กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วัฒนธรรมประเพณี
หนังไทยหัวใจรักชาติ เอกราชของชาติไทยแลกมาด้วยเลือดเนื้อและชีวิตของบรรพชน

วันที่ 11 ธ.ค. 2562
 
เรื่อง : อู๋ คุณากร
ภาพ : กองบรรณาธิการ
 
 
หนังไทยหัวใจรักชาติ
 เอกราชของชาติไทยแลกมาด้วยเลือดเนื้อและชีวิตของบรรพชน
 
  
     จะมีหนังไทยสักกี่เรื่องที่ดูแล้วรู้สึกฮึกเหิม ดูแล้วเกิดความรักชาติ รักสามัคคี อย่างหนังรักชาติชั้นดี ๆ ที่ทั่วโลกเขานิยมสร้างกัน โดยเฉพาะประเทศเกาหลี ที่ขยันสร้างหนังแนวนี้ เพื่อปลุกกระแสชาตินิยมอย่างต่อเนื่อง อย่างเรื่องล่าสุด "ชีวิตเพื่อชาติ รักนี้เพื่อเธอ” ที่สร้างจากเหตุการณ์สมมุติของทหารปฏิบัติการพิเศษกับหน่วยแพทย์อาสา หนังประสบความสำเร็จดังเป็นพลุแตก ได้รับการยอมรับจากหลาย ๆ ประเทศ ด้วยโปรดักชันที่ยิ่งใหญ่อลังการ ไม่ต่างจากงานฮอลลีวูด หรืออย่าง "ยีซุนชิน” ขุนพลคลื่นคำราม แม่ทัพเรือขั้นเทพที่รบชนะกองทัพเรือญี่ปุ่นที่มีแสนยานุ ภาพกว่า ๓๐๐ ลำ โดยใช้กองเรือเพียงแค่ ๑๓ ลำ กับกลยุทธ์ในการอ่านทิศทางลม หนังอาจดูสนุกตื่นเต้นเกินจริงเหนือประวัติศาสตร์ที่เรารับรู้กันไปบ้าง แต่ก็สร้างกระแสได้เป็นอย่างดี หากจะสร้างกันตามประวัติศาสตร์ ก็จะน่าเบื่อและกลายเป็นหนังสารคดีประวัติศาสตร์ไปเลยทีเดียว
 
  
    
     ทำไมทั่วโลกยังต้องสร้างหนังแนวนี้ ทั้งที่ต้องใช้ทุนสร้างมหาศาล เพราะคนรุ่นใหม่มีชีวิตที่สุขสบายจนลืมไปว่า กว่าจะมาเป็นชาติ บรรพบุรุษต้องเสียเลือดทาแผ่นดินไปไม่รู้เท่าไหร่ เพื่อรักษาชาติบ้านเมืองให้อยู่รอด หากเราทุกคนมีความรักชาติ ก็จะมีความคิดที่จะช่วยกันบำรุงพัฒนาให้ประเทศชาติเจริญยิ่งขึ้น หากไม่รักชาติขาดความสามัคคี ประเทศนั้นก็จะเจริญได้ยาก เพราะคำนึงถึงแต่ผลประโยชน์ส่วนตน จนประเทศถอยหลัง จึงต้องมีการส่งสารกระตุ้นเตือน ในรูปแบบของภาพยนตร์ที่ดูเข้าใจง่าย เปรียบเปรยได้เห็นภาพในยามที่เกิดความยากลำบาก ยามที่ไร้แผ่นดิน ต้องกลายเป็นคนชายขอบ ต้องทนกับความรู้สึกดูถูกเหยียดหยาม หรือสะท้อนภาพการสูญเสีย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ ที่มักมีเนื้อหาเรื่องราวนำเสนอถึงวีรกรรมของวีรบุรุษ ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ ขุนศึกผู้ยิ่งใหญ่ หรือบุคคลที่มีบทบาทในการกอบกู้แผ่นดิน สะท้อนถึงความรัก ความภักดี การเสียสละที่จะดำรงไว้ซึ่งความมั่นคงของชาติ ฉากสงครามต่างๆ ที่เหมือนจริง ย่อมก่อให้เกิดความสะเทือนใจ เสมือนได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเวลาในยุคนั้นๆ
 
