เรื่อง : อู๋ คุณากร
ภาพ : กองบรรณาธิการ
เกียรติยศภาพยนตร์ไทยในเวทีนานาชาติ
ถ้ารางวัล คือเครื่องการันตีถึงความมีคุณภาพ เป็นเกียรติยศแห่งความภาคภูมิใจ การที่ภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องได้รับรางวัลในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติจากทั่วโลก นั่นก็หมายถึง โลกได้รับรู้แล้วว่า ประเทศไทยก็มีการผลิตภาพยนตร์ดีที่มีคุณภาพไม่แพ้ชาติใดในโลกเลย
เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่จัดขึ้นทั่วโลก ทั้งในทวีปยุโรปและเอเชีย เพื่อมอบรางวัลให้กับภาพยนตร์ที่ได้รับความสนใจจากผู้ชม เป็นเสมือนการให้กำลังใจกับทีมงานผู้สร้างภาพยนตร์ อีกทั้งเป็นตลาดในการขายหนัง (Film Market) ซึ่งเป็นการพบกันโดยตรงระหว่างผู้สร้างภาพยนตร์ (Producer) กับผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ (Sales Agent)
"รางวัลสิงโตทองคำ” ถือเป็นรางวัลที่เก่าแก่ที่สุด จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส (Venice International Film Festival) ซึ่งเป็นเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกของโลกในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ณ เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี ตามด้วยอีกหลายเทศกาล เช่น เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติมอสโก แต่เทศกาลเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงและทรงอิทธิพลต่อวงการภาพยนตร์เป็นอย่างมาก คือ งานเทศกาลภาพยนตร์คานส์ (Cannes Film Festival หรือ Festival de Cannes) ซึ่งจัดราวเดือนพฤษภาคมของทุกปีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ณ เมืองคานส์ ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส โดยมอบรางวัล "ปาล์มทองคำ” เป็นสัญลักษณ์อันโดดเด่นของงาน นอกจากนั้นยังมี "รางวัลหมีทองคำ” จากงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเบอร์ลิน (Berlin International Film Festival) ซึ่งเป็นเทศกาลที่มีผู้เข้าร่วมงานมากที่สุดในโลกกว่า ๕ แสนคน
ส่วนในเอเชียมีเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่ยิ่งใหญ่ ได้แก่ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงโตเกียว (Tokyo International Film Festival) ประเทศญี่ปุ่น จัดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ และเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเซี่ยงไฮ้ (Shanghai International Film Festival) ของประเทศจีนที่จัดตั้งแต่ปี ๒๕๓๖ โดยภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จะได้รับรางวัลจอกทองคำ หรือ "Golden Goblet" ตามมาด้วยเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน (Busan International Film Festival) ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเทศกาลภาพยนตร์นี้จัดมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๙ จุดเด่นของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่เมืองปูซานนี้ คือการเน้นฉายภาพยนตร์ของผู้กำกับหน้าใหม่ และกลุ่มผู้ชมรุ่นใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่เน้นการมอบรางวัลให้กับภาพยนตร์เกาหลีและภาพยนตร์จากเอเชีย พร้อมกับเงินรางวัลก้อนโตเพื่อเป็นทุนให้มีการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นใหม่ๆ ต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีภาพยนตร์ไทยหลายเรื่อง ที่สามารถคว้ารางวัลจากเวทีนี้มาได้เช่นกัน
