เรื่อง : กัลยาณมิตร นรรัตน์พุทธิ
ภาพ : กองบรรณาธิการ
สืบสานงานศิลป์ ผ่านก้อนดิน และความทรงจำ
ศิลปะเพื่อชุมชน ราชบุรีคนเมืองอาร์ต
น้อยนักที่จะได้พบศิลปินที่ทำงานแบบนักวิทยาศาสตร์ ชอบทดลอง ทดสอบเทคนิคใหม่ๆ ตลอดเวลา รวมถึงพิสูจน์ความเชื่อที่ท้าทาย ความกล้าที่จะแหกคอก ลองผิดลองถูก เรียนรู้จากความผิดพลาด ทำให้เขากลายเป็นกูรู หรือผู้รู้ในงานเซรามิกแห่งประเทศไทยเลยก็ว่าได้ ศิลปินผู้ไม่ยึดติดกับรูปแบบใดๆ ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นงานเซรามิกด้วยซ้ำ อะไรก็ได้ เพราะศิลปะอยู่รอบตัวเราเสมอ พลังในการสร้างสรรค์งานศิลป์ บวกกับความทรงจำที่ดีในวัยเยาว์ ทำให้ศิลปินท่านนี้ได้สืบสานและส่งผ่านสิ่งเหล่านั้นไปยังเยาวชนคนรุ่นหลัง โดยใช้ความพยายามนับ ๒๐ ปี ผลักดันราชบุรีจังหวัดที่ได้ชื่อว่า "เมืองโอ่งมังกร" สู่ภาพลักษณ์ใหม่ "ราชบุรีคนเมืองอาร์ต" ในปัจจุบัน
ด้วยความเชื่อที่ว่าศิลปะที่เกิดขึ้น จะยังประโยชน์ต่อชุมชนเเละเยาวชนที่กำลังเกิดเเละเติบโตขึ้นในบ้านเรา วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ (ติ้ว) ทายาทผู้สานต่อกิจการโรงงานเซรามิก "เถ้าฮงไถ่" รุ่นที่สาม ผู้พลิกโฉมธุรกิจครอบครัวจากโรงโอ่งมังกรที่เก่าแก่ที่สุดในจังหวัดราชบุรี ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ กลายเป็นโรงงานเซรามิกยุคใหม่สไตล์โมเดิร์นที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ของเมืองไทย และยังเป็นผู้ก่อตั้งหอศิลป์ร่วมสมัย เถ้า ฮง ไถ่ ดีคุ้น ขึ้นใจกลางเมืองราชบุรีอีกด้วย
วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ได้รังสรรค์งานศิลปะมาอย่างต่อเนื่อง มีผลงานการแสดงงานมากมาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนได้รับรางวัลและเกียรติคุณนานัปการ อาทิ รางวัล Designer of the year ๒๐๐๗ / รางวัลศิลปาธร สาขาการออกแบบปี พ.ศ. ๒๕๕๓ / รางวัล "ทายาทหัตถศิลป์” ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๕๕ / รางวัล "วัฒนคุณากร” ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรม ด้านศิลปะ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๖ ฯลฯ นอกจากนั้นเขายังเป็นอาจารย์พิเศษในสถาบันต่างๆ ที่ให้ความรู้ด้านการออกแบบเซรามิก รวมทั้งยังเป็นศิลปินไทยที่ได้รับเกียรติสร้างงานศิลปะเป็นถาวรวัตถุให้กับประเทศเยอรมนี ที่ศูนย์เยาวชน Willi-Seidel-Haus Kassel Germany อีกทั้งยังเป็นผู้จัดทำ "กระถางเซรามิกประดับพระเมรุมาศ” ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีอีกด้วย
ความโดดเด่นและความสม่ำเสมอในการทำงานศิลปะ ทำให้คุณวศินบุรีได้รับคัดเลือกจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ให้ไปจัดแสดงผลงานศิลปะในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ ๕๕ ณ นครเวนิส สาธารณรัฐอิตาลี ในปี ๒๕๕๖ เพื่อเผยแพร่ชื่อเสียงของประเทศและพัฒนาต้นทุนทางศิลปวัฒนธรรม อันจะช่วยนำมาซึ่งการพัฒนาประเทศในด้านเศรษฐกิจและสังคม
