เรื่อง : กัลยาณมิตร นรรัตน์พุทธิ
ภาพ : กองบรรณาธิการ
เมื่อคนโฆษณา
ต้องมนตราหุ่นกระบอกไทย
จะมีคนรุ่นใหม่สักกี่คน...ที่จะกล้าลุกขึ้นมาสืบสานงานศิลปะไทย โชคดีที่มีคนโฆษณาคนหนึ่ง หลงใหลได้ปลื้มกับศิลปะแขนงนี้ เขาได้ใช้ทักษะและภูมิปัญญาของนักโฆษณา ผสานความคิดสร้างสรรค์กับงานศิลปะโบราณ พาหุ่นกระบอกไทยฝ่ากระแสยุคดิจิทัล ให้ยืนหยัดอยู่คู่สังคมไทย และยังได้เปิดนิวาสสถานย่านหลักสี่ เป็นแหล่งเรียนรู้การทำหุ่นกระบอกไทย ด้วยหัวใจแห่งความมุ่งมั่นที่จะสืบทอดศิลปะงานหุ่นกระบอกไทยให้คงอยู่คู่คนไทยสืบไป
นิเวศ แววสมณะ เจ้าของรางวัลศิลปินวัฒนคุณาธร ประจำปี ๒๕๕๕ รางวัลดีเด่นด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟูมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ประจำปี ๒๕๕๘ และรางวัลครูช่างศิลปหัตถกรรม ประจำปี ๒๕๖๑ ของกรมส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ศิลปินผู้มีปณิธานทำงานเพื่อทดแทนคุณแผ่นดินท่านนี้ ได้เปิด "บ้านตุ๊กกะตุ่น หุ่นกระบอกไทย” มานานกว่า ๒๐ ปี ตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ เพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์และโรงหุ่นกระบอกแห่งแรกในประเทศไทย ที่เปิดให้ประชาชนเข้าชมและศึกษาทุกอย่างเกี่ยวกับหุ่นกระบอก ทั้งฝึกอบรมการทำหุ่นและเชิดหุ่นให้แก่ประชาชนที่สนใจ เพื่ออนุรักษ์ให้หุ่นกระบอกไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้นทั้งในและนอกประเทศ เพื่อให้ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ รวมถึงเยาวชนรุ่นใหม่ได้เข้าถึงศิลปะแขนงนี้และธำรงไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมไทยที่งดงาม
เวทมนตร์คนหุ่นกระบอก
นิเวศ แววสมณะ มีความผูกพันกับนาฏศิลป์ไทยตั้งแต่เด็ก ด้วยคุณยายมักจะพาไปดูโขน ลิเก อย่างสม่ำเสมอ ความรักในงาน ศิลปะไทยได้เริ่มฉายแวว เมื่อจบมัธยมต้นจึงสอบเข้าเรียนที่ช่างศิลป์ แต่เรียนได้แค่กลางเทอม ก็กลับมาเรียนมัธยมปลายอีก แต่สุดท้าย เมื่อพบว่าศิลปะคือคำตอบที่ใช่ เขาจึงได้สอบเข้าคณะมัณฑนศิลป์ ภาควิชาออกแบบนิเทศน์ศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และคว้าเกียรตินิยม มาเป็นของขวัญให้กับครอบครัว จากนั้นจึงได้เข้าทำงานในแวดวงโฆษณา และทำงานอย่างหนักเรื่อยมา จนเมื่อโลกก้าวสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ที่มีอิทธิพลต่อโลกการทำงานทุกภาคส่วน เขาได้เห็นการคัดพนักงานออกครั้งเล่าครั้งเล่าในเอเจนซี่โฆษณาที่เขาทำงานอยู่ โดยเฉพาะพนักงานรุ่นเก่าที่ไม่มี DNA ตรงกับยุคเทคโนโลยีแห่งปัญญาประดิษฐ์ เขาจึงเริ่มมองหาช่องทางสำรอง ทั้งๆ ที่ในขณะนั้นเขาเพิ่งมีอายุเพียง ๓๐ ปีและยังมีอนาคตอีกไกลในสายอาชีพที่ทำอยู่ เมื่อไปเห็นงานหัตถกรรมไทยโดยเฉพาะหุ่นกระบอกที่นารายภัณฑ์ เขาจึงตัดสินใจทำการตลาดขายสินค้าไทยบนโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ใหม่มากในยุคนั้น ได้กระแสตอบรับเป็นอย่างดี แต่ทว่างานหัตถกรรมทำมือ ไม่สามารถผลิตได้ทีละมากๆ อย่างที่เขาต้องการ เขาจึงต้องเริ่มหันมาผลิตหุ่นกระบอกด้วยตัวเอง
"ผมเรียนจากหนังสือ พยายามหัดทำด้วยตัวเอง เพราะเขาไม่สอนกัน ค้นคว้าทดลองทำจนสามารถขายบนออนไลน์ได้ ตอนแรกทำเพื่อการขายอย่างเดียว แต่เมื่อมีคนมาถามว่าแล้วเชิดหุ่นอย่างไร นั่นซิ เชิดไม่เป็น เชิดอย่างไรล่ะ ผมจึงตัดสินใจไปขอเรียนกับคุณยายชื้น (ชูศรี สกุลแก้ว: ศิลปินแห่งชาติ) เอาหุ่นที่ผมทำไปให้ท่านดู และขอให้ท่านช่วยสอน ซึ่งตอนนั้นท่านก็อายุ ๙๐ กว่าปีแล้ว ผมน่าจะเป็นลูกศิษย์รุ่นสุดท้ายของท่านแล้ว คุณยายว่าแค่เธอมาชั้นก็ดีใจแล้ว นอกจากท่านจะคิดแค่ยกครูเพียงแค่ ๑๒ บาท กับดอกไม้ธูปเทียนเป็นค่ากำนลแล้ว ท่านยังทำอาหารและขนมโบราณแสนอร่อย ที่หารับประทานไม่ได้ทั่วไป เช่น เมี่ยงปลาทู ม้าฮ่อ ฯลฯ ไว้คอยเราทุกเสาร์อาทิตย์ที่เข้าไปเรียนเชิดหุ่นกับท่านที่บ้าน ท่านสอนว่าการเชิดนั้น จะต้องเรียนท่ารำ ต้องรู้จักท่ารำในแต่ละเพลง ทั้งเพลงเชิด เพลงโอด ทีแรกผมคิดว่าไปเรียนวันเดียวก็น่าจะเชิดได้ สุดท้ายแค่ท่ากล่อมหรือท่าเดินท่าเดียว ผมเรียนอยู่ปีกว่ายากมาก เรียนจนคุณยายชมว่าเธอเชิดสวยนะ เชิดเป็นนังตอแหลจะดีมาก เธอเชิดเหมือนชั้น เธอเชิดสนุก ทำต่อไป อย่าทิ้งนะ”
"สิ่งที่ผมได้จากท่าน มันมากกว่าความรู้ คือ ความเมตตาและจิตวิญญาณในความเป็นครูของท่าน ผมซึบซับได้ถึงความสุขที่ท่านได้รับจากการถ่ายทอดวิชาเหล่านั้น คุณยายชื้นสอนผม ทำให้ผมประทับใจ และอยากส่งต่อองค์ความรู้เหล่านั้นให้กับคนอื่นบ้าง ซึ่งทีแรกผมเองก็ไม่คิดว่าจะสอนใคร เพราะกว่าเราจะค้นพบเทคนิค ผสมเรซิ่นยังงัยไม่ให้หด ปิดทองคำเปลวยังงัยให้เนียน น้ำยาผสมยังงัย ใส่แคลเซียมเท่าไหร่ กว่าจะได้สูตรที่ดี ลองมาแล้วทุกอย่าง เสียเวลาไปมาก ตอนนั้นบอกได้เลยว่ามีเงินแต่ไม่มีความสุข ก็มาคิดว่าเป็นเพราะว่าเราหวงวิชาใช่มั้ย เรางกใช่มั้ย จนมาพบคุณยายชื้น ท่านทำให้ผมเห็นความสุขที่ได้จากการให้ ผมก็เริ่มเปิดใจ ใครมาถามก็เริ่มบอกเริ่มสอน สุดท้ายก็ได้ความสุขมากมายอย่างที่คุณยายได้