เทศกาลภาพยนตร์ที่เมือง "คานส์” (ฝรั่งเศส) ถือว่าเป็นเวทีหรือตลาดหนังที่มีผู้ซื้อมากที่สุด ถัดไปเป็น "มิลาน” (อิตาลี) ในแถบเอเชียที่สำคัญคือ "ปูซาน” (เกาหลี) หนังไทยเองเริ่มเดินทางไปเทศกาลหนังเมืองคานส์ครั้งแรกโดยมี "ฟ้าทะลายโจร” เป็นหนังไทยเรื่องแรกที่เดินทางไปฉายโชว์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ในสายทางการที่เรียกว่า Un Certain Regard กับเทคนิคสุดล้ำที่ย้อมสีหนังทั้งเรื่องให้ฉูดฉาดเกินจริง เป็นความกล้าของผู้กำกับไทย นำเทคนิคต่างๆ มาใช้ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้กับวงการหนังไทยและวงการภาพยนตร์โลก ทำให้เป็นกระแสข่าวเกรียวกราวไปทั่วงาน ปลุกกระแสความเชื่อมั่นให้คนทำหนังไทยในตลาด วันนี้เราจะขอหยิบยกภาพยนตร์ไทยบางส่วนที่ได้กระแสตอบรับอย่างดีจากเทศกาลนานาชาติ ที่สามารถดึงเกียรติมาประดับให้กับประเทศไทย หลายเรื่องดังกระหึ่ม กวาดเม็ดเงิน สร้างรายได้ สร้างชื่อเสียง คว้ารางวัลระดับโลกมาครอง บางเรื่องเป็นหนังนอกกระแสหรือหนังอินดี้ที่คนไทยแทบจะไม่รู้จัก แต่ต่างชาติชื่นชมและเดินสายไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์ในระดับนานาชาติมาแล้วทั่วโลก เริ่มจาก
|
• สันติ-วีณา (Santi-Vina)
ภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกของไทยที่ส่งเข้าประกวดภาพยนตร์นานาชาติเป็นเป็นครั้งแรก นั่นคืองานประกวดภาพยนตร์นานาชาติแห่งเอเชียตะวันออก ครั้งที่ ๑ ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และได้รับรางวัลชนะเลิศถึง ๓ รางวัล คือ รางวัลถ่ายภาพยอดเยี่ยม ฝ่ายศิลป์ยอดเยี่ยม และภาพยนตร์ที่มีการเผยแพร่วัฒนธรรมดีเด่นเป็นภาพยนตร์สี ๓๕ มม. เรื่องแรก อำนวยการสร้างและกำกับโดย รัตน์ เปสตันยี ออกฉายเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๗ แต่ได้หายสาบสูญไปจากประเทศไทยเป็นเวลานาน จนกระทั่งได้พบฟิล์มต้นฉบับเมื่อปี ๒๕๕๗ ที่สถาบันภาพยนตร์อังกฤษ (BFI) พบฟิล์มปริ้นท์ที่หอภาพยนตร์รัสเซียและหอภาพยนตร์จีน หอภาพยนตร์ของไทยจึงได้ทำการบูรณะและอนุรักษ์ภาพยนตร์เรื่องนี้ ต่อมาได้ถูกนำไปจัดฉายที่เทศกาลภาพยนตร์นานานาชาติ เมืองคานส์ ในสาย Cannes Classics ในปี พ.ศ. ๒๕๕๙ สันติ วีณา เป็นเรื่องราวของ สันติ หนุ่มตาบอดที่พบรักกับ วีณา หญิงสาวที่มอบความรักด้วยใจบริสุทธิ์ แต่มรสุมชีวิตมากมาย ทำให้สูญเสียคนรักและเข้าสู่เส้นทางศาสนาในที่สุด
|
|
• ผีเสื้อและดอกไม้ (Butterfly and Flowers)
หนังออกฉายปี พ.ศ. ๒๕๒๘ คว้ารางวัลชนะเลิศ "รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม” จากการประกวดภาพยนตร์นานาชาติ ครั้งที่ ๕ ปี ค.