คุณวศินบุรี หรืออาจารย์ติ้ว เป็นคนถ่อมตัว และไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นศิลปิน เขาบอกเราเสมอว่า เขาไม่ใช่คนที่สนใจงานศิลปะมาตั้งแต่แรก ทั้งที่เกิดและเติบโตในครอบครัวผู้ผลิตเครื่องปั้นดินเผาเก่าแก่และมีชื่อเสียงของจังหวัดราชบุรี แต่เมื่อได้ไปศึกษาต่อที่ University Gesam thochschule สถาบันเทคโนโลยีเก่าแก่ที่สอนการทำเครื่องเคลือบดินเผา ที่เมือง Landshut และศึกษาระดับปริญญาโทที่ Kassel ประเทศเยอรมนีจึงได้เห็นคุณค่าและนำความรู้ที่ได้เล่าเรียนมา สืบทอดกิจการเครื่องปั้นดินเผาของครอบครัว โดยยึดถือต้นทุนทางความคิดของบรรพบุรุษเป็นหลัก ผนวกกับการออกแบบแนวศิลป์ร่วมสมัย สร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบใหม่ ที่มีสีสันสวยงามสะดุดตา พัฒนาเซรามิกให้หลุดกรอบเดิมๆ ไปพร้อมกับการทำงานศิลปะในความสนใจของตัวเอง เช่น การถ่ายภาพ เป็นต้น
ด้วยความเสียดายสิ่งดีๆ ที่บรรพบุรุษได้สร้างไว้ เขาจึงค่อยๆ ปลูกฝังศิลปะให้หยั่งรากลึกลงไปสู่ชุมชน และแตกแขนงออกไปสู่จังหวัดราชบุรี แรงผลักดันที่ไม่เคยหยุดนิ่งเป็นเสมือนฟันเฟืองตัวเขื่อง ที่ผลักให้ศิลปะหมุนไปเพื่อพัฒนาชุมชนของเขาอยู่ตลอดเวลา
"เถ้าฮงไถ่” ประตูสู่ราชบุรี
ใครมาราชบุรีแล้วไม่ได้มา "เถ้าฮงไถ่” ก็เหมือนมาไม่ถึงราชบุรี เพราะที่นี่กลายเป็นสถานที่เช็กอิน (ถ่ายรูป) เป็นเสมือนแลนมาร์กของเมืองราชบุรีไปเสียแล้ว "เถ้าฮงไถ่” เป็นตำนานแห่งการปั้นโอ่ง เป็นรากเหง้าแห่งศิลปะเมืองโอ่ง เมื่อเข้ามาเยือนที่นี่ จึงทำให้รู้ว่าสภาพแวดล้อมมีอิทธิพลต่อความคิดสร้างสรรค์อย่างไร คนที่ได้อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อความคิดสร้างสรรค์ทางศิลปะ จะกลายศิลปินแบบไม่รู้ตัว ซึ่งความคิดสร้างสรรค์เป็นต้นทุนที่สำคัญในสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทุกๆ สิ่ง ไม่ใช่แค่งานศิลปะเท่านั้น ที่นี่มองไปทางไหนก็เห็นความคิดและจินตนาการแทรกอยู่ในชิ้นงานนั้นๆ เสมอ บรรยากาศที่สวยงามเต็มไปด้วยเครื่องปั้นดินเผาสีสันจัดจ้านสดใส ทำให้เรารู้สึกกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง สภาพแวดล้อมที่มีแต่งานศิลปะดีๆ ฉันใด ย่อมเป็นแหล่งบ่มเพาะหล่อหลอมศิลปินชั้นดีให้เกิดขึ้นได้ฉันนั้น นับเป็นโชคดีของเรา ที่ได้เข้ามาพูดคุยกับศิลปินอย่างเขาในวันนี้