"เมื่อมาถึงจุดหนึ่งที่จะต้องเลือก ผมจึงออกจากเอเจนซี่โฆษณามาทำหุ่นกระบอกอย่างจริงจัง และทำงานโฆษณาเป็นงานรองเพื่อเก็บเม็ดเงินมาพยุงงานหุ่นกระบอก ซึ่งทางครอบครัวผมทั้งคุณพ่อและคุณแม่ก็สนับสนุนผมอย่างเต็มที่ ท่านใช้ไม้ที่สะสมมาทั้งชีวิตสร้างบ้านเรือนไทยแห่งนี้ เพื่อให้เป็นพิพิธภัณฑ์หุ่นกระบอกไทย หลายปีที่ผมสอนแบบไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่กลับทำให้คนไม่ตั้งใจเรียน ตอนนี้เลยต้องเก็บค่าวัสดุบ้างเพื่อให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าของเงินที่เสียไป กลายเป็นตั้งใจเรียนมากขึ้น ทำได้สวยขึ้น หุ่นตัวใหญ่ใช้เงินค่าวัสดุไม่ต่ำกว่า ๖,๐๐๐ บาท ตัวรอง ๒,๕๐๐ บาท ตัวเล็กๆ ๑๐๐-๒๐๐ บาทแต่ถ้าคนไหนไม่มีจริงๆ ก็เรียนฟรีครับ การประดิษฐ์หุ่น มันต้องใช้ศิลปะหลายแขนง ใช้วัตถุดิบหลายอย่าง ทองคำเปลว ผ้าไหม ดิ้นทองจากญี่ปุ่นและอินเดีย คริสตัล swarovski จากสวิสเซอร์แลนด์ อย่างลูกตาหุ่นอย่างดีเมื่อก่อนซื้อเขานี่คู่ละ ๕,๐๐๐ พอทำเองได้เหลือ ๑,๕๐๐ ราคาขายหุ่นกระบอกจึงมีตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักแสน ขึ้นอยู่กับความปราณีตที่เราทำ”
ศูนย์วัฒนธรรมฯ ทำให้ผมรักศิลปะ
"ผมเริ่มจากการเป็นเด็กเดินตั๋วที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เพื่อจะได้ดูการแสดงฟรี ได้ค่าแรงวันละ ๔๐ บาท ได้กินข้าวฟรี เมื่อมองเห็นเวทีก็คิดว่าสักวันจะขึ้นไปยืนบนนั้นให้ได้ จากเด็กเก็บตั๋ว เมื่อเขาขาดคนกระทันหัน ก็ได้ขึ้นไปแสดงเป็นตัวประกอบ จนกระทั่งได้เป็นแดนเซอร์ของพี่เบิร์ด ธงชัย ผมจึงมีความผูกพันกับศูนย์วัฒนธรรมฯ เพราะเป็นที่ปลูกฝังให้ผมได้รักศิลปะและผมก็เริ่มการแสดงหุ่นครั้งแรกที่นี่หลังคุณยายชื้นจากไป ๑ ปี กรมส่งเสริมวัฒธรรมต้องการจัดงานเชิดชูเกียรติคุณยาย ผมจึงไปขอเขาเป็นแกนจัดงาน เป็นสิ่งสุดท้ายที่เราสามารถทำให้ท่านได้จัดอบรม จัดนิทรรศการ จัดการแสดง ใช้เวลาเตรียมงาน ๓ เดือน สร้างหุ่นขึ้นมาใหม่หมดเลย ๓๐ ตัว ระดมช่วยกันทุกหัวระแหง ทุกคนช่วยกันทำฟรีไม่คิดค่าใช้จ่าย ผมทำโรงหุ่นขึ้นมา กว้าง ๙ เมตร สูง ๖ เมตร ทำเป็นสองชั้นเต็มหอประชุมศูนย์วัฒนธรรมฯ เลย ผมใช้หลักการตลาด ทำแล้วต้องให้มันเปรี้ยง ต้องเป็นทอล์ก ออฟ เดอะทาวน์ให้ได้ แสดงเรื่องพระสุธน มโนราห์ ๔ ชั่วโมงเต็ม ใช้ระบบแสงสีเสียงทันสมัย ใช้คนพากษ์เสียงทีมอินทรีที่พากษ์อิคคิวซังมาพากย์เป็นมโนราห์ เวลาดูปุ๊บเหมือนเราดูละครหนึ่งเรื่อง เพลงที่บรรจุในวันนั้น อาจารย์ ดวงเนตร ดุริยพันธุ์ ท่านเป็นผู้บรรจุเอาไว้ให้ ไพเราะมาก แล้วเราก็ทำแบบนั้นแทบจะทุกปีที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย "ผมโชคดีที่มาทางสายงานครีเอทีฟโฆษณา ผมได้ใช้วิชาทั้งหมด ทั้งการตลาด การโฆษณาประชาสัมพันธ์ งานออร์แกไนซ์ ใช้เทคโนโลยีทุกอย่างในการแสดงหุ่นกระบอก ใส่ควัน เพิ่มซาวด์เอฟเฟกต์เข้าไป เพื่อให้การแสดงหุ่นกระบอกมันสนุกขึ้น