เรื่อง : ส. พลายน้อย
ภาพ : กองบรรณาธิการ
ตำนานหมากรุก
ปัญหาเกี่ยวกับหมากรุกที่คนชอบถามมีอยู่ ๒ ข้อคือ ใครเป็นคนคิดการเล่นหมากรุกและคนไทยเล่นหมากรุกมาแต่เมื่อไร
เรื่องของหมากรุกเป็นเรื่องเก่าแก่ดึกดำบรรพ์ ที่ยังไม่มีใครพบหลักฐานยืนยันได้ชัดเจน เพราะมีการเล่นกันหลายประเทศ และแต่ละประเทศก็มีตำนานกล่าวขานแต่เพียงว่าได้มีการเล่นมาช้านาน แต่ไม่อาจบอกให้ชัดเจนว่ามีที่มาอย่างไร ได้มีผู้พยายามค้นคว้าหาหลักฐานมาช้านานแล้ว เช่นในเรื่อง The Origin of Chess ของ Harsha กล่าวว่า หมากรุกเกิดขึ้นในจีนเมื่อก่อน ค.ศ. ๑๗๔ ปี และเรียกกันในชั้นเดิมว่า ชองกี Chong-ki หรือกีฬาพระราชา แสดงว่าบุคคลชั้นสูงนิยมเล่นกันมาก่อน และต่อมามีคนนำเข้าไปในญี่ปุ่นในราว ๑,๐๐๐ ปีเศษมานี้เอง ญี่ปุ่นเรียกหมากรุกว่า โกะ (Go) เรียกกระดานหมากรุกว่า โกบัง (Go-Ban) แต่ทั้งจีนและญี่ปุ่นก็ไม่มีประวัติชัดเจน เพียงแต่อ้างตำนาน เช่นในประวัติของเซียนและนักพรตว่าชอบเล่นหมากรุก ในหนังสือบางเล่มอ้างว่าคนจีนชื่อฮั่นสิน (Hansing) เป็นผู้คิดให้ทหารในกองทัพเล่นแก้เหงา (ในบางแห่งว่าชื่อวูหวาง) ในระหว่างเดินทางไปแคว้นเชนสี และไม่มีรายละเอียดอย่างอื่น
ตำนานหมากรุกที่อ้างกันมากก็คือ ตำนานของอินเดีย ที่อ้างว่า นักรบเกิดขึ้นในสมัยรามายณะ คือประมาณ ๒,๐๐๐ ถึง ๓,๐๐๐ ปีมานี้เอง เขาเล่าว่าเมื่อพระรามยกทัพไปทำศึกกับ ทศกัณฐ์ที่เมืองลังกา นางมณโฑเห็นทศกัณฐ์เคร่งเครียดเป็นกังวลไม่มีความสบายใจ ก็คิดหาทางให้ทศกัณฐ์มีเวลาพักผ่อนเสียบ้าง และเห็นว่าควรจะเป็นการเล่นที่เกี่ยวกับการแข่งขัน คล้ายกับการทำสงคราม จึงได้คิดหมากรุกให้ทศกัณฐ์เล่นแก้รำคาญ
เรื่องนี้ทางฝ่ายลังกาก็มีความเห็นตรงกันในหนังสือ Ramayana In Lanka ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า "While one version of the origin of the geune of chess is that, it originated in the Sindh region of north west India, there is also tradition in Lanka, which states that Ravana was probably one of the eary players of the game of chess." สรุปว่าทั้งอินเดียและลังกามีความเห็นร่วมกันว่า ราพน์ (Ravana) ที่ไทยเรียกทศกัณฐ์เล่นหมากรุก ชื่อที่เรียกหมากรุกเป็นคำไทย พวกอินเดียเรียกหมากรุกว่า จตุรงค์ หรือ จตุรงคะ แปลว่า การเล่นอย่างกองทัพ คำว่า จตุรงค์นี้เมื่อไปถึงเปอร์เซีย (อิหร่าน) ได้กลายเป็น Chatrang