"…ผมยืนยันว่าที่นี่คือโรงงาน ไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยว ผมไม่ได้เก็บค่าเข้า ไม่ได้เปิดเพื่อหารายได้จากนักท่องเที่ยว ผมเปิดเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นประตูบ้านของจังหวัดราชบุรี เมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาสุดท้ายเขาต้องไปกินไปพักที่ใดที่หนึ่ง แล้วผลประโยชน์ก็ตกแก่ชุมชนผมอยากให้ตรงนี้เป็นจุดเริ่มในการเรียนรู้ชุมชนของเรา ถ้าคุณคาดหวังว่าที่นี่จะมีทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนกับสถานที่ท่องเที่ยวดีๆ พึงมีทั้งหลาย ไม่ใช่ จริงๆ คือที่นี่คือโรงงาน ที่เราจัดแสดงงานศิลปะ ให้คนสามารถเข้ามาดู เราไม่ได้อยากทำอะไรเสริมขึ้นมาเพื่อเป็นการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ แต่เรายินดีที่จะแต่งสวน แต่งพื้นที่ให้คนมาถ่ายรูป ถ้าเด็กร้อยคนที่เข้ามา แล้วมีเด็กคนหนึ่งจำได้ว่าปั้นโอ่งยังไง ดินมาจากไหน ก็คุ้มแล้ว อยากให้เขาเห็นว่า ดินที่ไม่มีราคาค่างวดอะไร แต่เมื่อเราใส่จินตนาการเข้าไป ก็จะเพิ่มคุณค่าของสิ่งนั้น ดินไม่ได้เป็นแค่ตัวแทนของการทำโอ่ง หรือการสร้างงานศิลปะเท่านั้น แต่คือตัวแทนของทุกๆ สิ่ง ถ้าเราทำทุกอย่างความด้วยรักความเข้าใจ อย่างมีจินตนาการ คุณค่าและความสำเร็จ ก็จะเป็นสิ่งที่ไม่ไกลจากความจริงเลย…”
โชคชะตาหรือฟ้าลิขิต
"…ตอนแรกไม่ได้รู้สึกชอบหรือสนใจในศิลปะเลย ผมอยากเรียนนิติ เรียนทนาย แต่ด้วยความรู้สึกเสียดายที่เราเกิดและเติบโตขึ้นมาในพื้นที่เหล่านี้ จึงคิดไว้เสมอว่าไม่ว่าจะเรียนอะไรจบมาก็ตาม ผมจะกลับมาทำ ผมเอ็นทรานซ์ติดคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เรียนไปได้เทอมนึง พ่อถามว่าอยากจะไปเรียนต่อที่เยอรมันไหม ตอนนั้นผมอายุ ๑๗ เห็นว่าเป็นโอกาสที่ดี พ่ออยากให้ไปเรียนวิศวะ ผมคิดว่าความรู้และสติปัญญาผมไปไม่ถึงหรอก แต่ได้โอกาสก็คว้าไว้ก่อน มันต้องเจออะไรสักอย่างที่เราชอบ สมัยนั้นไม่มีข้อมูลอะไรให้เสิร์ชได้ในอินเทอร์เน็ตอย่างปัจจุบัน ผมก็เลยไปเรียนภาษาที่เกอเธ่แล้วก็ไปเรียนต่อที่เยอรมัน
ช่วงแรกไปเรียนภาษาประมาณ ๑๐ เดือน แล้วก็ต้องไปต่อวีซ่า แต่มหาวิทยาลัยที่นั่นยังไม่รับ เพราะมัธยมบ้านเราเนี่ยเรียน ๑๒ ปี เยอรมันเรียน ๑๓ ปี มหาวิทยาลัยของเขา ต้องดูว่าเรามีพื้นฐานประสบการณ์ด้านวิชาชีพมาก่อนหรือไม่ และผมไม่ได้ชอบฟิสิกส์เคมีอะไร อันดับแรกผมต้องต่อวีซ่าให้ได้ก่อน ถึงจะเรียนต่อได้ ก็เลยไปสถาบันเก่าแก่ที่สอนเซรามิก ซึ่งเป็นทางเลือกเดียวที่ทำได้ คือมีโรงเรียนเดียวที่เขารับผม เป็นโรงเรียนเก่าแก่หลายร้อยปีของเยอรมันที่สอนเทคนิคเครื่องปั้นดินเผา จริงๆ ผมว่าเป็นชะตากรรมมากกว่า ต้องสอบสัมภาษณ์แล้ว ต้องมีพอร์ตโฟลิโอ (Portfolio) ไปยื่นให้เขา ผมไม่เคยมีพอร์ต ไม่เคยทำงานศิลปะหรือทำงานเซรามิกมาก่อน ก่อนไปสอบเลยต้องไปเรียนกับพวกแม่บ้านตอนเย็นๆ ไปปั้นดินเป็นชิ้นงานขึ้นมา แล้วเอาไปทำพอร์ตส่งเขา โชคดีที่สอบเข้าได้ ผมเรียนพื้นฐานและเทคนิค ๕ ปี จบแล้วต่อไฟน์อาร์ตอีก ๕ ปี
