เรื่อง/ภาพ : อภินันท์ บัวหภักดี
ประเพณี แห่เจ้าพ่อ เจ้าแม่ ปากน้ำโพ
"...ฮ่อ คือคนจีนที่มาไทยทางบก ส่วน เจ๊ก คือคนจีนที่มาไทยทางน้ำ...”
คนจีน นั้นอยู่ร่วมในสังคมไทยมาแล้วช้านาน นับแต่อดีตคนไทยเรา มีคำเรียก คนจีน ที่เข้ามาอยู่ร่วมสังคมไทยสำคัญอยู่สองคำ คำหนึ่งคือคำว่า ฮ่อ หมายถึง ชาวจีนที่เข้ามาอยู่ร่วมในสังคมไทยที่มาทางบก มาตามเส้นทางการค้าแบบคาราวานม้าต่าง ลาต่าง มากับมัสยิดในศาสนาอิสลาม ที่ทอดยาวจากคุนหมิงผ่านมาจนถึงเมืองที่นำหน้าด้วยคำ เชียงทั้งห้า หรือเมืองห้าเชียง เข้ามาถึงล้านนา ที่เชียงใหม่ เชียงราย หรือมากับกองทัพจีนที่พ่ายแพ้แตกแถวกลายเป็น โจรฮ่อ เข้ามาปล้นเมือง ทั้งเมืองแพร่ เมืองน่าน เมืองหลวงพระบาง กระทั่งเมืองเวียงจันทน์
กับอีกคำหนึ่ง คำว่า เจ๊ก ที่ใช้เรียก คนจีนที่มาทางทะเล ต่อมาไม่นานมานี้ คำๆ นี้ถูกระบุว่าไม่สุภาพ ทำนองปรามาส หรือดูหมิ่นดูแคลน ให้เรียกใหม่ใช้คำว่า คนจีนแทน กลุ่มคนเหล่านี้มากับเรือสำเภาจีนในยุคเสื่อผืนหมอนใบ เกิดทุพภิกขภัย ความอดอยากยากเข็ญในเมืองจีนตอนใต้ คนจีนกลุ่มนี้มากันมากๆ จากหัวเมืองชายทะเล มณฑลกวางตุ้ง และเกาะไหหลำ โดยมีเมืองท่าสำคัญที่เป็นต้นทางคือ เมืองซัวเถา และเกาะไหหลำ เข้ามาทำการค้าขายในแผ่นดินไทย ประสบความสำเร็จร่ำรวยเป็นเศรษฐี มีหน้ามีตาอยู่ในสังคมไทยแล้วทุกระดับ
ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ช่วงการฟื้นฟูประเทศในยุคเติ้งเสี่ยวผิง หลายสิบปีก่อน ยังวางยุทธศาสตร์เมืองสำคัญในการพัฒนาประเทศ เมืองหนึ่งคือ เมืองซัวเถา ชักชวนให้คนจีนโพ้นทะเลจากเมืองไทยไปลงทุน เงินทุนส่วนหนึ่งจากเมืองไทยจึงกลับไปมีส่วนเริ่มพัฒนาเมืองจีนขึ้นใหม่อย่างแข็งขัน
มาถึงวันนี้ เมืองจีนพัฒนาก้าวไกลแซงหน้าประเทศไทยไปแล้ว เพราะเมืองจีนใช้รถไฟความเร็วสูง และความเร็วสูงมาก และยังผลิตเครื่องบินใช้ได้เอง ลูกหลานมังกรจีนยุคใหม่วันนี้กลับมาในหลายๆ ประเทศกลุ่มอาเซียน ไม่ใช่มาจากแค่มณฑลกวางตุ้ง เกาะไหหลำ แต่มาจากเมืองหลวงไกลถึงปักกิ่ง มาจากลุ่มน้ำฮวงโห แม่น้ำแยงซีเกียง ไม่ใช่เสื่อผืนหมอนใบ ยากจน แต่รอบนี้มาพร้อมเงินกู้รัฐบาลจีนและนโยบายขยายตัวทางเศรษฐกิจ One Belt One Road มีเงินมาคนละหลายล้านบาท มาเป็นโอกาส หรือภัยคุกคาม อย่างที่นักวิเคราะห์ในกลุ่มประเทศอาเซียนกำลังวิตกังวล มาลองดูกันต่อไปว่า คนจีน ยุคใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐให้ออกมาทำมาหากินต่างประเทศเหล่านี้ จะนับญาติกับคนจีนยุคเสื่อผืนหมอนใบรุ่นเก่าเมืองไทยเรานี้อย่างไรหรือไม่
