กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วัฒนธรรมประเพณี
ท้าวแสนปม ตำนานเมือง ไตรตรึงษ์

วันที่ 24 ต.ค. 2562
 
สืบสาวเล่าเรื่อง เรื่อง/ภาพ : อภินันท์ บัวหภักดี
 
 
 
ท้าวแสนปม
ตำนานเมือง ไตรตรึงษ์

 
 
     ในลักษณ์นั้นว่าน่าประหลาด เป็นเชื้อชาตินักรบกลั่นกล้า
เหตุไฉนย่อท้อรอรา ฤาจะกล้าแต่เพียงวาที
     เห็นแก้วที่แวววับจับจิต ถ้าไม่คิดปีนป่ายจะได้ฤา
มิใช่ของตลาดที่อาจซื้อ ฤาแย่งยื้อถือได้โดยไม่ยอม
 
     เชื่อหรือไม่ บทกวีข้างบนนี้เคยเป็นข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัย หรือสอบเอ็นทรานส์ วิชาภาษาไทย ข้อหนึ่ง ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา จากบทกวีนี้ คำถามก็คือ เป็นบทกวีจากวรรณกรรมเรื่องอะไร ใครเป็นคนแต่ง ดูจากตรงนี้แล้วลองคิดดูสิครับว่า ข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยสมัยก่อนโน้นนั้นยากเย็นแค่ไหน
 
     ยังมีเนื้อร้องของเพลงไทยสากล หรือ เพลงลูกกรุง ชื่อเพลง สาส์นรัก ของวงดนตรีสุนทราภรณ์ วงดนตรีที่มีชื่อเสียงอย่างยิ่งในยุค ๕๐ ครูเอื้อ สุนทรสนาน หัวหน้าวงดนตรีนี้ ได้เขียนคำร้องของเพลง สาส์นรัก นี้ให้ มัณฑนา โมรากุล เป็นผู้ร้องดังนี้
 
     ในลักษณ์นี้ว่าน่าประหลาด เป็นเชื้อชาตินักรบกลั่นกล้า
เหตุไฉนย่อท้อรอรา หรือจะกล้าแต่เพียงวาที
     เห็นแก้วแวววับที่จับจิต ไยไม่คิดอาจเอื้อมให้เต็มที่
เมื่อไม่เอื้อมจะได้อย่างไรมี อัญมณีหรือจะโลดไปถึงมือ ฯลฯ
 
     เมื่ออ่านพิจารณาดูทั้งกลอนบทละคร และคำร้องของเพลงข้างบนนั้นแล้ว ก็เข้าใจได้ครับว่า ครูเอื้อ สุนทรสนาน ท่านได้นำกลอนบทละครดังกล่าวมาดัดแปลงเป็นคำร้องของเพลง สาส์นรัก นั้นเอง และคนออกข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัย ก็คงจะเห็นว่ากลอนบทละคร คล้ายคลึงกับเนื้อร้องเพลงดังมีชื่อเสียง นักเรียนควรมีความรู้รอบตัว จึงเอามาถามเป็นข้อสอบ เมื่อมาถึงตรงนี้ก็เหมือนได้บอกใบ้ข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยข้อนี้ให้แล้ว คุณผู้อ่านจะตอบได้แล้วหรือยังว่า กลอนบทละครข้างบนนั้น เป็นกลอนบทละคร จากละครเรื่องใด และใครเป็นผู้แต่ง หากตอบไม่ได้ก็หมายความว่า ข้อสอบเอ็นทรานส์ข้อหนึ่งในอดีต คุณทำไม่ได้แล้วละ ส่วนตัวผมผู้เขียน ก็จะขอเฉลยเสียเลยละว่า กลอนบทละครบทนี้นั้น เป็นบทพระราชนิพนธ์ เรื่อง ท้าวแสนปม ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ของปวงชนชาวไทยเรานั้นเอง
 