ศ. ๑๙๘๖ ณ รัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผลงานกำกับของ ยุทธนา มุกดาสนิท ถ่ายทำด้วยระบบฟิล์ม ๓๕ มม. สโคป บันทึกเสียงจริงซาวด์ออนฟิล์ม สร้างจากหนังสือดีที่เด็กและเยาวชนไทยควรอ่านที่ได้รางวัลจากการประกวดหนังสือแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๒๑ ประพันธ์โดยนิพพานฯ (มกุฏ อรฤดี) อีกทั้งหนังเรื่องนี้ถูกจัดรวมอยู่ในโครงการ "๑ ใน ๑๐๐” หนังไทยที่คนไทยควรดู หนังบอกเล่าเรื่องราวของ "ฮูยัน” เด็กมุสลิมเรียนดีแต่มีฐานะยากจน มีพ่อเป็นกรรมกรรถไฟ ฮูยันต้องออกจากโรงเรียน ดิ้นรนทำงานเพื่อให้น้องๆ ได้เรียนหนังสือ โดยหาเงินจุนเจือครอบครัวด้วยวิธีต่างๆ เริ่มแรกจากเดินขายไอติม จนกระทั่งเข้าไปอยู่ในขบวนการกองทัพมดลอบขนข้าวสารหนีภาษีข้ามประเทศทางรถไฟไปยังมาเลเซีย ในวัยที่เปรียบเสมือนดอกไม้แรกผลิ ฮูยันกลับต้องเผชิญภยันตรายเสี่ยงภัยต่างๆ ท่ามกลางความขัดแย้ง อาชญากรรมและควันปืนคุกรุ่นในชุมชนที่ยากจน หนังถ่ายทอดวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในหมู่บ้านชายแดนไทย-มาเลย์ และงานฮารีรายอ ออกมาในท่วงทำนองอันงดงาม |
|
• สุดเสน่หา (Blissfully Your)
ถูกจัดเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ดีที่สุดของเทศกาลในปีนั้น โดยนิตยสาร Le Cahiers du Cinema เป็นภาพยนตร์แนวทดลอง กำกับโดย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล โดยได้แรงบันดาลใจมาจากการเห็นตำรวจจับกุมแรงงานพม่าผิดกฎหมาย ภาพยนตร์ออกฉายรอบปฐมทัศน์ที่ประเทศฝรั่งเศสในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้รับรางวัล Un Certain Regard และรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม Golden Alexander จากเทศกาลภาพยนตร์เทสซาโลนิกิ ครั้งที่ ๔๓ ที่ประเทศกรีซ และยังไปได้รางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์ที่โตเกียว รอตเตอร์ดัม สิงคโปร์และบัวโนสไอเรส หนังเล่าเรื่องราวของ "มิน” หนุ่มชาวพม่าที่หลบหนีเข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมายพบรักกับสาวไทยอย่าง "รุ่ง” ทั้งคู่เข้าไปเที่ยวในป่า สถานที่ที่พวกเขารู้สึกมีอิสระ ในการแสดงออกซึ่งความรักอย่างเต็มที่
|
|
• บิวตี้ฟูล บ็อกเซอร์ (Beautiful Boxer)
สู้เยี่ยงชายเพื่อเรือนกายแห่งหญิง บิวตี้ฟูล บ็อกเซอร์ เป็นหนังปี พ.ศ. ๒๕๔๖ กำกับโดย "เอกชัย เอื้อครองธรรม” จากเรื่องจริงของนักมวยชายคนหนึ่ง "น้องตุ้ม-ปริญญา เจริญผล” ที่มีจิตใจเป็นหญิงมาตั้งแต่เด็ก และมีความใฝ่ฝันว่าจะเป็นผู้หญิง ในวัยเยาว์ ต้องเร่ร่อนช่วยพ่อแม่ในจังหวัดต่างๆ รวมทั้งเคยบวชเรียนเป็นเณรติดตามพระธุดงค์ แล้วได้เข้าสู่วงการมวยไทย จนมีชื่อเสียงไปทั่วโลก เสนอฉากบู๊แอ๊กชั่นของศิลปะมวยไทย สะท้อนชีวิตที่มีความขัดแย้งภายในจิตใจที่รักสวยรักงามแต่มีความเป็นนักสู้ไม่แพ้ชายชาตรี เป็นหนังที่โดนใจคนดูนานาชาติ กวาดรายได้หลายล้านเหรียญ แล้วยังได้รับเกียรติไปฉายโชว์ในเทศกาลหนังทั่วโลกอีกหลายสิบเวที พร้อมคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ โตริโน่ และเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติมิลาน สองเวทีใหญ่ ที่อิตาลี
|
|
• ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ (Shutter)
กำกับโดย "ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ” และ "บรรจง ปิสัญธนากุล” นำแสดงโดย อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม และณัฐฐาวีรนุช ทองมี "ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ” เป็นเรื่องราวของคู่รักคู่หนึ่งที่มีผีสาวที่บูชาความรักและความแค้นตามติดไปทุกที ออกฉายเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๗ เป็นภาพยนตร์ผีที่สร้างตำนานในการทุบสถิติรายได้ให้กับวงการภาพยนตร์ไทย ทำรายได้ในประเทศไทยกว่าร้อยล้านบาท