ปีแรกที่เริ่มเข้าเรียน ผมไม่ได้มีความรู้สึกว่าสนุกสนานอะไรอย่างนี้เลย รู้สึกกดดันมากกว่า ลองคิดดูง่ายๆ รุ่นผมมี ๒๕ คน แต่ ๒๔ คนรู้ตัวอยู่แล้วว่าอยากจะทำอะไร ผมเป็นคนเดียวที่มาเรียนเพื่อต่อวีซ่า มันเลยกลายเป็นความกดดัน พอปีที่สองภาษาก็เริ่มได้มากขึ้น แล้วมีครูคนหนึ่งก็พาพวกเราไปตามแกลอรี่ต่างๆ เช่น มิวนิค ไปดูงานสำคัญระดับโลก ไปดูงานนู่นนี่นั่น เพื่อนผมทุกคนรู้จักหมด มีแต่เราที่ไม่รู้จัก ปิกัสโซ่คือใคร ดาลี่คือใคร เราไม่เคยรู้จัก ถ้าคนที่สนใจศิลปะพวกนี้ จะรู้ว่านี่เป็นบุคคลระดับตำนานที่คนรักศิลปะต้องเรียนรู้ตั้งแต่เริ่มต้น
เมื่อได้ไปเดินดูงานศิลป์ตามหอศิลป์ต่างๆ ตามสวนสาธารณะ สิ่งเหล่านี้มันน่าสนใจนะ หลายสิ่งหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ พอได้ฟังได้เห็น เหมือนมีคนเอาสปอร์ตไลท์มาฉายจุดนั้นอีกครั้ง ทำให้ผมเห็นภาพชัดเจน นึกถึงบ้านเราที่อาจมีอยู่แล้วบ้าง แต่เราไม่เคยสนใจมัน ผมเลยถามตัวเองในช่วงเวลานั้นบ้าง ว่าทำไมบ้านเราไม่ทำอย่างนี้ ทำไมเรามีอย่างนี้บ้าง ทำให้ผมมีความสนใจศิลปะเพิ่มมากขึ้น และรู้ว่าศิลปะไม่ใช่เฉพาะสิ่งที่เราคิดนะ หรือเฉพาะสิ่งที่เราโดนบอกว่ามันคืออย่างนั้นอย่างนี้ อย่างเซรามิกก็เหมือนกัน ไม่ใช่สิ่งที่ก็แค่อากงทำมาหรือพ่อทำมาแค่นั้นนะ แต่มันเป็นอะไรได้เยอะแยะมาก ตามจินตนาการที่ใส่เข้าไป แล้วเอาความรู้มาทำให้เป็นจริง กรอบขยายมันกว้างมาก อยากให้บ้านเรามันมีอะไรแบบนั้น นั่นเป็นจุดเริ่มว่า ทำไมถึงอยากจะทำเมืองศิลปะให้เกิดขึ้นในราชบุรี...”
คิดแล้วทำเลย
"…เมื่อคิดแล้ว ผมก็ตั้งใจแล้วว่าผมจะค่อยๆ สร้างเมืองศิลปะ หรือเอาศิลปะมาอยู่ในชุมชนให้ได้ ผมได้เริ่มมันก่อนผมเรียนจบ ปิดเทอมผมกลับบ้านและได้เข้าไปพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติราชบุรี เห็นตึกจวนเทศาสีเหลืองซึ่งเป็นตึกร้างว่างอยู่ เลยคุยเข้าไปกับหัวหน้าพิพิธภัณฑ์ เป็นไปได้ไหมที่ผมจะเอางานเซรามิก ยูโรเปียนอาร์ต หรือ คอลเลกชันอะไรก็แล้วแต่ มาโชว์ที่นี่ ในช่วงเวลานั้นหัวหน้าพิพิธภัณฑ์บอกโอเค ผมเลยเริ่มของานเพื่อนๆ ใส่ตู้คอนเทนเนอร์กลับมา พอมาถึงปุ๊บทางหัวหน้าแจ้งว่า ฟังก์ชันหรือห้องที่จะจัดแสดงนั้นทางผู้ใหญ่ได้สั่งให้ทำเป็นออฟฟิศแทน ผมก็เลยต้องเอางานทั้งหมดที่ขอมา มอบให้กับหอศิลป์เจ้าฟ้า ซึ่งตอนนั้นเป็นหอศิลป์แห่งเดียวของประเทศไทย จากนั้นมาผมก็ค่อยๆ ทำของผมเองมาเรื่อยๆ แบบค่อยเป็นค่อยไป
กล้าที่จะแตกต่างล้มเหลวดีกว่าไม่ได้ทดลองทำ
"...คนจีนมีคติว่าต้องรุ่งเรืองให้ถึงเจเนอเรชันที่ ๔ แต่ในความเป็นจริง รุ่นที่ ๑ เป็นรุ่นที่สร้างตัว รุ่นที่ ๒ เป็นรุ่นที่เริ่มประสบความสำเร็จมีพื้นฐานที่มั่นคงขึ้น รุ่นที่ ๓ เป็นรุ่นที่เติบโตมาในพ่อแม่ที่ประสบความสำเร็จแล้ว อาจจะบริหารไม่เป็นแล้วใช้แต่เงินที่เหลืออยู่ และรุ่นที่ ๔ อาจจะไม่มีใครสานต่อ ซึ่งในรุ่นของผม ผมก็เลือกทำในแบบของผม เพราะว่ารุ่นพ่อถือว่าประสบความสำเร็จแบบมากๆ ในระดับหนึ่ง ผมไม่เคยเปลี่ยนของเก่าเลย สิ่งที่อากงทำ สิ่งที่พ่อแม่ทำ ผมก็ยังทำ แต่ผมทำของใหม่เพิ่มเข้าไป ทำของเก่าด้วยเทคนิคใหม่ๆ ผมทำโอ่งมังกรในสไตล์ที่ผมอยากเห็น ทำในรูปทรงเหมือนเดิม ลายเหมือนเดิม แต่ใช้กรรมวิธีและวัสดุให้ดูแตกต่างขึ้นมา ผมคิดว่าการอนุรักษ์ต้องคู่กับการต่อยอดเพิ่มเติม
