กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วัฒนธรรมประเพณี
วันขึ้นปีใหม่สากลของชาวโลก-ชาวไทย

วันที่ 26 ธ.ค. 2562
 

วันขึ้นปีใหม่สากลของชาวโลก-ชาวไทย     

     ชาวโลกรับรู้และยอมรับกันโดยทั่วไปว่า วันขึ้นปีใหม่ คือ วันที่ ๑ มกราคม ของทุกปี ทั้งนี้ความหมายของวันปีใหม่ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ระบุว่า " ปี" หมายถึง เวลาที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครั้งหนึ่งรวมประมาณ ๓๖๕ วัน หรือ ในเวลา ๑๒ เดือนตามปฏิทินสุริยคติ ดังนั้น "ปีใหม่" จึงหมายถึง การขึ้นรอบใหม่หลังจาก ๑๒ เดือน หรือ ๑ ปี นั่นคือ วันที่ ๑ เดือนแรกของปี
 
     เพราะเหตุใด ??? วันปีใหม่ จึงต้องเป็นวันที่ ๑ มกราคม
 

กษัตริย์ จูเลียส ซีซาร์ (Julian Caesar) ภาพจาก omnibiografia.com
 
     วันขึ้นปีใหม่ มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานและน่าสนใจ มีการปรับเปลี่ยนเพื่อความเหมาะสม ไปตามยุคสมัยของผู้ผู้ปกครองหรือมีอำนาจ เชื่อว่าเริ่มต้นใช้ปีใหม่ครั้งแรก ตั้งแต่สมัยชาวบาบิโลเนีย ๔,๐๐๐ กว่าปี ที่ริเริ่มคิดค้นการใช้ปฏิทินโดยคำนวณจากการเคลื่อนที่วงรอบของดวงจันทร์เป็นหลักในการนับ เมื่อครบ ๑๒ เดือน กำหนดให้เป็น ๑ ปี และเพื่อให้เกิดความพอดีระหว่างการนับปีตามปฏิทินกับปีตามฤดูกาล จึงได้เพิ่มเดือนเข้าไปอีก ๑ เดือน เป็น ๑๓ เดือนในทุกๆ ๔ ปี
 

ปฏิทินอียิปต์ ต้นแบบของปฏิทินจูเลียน (ภาพจาก i.pinimg.com/originals / writer.dek-d.com/nui1960/story)
 
     ต่อมาชาวอียิปต์ กรีก และชาวเซมิติค ได้นำปีปฏิทินของชาวบาบิโลเนียมาดัดแปลงแก้ไขอีกหลายครั้งเพื่อให้ตรงกับฤดูกาลต่างๆ มากขึ้น จนถึงสมัยของกษัตริย์นักรบผู้ยิ่งใหญ่ จูเลียน ซีซาร์ Julian Caesar (ประมาณ ๔๖ ปี ก่อนคริสต์ศักราช) ได้นำความคิดและหลักความเชื่อเรื่อง "จักรราศี" ตามหลักสุริยคติของอียิปส์มาผสมผสานกับจันทรคติในแบบเดิม ทำให้ในหนึ่งปีมี ๓๖๕ วัน จึงกำเนิดเป็น "ปฏิทินจูเลียน” Julian calendar ซึ่งใกล้เคียงกับปัจจุบันมาก โดยทุกๆ ๔ ปี ให้เติมวันในเดือนที่มี ๒๘ วัน เพิ่มอีก ๑ วัน เป็น ๒๙ วัน คือ เดือนกุมภาพันธ์ เมื่อกำหนดวันเพิ่มในเดือนกุมภาพันธ์ ในทุกๆ ๔ ปีแล้ว แต่วันในปฏิทินก็ยังไม่ตรงตามฤดูกาลมากนัก คือเวลาในปฏิทินจะยาวกว่าปีตามฤดูกาล เป็นเหตุให้ฤดูกาลมาถึงก่อนวันในปฏิทิน
     และยังพบว่าในวันที่ ๒๑ มีนาคม ตามปีปฏิทินในทุกๆ ปี จะเป็นช่วงที่มีเวลากลางวันและกลางคืนเท่ากัน คือเป็นวันที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นตรงทิศตะวันออก และตกลงทางทิศตะวันตก วันนี้ทั่วโลกจึงมีช่วงเวลาเท่ากับ ๑๒ ชั่วโมงเท่ากัน เรียกว่า วัน Equinox in March
 
     ปฏิทินจูเลียน กำหนดวันที่ ๑ มกราคมเป็นวันแรกของปี ซึ่งเดือนมกราคม (January) มาจากชื่อของเทพเจนัส (Janus) เทพเจ้าแห่งการเริ่มต้นและการเปลี่ยนแปลง โดยจัดให้มีการบูชายัญเทพเจนัส และมอบของขวัญให้แก่กัน ตกแต่งบ้านเรือนด้วยพวงดอกไม้ และเข้าร่วมงานเลี้ยง จึงเป็นจุดเริ่มต้นของวันขึ้นปีใหม่ ๑ มกราคม เป็นต้นมา
 

