กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> ICH
“นวดไทย” มรดกวัฒนธรรมจากพุทธกาล ต้นธารแห่งความรู้ สู่มรดกภูมิปัญญา... (ตอน ๒)

วันที่ 6 พ.ย. 2562
 
"นวดไทย”
 มรดกวัฒนธรรมจากพุทธกาล ต้นธารแห่งความรู้ สู่มรดกภูมิปัญญา... (ตอน ๒ )
 

ภาพจาก lionkingltd.blogspot.com
 
      >>>จากรากฐานความเชื่อ สู่มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมล้ำค่าของชาติ
     การนวดไทย เป็นภูมิปัญญาที่ใช้สำหรับการบำบัดเยียวยาของการแพทย์แผนไทยซึ่งเป็นการแพทย์ดั้งเดิม ของชนชาติไทย ครูบาอาจารย์แพทย์แผนไทยได้ถ่ายทอดสืบต่อกันมาว่า ซึ่งเชื่อว่าได้รับการสืบทอดมาจาก บรมครูชีวกโกมารภัจจ์ ซึ่งเป็นแพทย์ประจำพระองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รวมถึงพระมหาเถระ และฤาษีหลายตน ที่ยกให้ท่านเหล่านี้เป็นผู้ประสิทธิประสาทวิชา ค้นพบสรรพคุณของว่านยาต่าง ๆ รวมทั้งรจนาคัมภีร์เพื่อเป็นหลักในการเรียนรู้และปฏิบัติสืบต่อกันมา จึงถือว่าเป็นบูรพาจารย์หรือต้นธารแห่งความรู้ของการแพทย์แผนไทย บรมครูชีวกโกมารภัจจ์ 
 

 
บรมครูชีวกโกมารภัจจ์ ภาพจาก web-pra.com/shop

     จากการสืบค้นในคัมภีร์ตำราการแพทย์แผนไทย พบว่าในพระคัมภีร์ ปฐมจินดา (พิษณุประสาทเวช, ๒๔๕๑: ๘๕) ได้กล่าวถึง พระมหาเถระผู้มีสมญาว่า ตำแย ซึ่งพระอาจารย์ ชีวกโกมารภัจจ์ได้สดับความรู้เกี่ยวกับลักษณะครรภ์วาระกำเนิด แล้วนำมาร้อยกรองเรียบเรียงเป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งในพระคัมภีร์ปฐมจินดา (ชื่อของพระมหาเถรตำแยนี้เองที่ทำให้ต่อมาภายหลังผู้คนมักเรียกหมอที่ทำคลอดว่า หมอตำแย) ในคำกล่าวไหว้ครูของแพทย์แผนไทย (สมาคมแพทย์แผนโบราณแห่งประเทศไทย, ๒๕๑๐) มักอาราธนาพระมหาเถรตำแยมาเป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยพระอาจารย์โรคามฤตินทร์ พระอาจารย์ฤทธิยาธร พระอาจารย์ชีวกโกมารภัจจ์ และพระอาจารย์ฤาษีต่างๆ ได้แก่ พระฤาษีอมรสิทธิดาบส พระฤาษีนารอด พระฤาษีสัชนาลัย พระฤาษีตาวัว พระฤาษีตาไฟ พระฤาษีกัศยะปะ พระฤาษีสิงขะ พระฤาษีประลัยโกฏ ในคัมภีร์ฉันทศาสตร์ซึ่งแต่งโดยพระยาวิชยาธิบดี (กล่อม) เจ้าเมืองจันทบูร ในสมัยรัชกาลที่ ๑ เริ่มต้นคัมภีร์ด้วยการบูชาพระรัตนตรัย สิ่งศักดิ์สิทธิ์และครูบาอาจารย์แพทย์ (พิษณุประสาทเวช, ๒๔๕๑: ๓) เช่นเดียวกับที่พบในคำกล่าวไหว้ครูแพทย์แผนไทย การกล่าวถึงนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อระลึกถึงพระคุณของพระรัตนตรัย สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และครูบาอาจารย์ ก่อนจะทำกิจต่าง ๆ เพื่ออำนวยอวยชัยให้ประสบความสำเร็จ ดังตัวอย่างเช่น
 
     "ข้าขอประนมหัตถ์ พระไตรรัตนนาถา ตรีโลกอมรมา อภิวาทนาการ อนึ่งข้าอัญชลี พระฤาษี ผู้ทรงญาณ แปดองค์เธอมีฌาน โดยรอบรู้ในโรคา ไหว้คุณอิศวเรศ ทั้งพรหมเมศ ทุกชั้นฟ้า สาปสรรค์ ซึ่งหว้านยา ประทานทั่วโลกธาตรี ไหว้ครูกุมารภัจ ผู้เจนจัดในคัมภีร์ เวชศาสตรบรรดา มีให้ทานทั่วแก่นรชน ไหว้ครูผู้สั่งสอน แต่ปางก่อนเจริญผล ล่วงลุนิพพานดล สำเร็จกิจประสิทธิ์พร” (พิษณุประสาทเวช, ๒๔๕๑: ๓) ภาพจาก หนังสือ นวดไทย มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
 

ภาพจาก หนังสือ นวดไทย มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
 
     และ ยังพบว่าในคัมภีร์ฉันทศาสตร์ส่วนที่ว่าด้วยจรรยาแพทย์ ตำราเวชศึกษาในหัวข้อ "แพทยาลังการ ว่าด้วยคุณธรรมอันเป็นเครื่องประดับของหมอ" และพระคัมภีร์วรโยคสาร ส่วนที่เกี่ยวกับคุณสมบัติของแพทย์ที่ดีและจรรยาแพทย์ได้กล่าวถึงคุณธรรมต่าง ๆ ที่ผู้เป็นแพทย์พึงยึดถือและความประพฤติที่ควรงดเว้น เพราะจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสีย คุณธรรมเหล่านี้ ล้วนเป็นหลักธรรม คำสอนในพุทธศาสนา ที่สำคัญ คือ อกุศลเจตสิก ๑๔ ประการ ตามที่กล่าวไว้ในพระอภิธรรมปิฎก (ยงศักดิ์และรวงทิพย์,๒๕๖๐)
 
 
ข้อมูลจาก : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม , นวดไทย มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ.๒๕๖๑
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)