 
     หนังแนวนี้สัญชาติไทยเองนั้น นานปีจะมีสักเรื่อง จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายหากท่านไม่มีโอกาสได้ดู หลายเรื่องทางหอภาพยนตร์ได้ประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ อาทิ ศึกบางระจัน กองพันจงอางศึก เลือดสุพรรณ ทวิภพ โหมโรง บางระจัน สุริโยไทองค์บาก ขุนศึก เป็นต้น และมีอีกหลายเรื่องที่แม้ไม่ได้ขึ้นทะเบียนแต่ก็มีคุณค่าไม่แพ้กัน อย่างเช่น แผ่นดินของใคร หนักแผ่นดิน ๑๗ ทหารกล้า มือปืน ๒ สาละวิน ยุวชนทหาร ฯลฯ หนังรักชาติที่เก่าที่สุดน่าจะเป็นหนังที่ถ่ายทำในระบบฟิล์ม ๑๖ มม. เรื่องเลือดสุพรรณ บทประพันธ์โดย พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๔ และถูกสร้างเป็นภาพยนตร์อีกครั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒ กำกับโดย เชิดทรงศรี นำแสดงโดย ลลนา สุลาวัลย์ และไพโรจน์ สังวริบุตร เป็นหนังปลุกใจผู้หญิงไทยให้รักชาติและลุกขึ้นมารบ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในสุพรรณบุรี เล่าถึงดวงจันทร์หญิงที่พบรักกับชายที่ช่วยเธอจากการที่ถูกพม่าบุกและฉุดคร่าหญิงสาวจำนวนมากไปข่มขืน โดยไม่รู้มาก่อนว่าเขาเป็นลูกแม่ทัพพม่า ซึ่งความรักทำให้เขาปล่อยเชลยไปจนโดนโทษประหาร สุดท้ายเมื่อชาวสุพรรณบุรีได้รับอิสรภาพแล้ว ทุกคนก็ยังลุกขึ้นมาสู้กับพม่าจนตัวตาย ตามมาด้วย "ศึกถลาง” ของบูรพาภาพยนตร์ ออกฉายที่โรงภาพยนตร์ควีนส์เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๔๙๙ กำกับโดยพรานบูรพ์ (จวงจันทร์ จันทร์คณา) สร้างจากเค้าโครงประวัติศาสตร์ที่กษัตริย์เมืองพม่า ส่งกองทัพมาตีเมืองตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง จนกระทั่งถึงเมืองถลาง (ภูเก็ต) ใน พ.ศ. ๒๓๒๘ ขณะนั้นพระยาถลางเจ้าเมืองกำลังป่วยหนักใกล้ถึงอนิจกรรม คุณหญิงจันทร์ ภรรยาจึงชักชวนน้องสาวรวมกำลังชาวบ้าน บุกฐานที่ตั้งทัพของพม่า จนทหารพม่าถอยร่นหนีลงทะเล คุณหญิงจันทร์กับน้องจึงได้รับพระราชทานยศเป็น ท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร
 
 
     อีกเรื่องที่ถือเป็นหนังประวัติศาสตร์ก็ว่าได้ เป็นหนังไทยเรื่องแรกและเรื่องเดียวที่ได้ยกกองขึ้นไปถ่ายทำ บนแผ่นดินเขาพระวิหาร ในขณะที่ยังคงเป็นดินแดนของไทยอยู่ เราจึงได้เห็นภาพธงไตรรงค์โบกสะบัดบนเขาพระวิหาร "แผ่นดินของใคร” ออกฉายเมื่อปลาย พ.ศ. ๒๕๐๒ กำกับโดย ปริญญา ลีละศร ถ่ายภาพโดย ฉลอง กลิ่นพิกุล ถ่ายทำเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๑ - มกราคม ๒๕๐๒ ก่อนเจ้าสีหนุ (กษัตริย์กัมพูชาในสมัยนั้น) จะนำเรื่องปราสาทเขาพระวิหารขึ้นฟ้องต่อศาลโลกในเดือนตุลาคม ๒๕๐๒ และศาลโลกตัดสินเมื่อปี ๒๕๐๕ เรื่องนี้เป็นหนังแอ็กชันยิงกันสนั่นโรง ตัวหนังเป็นหนังแนวสายลับปฎิบัติการเพื่อชาติ ได้นักบู๊ยุคนั้นอย่าง แมน ธีระพล มาประกบนักแสดงมากฝีมือ ทักษิณ แจ่มผล ร่วมด้วยนางเอกเจ้าน้ำตา วิไลวรรณ วัฒนพานิช และดาวร้ายปรียา รุ่งเรือง ที่ได้ฉายา "อกเขาพระวิหาร” จากหนังเรื่องนี้
 