และกล่าวกันอีกว่าเมื่อเข้าไปในอังกฤษได้กลายเป็น Chess นักตำนานเช่น E.P.M. ได้กล่าวในเรื่อง "Chess" ของเขาว่า หมากรุกได้เกิดขึ้นในเปอร์เซีย อ้างคำว่า Chess สืบเนื่องมาจากภาษาเปอร์เซียว่า "Shah" ซึ่งหมายถึงพระเจ้าแผ่นดิน ดังนั้นจะเห็นว่าตำนานหมากรุกมีกล่าวกันต่างๆ จะผิดถูกอย่างไรไม่มีใครตัดสินได้ เพราะเป็นเรื่องดึกดำบรรพ์นานมาก
ที่ว่าการเล่นหมากรุกเป็นการเล่นอย่างกองทัพนั้นก็เนื่องมาจากการเล่นในสมัยเดิม เอากระบวนพลทั้ง ๔ เหล่าในกองทัพมาทำเป็นตัวหมากรุก คือครั้งดั้งเดิมหัสดีพลช้างนั้นเขาทำเป็น ช้างออกศึก ซึ่งบางท่านกล่าวว่าต่อมาได้กลายเป็น "โคน" ของหมากรุกไทย แต่ในตำราพิชัยสงครามฮินดูโบราณกล่าวว่า ช้างศึกนั้นได้มาเป็นเรือของไทย เรื่องจึงขัดแย้งกันอยู่ ถัดทัพช้างหรือทัพเรือเข้าไปก็เป็นอัศว พลม้าหรือทัพม้า ในระยะถัดเข้าไปอีกก็เป็นทัพรถ หรือในบางแห่ง ว่าเป็นโรกะพลเรือ โดยให้เหตุผลว่าเพราะหมากรุกเกิดขึ้นที่เกาะลังกาจึงใช้เรือแทนรถ ในตำราพิชัยสงครามฮินดูยังได้กล่าวต่อไปอีกว่า ทัพเรือนี้แหละที่ได้กลายมาเป็นโคนในหมากรุกไทย นอกจากนี้ยังมีราชาที่เรียกว่าขุน (ในภาษาสันสกฤตเรียกว่ามันตรี) เป็นจอมพลคุมทัพ ยังมีตัวหมากที่เป็นตัวย่อยอีกพวกหนึ่งที่เรียกว่าพวกปาทิกะ คือพลราบได้แก่พวกเบี้ย
การเล่นหมากรุกแบบจตุรงค์นี้ ในชั้นเดิมก็เล่นบนกระดาน ซึ่งแบ่งเป็นช่องตาราง ๖๔ ช่อง เหมือนอย่างทุกวันนี้ จะผิดกันก็เฉพาะการตั้งหมากและการเดิน กล่าวกันว่าในชั้นเดิมเขาตั้งหมากทั้ง ๔ มุม เพราะหมากมีด้วยกัน ๔ ชุด ไม่ใช่ ๒ ชุดอย่างในปัจจุบัน หมากทั้ง ๔ ชุดนั้นทาสีต่างกัน คือสีแดงชุดหนึ่ง สีเขียวชุดหนึ่ง สีเหลืองชุดหนึ่ง และสีดำอีกชุดหนึ่ง แต่ละชุดมีหมากรุกเพียง ๘ ตัวคือ ขุนตัวหนึ่ง ช้างหรือโคนตัวหนึ่ง ม้าตัวหนึ่ง เรือตัวหนึ่ง เบี้ย ๔ ตัว
การเล่นเขาถือเอาพวกที่อยู่มุมตรงข้ามเป็นพวกเดียวกัน ส่วนมุมอื่นถือเป็นศัตรู วิธีการเล่นแบบจตุรงค์ดังกล่าว คงจะได้เล่นกันมาช้านาน จนถึงในราว พ.ศ. ๒๐๐ มีพระเจ้าแผ่นดินอินเดียองค์หนึ่งทรงพอพระหฤทัยในการสงครามมากกว่าอย่างอื่น ตั้งแต่ได้ครองราชสมบัติก็ออกราวีตีบ้านใกล้เรือนเคียงเรื่อยไปไม่มีใครสู้ พอหมดบ้านเมืองที่จะตีก็มีความรำคาญ ในที่สุดได้ปรึกษากับมหาอำมาตย์ชื่อสัสสะ ว่าทำอะไรดีจึงจะหายรำคาญ สัสสะเป็นคนฉลาดคิด ก็หาทางแก้ที่เป็นคุณประโยชน์แทน คิดเห็นว่าถ้าจะหาเครื่องแก้รำคาญอย่างอื่นก็คงจะเพลิดเพลินไม่ได้นาน ก็จะหันกลับไปหาการสงครามตามที่ชอบอีก จึงคิดแบบการเล่นที่ใกล้เคียงกับการสงครามขึ้น โดยเอาแบบการเล่นจตุรงค์มาดัดแปลง คือแทนที่จะเล่นกัน ๔ คน ก็ให้เหลือเพียง ๒ คน เดินแต้มด้วยใช้ปัญญาความคิด เอาชนะกันแบบทำสงคราม

