป็นแหล่งอาหารที่ปราศจากสารพิษ ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมมนุษย์ทั่วโลกในปัจจุบันกำลังให้ความสนใจ ทุกประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรจะได้รับการจัดการโดยวิถีการทางธรรมชาติ โดยอาศัยองค์ความรู้ท้องถิ่นที่สั่งสมมาจากประสบการณ์จริงในการปฏิบัติการ นับว่าเกษตรรูปแบบคึ-ฉื่ย (ไร่หมุนเวียน) นี้จะเป็นทางเลือกสำคัญทางเลือกหนึ่งของการเกษตรไร้สารพิษที่ทุกคนกำลังเพรียกหากันในปัจจุบัน
นอกจากนี้สามารถกล่าวได้ว่า ไร่หมุนเวียนมีองค์ความรู้ในการบำรุงรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน ในการปฏิบัติการไร่หมุนเวียน ชาวปกาเกอะญอไม่ใช้วิธีขุดพลิกหน้าดิน การถางไร่ยังคงเก็บตอไม้ตอไผ่ไว้ ไม่มีการขุดรากถอนโคน
ในการปลูกข้าวและพืชผักลงในพื้นที่ไร่จะขุดดินลงเพียง เล็กน้อย โดยใช้เสียม (บอโถ่) ที่มีการออกแบบเป็นการเฉพาะกิจมีขนาดเล็ก รอยเสียมเท่ารอยเท้าเก้งรอยเท้ากวางเท่านั้น ซึ่งไม่มีผลกระทบถึงขั้นเกิดการพังทลายของหน้าดินและทำลายโครงสร้างดิน ในขณะเดียวกันการถางหญ้าพรวนดิน จะใช้เครื่องมือที่เรียกว่า "ขละ”(ขอดายหญ้า) ซึ่งมีการออกแบบเป็นการเฉพาะกิจเช่นเดียวกัน มีลักษณะงอโค้งเงยฟ้า ลักษณะดังกล่าว ช่วยป้องกันไม่ให้กินเนื้อดินลึกลงไป การถางหญ้าและพรวนดินจะอยู่ในระดับผิวดินเท่านั้น ซึ่งก็หมายถึงการป้องกันผลกระทบต่อโครงสร้างของดินและการพังทลายของหน้าดิน
นอกจากนี้ยังมีข้อค้นพบเชิงวิทยาศาสตร์ว่า การทำไร่หมุนเวียนรูปแบบทำสั้นและทิ้งยาวแบบที่ปกาเกอะญอทำการผลิตอยู่ไม่ทำให้โครงสร้างของดินเปลี่ยนไป ทั้งนี้เพราะเวลาตัดไม้จะเก็บตอไม้ไว้สูงราวหนึ่งเมตรขึ้นไปทำให้ตอไม้ไม่ตายจะมีแตกกิ่งแตกใบใหม่ โครงสร้างภายในดินจึงไม่เปลี่ยนและจึงไม่เสี่ยงต่อการพังทลายของหน้าดิน ฉื่ย (พื้นที่ไร่เหล่า)
ฉื่ย (ไร่ฟื้นตัวหรือไร่เหล่า) มิใช่พื้นที่ป่าแต่เป็นพื้นที่ทำกินถือเป็นภูมิปัญญาเชิงกลยุทธ์ของการฟื้นพื้นที่ทำกินผ่านกระบวนการตามธรรมชาติเพื่อความอุดมสมบูรณ์คืนมาแล้วเวียนกลับมาทำกินใหม่ ซึ่งถือเป็นแก่นแกนของเกษตรกรรมระบบนี้ หากปราศจากการฟื้นตัวของ ฉื่ย (ไร่เหล่า) ความสามารถในการผลิตและความอุดมสมบูรณ์ก็ย่อมหมดไป เพราะฉะนั้นระบบ ฉื่ย ถือเป็นกระดูกสันหลังของระบบเกษตรแบบนี้ทีเดียว
ฉื่ย มีพันธุ์พืชหลากหลายชนิดที่ยังเก็บกินได้ นอกจากนั้นยังมีพันธุ์พืชมากมายที่ใช้เป็นยาสมุนไพรด้วย เช่น หญ้าสาบเสือ (ชอโพเกวะ) ใช้รักษาแผลสด ใบหนาด (พอปก่าหล่า) เปล้าใหญ่ (ซะเกอะวะ) ใช้รักษาแผลฟกซ้ำ มะขามป้อม (เส่ญาส่า) ใช้รักษาปวดฟัน นอโพและนาปอจอ ใช้แก้ไข้ ตัวร้อน เป็นต้น นอกจากนั้น ฉื่ย เป็นแหล่งอาหารและที่พักพิงอาศัยและแพร่พันธุ์ของสัตว์ต่างๆ ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่านานาชนิดตั้งแต่สัตว์เล็กไปจนถึงสัตว์ใหญ่ สัตว์เดินดินไปถึงสัตว์ปีก