ตื่นตาตื่นใจมากขึ้น คนดูวันนั้นแน่นมาก คนปรบมือกันเกรียว เล่นเสร็จมีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งอายุ ๗๐ กว่าได้เอาพวงมาลัยมากราบ ผมขนลุกเลย ผมบอกกราบผมไม่ได้ ผมอายุน้อยกว่า ท่านว่าทำต่อไปนะ ฉันชอบมาก นี่คือมิติที่จะทำให้หุ่นกระบอกไทยมันอยู่ได้ ทุกปีเราใช้เสียงบันทึก จนเราเริ่มมาใช้ดนตรีสดแบบโบราณดั้งเดิม พากย์เสียงสดเรื่องสังข์ทอง แต่ฉากเราไม่ได้ใช้เหมือนเดิมแล้ว เราใช้ Mapping Animation ใช้จอแอลอีดีเป็นฉากหลังที่เคลื่อนไหวได้ มีภูเขา มีน้ำตก มีนกบิน พากย์เสียงสนุกสนานเฮฮามาก เรื่องพระสุธน มโนราห์ ได้ถูกขอให้มาแสดงอีกครั้งที่โรงละครแห่งชาติ ได้รับเสียงปรบมือดังสนั่นอยู่ตรงกลางหอประชุม ซึ่งศาสตราจารย์ กิตติคุณ ดร.สุรพล วิรุฬรักษ์ ผู้ก่อตั้งคณะศิลปกรรม จุฬา) ได้เข้ามาร่วมชมอยู่ด้วย ที่แสดงเรื่องนี้ เพราะอาจารย์สุรพลท่านแนะนำตั้งแต่แรก ท่านอยากให้ทำเรื่องใหม่ๆ ที่เขายังไม่ทำกัน มโนราห์กล้าหรือเปล่า ท่านท้า ลองนึกดูนะครับ มโนราห์บูชายัญ คนรำก็ยากแล้ว นี่เป็นหุ่นกระบอกรำ แต่ท่านชมว่าทำได้เยี่ยมมาก”
"ต่อมาอาจารย์สุรพลได้แนะนำให้ผมทำงานวิจัยหุ่นกระบอกไทยให้กับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ผมเลยคิดทำเรื่องพันท้ายนรสิงห์ เพื่อเทิดพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ ๙ ในสัญญา ๑ ปี ส่งมอบหุ่นเพียง ๑๐ ตัว แต่ผมทำหุ่นใหม่ถึง ๓๐ ตัว เมื่อไปศึกษาประวัติศาสตร์แล้ว ท่านควรจะมีหน้าตายังไง นี่เป็นงานวิจัยระดับชาติ หน้าหุ่นไม่ได้ เลยทำใหม่อีกเป็น ๕๒ ตัว ตอนนั้นอาจารย์สุรพล โทรมาด่าว่าผมมันบ้าส่งงานได้แล้ว ผมบอกยังครับ ขออีก ๓ เดือน ขอแสดงก่อน ด้วยความที่ทำอะไร แล้วต้องทำให้สุด จึงไปจัดแสดงเป็นแนวมิวสิคัลที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ใช้ทีมงานเบื้องหลังกว่า ๖๐ ชีวิต เปิดให้เข้าชมฟรีครับ ได้เงินทำวิจัยมาล้านสี่แต่หมดไปสี่ล้าน โดยการแสดงรอบแรก คาดหวังคนดูไว้ ที่ ๓๐๐ คน แต่วันนั้นมีคนเข้ามาดูถึง ๖๗๐ คน เพิ่มได้จนได้ ๔๕๐ ที่นั่ง ที่เหลือต้องยืนชม ผมเห็นคนดูร้องไห้น้ำตาพรากหน้า ตอนที่พันท้ายนรสิงห์กำลังจะถูกประหารชีวิต ตอนนั้นผมแต่งเพลงเองเลยนะให้คุณเจี๊ยบ (วรรธนา วีรยวรรธน) และคุณฟอร์ด (สบชัย ไกรยูรเสน) ช่วยแต่งเพลงและทำดนตรี ให้ด้วย ทั้งสองท่านก็ทำให้ฟรี เพราะรู้ว่าเราทำเทิดพระเกียรติ น้องใหม่เอ็กแฟกเตอร์มาร้องให้ฟรี พี่ม๊อกมาพากย์ให้ฟรี คนล้นจนต้องเพิ่มเป็น ๕ รอบ ในรอบแรกที่การแสดงจบ ศาสตราจารย์ กิตติคุณ ดร.ศักดา ปั้นเหน่งเพ็ชร์ และศาสตราจารย์ กิตติคุณ ดร.สุรพล วิรุฬรักษ์ ได้ขึ้นมาวิจารณ์กลางเวที ท่านให้ระดับยอดเยี่ยม แล้วก็บอกผมว่า ผมได้ยกมาตรฐานงานวิจัยให้สูงขึ้น ใครมาทำงานวิจัยต่อจากคุณลำบากแล้วล่ะ”