พระสันตะปาปาเกรกอรี่ที่ ๑๓ ผู้คิดค้นปฏิทินเกรกอเรี่ยน (ภาพจาก ancient-origins.net)
 
     ครั้งมาถึงยุค พระสันตะปาปาเกรกอรี่ที่ ๑๓ ( Pope Gregory XIII ) พบว่าในปี ค.ศ. ๑๕๘๒ หรือ พ.ศ. ๒๑๒๕ วัน Equinox in March กลับปรากฏขึ้นในวันที่ ๑๑ มีนาคม แทนที่จะเป็นวันที่ ๒๑ มีนาคม ดังนั้นในยุคท่านจึงมีการคิดค้นปฏิทินเกรกอเรียนขึ้นใช้แทน เนื่องจากปีในปฏิทินจูเลียน ซึ่งยาวนาน ๓๖๕.๒๕ วันนั้น มีนานกว่าปีฤดูกาลจริง (๓๖๕.๒๔๒๕ วัน) อยู่เล็กน้อย ทำให้วันที่มีเวลากลางวันเท่ากับกลางคืน Equinox in March ของแต่ละปี ขยับเร็วขึ้นทีละน้อย และต้องการให้วันอีสเตอร์ตรงกับวันที่ ๒๑ มีนาคม จึงจำเป็นต้องดัดแปลงปฏิทินจูเลียน เสียใหม่
 
    ปฏิทินแบบใหม่นี้จึงเรียกว่า ปฏิทินเกรกอเรี่ยน (Gregorian calendar) ตามชื่อพระสันตะปาปา เกรกอรี่ ส่งผลให้ประเทศที่นับถือคาทอลิก รวมถึงประเทศต่างๆ ในยุโรปปรับเปลี่ยนมาใช้ปฏิทินเกรกอเรี่ยน และในที่สุดจึงกลายเป็นปฏิทินสากลของโลกยุคปัจจุบัน เนื่องจากการขยายอาณานิคม อิทธิพลของชาวยุโรปไปยังดินแดนต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย
 
     สำหรับประเทศไทย แรกเริ่มได้ถือเอาวันแรม ๑ ค่ำ เดือนอ้าย ตรงกับ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ ตามคติทางพุทธศาสนา ที่ถือช่วงฤดูหนาวเป็นการเริ่มต้นของปี ต่อมาสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้นำเอาคติพราหมณ์ฮินดูที่เข้ามาพร้อมกับศาสนาจากประเทศอินเดีย ที่ถือเอาวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ (เดือนเมษายน) หรือ วันมหาสงกรานต์ ทางจันทรคติ ซึ่งเป็นวันเปลี่ยนรอบปีนักษัตรให้เป็นวันขึ้นปีใหม่ ต่อมาทางราชการนิยมใช้สุริยคติ จึ่งได้ถือวันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นต้นปีมาตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๓๒
 
     จนมาถึงสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม เจ้าของสโลแกน "เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย" ต้องการให้ประเทศไทยมีความเป็นสากลเหมือนอารยประเทศ ที่ยึดการคำนวณทางดาราศาสตร์ ซึ่งนิยมใช้กันมาเป็นเวลาหลายพันปี จึงได้ออกพระราชบัญญัติ ปีปฏิทินพุทธศักราช ๒๔๘๓ ดังข้อความตอนหนึ่งในประกาศ ที่ว่า
 
      "ขอให้ปีใหม่อันเริ่มขึ้นในวันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๔ นี้ จงเป็นเวลารุ่งอรุณแห่งชีวิต ให้ชาติไทยได้รับความเจริญและก้าวหน้าขึ้นสู่ความรุ่งโรจน์ใหญ่หลวง ให้อาณาประชาราษฎร์ทั้งปวงได้รับความร่มเย็นเป็นสุขทั่วกันเทอญ” ประกาศมา ณ วันที่ ๒๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๓ เป็นปีที่ ๗ (ในรัชกาลที่ ๘)
 
     ประเทศไทยจึงได้กลับไปใช้วันเริ่มต้นปีใหม่ ๑ มกราคม ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา…
 

เครื่องจักรกลบอกเวลาโบราณ ( ภาพจาก independent.co.uk/news/uk/home-news/gregorian-calendar )
 
 
ข้อมูล : -วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี / omnibiografia.com / yclsakhon.com / kroobannok.com / dek-d.com / moe.go.th / buddhismarticles.com
             -ประกาศให้ใช้วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ ลงวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๔๘๓ (๒๔๘๔, ๑ มกราคม) ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๘ หน้า ๓๑–๓๓

ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)