รุ่นคุณพ่อตอนเข้าไปช่วยงานอากง เถ้าแก่โรงงานน้ำปลาที่สนิทกับอากงเตือนว่า ต้องปรับตัวแล้วนะ อีกหน่อยจะมีพลาสติกเข้ามาแทนที่ ซึ่งในยุคนั้นเถ้าฮงไถ่ทำโอ่งใส่น้ำ ทำไหหมักน้ำปลา ให้โรงงานน้ำปลาเป็นหลัก ตอนนี้เหลือแค่ปลาร้าเท่านั้นที่ยังคงใช้ไหหมักอยู่ ตอนนั้นคุณพ่อก็เริ่มทำกระถางเป็นสีสันแล้ว แต่สีไม่เยอะอย่างปัจจุบัน เมื่อก่อนโรงโอ่งในราชบุรีมีเป็นร้อย เดี๋ยวนี้เหลืออยู่ประมาณ ๒๐ กว่าโรง
พอมารุ่นผมตั้งแต่ปี ๒๕๔๒ ก็มีการออกแบบดีไซน์มากขึ้น แต่ผมไม่ได้มองเรื่องการตลาด ว่าเทรนด์เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ หลายอย่างมันเกิดขึ้นตามความรู้สึก ความสงสัย อยากทดลอง อยากเห็น อยากเล่นกับบางสิ่งบางอย่าง ผมเรียนรู้จากสิ่งเหล่านี้ สิ่งที่เราไม่เคยคิดจะทำแต่ลูกค้าสั่งมา กลับกลายเป็นว่าทำให้เราได้เรียนรู้บางสิ่งบางอย่างเพิ่มขึ้น ถ้าผมทำงานออกมาแล้วมีลูกค้าคนหนึ่งชอบ มันก็เพิ่มมาตั้งหนึ่งคนแน่ะ ถ้าเป็นมุมมองของนักการตลาดคงผิด แต่ในส่วนตัวผม คือการได้สร้างความสุขให้ใครบางคนเพิ่มขึ้นมาได้ ผมรู้สึกว่าเป็นความสำเร็จ
วันนั้นไปงานอะไรสักอย่าง เขาเชิญนักออกแบบจากอิตาลีมา แล้วเขาบอกว่าเทรนด์ปีหน้า สีเอิร์ธโทนมาแรง ให้พวกเราทำสีเอิร์ธโทน (สีธรรมชาติ) ผมก็เลยฉีกทำแปร๋นๆ คิดว่าถ้าทุกคนทำเหมือนกัน แล้วเราจะขายใคร มันต้องมีสักคนที่ชอบความต่างบ้าง เราก็เลยทดลองทำสีสดๆ ออกมา คนในราชบุรีเองก็ขำ ล้อผมว่า "ติ้วสีติ๊ส” ที่จริงในรุ่นพ่อเริ่มทำสีสันอ่อนๆ ขึ้นมาบ้างแล้ว แต่ในยุคนั้นน้ำยาเคลือบสีสดยังเป็นพิษอยู่ เลยไม่นิยมกัน แต่ในยุคผมเทคโนโลยีก้าวหน้าไปไกลจึงทำได้ ซึ่งเราต้องซื้อโนว์ฮาว (Know-how) จากเยอรมัน ราคาเป็นล้านในสมัยนั้น ตอนเริ่มทำที่บ้านก็ยังไม่เข้าใจ ไม่ค่อยเห็นด้วย แต่เรามีความเชื่อในระดับหนึ่ง ก็คุยกับพ่อว่าขอให้ได้ลองทำ เพราะถ้าผมอยู่กับความสงสัย ผมจะไม่สบายใจ ตอนนั้นถ้าล้มเตี่ยกับแม่ก็ยังอยู่ ยังช่วยประคองกันไปได้ โชคดีมีสถาปนิกมาเห็นแล้วชอบ เมื่อมันถูกจัดวางในสถานที่ที่ใช่ มันก็เป็นที่ถูกใจขึ้นมา จึงเป็นต้องการเพิ่มขึ้น กว่าจะเห็นผลใช้เวลาประมาณ ๓-๔ ปี โรงงานอื่นจึงเริ่มทำตาม
รุ่นผมก็มีส่งออกไปต่างประเทศบ้าง อย่างเช่นอเมริกา ประมาณ ๑๐-๒๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้ามีลูกค้าในประเทศได้จะมั่นคงมากที่สุด มั่นคงมากกว่านี้ ดีกว่าการส่งออก เพราะงานหัตถกรรมส่งออกขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายสิ่งหลายอย่าง งานต้องดี ต้องควบคุมทั้งบุคลากร คุณภาพ และยังต้องแข่งกับประเทศเพื่อนบ้านที่เขามีต้นทุนที่ถูกกว่าเรา