และยังได้ขายลิขสิทธิ์ไปอีก ๓๐ ประเทศทั่วโลก ปลุกกระแสหนังผีในเอเชีย ติดอันดับ ๕ หนังทำเงินที่เกาหลี และเมื่อออกฉายที่บราซิล ๔ สัปดาห์แรก ทำรายได้สูงถึง ๑๐๐ ล้านบาท แถมยังได้รับรางวัล Best Asian Film จากเทศกาล Fantasia Film Festival 2005 ที่แวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา และรางวัลหนังแฟนตาซีที่ดีที่สุดในงาน Fantastic’s Arts Festival of Gerardmer ประเทศฝรั่งเศส นอกจากนั้นหนังยังถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปสร้างใหม่ โดย Masayuki Ochiai ผู้กำกับชาวญี่ปุ่น และถูกฮอลลีวูดนำไปรีเมคชื่อเรื่อง Sivi โดย K. R. Senthil Nathan ผู้กำกับชาวอินเดีย อีกด้วย
|
|
• สัตว์ประหลาด (Tropical Malady)
หนังปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ของผู้กำกับ "อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล (เจ้ย)” ซึ่งร่วมสร้างกับบริษัท Anna Sanders Films ประเทศฝรั่งเศส ได้รับรางวัล Jury Prize (ขวัญใจกรรมการ) ในสายเข้าประกวดชิงรางวัลปาล์มทองคำ นับเป็นที่ ๓ รองจากรางวัลสูงสุดจาการประกวดเวทีใหญ่ระดับโลกเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส เป็นภาพยนตร์ที่ตั้งคำถามให้แก่ผู้ชมตลอดทั้งเรื่อง "อะไรคือสัตว์ประหลาด” เรื่องราวแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของความรักร่วมเพศระหว่าง เก่ง พลทหารหนุ่มที่บังเอิญมาพบกับ โต้ง เด็กบ้านนอกลูกจ้างโรงน้ำแข็ง ส่วนหลังเป็นเรื่องราวที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง เป็นเรื่องลี้ลับเกี่ยวกับ จิตวิญญาณ อันดิบเถื่อนของคนและสัตว์ป่า การตามล่าระหว่างนายพรานกับเสือสมิงในป่าทึบ
|
|
• สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ารัก (First Love)
หนังปี พ.ศ. ๒๕๔๘ โดยสองผู้กำกับ "พุฒิพงศ์ พรหม-สาขา ณ สกล นคร” และ "วศิน ปกป้อง” นำแสดงโดย มาริโอ้ เมาเร่อ ไม่เพียงคว้ารางวัล Audience Grand Prize จากงาน Okinawa International Movie Festival 2011 ประเทศญี่ปุ่น สาขา Laugh Film พร้อมรางวัลเทศกาลหนังฟาร์อีสต์ฟิล์มเฟสติวัล ครั้งที่ ๑๓ ประเทศอิตาลี สาขา Technicolor Asia Award และยังได้รับเกียรติให้เข้าฉายในสาย Infomative section ในเทศกาล Zling International Film Festival for Children & Youth สาธารณรัฐเช็ก และเทศกาลหนัง ฟาร์อีสต์ฟิล์ม อูดิเน่ ประเทศอิตาลี โดยคว้ารางวัล Post Production Award และยังชนะใจแฟนๆ ทั้งในฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และจีน ซึ่งบริษัทภาพยนตร์ของจีนซื้อหนังไปฉายเป็นทางการในโรงภาพยนตร์ ๖,๐๐๐ แห่งทั่วทั้งเมืองจีน เป็นเรื่องของ น้ำ สาวน้อยวัยมัธยมต้นที่แอบชอบพี่โชน หนุ่มหล่อมัธยมปลาย ทำให้น้ำมีคู่แข่งมากมาย แต่เธอทำทุกวิถีทางเพื่อจะให้สวยและเก่งขึ้น จนได้เป็นดาวของโรงเรียน มีคนเข้ามาจีบเป็นสิบยกเว้น โชน คนที่เธอรอคอยอยู่คนเดียว
|
|
• เมืองเหงาซ่อนรัก (Wonderful Town)