 
     ท้าวแสนปม นิทานพื้นบ้านเมืองกำแพงเพชร
     เรื่องท้าวแสนปม เป็นนิทานพื้นบ้านแบบเล่าปากต่อปาก หรือเป็นวรรณกรรมมุขปาฐะ ของชาวชนพื้นบ้านเมืองกำแพงเพชร และแพร่กระจายออกไปจนทั่วภาคกลางตอนบน จนกระทั่ง เมื่อในหลวงรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวนำไปแต่งเป็นบทละคร เรื่องนี้จึงได้แพร่หลายออกไปยังบรรดานักปราชญ์ราชบัณฑิต ผู้รู้ ผู้คงแก่เรียน และผู้ได้รับการศึกษาทั้งหลาย มีการเล่าขานสืบต่อกันไปในวงกว้างระดับประเทศ จนกลายเป็นเรื่องที่อยู่ในบรรดาเรื่องเล่าพื้นบ้านไทยที่กลายเป็นนิทานอมตะ เป็นฉากหลังของความเป็นไทยที่สั่งสมสืบทอดกันต่อมาช้านาน
 
     สำหรับเรื่องเล่า ท้าวแสนปม ในระดับชาวบ้านเมืองกำแพงเพชร เรื่องก็จะเล่าว่า
     กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วมีชายผู้หนึ่ง ถูกลอยแพมาติดที่เกาะขี้เหล็ก ซึ่งอยู่ใต้เมืองกำแพงเพชร ชายผู้นั้นมีรูปร่างน่าเกลียดมีปุ่มปมขึ้นเต็มตัว ชาวบ้านจึงเรียกเขาว่า แสนปม และเรียกเกาะขี้เหล็กว่า เกาะตาปม ตามชื่อแสนปม นายแสนปมทำไร่ ปลูกพริก ปลูกมะเขืออยู่ที่เกาะตาปมนี้ และมีมะเขือต้นหนึ่ง อยู่หน้ากระท่อมมีผลใหญ่มาก เพราะแสนปมปัสสาวะรดทุกวัน
 
      วันหนึ่งพระราชธิดาของเจ้าเมืองกำแพงเพชร เสด็จประพาสมาถึงที่เกาะตาปม ทอดพระเนตรเห็นผลมะเขือ ก็นึกอยากเสวย จึงให้นางสนมไปขอเจ้าของมะเขือ นายแสนปมจึงเก็บผลมะเขือไปถวาย หลังจากพระราชธิดาเสวยผลมะเขือแล้วไม่นานก็ทรงพระครรภ์ เจ้าเมืองกำแพงเพชร ทรงพิโรธมาก เพราะพระราชธิดาไม่สามารถบอกได้ว่าใครเป็นพ่อ
 
     ต่อมาพระราชธิดา ทรงมีพระประสูติกาล เป็นพระราชโอรส เจริญวัยน่ารัก เจ้าเมืองผู้เป็นพ่อ จึงรับสั่งให้เสนา ป่าวประกาศให้ผู้ชายทุกคนมาเสี่ยงทายเป็นพระบิดาของพระราชโอรส โดยอธิษฐานว่า ถ้าผู้ใดเป็นบิดาจริงก็ขอให้พระราชโอรสคลานเข้าไปหาบรรดาผู้ชายทุกคน ไม่ว่าหนุ่มแก่ชรา ยาจกเข็ญใจ เศรษฐี เจ้าต่างเมือง ต่างพากันมาร่วมเสี่ยงทาย เป็นบิดาของพระราชโอรส แต่พระราชโอรสก็ไม่ได้คลานไปหาใครเลย แม้จะใช้ของล่อใจอย่างไรก็ตาม
 
     เจ้าเมืองแปลกพระทัย จึงให้เสนาไปตามผู้ชายคนสุดท้ายในเมือง คือ นายแสนปม เข้ามาเสี่ยงทาย นายแสนปมไม่อาจขัดบัญชาเจ้าเมือง จึงมาพร้อมกับก้อนข้าวเย็นหนึ่งก้อน เมื่อมาถึงเข้าเสี่ยงทายกลับปรากฏว่า พระราชโอรสได้คลานเข้ามาหา และเสวยข้าวเย็นในมือนายแสนปม เจ้าเมืองจึงจำต้องยกพระราชธิดาให้แก่นายแสนปม และด้วยความโกรธจึงขับไล่ให้คนทั้งสามคนกลับไปอยู่ที่เกาะตาปมดังเก่า
 