หลังจากนั้น ๑ ปี ทางสถาบันวิจัยมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้จัดงานวิจัยศาสตร์และศิลป์นานาชาติที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ได้เชิญให้เราไปเล่นอีกครั้ง หอประชุมใหญ่มาก เราใช้เวลา ๒ วัน เนรมิตรหอประชุมให้เป็นโรงละครเดอะมิวสิคัล สำหรับคน ๑,๘๐๐ ที่นั่ง เพื่อแสดงพันท้ายนรสิงห์ในภาคที่แก้ใขปรับปรุงจนจนสมบูรณ์แบบ คนล้นจนต้องเปิดแสดงถึง ๓ รอบ อาจารย์สุรพลท่านว่า นี่แหละคืองานวิจัยศาสตร์และศิลป์ที่ประเทศชาติต้องการ”
ฉันจะทำหุ่นไปตลอดชีวิต
"จำได้เลยว่าตอนที่ทำเรื่องพันท้ายนรสิงห์ มันเหนื่อยมาก คิดว่าเสร็จเรื่องนี้แล้วจะเลิกทำแล้วนะ ทำจนเงินหมด จนติดลบ แต่พอมันปิดฉากไปแล้วเนี่ยไม่สามารถพูดคำนั้นได้เลย เพราะคนดูปรบมือไม่หยุด มันเป็นกำลังใจที่ดีเยี่ยม เป็นยาหอมสำหรับชีวิต สำหรับครอบครัวผม อย่างแม่ผมป่วยนอนอยู่โรงพยาบาล เพิ่งผ่าสมองเป็นครั้งที่ ๒ พอบอกมีการแสดงหุ่นศูนย์วัฒนธรรมฯ ท่านลุกจากเตียงขึ้นมาดูการแสดงเฉยเลย นี่คือพลังจากงานศิลปะที่ส่งไปให้เขา ศิลปะมันเยียวยาได้ ตอนนั้นก็คิดใหม่เลยว่า ฉันจะทำหุ่นไปตลอดชีวิต จากที่ใครๆ คิดว่าผมบ้า แต่พ่อกับแม่ไม่เคยคิดว่าผมบ้าเลย คนที่ทำให้หุ่นกระบอกไทยอยู่ได้จริงๆ ไม่ใช่ตัวผมหรอก คือกำลังใจจากพ่อแม่นี่แหละ ทำให้เราคิดได้ว่าสิ่งที่เราทำย่อมเหนื่อย ย่อมมีอุปสรรคเป็นของธรรมดา”
"จากนั้นอาจารย์สุรพลก็แนะนำให้ผมเรียนต่อปริญญาโทที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยทำวิจัยนวัตกรรมการแสดงหุ่นกระบอกไทย เรื่อง พระเนมิราช เป็นชาดกที่ ๔ ใน ๑๐ ชาติสุดท้ายของสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่กล่าวถึงการคติธรรมในการบำเพ็ญอธิษฐานบารมี เป็นการสอนให้ทำความดีละเว้นความชั่ว ผ่านการแสดงหุ่นกระบอก ในการทำงานผมมักเอาหลักการโฆษณา มาร์เก็ตติ้ง มาผสมกับการทำงานศิลปะเสมอ ทำแล้วจะขายใคร ให้ใครดู ดูที่ไหน ดูอย่างไร อย่างพระเนมิราช พระราชาผู้ท่องนรก-สวรรค์ ผมทำออกมาในรูปแแบบตัวการ์ตูน เพื่อให้เด็กๆ เข้าใจง่าย เพราะกลุ่มเป้าหมายคือ นักเรียนและเยาวชน ในคอนเซ็ปต์ สวยๆ ง่ายๆ ถูกๆ ทุกโรงเรียนสามารถมีโรงหุ่นเป็นของตนเองได้ นี่คือนวัตกรรมไหม่ ใช้ร่มแม่ค้าเพียง ๖๐๐ บาท แทนฉากหมุนได้ ๓๖๐ องศา มีโปรเจกเตอร์ ๑ เครื่อง ก็สามารถทำเป็นมัลติมีเดียได้แล้ว คุณทำโฮโลแกรมได้ คุณทำหุ่นจากวัสดุเหลือใช้ได้ เรื่องนี้สอนให้เด็กทำความดีละความชั่วเพราะกลัวตกนรก เราแสดงถึง ๓๐ รอบ โชคดีที่ทางสำนักงานศิลปะวัฒนธรรมร่วมสมัยให้การสนับสนุนในการเผยแพร่ เลยได้แสดงตามโรงเรียนต่างๆ และได้แสดงที่ศูนย์วัฒนธรรมฯ ๒ รอบ ซึ่งพอทุกคนดูแล้วก็ยกมืออยากดูเรื่องต่อๆ ไป ตอนนี้ผมกำลังศึกษาต่อปริญญาเอกที่จุฬา เพื่อให้เรามีคุณวุฒิทางการศึกษาที่จะสอนคนได้ทุกระดับชั้น”
