>>> "นวดไทย” มีประโยชน์มากกว่าที่คิด เยอะ ???
เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า การนวดไทย สามารถสร้างความผ่อนคลาย บรรเทาอาการปวดเมื่อย ให้แก่คนที่มีปัญหาการใช้กล้ามเนื้อ เคล็ด ครัด หยอก ต่างๆ และยืดเส้นยืดสาย ในผู้ที่มีอาการเส้นตึงหรือยึด อันที่จริงแล้ว การนวดไทย ในทางการแพทย์ มีคุณประโยชน์ ข้อดีมากมาย สามารถบรรเทา รักษาอาการให้กับระบบต่างๆ ในร่างกายของคนเราได้อย่างน่าสนใจยิ่ง
๑) ดีต่อกล้ามเนื้อและกระดูก การนวดจะทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว กล้ามเนื้อที่ตึงจับเป็นก้อนแข็ง จะอ่อนนิ่มลง ทำให้กล้ามเนื้อได้รับการพักผ่อน ส่งผลให้การเคลื่อนไหวอวัยวะในส่วนที่เกี่ยวข้องทำงานได้ดีขึ้น ยังทำให้เลือดนำออกซิเจนเข้ามาหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อได้มากขึ้น สารพิษที่ตกค้างอยู่จะไหลเวียนออกไปจากกล้ามเนื้อได้
๒) ดีต่อผิวหนัง จะเห็นผลเป็นอันดันแรกเพราะผิวหนังจะถูกสัมผัสและถูกกระตุ้นโดยตรง ต่อมเหงื่อและต่อมไขมันใต้ผิวหนังจะได้รับการกระตุ้น ให้มีการหลั่งเหงื่อและไขมันออกมาหล่อเลี้ยงผิวหนัง ส่งผลให้ผิดหนังชุ่มชื่นขึ้น ผิวพรรณดูผุดผ่องมีน้ำมีนวล ได้ผลทั้งในความสวยงามและความแข็งแรงของผิวหนัง ซึ่งจะช่วยต้านทานเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้อีกด้วย
๓) ดีต่อเลือดและน้ำเหลือง แรงนวดที่ส่งลงผ่านในกล้ามเนื้อ มีผลทำให้เส้นเลือดมีการบีบตัวดีขึ้น เลือดจะไหลเวียนได้สะดวกรวดเร็วขึ้น เลือดจะไหลไปหล่อเลี้ยงอวัยวะส่วนต่าง ในร่างกายให้แข็งแรง ในส่วนของระบบน้ำเหลือง นั้นจะไหลเวียนได้ดีจะเกิดจากการที่ร่างกายมีการเคลื่อนไหวอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ แรงจากการนวดจะไปช่วยกระตุ้นทางเดินของน้ำเหลือง ทำให้น้ำเหลืองไหลผ่านท่อน้ำเหลืองได้อย่างสะดวกขึ้น
๔) ดีต่อการหายใจ จะช่วยทำให้ร่างกายผ่อนคลาย ทำให้การหายใจเข้าและออกได้ลึกขึ้น ร่างกายจะได้รับออกซิเจนมากขึ้น ส่งผลดีต่อระบบการเผาผลาญอาหารและของเสียที่อยู่ในร่างกายนั่นเอง
๕) ดีต่อการย่อยอาหาร การนวดทำให้อวัยวะภายในช่องท้องมีการเคลื่อนไหว ส่งผลให้กระเพาะอาหารและลำไส้มีการบีบตัวเพิ่มขึ้น การย่อยอาหาร การดูดซึมอาหาร และการขับถ่าย จะเป็นไปอย่างปกติ การย่อยอาหารได้ดีขึ้นจึงมีส่งผลให้สารอาหารต่างๆ เข้าไปหล่อเลี้ยงระบบของร่างกายได้มากขึ้นด้วย
๖) ดีต่อประสาทและสมอง การนวดนอกจะดีต่อผิวหนังแล้วยังส่งผลดีต่อสมองได้ ในระหว่างการนวดสมองจะได้รับความรู้สึกผ่านมาทางผิวหนัง เมื่อร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย คนที่ได้รับการนวดจะรู้สึกเบาสบาย และปลอดโป่ง ร่างกายและจิตใจจึงได้รับการผ่อนคลายไปพร้อมกัน ภายหลังการนวดสมองจึงเกิดความรู้สึกปลอดโป่ง แจ่มใส เหมือนได้รับการพักผ่อน