     ในปี ๒๕๐๙ "ศึกบางระจัน” ภาพยนตร์สี ๑๖ มม. ที่สร้างโดยภาพยนตร์สหะนาวีไทย โดยมีสุพรรณ พราหมณ์พันธุ์ เป็นผู้อำนวยการสร้างและกำกับการแสดงร่วมกับ อนุมาศ บุนนาค นำแสดงโดย สมบัติ เมทะนี อดุลย์ ดุลยรัตน์ รุจน์ รณภพ พิศมัย วิไลศักดิ์ ชุมพร เทพพิทักษ์ ส่งผลให้ สมบัติ เมทะนี คว้ารางวัลตุ๊กตาทองมาครอง
 
     ส่วนหนังเรื่องแรกที่นำเรื่องราวของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชมาสร้างคือ "นเรศวรมหาราช” สร้างในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ นำแสดงโดยชูชัย พระขรรค์ชัย-รัตนาภรณ์ อินทรกำแหง กำกับโดยพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ถ่ายทำนานถึง ๔ ปี ลงทุนสร้างมหาศาล อลังการมากสำหรับหนังไทยในยุคนั้น ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ "มหาราชดำ” กำกับโดย ทรนง ศรีเชื้อ ได้ออกฉาย นับเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องที่ ๒ ที่ได้นำเรื่องราวของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชมาสร้าง แต่ไม่ได้หยิบเอาพระราชประวัติมาทั้งหมด ดำเนินเรื่องโดยใช้ตัวละครสมมุติ โดยมี พิศาล อัครเศรณี รับบทสมเด็จพระนเรศวรมหาราช นักแสดงสมทบได้แก่ มนตรี เจนอักษร อำภา ภูษิต อาวุธ พิทักษ์พงศ์ ธิติมา สังขพิทักษ์ ฉากรบอลังการพอควร ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากสำนักนายกรัฐมนตรี
 
     "หนักแผ่นดิน” เป็นหนังที่ต่อสู้กับข้าราชการที่ฉ้อราษฎร์บังหลวง ที่กัดกินแผ่นดินเหมือนสนิมเนื้อใน กำกับและแสดงนำโดย สมบัติ เมทะนี ร่วมกับ นัยนา ชีวานันท์ ครรชิต ขวัญประชา ฉายในปี ๒๕๒๐ เป็นเรื่องราวของชาวบ้านร่วมกันต่อสู้กับผู้มีอิทธิพลในบ้านเมือง ซึ่งมีพฤติกรรมเป็นคนขายชาติ ภาพยนตร์เรื่องนี้มีคำนิยมที่ชักชวนให้ประชาชนในชาติร่วมแสดงความสมัครสมานสามัคคีว่า "ชาติไทยจะอยู่ได้ เพราะคนไทย รวมกันเราอยู่ แยกกันเราสิ้นสลาย” โดยใช้เพลงประกอบ "หนักแผ่นดิน” ที่พันเอกบุญส่ง หักฤทธิ์ศึก ประพันธ์ไว้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ซึ่งทุกท่อนทุกตอนของเนื้อเพลงนี้เสียดแทงกินใจว่า "หนักแผ่นดินหนักแผ่นดิน คนเช่นนี้เป็นคนหนักแผ่นดิน”
 