"ต้องขอบพระคุณทุกท่าน ที่พยายามหาพื้นที่ให้เรามีงานแสดงมากขึ้น ทำให้เราพออยู่ได้ ส่วนใหญ่จะเป็นงานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่น งานความสัมพันธ์ ๔๐ ปี ไทย-เวียดนาม ก็ไปแสดงที่โฮจิมินห์ แถบยุโรป ก็มีฝรั่งเศส สวีเดน สวิสเซอร์แลนด์ อเมริกา เป็นต้น แม้เราจะมีแฟนคลับ ผู้สูงวัยที่ชอบการแสดงของเรา แต่เราก็ยังต้องปรับปรุงพัฒนาทั้งตัวหุ่นและเทคนิคต่างๆ อยู่เรื่อยๆ เพื่อให้หุ่นกระบอกไทยเข้าไปนั่งอยู่ในใจของเด็กๆ ให้ได้ ทุกวันนี้ผมก็ยังศึกษากลไกของหุ่นอยู่ ปีหนึ่งก็ไปดูงาน ๒-๓ ครั้ง กลไกของหุ่นแต่ละประเทศมันก็ไม่เหมือนกัน อย่างการกระพริบตานี่ ญี่ปุ่นกดลงแต่พม่า ดึงเปลือกตาขึ้น ของจีนก็เป็นอีกแบบ ตอนนี้ทดลองทำหุ่นออกมาในรูปแบบการ์ตูน ซึ่งขายดีมาก มียอดสั่งซื้อเดือนละเกือบพันตัว จริงๆ แล้วชาวต่างชาติมาที่นี่บ่อยมาก อย่างญี่ปุ่น เกาหลีก็มาหลายครั้ง เมื่อปีที่แล้วเขาเชิญเราไปร่วมงานหุ่นนานาชาติที่ฮันดง สุดท้ายให้เราเป็นไดเรคเตอร์ประจำงาน ทางเกาหลีน่ารักมาก สร้างโรงละครหุ่นกระบอกให้เราไปเล่นถึง ๑ เดือนเต็ม”
ด้วยประสบการณ์ในวัย ๔๘ ปี อาจารย์นิเวศ แววสมณะ ไม่เพียงแต่จัดการอบรมเกี่ยวกับการทำหุ่นและเชิดหุ่นกระบอกให้แก่ประชาชนที่สนใจเท่านั้น ในแต่ละปีเขาและลูกศิษย์คณะเชิดหุ่น "บ้านตุ๊กกะตุ่น หุ่นกระบอกไทย” ยังไปตระเวนไปแสดงตามโรงเรียนในจังหวัดต่างๆ แทบทุกจังหวัดทั้งในชนบท และในต่างประเทศเกือบ ๔๐ ประเทศ กิจกรรมที่ไม่แสวงหาผลกำไรเหล่านี้ ได้รับเงินสนับสนุนจากรายได้ในการทำโฆษณาของเขา และจากผู้ให้สนับสนุนภาคภาครัฐและเอกชน อาทิ กรมส่งเสริมวัฒนธรรมกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการต่างประเทศ เป็นต้น หุ่นกระบอกยุคใหม่เป็นอะไรที่คุณไม่ควรจะพลาดชมแล้ว หากท่านใดมีเวลาแวะไปชมการแสดงหุ่นกระบอกได้ที่ศูนย์วัฒนธรรมฯ ตามเทศกาลต่างๆ หรือ ที่บ้านตุ๊กกะตุ่น หุ่นกระบอกไทย มีการอบรมการทำหุ่นและ การแสดงเชิดหุ่น ทุกเสาร์-อาทิตย์สุดท้ายของเดือน (รับได้รอบละ ๖๐-๘๐ ท่าน)
บ้านตุ๊กกะตุ่น หุ่นกระบอกไทย ตั้งอยู่ที่ ๑/๕ หมู่ที่ ๑ ซอยวิภาวดี ๖๐ แยก ๑๘-๑-๖-๔-๓ ถนนวิภาวดีรังสิต เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ตัวพิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๙.๓๐-๑๗.๐๐ น. ผู้ที่สนใจเข้าชมหรือสนใจเข้าร่วมอบรมการประดิษฐ์และการเชิดหุ่นกระบอกไทย กรุณาติดต่อล่วงหน้าที่ โทร. ๐ ๒๕๗๙ ๘๑๐๑, ๐ ๒๙๐๔ ๗๙๖๙, ๐๘ ๑๙๓๔ ๖๖๙๙ หรือสามารถดูรายละเอียดเกี่ยวกับหุ่นกระบอกได้ที่ www.tookkatoon.com