     วันหนึ่งนายแสนปมไปทอดแหที่คลองขมิ้น ทอดครั้งใดก็ได้แต่ขมิ้นขึ้นมาจนเต็มลำเรือ แสนปมแปลกใจมาก เมื่อกลับไปบ้านขมิ้นกลับกลายเป็นทองคำ นายแสนปมจึงนำทองคำไปทำเปลให้ลูก และตั้งชื่อลูกว่าอู่ทอง แล้วนายแสนปมก็เริ่มมีฐานะ มีข้าทาสบริวารมาอาศัยอยู่ร่วมกันสุขสบายขึ้นกว่าแต่ก่อน
 
     วันหนึ่งนายแสนปมเกิดเบื่อชีวิตสุขสบายจึงลงไปถางไร่ที่ปลายน้ำ ก็พบว่าต้นไม้ที่ถางทิ้งไปนั้นกลับมาขึ้นงดงามตามเดิม นายแสนปมจึงถางใหม่ แต่วันรุ่งขึ้นก็ปรากฏเหตุการณ์ เหมือนเดิม นายแสนปมสงสัยจึงถางไร่แล้วแอบเฝ้าดู ก็เห็นลิงตัวหนึ่งออกมาจากป่ากับกลองใบหนึ่ง พอลิงตีกลองขึ้น ต้นไม้ในป่าก็กลับงอกงามขึ้นเหมือนเดิมใหม่ นายแสนปมจึงแย่งกลองนั้นมาจากลิง และทดลองตีกลองพร้อมกับทดลองอธิษฐานในใจไปต่างๆ นานา
 
     จนแจ้งในสรรพคุณของกลองแล้วครบถ้วน จึงเอากลองกลับบ้านและเล่าให้พระราชธิดาฟัง ครั้งนี้ นายแสนปมตั้งจิตอธิษฐานพร้อมกับตีกลองปรากฏว่า พื้นที่เกาะปมกลับกลายเป็นเมืองใหม่ มีปราสาทราชวัง นายแสนปมและครอบครัวจึงเข้าไปอาศัยอยู่ ให้ชื่อเมืองใหม่แห่งนี้ว่า เมืองเทพนคร และตั้งตัวเป็นเจ้าเมือง ผู้คนจึงเรียกขานว่า ท้าวแสนปม และบุตรชายจึงได้รับการเรียกขานใหม่ว่า ท้าวอู่ทอง จากนั้นเมื่อท้าวอู่ทอง เติบโตขึ้นก็ออกเดินทางไปผจญภัยตามวิถีทางของตน กล่าวกันว่า ท้าวอู่ทององค์นี้ก็คือพระราชบิดา ท้าวอู่ทอง ปฐมกษัตริย์ต้นราชวงศ์อู่ทองแห่งกรุงศรีอยุธยา นั้นเอง
 
     และเรื่องราวนิทานพื้นบ้านท้าวแสนปมก็มีอยู่เพียงเท่านี้ แต่ที่ประกอบอยู่ในเรื่องนิทานพื้นบ้านก็คือพื้นที่จริงที่ถูกอ้างอิงถึงคือเกาะกลางแม่น้ำปิงนั้น ต่อมาก็มีผู้ไปพบเมืองโบราณมีซากปรักหักพังดั้งเดิมมากมายจึงมีผู้ตั้งชื่อเมืองนี้ หรือจะเป็นชื่อเก่าแก่ดั้งเดิมก็ไม่รู้ได้ว่า เมืองไตรตรึงษ์ เมื่อนิทานท้าวแสนปมถูกเล่ากันมาแพร่หลายยิ่งขึ้น เมืองโบราณแห่งนี้จึงได้รับการกล่าวขานต่อไปว่าคือ เมืองเทพนคร ของท้าวแสนปมนั้นเอง
 