ย้อนกลับมาที่คนจีนอพยพรุ่นเก่ายุคเสื่อผืนหมอนใบ เมืองใหญ่ในดินแดนไทยที่ชาวจีนเหล่านี้เข้าไปอยู่อาศัยกันมากๆ เมืองหนึ่งก็คือ เมืองนครสวรรค์ หรือเมืองปากน้ำโพ เมืองนี้จากสภาพภูมิศาสตร์ คือศูนย์กลางการคมนาคมค้าขายทางน้ำของประเทศไทย เป็นที่ที่บรรจบกันของ แม่น้ำปิง วัง ยม และน่าน กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะฉะนั้นที่นี่จึงเป็นเมืองชุมทางการค้าขายทางเรือระหว่างที่ราบลุ่มภาคกลาง และที่ราบภาคเหนือตอนล่าง ตลอดจนเมืองบนที่สูงอย่างล้านนาตะวันตก เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน และล้านนาตะวันออก แพร่ น่าน เชียงราย อย่างแน่นอน
ดังนั้นในวันเก่าๆ ปากน้ำโพ หรือนครสวรรค์ จึงมีคนจีนมากันครบทั้งสองพวก สามศาสนา และหลากหลายเผ่าพันธุ์ สองพวก คือ พวกมาทางบก กับมาทางเรือ สามศาสนา คือศาสนาอิสลาม ศาสนาพุทธมหายาน และศาสนาเต๋า และหลากหลายเผ่าพันธุ์ คือมีทั้งจีนฮ่อ แต้จิ๋ว จีนฮกเกี้ยน จีนไหหลำ จีนฮากกา หรือจีนแคะ และคนจีนกวางตุ้ง แต่เมื่อประวัติศาสตร์ดำเนินต่อไปพวกจีนฮ่อที่ไปๆ มาๆ ก็ไม่อาจนับเป็นเผ่าพันธุ์คนจีนในนครสวรรค์ได้อีกต่อไปคงเหลือแต่คนจีนยืนหยัดอยู่ในนครสวรรค์ ๕ เผ่าพันธุ์ดังกล่าวด้วยกัน และก็เป็นอย่างที่อาจารย์วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ เขียนเล่าไว้ในวารสารวัฒนธรรมว่า คนจีนเมื่อไปถึงที่ไหนก็พอใจจะสร้างศาลเจ้าของตนไว้ที่นั่น และศาลเจ้าในศาสนาใด ก็จะมีเจ้าในศาสนานั้นเป็นองค์ประธาน คนจีนกลุ่มใดมาถึงก่อน รวยก่อน ก็สร้างศาลเจ้าของกลุ่มตนขึ้นก่อน ส่วนคนจีนที่มาทีหลังยังไม่รวย ก็จะฝากเจ้าของตนไว้ ณ ศาลเจ้าที่มาก่อน นี้เป็นลักษณะเฉพาะของศาลเจ้าของคนจีนโพ้นทะเล ที่มักจะมีเจ้าต่างศาสนามาอยู่รวมกันในศาลเจ้าแห่งหนึ่ง ไม่เคร่งครัดในเรื่องศาสนาเท่าใดนัก

ในวันนี้ ศาลเจ้าในเมืองนครสวรรค์มีอยู่ครบทั้ง ๕ เผ่าพันธุ์ ของคนจีนที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย โดยมีศาลเจ้าซึ่งถือเป็นศาลเจ้าเก่าแก่ประจำเมืองสำคัญที่สุด ๒ ศาล คือ ศาลเหนือ และศาลใต้ ศาลใต้ คือ ศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์ และเจ้าแม่สวรรค์ เจ้าแม่ทับทิม ที่ตั้งอยู่ตรงจุดที่พบกันของแม่น้ำปิง–วัง และแม่น้ำ ยม–น่าน และศาลเหนือ คือ ศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่หน้าผา ซึ่งมีเทพเจ้าสูงสุดเป็นประธานของศาลเจ้า คือ เจ้าพ่อเทพารักษ์ และเจ้าแม่สวรรค์ เช่นเดียวกัน การนับถือ เจ้าพ่อเทพารักษ์ และเจ้าแม่สวรรค์นี้ น่าจะเรียกได้ว่าเป็นลักษณะเฉพาะของชาวจีนโพ้นทะเล ซึ่งเข้ามาตั้งหลักปักฐานในดินแดนต่างถิ่น เพราะเจ้าพ่อเทพารักษ์ หรือปุนเถ้ากง หรือปุนเถ้ากงม่า ก็คือเทพยดาผู้คุ้มครองดูแลพื้นที่นั้นๆ ซึ่งจะเป็นใครก็ได้ ชาวจีนโพ้นทะเลเดินทางเข้ามาในถิ่นที่อยู่ใหม่ ก็ต้องนับถือเซ่นไหว้เทพยดาที่ดูแลพื้นที่แห่งนี้มาล่วงหน้าไว้ก่อน และจึงเรียกนามเทพเจ้านี้ว่า ปุนเถ้ากง หรือ ปุนเถ้ากงม่า แล้วแต่ว่าจะเป็นเพศหญิงหรือชาย