เกร็ดประวัติน่ารู้เรื่องหุ่นไทย
หุ่นหลวง หุ่นละครเล็ก หุ่นกระบอก แตกต่างกันอย่างไร
หุ่น เป็นหนึ่งในนาฏศิลป์ไทย ที่รวมศิลปศาสตร์เกือบทุกแขนงแห่งสกุลช่างไทยหรือช่างสิบหมู่ไว้ด้วยกัน ทั้งการปั้นขึ้นรูปหัวหุ่น งานจิตรกรรมเขียนหน้าหุ่น การกลึงยอดชฎา การบุโลหะทำเครื่องประดับ การลงรักปิดทอง การปักผ้าเป็นเครื่องแต่งกายและฉาก การเชิด การขับร้อง ร่ายรำ ที่สำคัญที่สุดคือการบังคับหุ่น หรือที่เรียกว่า ‘ช่างพยนต์’ หมายถึงช่างผู้ใส่กลไกให้หุ่นสามารถขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวได้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นงานยากที่สุดของงานช่าง นอกจากตัวหุ่นแล้ว ยังมีโรงหุ่น ฉาก และดนตรี วิธีการเชิดแสดง เนื้อเรื่องที่นำมาแสดง
หุ่น เป็นมหรสพ ที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา มักเล่นสมโภชในงานสำคัญต่างๆ (จากหลักฐานที่ปรากฏในกฎหมายเก่า ซึ่งตราขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น เมื่อปีพุทธศักราช ๑๙๑๙ กล่าวถึงบรรดาศักดิ์ "หลวงทิพยนต์” ข้าราชการตำแหน่งช่างหุ่น หนึ่งในช่างสิบหมู่) หุ่นส่วนมากทำจากไม้ที่มีน้ำหนักเบาแต่มีความทนทานได้รับความนิยมอย่างยิ่งในสมัยรัชกาลที่ ๕
หุ่นหลวง คือหุ่นที่เล่นเฉพาะในวังหลวงหรือเฉพาะหน้าพระพักตร์ มีขนาดสูง ๑ เมตร มีเครื่องแต่งกายคล้ายกับโขนละคร มีกลไกที่ ซับซ้อนมากแต่ออกแบบให้เชิดได้เพียงคนเดียวเท่านั้น ประกอบด้วยเชือกที่ขึงเป็นกลไกซึ่งเรียกว่าเส้นแม่ประธาน ตั้งแต่ ๑๖ -๒๐ เส้นต้องใช้นิ้วทั้งสิบบังคับเชือกที่ซ่อนอยู่ใต้ฐานล่างของหุ่น โดยที่คนดูจะมองไม่เห็นผู้เชิด เมื่อมีการยุบกรมมหรสพลงไป หุ่นหลวงก็แทบจะสาบสูญไป ต่อมากรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ (วังหน้าองค์สุดท้าย) ได้ทรงประดิษฐ์หุ่นที่มีความปราณีต วิจิตร แต่มีความสูงเพียง ๕๐ เซนติเมตร เรียกกันว่า หุ่นเล็ก หรือ หุ่นวังหน้า ตัวเล็ก เชิดง่ายไม่ซับซ้อนเท่าหุ่นหลวง (ปัจจุบันจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)
หุ่นละครเล็ก นายแกร ศัพทวนิช ได้สร้างขึ้นเลียนแบบหุ่นหลวงอีกที ต่างกันที่การบังคับและลีลาการเชิดหุ่น เรื่องราวส่วนใหญ่ที่เล่นเป็นวรรณคดีไทย เช่น พระอภัยมณี แก้วหน้าม้า โดยหุ่น ๑ ตัว ใช้ผู้เชิด ๓ คน ต่อมาได้ตกทอดมาถึงนายสาคร ยังเขียวสด (โจหลุยส์) ศิลปินแห่งชาติสาขา ศิลปะการแสดง (ละครเล็ก) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๓๙ ซึ่งท่านได้สร้างและพัฒนารูปแบบการเชิดขึ้นมาใหม่ ให้ออกมาเชิดอยู่ด้านนอก เพื่อให้ผู้ชมได้เห็นลีลาของผู้เชิดไปพร้อมๆ กับหุ่น