 
     กลอนบทละคร ท้าวแสนปม ในรัชกาลที่ ๖
     ท้าวแสนปม เป็นหนึ่งในบทพระราชนิพนธ์บทละครของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ซึ่งมีอยู่อย่างหลากหลายเรื่องราวจำนวนมาก พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ เรื่อง ท้าวแสนปม นี้ขึ้นระหว่างที่เสด็จกลับจากทอดพระเนตร "พระเจดีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ที่จังหวัดสุพรรณบุรี โดยทรงเริ่มต้นพระราชนิพนธ์ที่ตำบลบ้านโข้งสุพรรณบุรี ต่อเนื่องเรื่อยมาระหว่างที่เสด็จพระราชดำเนินกลับ จนกระทั่งพระราชนิพนธ์แล้วเสร็จ เมื่อเสด็จกลับมาถึงที่พระราชวังสนามจันทร์ ในปีพุทธศักราช ๒๔๕๖ และได้มีการจัดพิมพ์เผยแพร่ในปีเดียวกัน
 
     เนื้อเรื่องของท้าวแสนปมนั้นมีการนำเค้าโครงบางส่วนมาจากการแสดง "ตำนานเมืองอู่ทอง” อันเป็นตำนานท้องถิ่นที่กล่าวถึงต้นกำเนิดของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (อู่ทอง) ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ที่ปกครองอาณาจักรอยุธยา โดยได้มีการปรับแก้ความในบางส่วนให้มีความสมจริง มีความเป็นไปได้มากขึ้น รวมทั้งยังมีที่มาของเหตุการณ์ต่างๆ และความเป็นมาของตัวละคร ดังเช่นที่ในตำนานนั้น มิได้กล่าวถึงที่มาของ นายแสนปม พระองค์ก็ทรงมีพระราชนิพนธ์เพิ่มเติมตามพระราชวินิจฉัยว่า นายแสนปมนั้นแท้จริงแล้วเป็นพระโอรสของเจ้านครศรีวิไชยที่แปลงตัวมาเพื่อลอบชมโฉมพระธิดาของเจ้านครไตรตรึงษ์
 
     นอกจากนั้นได้มีการเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์ในตำนานที่ดำเนินไปตาม การดลบันดาลของเทพยดา ให้มีความสอดคล้องกับความเป็นจริงยิ่งขึ้น ดังในความตอนหนึ่งของตำนานนั้น ที่กล่าวว่าพระราชธิดาแห่งไตรตรึงษ์ทรงครรภ์หลังจากเสวยมะเขือที่นายแสนปมถวาย แต่ในบทละครเรื่องท้าวแสนปมนั้นได้มีการกล่าวไว้ว่าทั้งพระราชธิดาและนายแสนปมนั้นเคยพบเจอกันมาก่อนจนเกิดใจปฏิพัทธ์ต่อกันและได้ลักลอบพบกันเป็นประจำ เป็นต้น
 
     แม้กระทั่งในตำนานที่ได้มีการกล่าวถึงกลองวิเศษ "อินทเภรี” ที่พระอินทร์มอบให้นายแสนปม เมื่อตีแล้วก็ปรากฏว่าปุ่มปมนั้นหายไปและเมื่อตีอีกครั้งก็สามารถเนรมิตเมืองขึ้นใหม่ได้ ซึ่งจะแตกต่างจากในเรื่องท้าวแสนปมที่กล่าวถึงกลองอินทเภรีในฐานะที่เป็นกลองที่ใช้ตีให้สัญญาณในการรบ ซึ่งนายแสนปมนั้นใช้เป็นเครื่องมือประกอบในการทำอุบายเพียงเท่านั้น
 
     การที่เนื้อเรื่องท้าวแสนปมมีการปรับเปลี่ยนเนื้อเรื่องในบางเหตุการณ์ให้มีความสมจริงยิ่งขึ้นนั้นก็เป็นไปตามพระราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงวิเคราะห์ประกอบกับการใช้ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ อีกทั้งยังมีปราชญ์ผู้รอบรู้แห่งแผ่นดินเกิดขึ้นก่อนรัชสมัยของพระองค์ทำการศึกษามาล่วงหน้าเป็นหลักฐานการค้นคว้าอยู่ก่อนแล้ว จนทำให้ทราบว่า ท้าวแสนปม เป็นเรื่องที่เล่าขานกันมาช้านานในดินแดนอุษาคเนย์ และมีอยู่หลายเรื่องหลายตำนานไม่เหมือนกัน
 