เจเนอเรชันที่ ๔ จะเป็นยังไง ถึงผมจะยังไม่ได้แต่งงานมีทายาท แต่สำหรับผมคือใครที่ได้มาเห็นและสานต่อ ก็เป็นเจเนอเรชันที่ ๔ ของเถ้าฮงไถ่แล้ว ผมเคยเป็นอาจารย์พิเศษ สอนที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ภาควิชาเซรามิก ที่นครปฐมร่วมๆ ๑๐ ปี ตอนนี้อาจารย์ศิลปากรที่สอนอยู่ ก็เป็นลูกศิษย์ผมหลายคน รวมถึงเด็กที่เราให้ทุนการศึกษา เด็กที่เข้ามาอบรมในโครงการต่างๆ ของเรา ถ้าเสี้ยวหนึ่งของความคิดนี้มันอยู่ในความทรงจำของเขาปุ๊บเนี่ย เวลาไปทำอะไรต่อไปในอนาคต นี่ก็คือรุ่นที่ ๔ แล้ว อย่างโครงการ "เด็กฝึกหัตถ์” ที่เราส่งเสริมให้นักศึกษาได้แสดงออกทางความคิด ฝึกฝีมือ พัฒนาความรู้ด้านการออกแบบและการผลิต ร่วมกับศิลปินและนักออกแบบรับเชิญชื่อดังในวงการเครื่องปั้นดินเผาของไทย หรือบางทีเราก็เชิญศิลปินต่างประเทศมา ซึ่งใครจะว่าขี่ช้างจับตั๊กแตน มาช่วยเด็กๆ แค่ไม่กี่คน มันจะคุ้มมั้ย ในแง่ของนักการตลาดมันไม่คุ้ม หลายๆ โครงการที่เกิดขึ้น มันไม่เคยคุ้มกับค่าใช้จ่าย แต่ถ้ามันสร้างความทรงจำดีๆ ฝังลงไปในความนึกดิคของเด็กๆ ได้ ผมว่ายิ่งกว่าคุ้ม เพราะถ้าไม่ทำ เราจะไม่ได้ใครแม้แต่สักคนเดียว สำหรับการลงทุนอย่างน้อยเราได้ตั๊กแตนที่มีคุณภาพ..”

ศิลปะคือพลัง
คุณวศินบุรี สร้างงานศิลปะร่วมสมัยอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะประติมากรรมเซรามิกทั้งชิ้นเล็กและใหญ่จัดแสดงตามที่ต่างๆ มากมาย รวมทั้งยังเป็นผู้ผลักดันให้เกิดนิทรรศการศิลปะต่างๆ ให้เกิดขึ้นในจังหวัดราชบุรีมาอย่างต่อเนื่องในตลอดหลายปีที่ผ่านมา ผลงานของเขานั้นมีนับไม่ถ้วน เช่น โครงการเด็กดินโครงการเด็กฝึกหัตถ์ โครงการศูนย์บันดาลไทย โครงการนิทรรศการปกติศิลป์ โครงการทำปลาตะเพียน โครงการนิทรรศการศิลปะบนถนน (Street Art) นิทรรศการ BURIUM นิทรรศการภาพถ่าย "เล็ง 2 : with or without live (view) นิทรรศการ R.C.A. (Ratchaburi Construction Workers Open Air) โครงการติดศิลป์..บนราชบุรี ฯลฯ ผลงานในล่าสุดที่เพิ่งได้จัดทำและยังจัดแสดงอยู่ที่โรงงานเถ้าในขณะนี้คือ นิทรรศการ "Lastburi เลือนลาง กระจ่างชัด” เป็นนิทรรศการภาพถ่ายที่จัดแสดงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับตัวตนความเป็นราชบุรีได้อย่างมีชั้นเชิง ช่วยทำให้คนราชบุรีเห็นคุณค่าของตนเองและตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเข้ามา ด้วยเขาประสบมากับตัวเองว่า การอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนคุ้นเคย จะทำให้เรามองไม่เห็นตัวตนและความสำคัญของมัน จนกระทั่งมันหายไป จึงเริ่มเห็นคุณค่าและรู้สึกเสียดาย