     "ยุวชนทหาร เปิดเทอมไปรบ” หนังโปรดของใครหลายคนออกฉายในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ กำกับโดยยุทธนา มุกดาสนิท สร้างจากเค้าโครงเรื่องจริงของเด็กชายชั้นมัธยมปลาย ที่อาสาสมัครไปรบเพื่อชาติ ยุวชนทหารทั้งหมดได้รับการฝึกหนักเยี่ยงทหารหาญทั่วไป แม้ขาดอาวุธในการฝึก เพราะไม่มีใครคาดคิดว่าสงครามจะเกิดขึ้น ร้อยเอกถวิลและเหล่ายุวชนทหารจึงได้จัดการแสดงยุทธกีฬา เพื่อเรื่ยไรเงินมาซื้ออาวุธ และได้สร้างวีรกรรมครั้งยิ่งใหญ่ที่สะพานท่านางสังข์ จังหวัดชุมพร ยุวชนทหารได้ร่วมกับทหารและตำรวจ ต่อต้านการรุกรานจากกองทัพญี่ปุ่นในสงครามมหาเอเชียบูรพา ที่ยกพลขึ้นบกที่ชุมพร เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ การรบเป็นไปอย่างดุเดือดถึงขั้นสู้กันระยะประชิดตะลุมบอน กองกำลังผสมของไทยสามารถต่อต้านทหารญี่ปุ่นไว้ได้ จนได้รับคำสั่งให้หยุดยิงจากทางรัฐบาลไทยซึ่งยอมให้ญี่ปุ่นใช้ดินแดนไทยเป็นทางผ่านได้ ร้อยเอกถวิลได้เสียชีวิตในการสู้รบ พร้อมด้วยยุวชนทหารและตำรวจจำนวน ๕ นาย บาดเจ็บ ๕ นาย ฝ่ายญี่ปุ่นเสียชีวิตบาดเจ็บกว่า ๒๐๐ นาย ปัจจุบันรัฐบาลได้กำหนดให้วันดังกล่าวเป็นวันนักศึกษาวิชาทหาร แม้ในสมัยนั้นเทคนิคและเอฟเฟกต์ต่างๆ ยังไม่สมจริงเท่าสมัยนี้ ก็ยังสะเทือนอารมณ์สุดจะกลั้นน้ำตา หากได้นำกลับมาทำใหม่อีกครั้งในยุคนี้จะน่าดูขนาดไหน หนังเรื่องนี้เป็นคำตอบที่ดีให้กับนักเรียนชั้นมัธยมปลาย ว่าทำไม่ต้องเรียนหลักสูตรนักศึกษาวิชาทหาร (ร.ด.) เพราะในชีวิตจริงเราไม่รู้หรอกว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต
 
     และในปีเดียวกันนี้เอง นนทรีย์ นิมิบุตร และ อังเคิล (อดิเรก วัฏลีลา) ได้นำเรื่องราวของชาวบ้าน "บางระจัน” กลับมาทำใหม่ กำกับโดยธนิตย์ จิตนุกูล เป็นภาพยนตร์ไทยอิงประวัติศาสตร์ สร้างขึ้นเพื่อเชิดชูวีรชนบ้านบางระจันแห่งจังหวัดสิงห์บุรี ที่ต่างพร้อมใจกันสละชีพเพื่อปกป้องแผ่นดินเกิด ต่อต้านกองทัพพม่าที่มีกำลังเหนือกว่าได้ถึง ๕ เดือน เป็นวีรกรรมระดับชาวบ้านที่เกิดขึ้นก่อนกรุงศรีอยุธยาจะเสียแก่พม่าเป็นครั้งที่ ๒ เนื่องจากชาวบ้านบริเวณสิงห์บุรี อ่างทอง วิเศษชัยชาญ ทนต่อการกดขี่ข่มเหงของพม่าไม่ไหว จึงได้รวมตัวกันต่อต้านพม่าที่หมู่บ้านบางระจัน เป็นหนังสงครามที่ทำได้สมจริงที่สุดเท่าที่เคยดูมา ทำรายได้ถล่มทลายและขายสายหนังต่างประเทศได้ทั่วโลก จึงได้มีการสร้างบางระจัน ภาค ๒
 
 
     ในปี ๒๕๕๓ นำแสดงโดยนักแสดงหน้าใหม่อย่าง ภราดร ศรีชาพันธุ์ ในปี พ.ศ.๒๕๔๔ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ได้สร้างภาพยนตร์  "สุริโยไท” เพื่อเชิดชูวีรกรรมของพระสุริโยไท พระมเหสีของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาทรงปลอมพระองค์เป็นชาย ประทับช้างทรงตามเสด็จพระราชสวามีออกสู่สงครามจนสิ้นพระชนม์ ซึ่งหลังจากสร้างเรื่องนี้แล้ว หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ยังได้สร้าง "ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” อภิมหาตำนานเรื่องราวของสมเด็จพระนเรศวร กษัตริย์นักรบไทยผู้ยิ่งใหญ่ที่ต่อสู้เพื่อให้ไทยมีเอกราช นับเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่สร้างถึง ๖ ภาคด้วยกัน ใช้ทุนสร้างถึง ๙๔๐ ล้านบาท โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงวัฒนธรรม
 