หุ่นกระบอก มีขนาดเล็กกว่าหุ่นหลวง ว่ากันว่าเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ ดังปรากฏในหนังสือสาส์นสมเด็จ ซึ่งนิพนธ์โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ กล่าวถึงคราวที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ เสด็จตรวจราชการที่สุโขทัย พระยาสุโขทัย ได้หาหุ่นนายเหน่ง เมืองสุโขทัยมาแสดงให้ทอดพระเนตร ซึ่งนายเหน่งได้คิดประดิษฐ์หุ่นไทยเลียนแบบจากหุ่นจีนไหหลำ เล่นจนเป็นที่นิยมในแถบเมืองเหนือ เมื่อ ม.ร.ว.เถาะ พยัคฆเสนา มหาดเล็กของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ได้ดูการแสดงหุ่นในครั้งนั้นด้วย จึงได้กลับมาสร้างคณะหุ่นกระบอกขึ้นที่กรุงเทพฯ ราว พ.ศ. ๒๔๓๖ แสดงจนเป็นที่นิยมในวงกว้างอย่างรวดเร็ว เรียกกันเมื่อแรกว่า หุ่นเลียนอย่างเมืองเหนือ หรือเรียกว่า หุ่นคุณเถาะ ต่อมาภายหลังจึงเรียก หุ่นกระบอก ตามลักษณะที่ใช้กระบอกไม้ไผ่เป็นแกนตัวหุ่น มักแสดงในงานราษฎร์มากกว่างานหลวง เล่นแก้บน ทำขวัญนาค และงานมงคลต่างๆ ทำให้มีหุ่นกระบอกเกิดขึ้นตามมาหลายคณะ อาทิ หุ่นพระองค์เจ้าสุทัศน์ฯ หุ่นพระองค์เจ้าอนุสรฯ หุ่นจางวางต่อ หุ่นจางวางทั่ว แต่คณะที่เป็นที่นิยมอย่างมาก ก็คือคณะของ ม.ร.ว.เถาะ ซึ่งมีผู้เชิดหุ่นที่มีความสามารถสูงหลายคน หนึ่งในนั้นคือ "นายเปียก ประเสริฐกุล” ซึ่งเติบโตมาในบ้านของท่านและหัดเชิดหุ่นมาตั้งแต่วัยเยาว์ และได้มีโอกาสแสดงต่อหน้าพระที่นั่ง เมื่อคราวพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพรจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ.๒๔๓๖ ณ พระราชวังบางปะอิน ด้วยอายุเพียง ๑๖ ปี โดยเชิดหุ่นกระบอกเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนแต่งงานพระไวย เป็นที่ต้องพระทัยรัชกาลที่ ๕ ยิ่งนัก จนถึง พ.ศ. ๒๔๔๒ นายเปียกจึงได้ตั้งคณะหุ่นกระบอกของตนเองขึ้น และสืบทอดมาสู่บุตรสาว คือครูชื้น (ชูศรี สกุลแก้ว) ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หุ่นกระบอก) ประจำปี ๒๕๓๐ ผู้ที่เกิดมาในโรงหุ่นและคลุกคลีกับการแสดงหุ่นกระบอกมาตลอดชีวิต ท่านได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้กับลูกศิษย์ลูกหาผู้มีใจรักศิลปะแขนงนี้มากมาย อาทิ อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต (ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ปี พ.ศ. ๒๕๔๓) และอาจารย์นิเวศน์ แววสมนะ เป็นต้น
ข้อมูล : วารสารวัฒนธรรม ฉบับที่ ๒ ปี ๒๕๖๒