"...ผมคิดว่าการสืบสานความทรงจำและส่งต่อให้กับชุมชนโดยรวม จะได้อะไรมากกว่า ใครจะรู้ว่าวันหนึ่ง โอ่งมังกร ปลายี่สก ค้างคาว หรือหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนหมดไป มันอาจจะอยู่แค่ในคำขวัญและความทรงจำ หากเราไม่สร้างสิ่งใหม่และดูแลของเดิมให้ดีด้วยความเข้าใจ มันอาจจะเหลือเป็นแค่อดีตให้เราภูมิใจกับสิ่งที่มันไม่มีอีกต่อไปเท่านั้น…”
ทุกๆ เมืองต้องมีพื้นที่ศิลปะของตัวเอง
คุณวศินบุรีได้ก่อตั้ง "หอศิลป์ร่วมสมัย เถ้า ฮง ไถ่ ดีคุ้น” ขึ้นกลางใจเมืองริมแม่น้ำแม่กลอง ติดกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี เป็นอาคารไม้เก่า ๓ ชั้น ที่เคยถูกใช้เป็นท่ารถโดยสาร ใช้งบประมาณกว่า ๑๐ ล้านบาท เพื่อทำเป็นหอศิลป์ร่วมสมัยแห่งแรกของจังหวัดราชบุรี เปิดใช้งานเมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ โดยเปิดเป็นพื้นที่สาธารณะทางศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ สำหรับให้ความรู้ทางด้านศิลปะแก่ชุมชน และเป็นที่แสดงงานทั้งศิลปินไทยและต่างชาติ เพื่อให้ศิลปะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีการดำเนินชีวิตของชาวราชบุรี โดยใช้กระบวนทัศน์เรื่องความร่วมสมัย ผสานกับการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน โดยหวังจะเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดอื่นๆ ที่เห็นความสำคัญของการสร้างบรรยากาศทางศิลปะเพื่อพัฒนาคนและชุมชน อาคารหลังนี้ยังได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น อีกด้วย"
…ผมได้นำเอาบ้านเก่าร้อยกว่าปี ที่คุณพ่อซื้อไว้นานแล้วมาปรับปรุงใหม่ ผมทำช้าใช้เวลาหลายปี บูรณะอาคารนี้ทำเป็นหอศิลป์เล็กๆ ขึ้นมา เพราะอยากนำเอาศิลปะที่หลากหลาย มาให้ดูกันถึงใจกลางเมือง แต่สุดท้ายผมก็ได้เรียนรู้ว่า ศิลปะอาจยังเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่ม คนทั่วไปไม่กล้าเข้ามาอยู่ดี แม้จะใช้กาแฟเป็นตัวเชื่อม ว่ามาดื่มกาแฟแล้วจะได้เสพงานศิลปะทางอ้อม ถึงผลที่ได้ไม่มากนัก เเต่อย่างน้อย ก็เป็นครั้งเเรกที่ราชบุรีจะมีหอศิลป์เพื่อชุมชน มีพื้นที่ให้หลายโครงการได้เกิดขึ้น เเละที่สำคัญเราไม่ได้อยู่ที่จุดเริ่มอีกต่อไป เลยคิดต่อไปว่าเราจะสร้างงานเชิงศิลปะให้อยู่ในหอศิลป์อย่างเดียวไม่ได้แล้ว เราต้องเอาไปแสดงตามพื้นที่ ที่ชาวบ้านเขาต้องไปอยู่แล้ว เช่น ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านโชห่วย ผมเลยทำนิทรรศการปกติศิลป์ (Art Normal) ใน ๗๕ พื้นที่ทั่วเมืองราชบุรี โดยชื่อนิทรรศการล้อเลียนมาจากคำว่า Abnormal ซึ่งมีคอนเซ็ปต์ว่า ทุกบ้านคือแกลเลอรี่ ทุกที่คือหอศิลป์ เพื่อปรับทัศนคติของคนทั่วไป ที่มองว่าศิลปะเป็นเรื่องสูงส่ง ประหนึ่งอยู่บนหอคอยงาช้าง ไม่สามารถเข้าถึงหรือเข้าใจได้ ให้หันมามองกันใหม่ว่าศิลปะไม่ใช่เรื่องที่สูงส่ง แต่แท้จริงแล้วมันแฝงอยู่ในชีวิตประจำวัน ดังนั้นผลงานในนิทรรศการนี้จึงจัดแสดงงานภายในบ้าน ร้านค้า ร้านทำผม ร้านตัดเสื้อผ้าเรือข้ามฝาก บนรถเมล์ และสถานที่ต่างๆ ที่ผู้คนใช้ชีวิตอยู่ โดยชักชวนชาวบ้านท้องถิ่นเปิดพื้นที่ของตนให้มีศิลปะเข้าไปแสดง ซึ่งเป็นการนำศิลปะเข้าสู่ชุมชนอย่างแท้จริง ทำให้ราชบุรีเป็นที่รู้จักมากขึ้นในฐานะเมืองศิลปะ ไม่ใช่แค่ เถ้า ฮง ไถ่