มหาอำมาตย์สัสสะได้รวมตัวหมากรุกทั้ง ๔ ชุดให้เหลือเพียง ๒ ชุด ตั้งเรียงกันฝ่ายละฟากกระดานอย่างที่เล่นกันในปัจจุบัน แต่ลดตัวพระราชาหรือขุน เสีย ๒ ตัว แล้วคิดตัวมนตรีหรือที่เรียกว่าเม็ดขึ้นแทน หมากรุกตามแบบของสัสสะนี้ได้ผลเป็นที่พอใจ ทำให้พระเจ้าแผ่นดินเพลิดเพลิน ไม่ปรากฏว่ามีการทำสงครามอีกเลยและการเล่นหมากรุกแบบของสัสสะก็แพร่หลายไปตลอด นานาประเทศต่างก็คิดปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตามแต่จะเห็นสมควร วิธีการเล่นจึงแตกต่างกันออกไป แต่เค้าเดิมก็มาจากแบบของมหาอำมาตย์สัสสะนั้นเอง
การเล่นหมากรุกที่ประหลาดพิสดารก็คือหมากรุกคน ตามเรื่องว่ามีกษัตริย์ราชวงศ์โมกุลองค์หนึ่ง ได้ดัดแปลงใช้คนเป็นตัวหมากรุก ได้เล่นในพระราชวังกับแขกเมือง ตัวหมากรุก ใช้พวกสาวๆ ล้วน ไม่ใช้ผู้ชาย ตัวไหนถูกกินก็โค้งกายทำท่าสลามถอยออกจากสนามไปด้วยท่าทางกระชดกระช้อย ทำให้น่าเอ็นดูเจริญตาขึ้นอีก สนามหมากรุกในพระราชวังทำแบบถาวร คือ สร้างด้วยหินอ่อน ทำเป็นตารางอย่างกระดานหมากรุกสองข้างสนามทำเป็นยกพื้น (คงเป็นแบบที่นั่งดูในสนามกีฬาปัจจุบัน) การเล่นอย่างนี้แสดงว่าผู้หญิงอินเดียก็เล่นหมากรุกได้ เคยเห็นภาพเขียนของอินเดียเป็นภาพผู้หญิงอินเดียกำลังเล่นหมากรุก รู้สึกแปลกดี การใช้ผู้หญิงสาวๆ เป็นตัวหมากรุกเป็นเรื่องธรรมดาของราชวงศ์นี้ มีเรื่องเล่ากันว่าบางครั้งเล่นแบบวิตถารหรือโหดร้ายเกินไป เช่นเอานักโทษมาเล่นเป็นตัวหมากรุก แจกดาบให้คนละเล่มทุกคน ฝ่ายใดได้รับคำสั่งให้กินหมากตัวใดก็ต้องแสดงฝีมือถือดาบสั้นเข้าประหารหมากตัวนั้นจริงๆ เหมือนเป็นการทำสงคราม การเล่นแบบนี้เป็นการเล่นที่โหดร้ายมากจึงไม่มีชาติใดรับเอาไปเป็นแบบอย่าง
การเล่นหมากรุกคนนอกจากอินเดียแล้วปรากฏว่าทางภาคเหนือของประเทศอิตาลีก็มีการแข่งขันหมากรุกคนที่เมืองมารอสติกาทุกปี กล่าวกันว่าเพื่อเป็นการระลึกถึงนิยายรักเรื่องหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ เขาเล่าว่าในครั้งนั้นมีชายหนุ่มชื่อไวริ กับ วินาลโดไปรักลูกสาวเจ้าของเมืองชื่อปาริชิโว หนุ่มทั้งสองจึงท้าดวลกันขึ้น ปาริชิโวเห็นว่าทั้งสองคนจะมาตายเพราะลูกสาวของตน เห็นไม่เหมาะจึงเปลี่ยนให้มาเล่นหมากรุกแทนใครชนะก็ได้ไลโอนอราลูกสาวของตนไปครองอย่างนี้จะดีกว่า ทั้งสองตกลงตามเงื่อนไขเล่นหมากรุกแข่งขันกัน และในที่สุดไวริเป็นฝ่ายชนะ แต่เพื่อไม่ให้วินาลโดเสียใจ เจ้าเมืองก็ยกน้องสาวของ ไลโอนอราให้เป็นการปลอบใจ