ส่วนเจ้าแม่สวรรค์นี้ก็คือ เทพยดาผู้ดูแลสวรรค์ เป็นเทพเจ้ากลางๆ ซึ่งใครก็ตามก็ต้องการไปสวรรค์ด้วยกันทุกคน สำหรับศาลใต้ ศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์ ยังมีเจ้าแม่ทับทิม สถิตคู่กับเจ้าแม่สวรรค์อีกองค์หนึ่ง ซึ่งเจ้าแม่ทับทิมนั้นก็เป็นเจ้าแม่ผู้คุ้มครองชาวเรือ และการเดินทางทางเรือก็ยิ่งชัดเจนเข้าไปใหญ่ว่า ศาลเจ้าแห่งนี้ย่อมเป็นศาลเจ้าของชาวจีนโพ้นทะเลที่เดินทางไกลมาทำมาค้าขายที่เมืองนครสวรรค์แห่งนี้อย่างแน่นอน
นอกจากนี้ ทั้งสองศาลนี้ยังมีเทพเจ้าระดับรองมาอีกคือมี เทพเจ้ากวนอู ซึ่งแสดงให้เห็นถึงคุณธรรมหลักของชาวจีนโพ้นทะเลว่า ต้องมีความซื่อสัตย์กตัญญู เช่นเดียวกับเทพเจ้ากวนอูแห่งสามก๊ก นอกจากนี้ ศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์ยังมี เทพเจ้าเอ็งกอ หรือ เทพเจ้านักรบประชาชนแห่งเขาเหลียงซาน อันเป็นตัวแทนของความกล้าหาญเป็นนักสู้ผู้ไม่ยอมศิโรราบกับผู้ปกครองที่ชั่วร้ายอีก ส่วนศาลเจ้าหน้าผาก็มี ไฉ่ซิงเอี้ย เทพเจ้าแห่งโชคลาภ ทรัพย์สินเงินทอง และยังมีคณะเชิดมังกร ซึ่งนับเป็นเทพยดาศักดิ์สิทธิ์ ที่คนจีนทั้งมวลถือเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจและเกียรติยศอีกต่างหาก
ประเพณีการแห่เจ้าพ่อ–เจ้าแม่ ปากน้ำโพเกิดขึ้นหลังจากโรคห่า (อหิวาตกโรค) และฝีดาษระบาดเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. ๒๔๖๐–๒๔๖๒ ครั้งนั้น ชาวปากน้ำโพ ได้รับความเดือดร้อนมีผู้คนล้มตายและเจ็บป่วยเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุที่ว่าวิทยาการแพทย์สมัยใหม่ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย ทำให้ชาวบ้านหันไปพึ่งหมอจีน (ซินแส) เพื่อช่วยรักษาโรค แต่ไม่สามารถหยุดโรคระบาดได้ ชาวบ้านจึงหันไปหาที่พึ่งจากเทพอารักษ์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย และมีเหตุบังเอิญได้มีชาวบ้านบนบานต่อเจ้าพ่อเทพารักษ์ หรือปุนเถ้ากง เพื่อขอให้ปัดเป่าโรคร้ายไปจากหมู่บ้านและได้ทำการเชิญเจ้ามาเข้าทรง เพื่อทำพิธีรักษาโรคด้วยการเขียน "ฮู้” กระดาษยันต์ และนำไปเผาใส่น้ำดื่มกิน ปรากฏว่าเกิดความอัศจรรย์ขึ้น โรคร้ายที่ได้คร่าชีวิตผู้คนในหมู่บ้านไปเป็นจำนวนมากได้หยุดการระบาดลง ผู้คนเริ่มกลับฟื้นตัวได้อีกครั้งและโรคร้ายก็สูญหาย จึงเป็นที่เลื่องลือว่าเป็นความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าพ่อเทพารักษ์