     ส่วนหนังรักชาติที่หวงแหนมรดกชาติแบบชาวบ้าน ที่ผสานศิลปะแม่ไม้มวยไทยโบราณได้อย่างยอดเยี่ยม ฉากการต่อสู้ที่ดูสนุกสมจริง ต้องยกให้ "องค์บาก” ออกฉายในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ ผลงานการกำกับของ ปรัชญา ปิ่นแก้ว คิวแอ็กชันโดย พันนา ฤทธิไกร เป็นหนังแจ้งเกิดของ ทัชชกร ยีรัมย์ หรือ จา พนม เป็นเรื่องราวของการตามหาองค์บาก พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้านเล็กๆ ในภาคอีสาน ที่ถูกขโมยตัดเศียรไป บุญทิ้ง (จา พนม) ได้ออกตามหาจนถึงกรุงเทพฯ ผจญกับนักต้มตุ๋น และต้องต่อสู้กับเจ้าพ่ออิทธิพลมืดจนแทบเอาชีวิตไม่รอด หนังให้ข้อคิด ถึงคนอีสานที่มีความเชื่อความศรัทธาในพระพุทธศาสนา และพยายามรักษามรดกของหมู่บ้านไว้ด้วยชีวิต สื่อให้เห็นถึงค่านิยมที่ผิดของชาวต่างชาติ ที่ชอบใช้เศียรพระในการตกแต่งสถานที่ ซึ่งเป็นการลบหลู่จิตใจคนไทย ๒ ปีต่อมาทีมงานเดิมยังได้สร้างหนัง "ต้มยำกุ้ง” เป็นเรื่องราวการตามหาช้างพลายไทยสองพ่อลูกที่ถูกลักพาไปถึงประเทศออสเตรเลีย
 
     "ทวิภพ” (The Siam Renaissance) ออกฉายในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ กำกับโดยสุรพงษ์ พินิจค้า สร้างจากวรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์ชื่อดังของทมยันตี เป็นเรื่องราวของมณีจันทร์ที่ย้อนเวลากลับไปในสมัยรัชกาลที่ ๔ เมื่อสยามประเทศต้องเผชิญหน้าภัยคุกคามจากการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก การต่อรองกับสหราชอาณาจักร และเหตุการณ์ชี้เป็นชี้ตายกับฝรั่งเศส ผิดพลาดเพียงเล็กน้อยอาจจะได้เห็นหอไอเฟลตั้งตระหง่านกึ่งกลางแม่น้ำเจ้าพระยาได้ เป็นหนังที่กล้าตีความให้แตกต่างจากต้นฉบับนวนิยาย ทุ่มทุนสร้างกว่า ๑๐๐ ล้านบาท ถือได้ว่าเป็นหนังรักชาติที่คลาสิกที่สุดเท่าที่เคยมีมา
 
     หนังไทยหัวใจรักชาติมักจะออกมาในตอนที่ประเทศชาติต้องการรวมพลรวมใจคนไทยเสมอ แม้ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเราก็ได้เคยเปรยๆ ว่าอยากให้มีหนังหรือละครที่เกี่ยวกับความปรองดองสมานฉันท์ ปลูกฝังสำนึกรักชาติ ถึงกระนั้นภาครัฐก็ยังคงต้องเป็นหัวหอกในการผลักดันภาพยนตร์แนวนี้เข้าสู่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย เพราะหัวใจสำคัญคือทุนการสร้างภาพยนตร์ที่ใช้งบประมาณสูงมาก และแน่นอนว่าอาจไม่ประสบความสำเร็จเรื่องรายได้ เพราะคนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้สนใจประวัติศาสตร์ ไม่ใช่กระแสนิยมหลัก ทำแล้วไม่ขาดทุนก็นับว่าบุญแล้ว ผู้สร้างจึงต้องทำด้วยหัวใจรักชาติจริงๆ แม้แต่ละครที่สร้างกันไป ก็ใช้งบประมาณสูงกว่าละครทั่วไป ๒-๓ เท่า อย่างเรื่อง "ชาติพยัคฆ์” และ "ข้าบดินทร์” ที่นำเสนอการเข้ามาของชาติตะวันตกในยุคนั้น การปรับตัวเพื่อความอยู่รอดโดยใช้การทูตแทนดาบ หรืออย่าง "ขุนศึก” ที่เล่าเรื่องในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และ "สายโลหิต” ที่เล่าถึงเหตุการณ์ตอนเสียกรุงครั้งที่ ๒ เป็นต้น
 