ในปัจจุบันเมืองมารอสติกายังมีการแข่งขันเล่นหมากรุกเป็นงานประจำปี และถือว่าไวริต้องเป็นฝ่ายชนะ มีการมอบหญิงสาวให้ไวริและวินัลโดเหมือนในนิยายทุกประการ (เรื่องนี้เขียนจากข่าวในหนังสือพิมพ์ เมื่อ ๕๐ ปีมาแล้วไม่ทราบว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างหรือไม่)
เมื่อครั้งผู้เขียนเป็นนักเรียน (ในราว พ.ศ. ๒๔๘๐ เศษๆ)ได้เห็นการเล่นหมากรุกคน ครั้งหนึ่งในงานไหว้พระประจำปีที่วัดพนัญเชิงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตัวหมากรุกจะแบ่งตัว แบบโบราณเครื่องสวมหัวจะเป็นตัวหมากรุก เช่น ตัวม้า ก็มีหัวม้าสวม ตัวขุนก็มีรูปตัวขุนสวมฯลฯ วิธีเล่นก็มีคนเล่นที่กระดานหมากรุกอย่างธรรมดาเมื่อฝ่ายดำเดินตัวไหน ก็มีเจ้าหน้าที่พูดบอกทางเครื่องขยายเสียงคนที่แสดงเป็นตัวนั้นก็จะเดินไปตามนั้น ผู้แสดงเป็นตัวหมากรุกจึงต้องเล่นหมากรุกเป็นหรือรู้ว่าเดินอย่างไรไม่เช่นนั้นก็เดินไม่ถูกหรือหมากรุกตัวใดถูกกินวงปี่พาทย์ก็จะบรรเลง เพลงโอด เพิ่มความสนุกขึ้นอีก การเล่นหมากรุกคนต้องลงทุนมาก จึงได้เห็นเฉพาะในการจัดงานวัฒนธรรมระดับชาติ
หลายปีมาแล้วมีคนถามว่า คนไทยเล่นหมากรุกมาแต่ครั้งใดก็ตอบเขาไม่ได้ เพราะไม่มีหลักฐาน แต่ผู้เขียนอยากรู้ก็พยายามสืบหาตลอดเวลาในที่สุดพบนักสะสมเครื่องปั้นดินเผาสมัยสุโขทัยชื่อคุณสุวรรณ สุวรรณประดิษฐ์ จึงถามเขาว่าเคยพบตัวหมากรุกที่เป็นเครื่องปั้นดินเผา บ้างไหม เขาก็ตอบว่ามีแต่ชำรุด ตัวดีๆ มีคนที่มีทุนเก็บไปหมด ต่อมาเขาก็เอาหมากรุกดินปั้นเคลือบขาวมาให้ดูสองตัวเป็นม้าตัวหนึ่งและขุนตัวหนึ่ง แตกหักไปบางส่วน แต่ก็ดูออกว่าเป็นตัวหมากรุก จึงเป็นหลักฐาน เชื่อได้ว่าการเล่นหมากรุกมีมาแต่สมัยสุโขทัย พวกพราหมณ์คงจะนำมาเผยแพร่
การเล่นหมากรุกในสมัยโบราณเป็นเพียงการเล่นแก้รำคาญของคนที่มีเวลาว่าง ไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญจึงไม่มีกล่าวไว้ในศิลาจารึกแม้ในสมัยอยุธยาจะมีการเล่นก็ไม่กล่าวถึงอย่างชัดเจนเมื่อครั้งเป็นนักเรียน พ.ศ. ๒๔๘๐ เคยเห็นกระดานหมากรุกทำด้วยแผ่นหินขนาดใหญ่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติวังจันทรเกษมที่อยุธยาเมื่อแรกเห็นคิดว่าเป็นเตาขนมครกเพราะเป็นหลุมเต็มไปหมดผู้ใหญ่ที่ดูแลอยู่จึงบอกว่าเป็นกระดานหมากรุกที่เห็นเป็นหลุมนั้นแสดงว่าถูกตัวหมากรุกโขกอยู่ เป็นประจำทำให้สึกเป็นหลุมถ้ากระดานหมากรุกหินนั้นยังอยู่ก็จะเป็นพยานได้อย่างดีว่าคนไทยเล่นหมากรุกมานานแล้ว