ด้วยเหตุดังนี้ เมื่อถึงเทศกาลตรุษจีนในปีนั้น ชาวปากน้ำโพ จึงได้ร่วมกันอัญเชิญเจ้าพ่อ–เจ้าแม่ ที่อยู่ในศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์ ออกมาแห่แหนรอบตลาดให้ผู้คนตั้งโต๊ะบูชา เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและครอบครัว มีผู้เข้าร่วมงานเนืองแน่นไปทั้งตลาด และตั้งแต่นั้นมาจึงกลายเป็นสัญญาประชาคมของชาวจีนในเมืองนครสวรรค์ ว่าจะร่วมแรงร่วมใจกันอัญเชิญเจ้าพ่อเจ้าแม่ทุกๆ ศาลออกมาแห่แหนร่วมกันด้วย จึงกลายเป็นงานประเพณีตรุษจีนของชาวนครสวรรค์ มานับแต่บัดนั้น
"งานประเพณีแห่ เจ้าพ่อ–เจ้าแม่ ปากน้ำโพ” ในสมัยเริ่มแรกนั้นมีวัตถุประสงค์ในการที่จะนำองค์เจ้าพ่อ–เจ้าแม่ แห่ไปในเส้นทางต่างๆ ในเมือง เพื่อให้ประชาชนได้จัดตั้งโต๊ะสักการะบูชาที่หน้าบ้าน เป็นการปัดเป่าทุกข์ภัย เพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่เมือง และชาวเมืองปากน้ำโพ แล้วก็ค่อยๆ เพิ่มเติมการแสดงขบวนต่างๆ เข้าไปในขบวนแห่ เช่น สิงโต ล่อโก้ว เอ็งกอ และมังกร การแสดงตำนานพระถังซำจั๋ง เจ้าแม่กวนอิม ซึ่งในเวลาต่อมาจึงได้มีขบวนแห่ที่ประสมประสานทั้งการแห่องค์เจ้าพ่อ–เจ้าแม่ และการแสดงต่างๆ ให้เกิดเป็นความรู้สึกถึงความเป็นสิริมงคล และการเฉลิมฉลองปีใหม่ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ชาวจีนจัดให้มีการไหว้ ในช่วงเทศกาลตรุษจีนอยู่ด้วยไปเลย
แต่ก่อน ขบวนแห่ตรุษจีนปรกติ จะมีเฉพาะกลางวัน ในวันชิวสี่ หรือวันขึ้นปีใหม่ วันที่ ๔ เพียงวันเดียว ต่อมาจึงมีการเพิ่มขบวนแห่ในภาคกลางคืน ในคืนชิวซา หรือ วันขึ้นปีใหม่วันที่สาม ต่อมาจึงเริ่มมีการใช้แสงสีตระการตา โดดเด่นจากขบวนแห่ที่เป็นธรรมเนียมจีนล้วนๆ มาผสมธรรมเนียมไทยและเทคโนโลยีทันสมัย มีแตรวง และโยธวาทิต จากโรงเรียนสำคัญๆ ในเมืองนครสวรรค์มาร่วมนำขวนแห่แหนด้วย เรียกว่า ขบวนแห่แหนในปีถัดๆ มา เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเจ้าภาพและแนวคิดไปเรื่อยๆ ตามพัฒนาการของบ้านเมืองในจังหวัดนครสวรรค์เป็นหลัก
และในวันนี้ ประเพณีตรุษจีนปากน้ำโพ แห่เจ้าพ่อเจ้าแม่นครสวรรค์ ได้พร้อมใจกันจัดงานติดต่อกันมาแล้วอย่างยาวนานถึง ๑๐๓ ปี จุดเด่นที่สุดของขบวนแห่แหนในวันนี้ได้ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป จากขบวนแห่องค์เจ้าพ่อ–เจ้าแม่ มาเป็นรถแห่องค์เจ้าแม่กวนอิม พระโพธิสัตว์ในพุทธศาสนามหายาน โดยพฤตินัย นอกจากนี้ขบวนแห่ต่างๆ ที่เคยมีก็ยังมีอยู่อย่างครบครัน ทั้งขบวนแห่เจ้าพ่อ–เจ้าแม่ วงล่อโก๊ว สิงโต เอ็งกอ และปิดท้ายที่ขบวนแห่มังกรทอง อันเรียกได้ว่าเป็นการรวบรวมศรัทธาของผู้คนหลายกลุ่ม ทั้งเจ้าพ่อ–เจ้าแม่จากศาลต่างๆ ทั้งตัวมังกร สัตว์สวรรค์ผู้นำพาโชคลาภสู่บ้านเรือน ทั้งเอ็งกอ พะบู๊ คนดีปราบอธรรม เป็นต้น
และด้วยเหตุที่การจัดงานประเพณีนี้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาแล้วนับเป็นร้อยปี ทั้งยังมีความสำคัญยิ่งต่อชาวนครสวรรค์ ประเพณีแห่เจ้าพ่อ–เจ้าแม่ปากน้ำโพจึงได้รับการขึ้นบัญชีเป็นมรดกภูมิปัญญาของชาติไทย