     อย่างตำนานโยนกเชียงแสน สิงหนวัติกุมาร จุลยุทธกาลวงศ์ ก็เล่าไว้ว่า พระราชวงศ์เชื้อสายพระเจ้าสิงหนวัติและพระเจ้าพรหมซึ่งครองเมืองเชียงรายได้หนีภัยสงครามมาตั้งเมืองใหม่ ชื่อว่า "เมืองไตรตรึงษ์” บนพื้นที่ปัจจุบันของจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งเป็นเมืองอันเป็นต้นเรื่องของท้าวแสนปม ราชบุตรเขยของราชาแห่งเมืองไตรตรึงษ์ ในส่วนตอนต้นของพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสกล่าวว่า ในจุลศักราช ๖๘๑ พ.ศ. ๑๘๖๒ ท้าวแสนปมได้สร้างเมืองใหม่และขึ้นครองราชย์สมบัติที่เมืองเทพนคร ทรงพระนามว่าพระเจ้าสิริชัยเชียงแสน มีพระราชโอรสทรงพระนามว่าพระเจ้าอู่ทองพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสันนิษฐานว่า ท้าวแสนปมคือ เจ้านายเชื้อกษัตริย์นครศิริไชย บางทีท้าวแสนปมอาจจะชื่อชินเสนก็เป็นได้ ส่วนเมืองที่ปรากฏในเรื่องท้าวแสนปมนั้นคือ เมืองสรรค์ ซึ่งตั้งอยู่ตามลำน้ำพิงและแควน้อย ด้วยพระอัจฉริยภาพทางประวัติศาสตร์และอักษรศาสตร์เป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงนำเรื่องราวการค้นคว้าทางประวัติศาสตร์เหล่านี้มาเชื่อมโยงประกอบพระราชวินิจฉัยของพระองค์ จนกลายเป็นพระราชนิพนธ์ท้าวแสนปมขึ้น ซึ่งมิได้แค่กระทำเพียงเล่มเดียว แต่ทรงพระราชนิพนธ์ท้าวแสนปม ขึ้นถึง ๓ เรื่อง คือ พระราชบันทึกเรื่องท้าวแสนปม บทละคร รำท้าวแสนปม และบทละครดึกดำบรรพ์ท้าวแสนปม พร้อมกันทีเดียว
 
     ในปัจจุบันนี้ วรรณกรรมสำคัญระหว่างประเทศเรื่องซึ่งขายดิบขายดี จนมีสื่อหลากหลายผลิตขึ้นรองรับ ตั้งแต่ หนังสือวีดิทัศน์ ไปจนถึงภาพยนตร์ฮอลลีวูดฟอร์มยักษ์ อย่างเรื่อง สตาร์วอร์ส ลอร์ด ออฟ เดอะริง แฮรี่ พอร์ตเตอร์ ต่างล้วนมีสิ่งซึ่งเรียกว่าเป็น ที่มาของเรื่อง จัดทำขึ้นประกอบ ไม่ว่าจะเป็น พจนานุกรมพ่อมด ของแฮรี่ พอตเตอร์ แผนที่ มิดเดิ้ล เอิร์ธ และอภิธานศัพท์ ของลอร์ด ออฟ เดอะริง หรือหนังสือรวมตัวละครต่างดาวของ สตาร์ วอร์ส เป็นต้น และสิ่งที่ผลิตขึ้นประกอบเนื้อเรื่องใหม่ทั้งหลายนี้ต่างก็พากันขายได้ขายดีติดตามเนื้อเรื่องหลักไปด้วยเหมือนกัน
 