กระแสที่ได้รับส่งผลทางด้านเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ผมไม่ได้ทำงานเพื่อนักท่องเที่ยว แต่เพื่อให้คนในเมืองผมซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่ ได้พูดคุยกับคนที่เข้ามาเยี่ยมชม ได้เล่าถึงความงดงามของสิ่งที่ตัวเองมี เคยมี และอยากให้มีต่อไป
ผมอยากให้ภาครัฐเห็นคุณค่าและพัฒนาศิลปะอย่างจริงจัง โดยจัดสรรงบประมาณอย่างต่อเนื่องให้กับชุมชนแต่ละจังหวัด จัดตั้งเป็นโครงการประจำปี อย่างน้อยปีละ ๑ ล้านบาทก็ยังดี สนับสนุนศิลปะให้เกิดขึ้นในชุมชน และจัดให้มีกิจกรรมที่หลากหลายในทุกๆ ปีอย่างต่อเนื่อง โดยในแต่ละปีให้มีการสร้างงานถาวรวัตถุทางศิลปะให้กับชุมชนอย่างน้อยร้อยละ ๒๐ ของงบประมาณที่ได้ ก็จะเกิดงานศิลปะสะสมเพิ่มพูนขึ้นในแต่ละจังหวัด ไม่ใช่จัดงานแบบหมดแล้วหมดเลยไม่เหลืออะไร ไม่ใช่ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ถ้าเราจัดงาน ๑๐ ปี ๑๐ ครั้ง เราจะได้ผลงานเหลือไว้อย่างน้อย ๑๐ ชิ้น เราต้องเริ่มทำบางสิ่งบางอย่างที่มีคุณค่า มีมูลค่า ทิ้งเป็นถาวรวัตถุให้กับชุมชนได้...มันถึงจะดี ทุกจังหวัดจำเป็นต้องเอาศิลปะมาอยู่ในวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชนให้ได้

ผมเชื่อว่าเด็กสมัยนี้ มีความคิดความเชื่อ มีความพร้อมมีความกล้าที่จะทำอะไรต่างๆ เป็นของตัวเอง เราต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้ถึงพร้อม เพื่อจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ และส่งเสริมให้เด็กนำความคิด ความเชื่อ มาเขย่ารวมกันอย่างไร ให้เป็นตัวเองที่ชัดเจนที่สุด เราต้องทำให้คนในชุมชน ได้เจอบางอย่างที่เขาสามารถเชื่อมโยงกับความชอบและความผูกพัน อะไรคือสิ่งที่ต้องการ และอะไรคือสิ่งอยากรักษา อะไรคือสิ่งที่สวยงาม ที่อยากมอบต่อให้ลูกหลานต่อไป จุดนี้จะเป็นการรักษาชุมชนร่วมกันอย่างยั่งยืน…”
เมื่อผ่านจังหวัดราชบุรี ท่านสามารถแวะเยี่ยมชมศิลปะได้ทั่วไปในตัวเมืองราชบุรี หรือจะแวะชมผลงานศิลปะ ณ โรงงานเซรามิก "เถ้าฮงไถ่” ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนเพชรเกษม ทางหลวงหมายเลข ๔ ข้ามสะพานแม่กลองมาอยู่ทางซ้ายมือ ๒๓๔/๑ หมู่ที่ ๒ ถนนเจดีย์หัก ต.เจดีย์หัก อ.เมือง จ.ราชบุรี เปิดทุกวัน เวลา ๘.๐๐-๑๗.๐๐ น. โทร. ๐ ๓๒๓๓ ๗๕๗๔, ๐ ๓๒๓๒ ๓๖๓๐ www.thtceramic.com หรือไปชมศิลป์กินขนมจิบชากาแฟที่ "หอศิลป์ร่วมสมัย เถ้า ฮง ไถ่ ดีคุ้น (Tao Hong Tai d’kunst)” ๓๒๓ ถ.วรเดช ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี เปิดทุกวัน เวลา ๙.๐๐-๑๘.๐๐ น. โทร. ๐๘๐ ๕๘๑ ๔๑๗๓ www.facebook.com/THT.dKunst