เห็นได้ว่า "การนวดไทย” มีผลดีต่อสุขภาพหลายด้าน โดยเฉพาะการนวดทั้งตัวและใช้เวลานาน จะช่วยกระตุ้นระบบต่างๆ คนติดการนวดเพราะหลังจากนวดเสร็จแล้วร่างกายจะรู้สึกสบายทั้งตัว เป็นเพราะการนวดทำให้เกิดผลดีต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย ในระบบบริการสาธารณสุข จึงให้การยอมรับ การนวดไทย เป็นวิธีการในการรักษาสุขภาพและผ่อนคลายที่ดีทางหนึ่ง ของการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
X ข้อควรระวังและข้อห้าม X (กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก)
การนวดจะส่งผลดีต่อสุขภาพอย่างแท้จริง ต้องคำนึงถึงข้อควรระวังและข้อห้าม ดังต่อไปนี้…
-ใช้บริการร้านนวดที่ได้มาตรฐานผ่านการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข
-ผู้ให้บริการนวดไทย ต้องมีใบประกอบวิชาชีพ และได้รับการอบรมการนวดแผนไทยตามมาตรฐานกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
-ผู้ใช้บริการนวดที่มีโรคประจำตัวต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์แผนไทยผู้เชี่ยวชาญ
-ผู้ให้บริการนวดต้องมีการซักประวัติและตรวจประเมินผู้มารับบริการก่อนว่า มีอาการป่วยหรือผ่านการรักษาใดๆ มาบ้าง
-ควรวัดความดันโลหิตเพื่อประเมินแนวทางการรักษาหรือการนวด หากพบมีไข้ขึ้นสูง ความดันโลหิตสูง และชีพจรเต้นเร็วมากกว่า 80 ครั้ง จะไม่สามารถรับบริการนวดได้
-จุดที่ห้ามนวดเด็ดขาด ตามแนวกระดูกและหลอดเลือด แนวกระดูกต้นคอ แนวกระดูกสันหลัง บริเวณซี่โครง บริเวณข้างคอ ใต้หู หลังหู และต่อมน้ำเหลืองใต้คาง
-จุดที่ต้องระวังเป็นพิเศษ คือ การกดจุดเปิดประตูลม ควรทำแค่ครั้งเดียวไม่เกิน 45 วินาที และจุดที่เป็นศูนย์รวมของเส้นประสาทต่างๆ เช่น ข้อพับแขน ข้อมือ และข้อพับขา

(ภาพ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก)
*ข้อควรระวัง ในกลุ่มเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือด ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ยังควบคุมอาการให้เป็นปกติไม่ได้ โรคกระดูกพรุนรุนแรง ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดใส่เหล็กและข้อเทียม หรือจุดที่เคยทำศัลยกรรมตกแต่ง บริเวณที่มีการอักเสบจากการติดเชื้อ กระดูกแตก หัก ปริ ร้าว ข้อเคลื่อน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคผิวหนังมีแผลเปิดเรื้อรัง โรคติดต่อระยะแพร่เชื้อ โรคมะเร็ง แผลหลังผ่าตัดยังไม่หายสนิท หลอดเลือดดำอักเสบ เป็นต้น
>>> ติดตามกิจกรรมที่จะมีเพื่อเฉลิมฉลองวาระ นวดไทย ขึ้นบัญชีมรดกฯ ของมนุษยชาติ ได้ทางเฟสเพจกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และ Line @วัฒนธรรม <<<
ข้อมูลจาก : -กรมส่งเสริมวัฒนธรรม , นวดไทย มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ.๒๕๖๑ -กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข