กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วัฒนธรรมประเพณี
ตำนานพระแก้วมรกต

วันที่ 18 ธ.ค. 2562
 
เรื่อง : ส. พลายน้อย
ภาพ : อภินันท์ บัวหภักดี
 
 
พระแก้วมรกต
 
 
     การเล่าเรื่องพระแก้วมรกตเป็นเรื่องยาก เพราะยังไม่พบหลักฐานที่ชัดเจน มีแต่ตำนานที่เล่าสืบทอดกันมาทั้งในตำราพระพุทธศาสนาและตำนานเมือง มาปรากฏหลักฐานชัดเจนขึ้นในสมัยธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ และเรื่องที่จะเล่าต่อไปก็จะเล่าในมุมกว้างเพื่อให้เห็นความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนที่เป็นมาแต่โบราณกาลว่าเป็นอย่างไร โดยใช้เอกสารที่เคยเชื่อถือสืบต่อกันมาเป็นหลัก
 
     ตามตำนานพระพุทธศาสนากล่าวว่า เมื่อพระนาคเสนะเถระจะสร้างพระพุทธรูปด้วยรัตนะ พระอินทร์จึงรับอาสาจะหารัตนะมาให้ ได้ส่งพระวิสสุกรรมสถาปนิกใหญ่ของเทวดาไปนำแก้วมณีสีขาวที่ภูเขาวิบุลบรรพตมาทำ แต่พวกกุมภัณฑ์ที่เฝ้าแก้วมณีอยู่ไม่ยอมให้ ในที่สุดพระอินทร์ต้องเสด็จไปขอด้วยพระองค์เอง พวกกุมภัณฑ์ก็ไม่อาจขัดขืน แต่ขอร้องว่าอย่าเอาแก้วมณีโชติสีขาว ซึ่งเป็นของพระเจ้าจักรพรรดิผู้ประเสริฐนี้ไปเลย ขอให้เอาแก้วอมรโกฏสีเขียวไปแทนเถิด พระอินทร์ไม่อยากขัดใจก็จำต้องรับเอาแก้วอมรโกฏสีเขียวไปถวายพระนาคเสนะเถระ พระวิสสุกรรมก็แปลงร่างเป็นช่างลงมารับทำพระแก้วอมรโกฏจนสำเร็จ
 
     ตามเรื่องที่กล่าวมาข้างต้นเป็นตำราเก่า ที่เล่าสืบต่อกันมาแต่เดิมมีแก้ไขต่อเติมบ้างบางแห่ง อาจารย์ธรรมทาส พานิช เป็นผู้หนึ่งที่สนใจเรื่องพระแก้วมรกตมานานหลายสิบปี ได้ค้นคว้าให้เห็นว่า พระแก้วมรกตสร้างในเมืองไทยนี้เอง ไม่ได้สร้างทำที่อินเดียหรือลังกาอย่างที่กล่าวกัน ดังความตอนหนึ่งว่า
 
      "ตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช เล่าถึงพระเจ้าศรีธรรมาโศก มาตั้งที่เวียงสระและที่หาดแก้วเมืองนครศรีธรรมราช เป็นประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงพันพานและกรุงตามพรลิงค์ ตามตำนานพระแก้วมรกตเล่าถึงกษัตริย์ไศเลนทร์สร้างพระแก้วมรกต ที่นครปาตลีบุตรเมืองไทย ประมาณ พ.ศ. ๑๒๖๐”
 
     นอกจากนี้ยังมีคำอธิบายว่า ตามประวัติศาสตร์คนไทยโบราณที่ลงมาอยู่ในดินแดนล้านนาเรียกว่าพวกโยนก คนไทยโบราณที่ลงมาอยู่ที่ละโว้ อโยธยา ไชยา นครศรีธรรมราชเรียกว่าพวกกัมโพช (คำว่ากัมโพช หมายถึงชาวใต้ ในสมัยต่อมา เมื่อขอมซึ่งเป็นไทยมีมารดาเป็นเขมรมีอำนาจมากขึ้น ชาวไทยเหนือจึงเรียกพวกไทยใต้ว่าขอม) ในตำนานพระแก้วมรกต เรียกเมืองนครศรีธรรมราชว่า ลังกาทวีปกัมโพชวิสัย ลังกาแปลว่าเมืองที่มีพระไตรปิฎก (เห็นจะหมายความว่า พระไตรปิฎกเกิดขึ้นที่ลังกา) เมืองพระไตรปิฎกของชาวกัมโพชในตำนานพระแก้ว ก็คือเมืองนครศรีธรรมราชนั่นเอง (ตามตำนานกล่าวว่า พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชสร้างเมืองเมื่อพุทธศักราช ๑๐๙๘ ปี จึงเรียกเมืองศรีธรรมมาราชมหานคร)
 
