ยูเนสโก ประกาศ "นวดไทย"
เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ประจำปี ๒๕๖๒
"นวดไทย” มรดกวัฒนธรรมจากพุทธกาล...สู่มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ (ตอน ๗)
เป็นช่วงเวลาแห่งภาคภูมิใจของคนไทย อีกครั้ง เมื่อที่ประชุมคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐบาล ของยูเนสโก ระหว่างวันที่ ๙ - ๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๒ ณ สาธารณรัฐโคลอมเบีย มีมติรับรองและประกาศให้ "นวดไทย” เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ประจำปี ๒๕๖๒ หลังจากประเทศไทยได้เข้าร่วมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๙ ในลำดับสมาชิกที่ ๑๗๐ "นวดไทย” จึงเป็นมรดกภูมิปัญญาฯ ของไทย รายการที่สอง ที่ได้รับการประกาศขึ้นบัญชีกับยูเนสโก ต่อจากรายการ "โขน” ที่ขึ้นไปแล้วเมื่อปลายปี ๒๕๖๑
การเสนอนวดไทย ในปีนี้ ด้วยมองเห็นว่า เป็นมรดกภูมิปัญญาที่มีความโดดเด่นเป็นอัตลักษณ์ และกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้ประกาศขึ้นบัญชี นวดไทย เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ แล้วเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๔ ซึ่งมีลักษณะที่สอดคล้องตามหลักเกณฑ์ของยูเนสโก ใน ๒ สาขา คือ -สาขาแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม -สาขาความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล
ที่สำคัญ นวดไทย เป็นศาสตร์และศิลป์ทางการแพทย์ดั้งเดิม ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพที่มีอยู่ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย และมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรมท้องถิ่นและพระพุทธศาสนา โดยปรากฏหลักฐานแน่ชัดเกี่ยวกับการนวดไทยในสังคมไทย เป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๖๐๐ ปี มาแล้ว
ในปัจจุบัน ยังได้รับการยอมรับในวงการแพทย์และสาธารณสุข ให้เป็นศาสตร์สาขาหนึ่งของ การแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก และนวดไทยนอกจากจะได้รับความนิยมในคนไทยทั่วไปแล้ว นักท่องเที่ยวยังให้ความสนใจ ใช้บริการนวดไทยอย่างกว้างขวาง ถือเป็นงานบริการและอาชีพด้านหนึ่งที่สามารถทำรายได้ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง อันได้แก่ สถานประกอบการ ผู้ให้บริการ หมอนวด อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ทั้งยังสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง...
อนึ่ง การเข้าเป็นประเทศสมาชิกภาคีอนุสัญญาฯ ดังกล่าว มีผลให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์ในหลายด้าน เช่น สามารถนำเสนอ "รายการตัวแทนของมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ” ที่เป็นของไทยต่อยูเนสโก เป็นการแสดงตัวตนของไทยในเวทีระดับนานาชาติ ทั้งยังสามารถขอความช่วยเหลือหรือความร่วมมือจากระหว่างประเทศ เช่น เรื่องการฝึกอบรม การแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ หรือการทำกิจกรรมร่วมกันกับประเทศสมาชิก รวมถึงการของบประมาณ หรือเทคนิคในการส่งเสริมรักษามรดกภูมิปัญญาฯ ของไทย นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างความภาคภูมิใจแก่คนในชาติ และทำให้ชาติอื่นได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของมรดกภูมิปัญญาในประเทศไทย และมีส่วนช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว อีกด้วย
ข้อมูลจาก : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม , นวดไทย มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ.๒๕๖๑