     ดังนั้นผลงาน บทละครท้าวแสนปม รวมทั้ง พระราชนิพนธ์เรื่องท้าวแสนปมนี้ จึงถือได้ว่าเป็นผลงานล้ำสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ซึ่งความล้ำสมัยนั้น มิใช่เพียงแต่จะเป็นบทพระราชนิพนธ์นี้เท่านั้น แม้แต่ในพระราชวินิจฉัยว่า นิทานท้าวแสนปม ไม่ใช่เป็นเพียงแค่นิทานพื้นบ้าน หากแต่ยังมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ มีการกล่าวถึงเรื่องราวเดียวกัน หรือ คล้ายคลึงกันในหลายพื้นที่ หลายชาติพันธุ์ สมควรจะหยิบจับนำขึ้นมาชำระสะสางเสียให้เป็นแบบอย่างหนึ่งเดียวต่อไปในอนาคต ก็เป็นพระราชวินิจฉัยซึ่งเฉียบคม ล้ำสมัยด้วยเช่นกัน
 
     ในวันนี้ ภาพยนตร์ต่างประเทศ เรื่องยิ่งใหญ่และออกแนวย้อนยุคในหลากหลายเรื่อง มักเปิดเรื่องด้วยข้อความที่คล้ายคลึงกันว่า กาลครั้งหนึ่งนานมา เมื่อเรื่องเล่าจากปากต่อปากสืบต่อกันไปแสนนาน เรื่องเล่าก็จะกลายเป็นนิทานของชุมชน จากนิทานธรรมดาๆ เล่ากันนานไปก็จะกลายเป็นตำนานของคนของพื้นที่ และถึงที่สุดเมื่อตำนานได้รับการพิสูจน์ยืนยันมีเหตุและผลสอดคล้องรองรับกันได้เมื่อไร ตำนานก็จะกลายเป็นประวัติศาสตร์
 
 
     และเรื่องราว ท้าวแสนปม ก็ผ่านเรื่องราวหลากหลายมาแล้วมากมาย ตั้งแต่เป็นนิทานพื้นบ้าน จนกลายมาเป็นตำนานมีเมืองประวัติศาสตร์เมืองหนึ่งคือเมืองไตรตรึงษ์ รองรับชัดเจน และในวันนี้กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้ขึ้นบัญชีนิทานพื้นบ้านเรื่องท้าวแสนปม ขึ้นเป็นหนึ่งในมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติแล้ว ไม่แน่นักในอนาคตท้าวแสนปมอาจจะไปได้ไกลมากกว่านี้
 
     ส่วนในวันนี้ ใครที่อยากจะไปรู้จักกับนิทานพื้นบ้านเมืองกำแพงเพชรเรื่องนี้ ก็สามารถเดินทางไปเยี่ยมเยือนได้อย่างง่ายๆ ด้วยเส้นทางถนนสายพหลโยธิน ผ่านนครสวรรค์ไปจนใกล้จะถึงเมืองกำแพงเพชร ก่อนหน้าสักประมาณสิบสองกิโลเมตรก็จะถึงตำบลไตรตรึงษ์ เมื่อเลี้ยวขวาเข้าเส้นทางแยกเล็กๆ เข้าไปก็จะไปถึงวัดวังพระธาตุ ที่นั่นมีศาลเล็กๆ ของท้าวแสนปมตั้งอยู่ ในวัดบรรยากาศร่มรื่นเย็นสบาย มีเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์สูงใหญ่มากสร้างมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยตั้งตระหง่านงามอยู่ และที่นอกบริเวณวัด ที่ริมแม่น้ำปิงตรงนั้นบรรยากาศสวยงาม ยังมีศาลเล็กๆ ของท่านท้าวแสนปมตั้งอยู่อย่างสง่างามอีกแห่งหนึ่ง ใครที่เดินทางมาบนบานศาลกล่าวถึงที่นี่จะต้องถวายฆ้องเป็นเครื่องแก้บนแทบทุกราย
 
 
ข้อมูล : วารสารวัฒนธรรม ฉบับที่ ๓ ปี ๒๕๖๒
http://magazine.culture.go.th/2019/3/index.html
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)