หนังปี พ.ศ. ๒๕๕๐ โดยผู้กำกับ "อาทิตย์ อัสสรัตน์” หนังอินดี้ที่คนไทยแทบจะไม่รู้จัก แต่เดินสายไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์ระดับนานาชาติมาแล้วทั่วโลกร่วม ๕๐ เวที อาทิ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ได้ รางวัล "นิว เคอร์เรนท์ส อวอร์ด” เทศกาลหนังนานาชาติร็อตเทอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ ได้รางวัล "ไทเกอร์ อวอร์ด” เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเยเรวาน Golden Apricot ได้รับรางวัล Silver Prize เทศกาลภาพยนตร์เยรูซาเล็ม ครั้งที่ ๒๕ ได้เข้าฉายในสายผู้กำกับหน้าใหม่ (New Directors) เทศกาลภาพยนตร์เอเชียและอาหรับ Osian’s Cinefan ครั้งที่ ๑๐ ได้เข้าประกวดในสาย Asian and Arab Competition ซึ่งเป็นสายหลัก เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ Era New Horizons ครั้งที่ ๘ ที่เมือง Wroclaw ประเทศโปแลนด์ ได้เข้าประกวดใน สาย New Horizons International Competition รวมไปถึงรางวัลจากเทศกาลหนังเอเชียเมืองโดวิล ฝรั่งเศส และเทศกาลหนังนานาชาติฮ่องกง แถมยังขายเมืองนอกได้มากกว่า ๒๕ ประเทศเหงาซ่อนรัก คือเรื่องราวความเงียบเหงาเศร้าสร้อยที่ปกคลุมเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งทางภาคใต้ของไทย นับตั้งแต่เหตุการณ์สึนามิได้เกิดขึ้น จนวันหนึ่งสถาปนิกหนุ่ม เดินทางมาเช่าห้องในโรงแรมเก่าแก่ที่ครอบครัวหญิงสาวดูแลอยู่ ทั้งคู่เริ่มความสัมพันธ์กันจนพัฒนาเป็นความรัก และสถาปนิกหนุ่มได้หายตัวไปอย่างลึกลับ
|
|
• ๓๖ (Tape ๓๖) ภาพยนตร์ไทยแนวดราม่าอาร์ต เรื่อง ๓๖
กำกับโดย นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้เขียนบทภาพยนตร์วัยรุ่นพันล้าน (Top Secret) คว้ารางวัลสำคัญ New Currents Award จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ใน พ.ศ. ๒๕๕๐ หนังเริ่มต้นด้วยการเดินทางหาโลเคชั่นถ่ายหนังของทีมงานสองคนในที่ต่างๆ เธอและเขาจำเป็นต้องใช้กล้องถ่ายภาพนิ่งในการบันทึกภาพเหล่านั้นไว้ และความสัมพันธ์ของทั้งสองก็เริ่มก่อตัวขึ้นอย่างเงียบๆ หนังเรื่องนี้ใช้วิธีเล่าเรื่องที่แปลกใหม่ด้วยการแบ่งหนังออกเป็น ๓๖ ช็อต หรือ ๓๖ ตอนที่ไม่ต่อเนื่องกันและเอามารวมเข้าด้วยกัน แต่ละฉากจะวางกล้องไว้นิ่งๆ แล้วให้ตัวละครในแต่ละตอนเป็นผู้ดำเนินเรื่อง โดย เบลา ทาร์ ผู้กำกับระดับตำนานของฮังการีซึ่งเป็นประธานตัดสินชมเชยว่าเป็นผลงานที่เร้าอารมณ์ มีศิลปะ ไม่มีฉากไหนสร้างขึ้นอย่างไร้จุดหมาย และเกิดเป็นภาษาภาพยนตร์เฉพาะตัวในที่สุด เป็นหนังอีกหนึ่งเรื่องที่หยิบยกเอาสิ่งที่ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ยังอยู่ในความทรงจำอันงดงาม
|
|
• ลุงบุญมีระลึกชาติ (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives)
เป็นหนังไทยเรื่องแรกที่คว้ารางวัล "ปาล์มทองคำ" หรือ "ปาล์ม ดิ ออร์" (Palme d’Or) ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่เมืองคานส์ ครั้งที่ ๖๓ ที่ฝรั่งเศส ในเทศกาลหนังเมืองคานส์ปี ค.ศ. ๒๐๑๐ ท่ามกลางเสียงชมเชยจากนักวิจารณ์ต่างชาติท่วมท้น ผลงานการสร้างและกำกับโดย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับหนังแนวอินดี้ ออกฉายเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๕๓ แก่นเรื่องว่าด้วยลุงบุญมีที่ล้มป่วยเป็นโรคไตวายและรู้ว่าตนเองจะมีชีวิตอยู่ได้อีกเพียง ๔๘ ชั่วโมง จึงออกจากโรงพยาบาล เพื่อไปตายที่บ้าน และได้พบกับวิญญาณหลากหลายทั้งคนและสัตว์มานำทางไปสู่โลกแห่งความตาย รวมทั้งวิญญาณของภรรยาที่เสียชีวิตไปนานแล้ว เขายังได้พบกับลูกชายที่หายตัวไป ซึ่งกลายสภาพคล้ายลิง ลุงบุญมีจึงทำสมาธิและเกิดระลึกชาติ ได้ว่าความป่วยที่ตนเผชิญอยู่มีความเกี่ยวพันกับบาปกรรมในอดีตชาติ ที่เคยฆ่าสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ตายไปหลายราย สะท้อนแนวคิดเชิงปรัชญาเกี่ยวกับวัฏจักรชีวิต การระลึกชาติ ความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดในวัฒนธรรมตะวันออก บวกกับเรื่องราวการปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย
|
|
• ซัคซี้ด ห่วยขั้นเทพ (Suck Seed)
ฉายในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ออกฉายที่ประเทศไต้หวันในงานเทศกาลภาพยนตร์ไทเป ฟิล์ม เฟสติวัล ประเทศไต้หวัน งานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ และล่าสุดชนะเลิศรางวัล "Laugh Category Uminchu Prize Grand Prix” Audience Award จากเทศกาลภาพยนตร์โอกินาว่า ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๕ ซึ่งเป็นรางวัลจากผลโหวตของผู้ชม ในสาขา Laugh (หัวเราะรื่น) ได้รับรางวัลเป็นเงินมูลค่า ๙๐๐,๐๐๐ บาท เป็นภาพยนตร์ร็อค รักวัยรุ่น โรแมนติก คอมเมอดี้ กำกับโดย ชยนพ บุญประกอบ (หมู) ผู้กำกับหน้าใหม่ของจีทีเอช นำแสดงโดย เก้า-จิรายุ ละอองมณี, พีช-พชร จิราธิวัฒน์ เป็นเรื่องราวของ เป็ด เด็กประถมขี้อาย ที่ต้องการกลายเป็น ร็อคเกอร์ เพื่อให้สาวรัก แต่เธอมีเหตุต้องต้องย้ายไปแสนไกล เวลาผ่านไปถึง ม.๖ ก็กลับมาพบกัน เป็ดจึงได้จับมือกับเพื่อนๆ ฟอร์มวง Suck Seed ขึ้นมา ท้าแข่งเพื่อพิสูจน์ให้คนที่พวกเขารักได้เห็นว่า พวกเขาไม่ใช่แค่ "ตัวห่วย” อย่างที่ใครๆ คิด
|
|
• ฉลาดเกมส์โกง (Bad Genius)
ฉายในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ โด่งดังไปทั่วโลกได้รับเกียรติให้เป็นภาพยนตร์เปิดฉายในงาน New York Asian Film Festival 2017 และสามารถคว้ารางวัล "ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม" (BEST FEATURE) จากงาน New York Asian Film Festival 2017 ประเทศสหรัฐอเมริกา และยังได้ฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกว่าสิบประเทศ ทั้งนิวซีแลนด์ แคนาดา อังกฤษ ฝรั่งเศส แอฟริกาใต้ ชิลี และญี่ปุ่น ซึ่งกำกับโดย นัฐวุฒิ พูนพิริยะ (บาส) นำแสดงโดย ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง และ ชานนท์ สันตินธรกุลฉลาดเกมส์โกงเป็นภาพยนตร์ไทยที่มีพล็อตเรื่องที่น่าดู ตื่นเต้นให้ลุ้นไปตลอดทั้งเรื่อง สะท้อนแง่มุมการแข่งขันอย่างดุเดือดในระบบการศึกษา ให้แง่คิดชีวิตวัยเรียนในเรื่องความฉลาดกับศีลธรรม เป็นเรื่องราวของนักเรียนชั้นมัธยมปลายกลุ่มหนึ่งที่คิดหารายได้จากการโกงข้อสอบระดับนานาชาติ โดยอ้างอิงเหตุการณ์โกงข้อสอบ ที่ใช้ผลเอสเอทีที่เกิดขึ้นในประเทศจีนเป็นเหตุการณ์เค้าโครงเรื่องต้นแบบ ภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จทั้งคำวิจารณ์และรายได้ในต่างประเทศ โดยเป็นภาพยนตร์ไทยทำรายได้สูงสุด ติดอันดับ ๑ บอกซ์ออฟฟิศในหลายประเทศ เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน กัมพูชา มาเลเซีย และเวียดนาม เข้าฉายในจีนกว่า ๗,๐๐๐ โรง โดยทำรายได้เปิดตัววันแรกสูงถึง ๑๕๔ ล้านบาท ติดอันดับ ๒ บอกซ์ออฟฟิศประเทศจีน จึงนับเป็นภาพยนตร์ไทยทำรายได้สูงสุดตลอดกาลในจีน อีกทั้งยังติดอันดับ ๖ ภาพยนตร์ทำรายได้สูงสุดทั่วโลก ทั้งนี้นางเอกของเรื่อง ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง ยังได้รับรางวัล "Screen International Rising Star Asia Award” ซึ่งเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์เอเชียนิวยอร์ก (New York Asian Film Festival - NYAFF) ที่จัดขึ้นเป็นปีที่ ๑๖ ณ สหรัฐอเมริกา และยังได้รับรางวัล The Best Actress หรือนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจาก งานเทศกาลงานภาพยนตร์ Asian Brilliant Star Award ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี
|
|
• กระเบนราหู (Manta Ray)
ถือเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่คว้ารางวัล Orizzonti Awards ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Film) จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส ครั้งที่ ๗๕ ไปครองได้สำเร็จ Orizzonti Awards เป็นการพิจารณารางวัลสำหรับภาพยนตร์ที่เป็นตัวแทนสุนทรียภาพและการเล่าเรื่องของภาพยนตร์ร่วมสมัยจากนานาชาติในปัจจุบัน เป็นผลงานภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของ พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง ที่สะท้อนถึงปัญหาและทัศนคติต่อความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับวิกฤตผู้อพยพชาวโรฮิงญาในประเทศไทย กระเบนราหู เล่าถึง ชาวประมงไทยที่ได้ช่วยชีวิตผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่บาดเจ็บ จนในที่สุดก็ได้มาใช้ชีวิตในบ้านหลังนั้นเสมือนเป็นบ้านตนเอง หนังได้รับคำชมท่วมท้นในแง่การสะท้อนภาพความเลื่อมล้ำทางสังคมและชนชาติ อีกทั้งยังเป็นหนังไทยเรื่องแรกที่นำเสนอเรื่องราวชีวิตที่เป็นดั่งโศกนาฏกรรมของชาวโรฮิงญาได้อย่างงดงาม หนังออกฉายเมื่อกันยายน พ.ศ. ๒๕๖๑
|
|
• มะลิลา (Malila The Farewell Flower)
ผลงานการกำกับของ อนุชา บุญยวรรธนะ ผู้กำกับหนังชายรักชาย สุดปราณีต เป็นภาพยนตร์แนวดราม่า emotional ออกฉายในปีที่ผ่านมา (พ.ศ. ๒๕๖๑) ซึ่งคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม Kim Ji-Seok Awards จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ (Busan International Film Festival 2017) รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม NETPAC Awards จากเทศกาลภาพยนตร์ม้าทองคำ ประเทศไต้หวัน (Taipei Golden Horse Film Festival) รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติสิงคโปร์ ประเทศสิงคโปร์ (Singapore International Film Festival) รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติแห่งเกรละ ประเทศอินเดีย (International Film Festival of Kerala) และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง Asian Film Awards ซึ่งเทียบได้กับออสการ์แห่งวงการภาพยนตร์เอเชีย ถึง ๒ สาขา ได้แก่ รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมและรางวัลผู้กำกับหน้าใหม่ยอดเยี่ยม มะลิลาเป็นการเล่าเรื่องของชายรักชาย ผ่านการทำบายศรีอันงดงามที่เล่าถึงปรัชญา ความรัก นำแสดงโดย เวียร์ ศุกลวัฒน์ คณารศ และโอ อนุชิต สพันธุ์พงษ์ โดยบอกเล่าเรื่องราวของเชน เจ้าของสวนมะลิผู้มีอดีตอันเจ็บปวด และ พิช นักทำบายศรี อดีตคนรักของเชนในวัยเด็ก ที่กลับมาพบกันและรื้อฟื้นความสัมพันธ์กันอีกครั้ง โดยมีเนื้อหาสอดแทรกเรื่องความตายในพุทธศาสนา ความไม่จีรังยั่งยืน และความรักของมนุษย์
|