     เราจะเห็นหนังประวัติศาสตร์วนเวียนอยู่ในเรื่องเก่าๆ จากบทประพันธ์ที่เรารู้จักกันดี เพราะตำราประวัติศาสตร์ของเราส่วนใหญ่เน้นเรื่องการเชิดชูวีรกรรมของอดีตพระมหากษัตริย์ หนังก็เลยออกมาแนวนั้น ที่เห็นกันจนชินตาที่สุดคือ เรื่องราวการรบกันระหว่างไทยกับพม่า เพราะหาข้อมูลอ้างอิงได้ง่ายที่สุด ทั้งที่จริงแล้ว ยังมีอีกหลายเรื่องที่สามารถทำได้ เช่น เรื่องของเสรีไทยที่ทำให้ประเทศไทยเราเอาตัวรอดจากสงครามโลกมาได้ หรือเรื่องที่ไทยส่งทหารจำนวนกว่าหมื่นนายไปช่วยทหารอเมริกันรบที่เกาหลี ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม พ.ศ. ๒๔๙๓ รบกันยาวนานถึง ๓ ปีกับ ๑ เดือน ทหารไทยต้องรบท่ามกลางหิมะซึ่งไม่เคยรู้จักมาก่อนในชีวิต เสียชีวิต ๑๓๖ นาย เป็นที่กล่าวขานด้วยความชื่นชมเป็นอย่างมาก ทหารไทยได้รับเหรียญกล้าหาญถึง ๓๙ เหรียญ ในจำนวนนี้มีชื่อ พ.ท.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ซื่งต่อมาก็คือนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ ๑๕ รวมอยู่ด้วย
 
     ถึงเวลาหรือยังที่ประเทศเราต้องมีการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการเขียนบทใหม่ๆ ภาพยนตร์ที่ดี เริ่มจากบทประพันธ์ที่ดี ถ้าคนเขียนบทเก่งก็จะเล่าเรื่องได้สนุก และหากมีการค้นคว้าที่ดี ก็จะทำให้หนังที่อิงประวัติศาสตร์มีความลึกซึ้งคมคาย หากมีกองทุนที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อพัฒนาคนเขียนบทภาพยนตร์โดยเฉพาะ เราคงจะได้เห็นภาพยนตร์ไทยหัวใจรักชาติ ที่จะปลูกฝังสำนึกรักแผ่นดินให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ และเข้าถึงใจผู้ชมในยุคปัจจุบันได้อีกหลายแง่มุมอย่างแน่นอนเลยทีเดียว
 
     อีกเรื่องที่ลืมไม่ได้คือ "ขุนรองปลัดชู วีรชนที่ถูกลืม" หรือ "๔๐๐ นักรบขุนรองปลัดชู" วีรกรรมก่อนบ้านบางระจัน ที่ประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ขุนรองปลัดชูหัวหน้ากองอาทมาต ได้รวบรวมอาสาสมัคร ๔๐๐ คน ฝึกดาบอาบน้ำว่านเพื่อปลุกขวัญกำลังใจและให้อยู่ยงคงกระพัน เดินทางไปยังด่านสิงขรเพื่อสกัดกั้นทัพพม่านับหมื่นที่หาดหว้าขาว ประจวบคีรีขันธ์ แต่สุดท้ายก็ถูกฆ่าตายทั้งหมด เหตุเพราะบ้านเมืองขาดความสามัคคี ขาดทัพเสริมไปช่วย ชาววิเศษไชยชาญจึงร่วมกันสร้างวัดสี่ร้อย เพื่ออุทิศส่วนกุศลและเป็นอนุสรณ์แก่ผู้พลีชีพทั้ง ๔๐๐ คน
 
 
ข้อมูล : วารสารวัฒนธรรม ฉบับที่ ๓ ปี ๒๕๖๒
http://magazine.culture.go.th/2019/3/index.html
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)