การพักที่ดินในรูปแบบไร่เหล่าจึงถือแป็นการอนุรักษ์พันธุกรรมในถิ่นเดิม (In-situ) เป็นการอนุรักษ์พันธุกรรมที่มีชีวิตและมีการใช้ประโยชน์ (Living Conservation) เพราะพันธุกรรมพืชและสัตว์ได้ขยายเผ่าพันธุ์หมุนเวียนในถิ่นเดิมตามวงจรไร่หมุนเวียนอย่างมีชีวิตชีวาและชาวบ้านก็อาศัยทั้งพืชและสัตว์ในการใช้ประโยชน์และอนุรักษ์พรรณพืชพันธุ์สัตว์เหล่านั้นตลอดเวลา ดร.สมศักดิ์ สุขวงค์ พูดถึง ฉื่ย ว่า "ไร่เหล่า fallow land ซึ่งเป็นป่าทุติยภูมิ (secondary forest) สัตว์มีกีบชนิดต่างๆ ชอบอาศัยอยู่มาก เช่น หมูป่า เก้ง ฯลฯ ประเภทนกในประเทศไทยมีราว ๙๐๐ ชนิด หนึ่งในสามหรือราว ๓๐๐ ชนิดเป็นนกที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เกษตรกรรม (farm land) ซึ่งตรงกับชาวไร่หมุนเวียนเรียกพื้นที่ ฉื่ย (ไร่เหล่า) ว่าเป็นพื้นที่แหล่งอาหาร โดยเฉพาะ จีงไม่แปลกที่จะพบนกหลากหลายชนิดและจำนวนมากมาแพร่พันธุ์และอาศัยอยู่ในไร่เหล่าของไร่หมุนเวียน” จึงถือได้ว่า ไร่หมุนเวียนเป็นพื้นที่เกษตรที่เอื้อต่อการแพร่พันธุ์และอาศัยของสัตว์เล็ก สัตว์มีกีบและสัตว์ปีกมากชนิดที่สุดในบรรดาพื้นที่เกษตรทั้งหลาย
ปัจจุบัน FAO ได้ประกาศให้ไร่หมุนเวียนเป็นระบบวนเกษตรระบบหนึ่งที่มีความยั่งยืนให้กับระบบนิเวศและระบบนี้ไม่ได้ทำลายป่าอย่างที่เคยเข้าใจกัน ไร่หมุนเวียน กับการลดทอนภาวะโลกร้อน
หากเราพิจารณาไร่หมุนเวียนกับการลดทอนของภาวะโลกร้อนและโอกาสในการปรับตัวต่อสภาวะโลกร้อน จะพบว่าตามหลักเหตุผลทางวิทยาศาสตร์สิ่งมีชีวิตทุกชนิดจะมีการเก็บกักคาร์บอนในชีวมวล (biomass) ทั้งจากป่า ต้นไม้ และสิ่งมีชีวิตในดิน การฟื้นตัวของ "ป่าหนุ่ม” จะทำการดูดซับคาร์บอนเพื่อการเจริญเติบโตและเป็นที่เก็บกักคาร์บอนได้ดีกว่า "ป่าธรรมชาติ” หรือ "ป่าแก่” ซึ่งเป็นป่าไม้ที่โตเต็มที่ ซึ่งผลของการจัดการระบบไร่หมุนเวียนจึงก่อเกิดความหลากหลายซับซ้อนของพันธุ์พืชที่ก่อเกิด "ไร่ป่าเหล่า” ใหม่ขึ้น
"ไร่เหล่า” ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญของระบบไร่หมุนเวียนจึงมีความสามารถในการลดทอนภาวะโลกร้อนได้ดีกว่า "ป่าธรรมชาติ” Dr.Jurgen Blaser ผู้เชี่ยวชาญด้านป่าไม้นานาชาติ ได้ตอบข้อถกเถียงเรื่องไร่หมุนเวียนได้สร้างผลภาวะทางอากาศหรือไม่นั้นไว้ดังนี้ คือ โดยธรรมชาตินั้นป่าที่ฟื้นคืนตัวใหม่อย่างพื้นที่ "ไร่เหล่า” ของไร่หมุนเวียน ต้นไม้จะต้องอาศัยคาร์บอนไดออกไซด์มากในการดูดซับเพื่อเอามาสร้างต้นและใบใหม่ และแน่นอนว่าความจำเป็นในการดูดซับคาร์บอนจะมีมากกว่าป่าที่โตเต็มที่แล้วเพราะโดยธรรมชาติป่าที่โตเต็มที่แล้วนั้นจะเก็บคาร์บอนได้ดีแต่ความจำเป็นจะดูดซับคาร์บอนมาใช้ย่อมมีความจำเป็นน้อยกว่า นอกจากนี้ ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ นักวิชาการวนเกษตรและผู้เชี่ยวชาญป่าไม้ที่มีชื่อเสียงจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ศึกษา "ไร่เหล่า” ที่ฟื้นตัวของไร่หมุนเวียนได้ ข้อค้นพบว่า ชีวมวลที่เกิดจากไร่หมุนเวียนในพื้นที่ไร่เหล่าที่ฟื้นตัว ๗ ปี จากปีที่หนึ่งจนถึงปีที่เจ็ดมีสะสมมากถึง ๔๒ ตันต่อเฮกตาร์ ของไร่หมุนเวียนในระยะ ๗ ปี นั้นสามารถดูดซับคาร์บอนได้เท่ากับ ๔๒ ต่อตันเฮกตาร์ ซึ่งบ่งบอกว่า "ไร่เหล่า” ในพื้นที่หนึ่งเฮกตาร์สามารถดูดซับคาร์บอนได้ปีละ ๖ ตัน สำหรับป่าธรรมชาติผลการศึกษาค้นพบว่า ป่าธรรมชาติพื้นที่ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ซึ่งเป็นประเภทป่าประเภทผลัดใบจะมีการผลัดใบประมาณ ๑๐-๑๑ ตันต่อปีต่อเฮกตาร์ เพราะฉะนั้นความจำเป็นในการสร้างใบอ่อนใหม่แทนที่ใบที่ผลัดใบก็ต้องใช้คาร์บอนราว ๑๐-๑๑ ตันเช่นกัน (ประเสริฐและคณะ, ๒๕๕๒) นอกจากนี้ข้อค้นพบล่าสุดจากงานศึกษาของประยงค์ ดอกลำไย และคณะ (๒๕๕๓) ศึกษาที่บ้านหินลาดใน จ.เชียงราย พบว่าการหมุนเวียนไร่ฟื้นตัว หรือไร่เหล่าจาก ๑ ปี ถึง ๑๐ ปี สามารถสะสมคาร์บอนได้ถึง ๑๗,๓๔๘ ตัน ขณะที่การปล่อยก๊าซจากการเผาไร่หมุนเวียนมีแค่ ๔๘๐ ตัน เพราะฉะนั้นมีผลต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศน้อยมากที่มาจากการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน

จากผลการศึกษาต่างๆ การเกษตรแบบไร่หมุนเวียนจะไม่เพิ่มคาร์บอนในชั้นบรรยากาศ หรืออีกนัยหนึ่งระบบการเกษตรแบบนี้มีวัฏจักรที่สร้างสมดุลในตัวมันเองโดยไม่ก่อเกิดคาร์บอนที่จะนำไปสู่การเกิดภาวะโลกร้อนได้ แต่เมื่อใดที่ไร่หมุนเวียนถูกกดดันให้ปรับระยะการฟื้นตัวลดลงหรือการเปลี่ยนไร่หมุนเวียนให้กลายเป็นไร่ถาวรที่ต้องทำกินซ้ำที่เดิมทุกปี เมื่อนั้นวัฏจักรที่เป็นสมดุลตามธรรมชาตินี้ก็จะหมดวงจรไปด้วย ด้วยเหตุนี้การเปลี่ยนมาเป็นเกษตรแบบถาวรย่อมนำไปสู่การมีส่วนในการสร้างภาวะโลกร้อนขึ้นได้
ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่า การฟื้นตัวของ "ไร่เหล่า” จะต้องมีอายุยาวนานเพียงพอ จึงสามารถเป็นระบบที่ยั่งยืน ปุ๋ยในดินยังคงความอุดมสมบูรณ์ได้ เพราะฉะนั้นสามารถสรุปได้ว่าระบบไร่หมุนเวียน เป็นระบบที่ทำให้คาร์บอนเป็นกลางหรือเกิดสมดุลทางคาร์บอน และไม่มีผลต่อการเป็นสาเหตุที่ก่อเกิดภาวะโลก กล่าวโดยสรุป จะเห็นว่าวัฏจักรของธรรมชาติ มีกระบวนการสร้างสมดุลให้กับตนเอง หากมนุษย์เข้าใจระบบธรรมชาติได้อย่างถ่องแท้และเกื้อหนุนระบบธรรมชาติอย่างถูกทิศถูกทาง เฉกเช่นเดียวกับชาวกะเหรี่ยงที่เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติ มีวิถีการดำเนินชีวิตที่มีความสอดคล้องและเหมาะสมกับธรรมชาติ จนตกผลึกออกมาเป็นระบบเกษตรแบบไร่หมุนเวียนที่ถือปฏิบัติมาเป็นหมื่นๆ ปี และยังคงถือปฏิบัติกันมาจนถึงทุกวันนี้ ไร่หมุนเวียนน่าจะเป็นระบบที่สอดคล้องกับวัฏจักรที่สร้างสมดุลทางธรรมชาติและน่าจะมั่นใจได้ว่าระบบไร่หมุนเวียนไม่ได้มีส่วนสร้างปัญหาภาวะโลกร้อนเหมือนกับเกษตรกรรมพืชเชิงเดี่ยว