 
     ตามตำนานกล่าวว่า ปฐมกษัตริย์ของมอญชื่อพระเจ้าอนุรุธ ได้ตั้งจุลศักราชขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๑๘๑ แต่ตั้งศักราชได้เพียงปีเดียวก็สวรรคต ต่อมาลูกหลานที่สืบสายต่อมา (ว่าชื่ออนุรุธเหมือนกัน) ได้ยกทัพม้ามาตีเมืองนครศรีธรรมราช อัญเชิญพระแก้วมรกตจะลงเรือกลับไปเมืองมอญ แต่กลับถูกพายุใหญ่พัดเรือหลงไปไกลถึงนครอินทปัต ซึ่งในเวลานั้นพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ เมืองพระนครกำลังมีพระเดชานุภาพ มอญก็ไม่กล้าไปแย่งพระแก้วมรกตกลับคืน ในตำนานกล่าวแต่เพียงว่า พระเจ้าอนุรุธปลอมเป็นราษฎรไปสืบเรื่องพระแก้วมรกตแต่ก็ไม่สามารถเอากลับคืนมาได้
 
     ในพงศาวดารกรุงกัมพูชาเล่าเรื่องพระแก้วมรกตตอนอยู่ในนครอินทปัตไว้ว่า พระแก้วมรกตเข้าไปเมืองอินทปัต ในรัชกาลพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ (ต้นวงศ์ของพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์เป็นไทย แต่ทางเขมรถือว่าฝ่ายมารดาต้องเป็นใหญ่กว่าฝ่ายบิดา เพราะฉะนั้นจึงเรียกเมืองพระนครว่ากรุงกัมพูชา)
 
     เมื่อพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์สวรรคตแล้วไม่นาน มีพวกเจ้านายเขมรมาชิงเมืองพระนครได้ ตามพงศาวดารกัมพูชาว่า พระโคดมเป็นผู้มาปราบ กล่าวโดยสรุปตามตำนานกล่าวว่า มีพระมหากษัตริย์ผู้ครองกรุงศรีอยุธยาได้ยกกองทัพไปอัญเชิญพระแก้วมรกตมาจากนครอินทปัต พระแก้วมรกตจึงได้กลับมาสู่ดินแดนไทย กษัตริย์พระองค์นั้นคือพระเจ้าอาทิตยราชผู้ครองนครอโยธยาโบราณ (ตามเรื่องที่เล่าว่า ก่อนนั้นเมืองอโยธยาไปอยู่นครละโว้ และประมาณ พ.ศ. ๑๕๘๕ พระเจ้าอาทิตยราชจึงได้ย้ายจากละโว้กลับมายังอโยธยาอีกแต่ความที่กล่าวไม่ชัดเจน)
 
     มีเรื่องพระแก้วมรกตที่ไปอยู่เมืองละโว้เล่าไว้ในพงศาวดารเหนือแปลกดี คือเขาเล่าว่าพระเจ้ากำแพงเพชรได้ส่งราชบุตรพระองค์หนึ่งไปครองเมืองละโว้ พระราชบุตรได้ขอให้พระราชมารดาทูลขอพระแก้วมรกตเพื่อเอาไปสักการะบูชา พระเจ้ากำแพงเพชรก็ตรัสอนุญาตว่า ถ้าพระราชบุตรรู้จักพระแก้วมรกตว่าเป็นองค์ใหนแล้วก็เอาไปเถิด (ฟังตามนี้ทำให้เข้าใจว่าพระแก้วจะมีหลายองค์) พระราชมารดาจึงให้ไปหาผู้รักษาพระแก้วมรกต พระราชทานทองคำให้สองตำลึงเพื่อให้ทำเครื่องหมายสำคัญบอกให้รู้ ผู้รักษาพระแก้วมรกตก็เอาดอกไม้แดงไปวางไว้ที่ฝ่าพระหัตถ์พระแก้ว พระราชบุตรก็เข้าไปยกพระแก้วมรกตไปไว้ที่เมืองละโว้ พระแก้วมรกตอยู่ที่เมืองละโว้ได้ ๑ ปี ๙ เดือน พระราชบุตรก็นำไปส่งคืนพระราชบิดาที่กำแพงเพชร
 
     ในเรื่องชินกาลมาลีปกรณ์เล่าว่า สมัยพระเจ้ากือนา ครองนครเชียงใหม่ (พ.ศ. ๑๘๙๙–๑๙๒๙) พระอนุชาของพระเจ้ากือนา ชื่อเจ้ามหาพรหม ครองนครเชียงราย เจ้ามหาพรหม ได้ยกกองทัพมาเมืองกำแพงเพชรในสมัยพระเจ้าติปัญญา (พระยาญาณดิศ) ทูลขอพระพุทธสิหิงค์ และพระแก้วมรกตไปเมืองเชียงราย ต่อมาพระเจ้าแสนเมืองมา (พระโอรสพระเจ้ากือนา) ได้ครองเมืองเชียงใหม่ จึงยกทัพไปรบกับเจ้ามหาพรหม พระเจ้าแสนเมืองมาชนะจึงเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปเชียงใหม่ ส่วนพระแก้วมรกตมีผู้นำไปซ่อนไว้
 