ขณะที่เขียนนี้นึกไม่ได้ว่าในพงศาวดารมีกล่าวถึงการเล่นหมากรุกไว้บ้างหรือไม่แต่จำได้เลาๆ ว่าเมื่อพระเจ้าท้ายสระสวรรคตเกิดการแย่งราชสมบัติระหว่างพระมหาอุปราชกับเจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร เจ้าฟ้าทั้งสอง ขนทองสำคัญสำหรับกษัตริย์หนีไป ภายหลังฝ่ายมหาอุปราชให้คนตามจับได้ขณะกำลังเล่นหมากรุก(ใช้ดินปั้นเป็นตัวหมากรุกกระดานก็เขียนลงบนพื้นดิน) เรื่องนี้เขียนจากความจำอาจผิดก็ได้ไม่มีหนังสือค้นผู้มีหนังสือพงศาวดารอาจตรวจสอบดูได้ถ้ามีก็ขออภัย

กล่าวโดยสรุป การเล่นหมากรุกเป็นที่นิยมกันมากสำหรับคนที่มีเวลาสมัยก่อนเคยเห็นพระที่มีอายุหลังจากเสร็จกิจของสงฆ์แล้วก็จะนั่งเล่นหมากรุกกันบางทีฆราวาสก็ไปนั่งเล่นด้วย บางครอบครัวทะเลาะกันเพราะสามีเอาแต่เล่นหมากรุกหามรุ่งหามค่ำ ไม่ช่วยภรรยาทำมาหากิน มีเรื่องเล่าแบบขำขันเรื่องหนึ่ง ตายายสองคนอยู่บ้านข้างวัด ยายทำขนมขาย ตาช่วยโม่แป้งตอนเช้าให้แล้วก็หายไปทั้งวันปรากฏว่าไปเล่นหมากรุกกับหลวงตาในวัดกว่าจะกลับถึงบ้านก็สามถึงสี่ทุ่มหรือดึกกว่านั้น ยายเป็นห่วงก็หากับข้าวใส่ถาดไว้ให้ แต่ตาก็ได้กินบ้างไม่ได้กินบ้าง เพราะบางวันกับข้าวบูดตาก็บ่นว่าเอาของเสียๆ ไว้ให้กิน ยายขัดใจได้ยินบ่นหลายหนแต่ก็ทนเงียบอยู่ ไม่ได้โต้ตอบว่าอะไร คืนหนึ่งตากลับมาดึกหิวข้าวก็เข้าครัวพอเปิดฝาชีที่ปิดสำรับอยู่ก็เห็นกับข้าวเต็มถ้วยครั้งเพ่งพินิจดูรู้ว่าอะไรก็หัวเราะเสียงดังจนยายตื่นร้องถามว่าอะไรตาก็ตอบว่ากลัวกับข้าวของยายน่ะสิเสียงใหญ่ร้องเสียงเรียบๆ ว่า ของชอบไม่ใช่รึ คราวนี้ไม่บูดหรอกกินให้หมดนะ ตาไม่ตอบว่าอะไรมองดูกับข้าวในสำรับอย่างปลงสังเวชเพราะในถ้วยแกงมีแต่ตัวหมากรุก
เล่ากันว่าตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ตาก็ไม่ไปเล่นหมากรุกที่วัดอีกเลย ช่วยยายปอกมะพร้าวขูดมะพร้าว ทำขนมทั้งวัน คุณฟังแล้วก็ร้องสาธุ เรื่องจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ว่า "คนดีทำดีได้ง่ายคนชั่วทำดีได้ยาก” ตาเป็นคนดีจึงคิดทำดีได้ง่าย ดังกล่าวมานี้แล
ข้อมูล : วารสารวัฒนธรรม ฉบับที่ ๓ ปี ๒๕๖๒