     ครั้นถึงรัชกาลพระเจ้าติโลกราช ครองนครเชียงใหม่ (พ.ศ. ๑๙๘๕–๒๐๓๑) จึงมีผู้พบพระพุทธรูปในวัดแห่งหนึ่งในเมืองเชียงราย เป็นพระพุทธรูปลงรักปิดทอง ปรากฏว่ามีรอยกะเทาะที่พระกรรณจึงรู้ว่าเป็นพระแก้วมรกต พระภิกษุเจ้าอาวาสได้กะเทาะรักและทองออก แล้วแจ้งให้เจ้าเมืองเชียงรายทราบ มีเรื่องต่อมาว่าพระเจ้าติโลกราชได้อัญเชิญพระแก้วมรกตออกจากเมืองเชียงรายมาถึงเมืองไชยสัก ปรากฏว่าช้างที่เป็นพาหนะไม่อาจรับน้ำหนักพระแก้วมรกตที่เพิ่มขึ้น ต้องอัญเชิญลงพักไว้แล้วให้คนไปทูลพระเจ้าติโลกราชให้ทรงทราบ พระองค์ตระหนักในพระบารมี จึงสั่งให้เขียนชื่อเมืองเชียงใหม่ เมืองหริภุญชัย เมืองพะเยา เมืองลำปาง แล้วให้จับฉลาก ปรากฏว่าจับได้เมืองลำปาง พระองค์จึงมีพระราชดำริว่าพระแก้วมรกตคงจะเห็นควรเสด็จไปโปรดชาวลำปางก่อน จึงทรงอนุญาตให้อัญเชิญไปเมืองลำปาง ปรากฏว่าน้ำหนักพระแก้วมรกตลดลงเป็นที่น่าอัศจรรย์ อัญเชิญขึ้นหลังช้างได้โดยสะดวก ช้างก็เดินทางสู่นครลำปาง และต่อมาพระเจ้าติโลกราชได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐานที่นครเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๐๒๒
 
 
     มีเรื่องทางฝ่ายหลวงพระบางเล่าว่า เมื่อพระเจ้าโพธิสารราชาธิราชเสวยราชย์ กรุงศรีสัตนาคนหุตนั้น มีพระมหาเถระองค์หนึ่งมาจากนครเชียงใหม่ พระเจ้าโพธิสารได้ปฏิบัติบูชาแสดงความเคารพพระเถระเป็นอย่างดี พระเจ้าเชียงใหม่ทรงทราบว่าพระเจ้าโพธิสารเป็นกษัตริย์ทรงธรรม มีความยินดีจัดส่งพระราชธิดามาถวายให้เป็นอัครมเหสี ซึ่งต่อมามีพระโอรสทรงพระนามว่า เจ้าฟ้าไชยเชษฐา เมื่อพระเจ้าเชียงใหม่สวรรคต ขุนนางข้าราชการได้ไปเชิญพระไชยเชษฐาให้มาเป็นกษัตริย์เชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๓
 
     ครั้นถึง พ.ศ. ๒๐๙๕ พระเจ้าโพธิสารสวรรคต พระไชยเชษฐาจะเสด็จไปถวายพระเพลิงพระราชบิดา จึงอัญเชิญพระแก้วมรกตและพระพุทธสิหิงค์จากนครเชียงใหม่ไปนครหลวงพระบางด้วย อีก ๑๒ ปีต่อมาพระเจ้าไชยเชษฐาย้ายราชธานีไปอยู่ที่เวียงจันทน์อยู่เป็นเวลานาน จนกรุงศรีอยุธยาถูกทำลายเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐
 
     ก็ในครั้งนั้นพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชรได้รวบรวมผู้คนกอบกู้กรุงศรีอยุธยาให้พ้นจากการยึดครองของพม่าข้าศึก แล้วยกเมืองธนบุรีขึ้นเป็นราชธานี กล่าวโดยสรุปในสมัยธนบุรีนี้เองที่เมืองเวียงจันทน์กระด้างกระเดื่องไม่ยอมขึ้นกับไทย พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกกองทัพไปปราบปรามจนราบคาบ เมื่อได้เมืองเวียงจันทน์แล้ว ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางมาด้วย สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้จัดกระบวนเรือไปรับเป็นการใหญ่ และให้จัดละคร โขน งิ้ว ลงเรือสามปั้นไปแสดงในกระบวนแห่ แล้วโปรดให้สร้างโรงพระแก้วที่หลังพระอุโบสถวัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) สำหรับเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตและพระบาง แล้วโปรดให้มีการฉลองสมโภชต่างๆ
 
     ครั้นสิ้นราชการสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ นั้นแล้ว สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกมีพระราชดำรัส อัญเชิญพระแก้วมรกตข้ามฟากมาอยู่ฝั่งตะวันออก ในครั้งนั้นโปรดให้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามพร้อมกับสร้างพระนครอยู่ ๒ ปี จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตจากวัดอรุณราชวราราม มาประดิษฐานในพระอุโบสถ เมื่อ ณ วันจันทร์ เดือน ๔ แรม ๑๒ ค่ำ ปีมะโรง จ.ศ. ๑๑๔๖ ตรงกับวันที่ ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๒๗ แล้วนิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะมาประชุมทำสังฆกรรมสวดผูกพัทธสีมาในวันนั้น
 
     เมื่อการสร้างพระอารามเสร็จบริบูรณ์แล้ว ได้พระราชทานนามว่า "วัดพระศรีรัตนศาสดาราม” ต่อมาเมื่อตั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและสมโภชพระอารามกับฉลองพระนคร ได้พระราชทานนามพระนครให้ต้องกับนามพระพุทธรัตนปฏิมากรว่า "กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์มหินทรายุธยาบรมราชธานี” เพราะเป็นที่ประดิษฐานพระมหามณีรัตนปฏิมากร
 
     อนึ่งตามตำนานกล่าวว่า ภายในองค์พระแก้วมรกตมีพระบรมธาตุ ประดิษฐานอยู่ ๗ พระองค์คือ
• พระองค์หนึ่งเสด็จอยู่ในพระโมฬี
• พระองค์หนึ่งเสด็จอยู่ในพระพักตร์
• พระองค์หนึ่งเสด็จอยู่ในพระหัตถ์ขวา
• พระองค์หนึ่งเสด็จอยู่ในพระหัตถ์ซ้าย
• พระองค์หนึ่งเสด็จอยู่ในเข่าข้างขวา
• พระองค์หนึ่งเสด็จอยู่ในเข่าข้างซ้าย
• พระองค์หนึ่งเสด็จอยู่ในพระชงฆ์
 
     พระแก้วมรกตหรือพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ หน้าตักกว้าง ๒๓ นิ้ว (๔๘ เซ็นติเมตร) สูง ๑ ศอก ๗ นิ้ว (๖๕ เซ็นติเมตร) แต่บางแห่งว่าหน้าตักกว้าง ๔๘.๓ เซ็นติเมตร สูงตั้งแต่ฐานเป็นมณีแท่งเดียวกันตลอดถึงยอดพระเศียร ๖๖ เซ็นติเมตร (ในชินกาลมาลีปกรณ์ว่าสูง ๑ ศอก ๑ นิ้ว)
 
     เมื่ออัญเชิญมาจากเมืองเวียงจันทน์นั้นไม่มีเครื่องประดับแต่อย่างใด สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ถวายเงินกัลปนาให้ซื้อทองคำทำเครื่องประดับพระแก้วมรกตเป็นเงิน ๑๐๐ ชั่ง ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสร้างเครื่องทรงสำหรับฤดูร้อนถวายอย่าง ๑ กับเครื่องทรงสำหรับฤดูฝนอีกอย่าง ๑ ครั้นถึงรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างเครื่องทรงสำหรับฤดูหนาวถวาย เพื่อให้ครบทั้ง ๓ ฤดู
 
     พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลื่อมใสศรัทธาพระแก้วมรกตเป็นอันมาก ครั้งหนึ่งโปรดให้คนไปหาซื้อเพชรที่อินเดีย ไปได้เพชรเม็ดใหญ่มาจากเมืองกัลกัตตา โปรดให้ประดับที่พระนลาตพระแก้วมรกต นอกจากนี้ยังชักชวนให้ประชาชนได้เข้าไปกราบไหว้บูชาในวันพระเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งแต่ก่อนคนภายนอกไม่สามารถเข้าไปได้ด้วยเป็นเขตพระราชฐาน
 
 
     เรื่องพระแก้วมรกตตามที่เล่ามา เป็นเพียงลำดับความให้ทราบถึงความเป็นมาตั้งแต่ต้น ได้ตัดเรื่องเกร็ดเบ็ดเตล็ดออกเพื่อมิให้เรื่องยืดยาวสับสนและหวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ไม่ทราบตามสมควรครับ
 
 
ข้อมูล : วารสารวัฒนธรรม ฉบับที่ ๑ ปี ๒๕๖๒
http://magazine.culture.go.th/2019/1/index.html
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)