เรื่อง/ภาพ : ดร.บำรุง พาทยกุล
ครูเตือน พาทยกุล
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย)
ครูเตือน พาทยกุล ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นชาวจังหวัดเพชรบุรีโดยกำเนิด เกิดเมื่อวันเสาร์ เดือน ๓ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีมะเส็ง พุทธศักราช ๒๔๔๘ ตรงกับวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๘ เป็นบุตรนายพร้อม และนางตุ่น พาทยกุล สมรสกับนางกิมไล้ ตวงทอง มีบุตรธิดารวม ๕ คน ปัจจุบันเสียชีวิตหมดทุกคน หลังจากที่นางกิมไล้ เสียชีวิต ได้สมรสกับนางบุญเรือง วรางกูร มีบุตรธิดา ๕ คน ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว ๒ คน ยังมีชีวิตอยู่ ๓ คน
ครูเตือน พาทยกุล ในวัยเยาว์อยู่กับครอบครัวที่เป็นนักดนตรี ทั้งปู่และบิดา โดยเริ่มฝึกหัดดนตรีไทยอย่างจริงจังเมื่ออายุ ๗ ขวบ โดยตีฆ้องวงใหญ่เพลงสาธุการเป็นเพลงแรก และต่อเพลงต่างๆ ในชุดโหมโรงเย็นเป็นพื้นฐานจากปู่ต้มและปู่แดงเป็นหลัก จนอายุครบ ๑๐ ปี บิดาเห็นว่าเป็นผู้มีความสนใจและมีใจรักทางดนตรี จึงได้ถามความสมัครใจในการเรียนดนตรี ซึ่งเมื่อบิดาได้รับคำตอบจากบุตรชายแล้วว่า รักและต้องการที่จะเรียนดนตรีอย่างจริงจัง บิดาจึงนำไปฝากตัวเป็นศิษย์กับครูจางวางทั่ว พาทยโกศล ที่บ้านหลังวัดกัลยาณมิตร ฝั่งธนบุรี
ในการใช้ชีวิตเรียนและอยู่กินในบ้านเครื่องร่วมกับศิษย์คนอื่นๆ นั้น เริ่มจากวันแรกที่ไป ได้นำดอกไม้ธูปเทียนและเงินกำนลขึ้นไปไหว้บูชา ทั้งพระ และครู หน้าหิ้งบูชาบนชั้นสองของบ้านท่านครูจางวางทั่ว พาทยโกศล ในวันแรกที่ครูเตือนได้เข้ามาเป็นศิษย์นั้น ยังมีศิษย์ใหม่ที่เข้ามาในวันเดียวกันอีกสองคนคือ นายสาลี่ จากอัมพวา และนายผ่อน จากบางขุนเทียน ซึ่งเมื่อได้ฝากตัวเป็นศิษย์แล้วครูจางวางทั่ว ก็ได้เริ่มให้ศิษย์ทั้งสามคนฝึกหัดเครื่องดนตรี ตามที่ครูจางวางทั่วกำหนด คือครูเตือน ให้หัดระนาดเอก นายสาลี่หัดปี่ใน นายผ่อน หัดตีตะโพน โดยครูเตือนเริ่มเรียนระนาดเอกเพลงทะแย สองชั้นเป็นเพลงแรก และต่อมาก็ได้เรียนเพลงหรือต่อเพลงประเภทต่างๆ เป็นลำดับมา ประกอบด้วย เพลงเสภา เพลงสามชั้น เพลงเถา เพลงเรื่อง เพลงตับ เพลงเกร็ด เพลงหน้าพาทย์ และเพลงเดี่ยว ทั้งที่ต่อจากครูจางวางทั่วเอง และต่อจากนายช่อ นายฉัตร ศิษย์รุ่นพี่ที่ครูจางวางทั่วมอบหมายให้เป็นผู้ต่อเพลงแทนท่าน
เพลงที่ครูเตือนได้ต่อและเรียน ประกอบด้วย ประเภทเพลงโหมโรงเสภา ได้แก่ โหมโรงไอยเรศ โหมโรงกัลยาณมิตร โหมโรงขวัญเมือง โหมโรงประเสบัน เป็นต้น
ประเภทเพลงสามชั้น ได้แก่ เพลงพม่าห้าท่อน จระเข้หางยาว สี่บท บุหลัน เทพบรรทม ภิรมย์สุรางค์ สารถี เขมรปี่แก้ว เขมรราชบุรี ทยอยเขมร แสนเสนาะ แป๊ะ อาเฮีย มอญแปลงเห่ ทยอยใน ทยอยนอก เป็นต้น
ประเภทเพลงเถา ได้แก่ เพลงหกบท คุณลุงคุณป้า หงส์ทอง เขมรพวง ใบ้คลั่ง แขกเห่ แขกไทร แขกสาหร่าย แขกมอญบางขุนพรหม พม่าเห่ เขมรปากท่อ เป็นต้น
ประเภทเพลงเรื่อง ได้แก่ เพลงเรื่องสี่เกลอ จีนแส เต่ากินผักบุ้ง ต้นมอญแปลง ฉิ่งพระฉัน สร้อยสน นางหงส์ นกสีชมพู สิบสองภาษา เป็นต้น
ประเภทเพลงตับได้แก่ ตับนางลอย พรหมาสตร์ นาคบาศ พระลอ จูล่ง แม่งู นกโพระดก มอญกละ เป็นต้น
ประเภทเพลงหน้าพาทย์ ได้แก่ เพลงตระนิมิต ตระเชิญ คุกพาทย์ เสมอเถร เสมอมาร เสมอผี เป็นต้น ประเภท
เพลงเดี่ยว ได้แก่ เพลงเดี่ยว พญาโศก สารถี แขกมอญ เชิดนอก ดอกไม้ไทร กราวใน ลาวแพน เป็นต้น
ครูเตือน ได้เรียนดนตรีที่บ้านครูจางวางทั่ว พาทยโกศล จนมีความรู้ความสามารถ ในการบรรเลงเครื่องดนตรีไทยได้รอบวงอย่างช่ำชอง จนอายุ ๒๑ ปี จึงออกจากบ้านเครื่อง เพื่อจะไปประกอบอาชีพที่บ้านเกิด จังหวัดเพชรบุรี แต่เนื่องจาก ศิษย์ร่วมสำนักชื่อนายปุ่น คงศรีวิไล ชักชวนให้ไปช่วยตั้งวงที่บ้านของนายปุ่นก่อน ครูเตือน จึงเปลี่ยนใจไปช่วยนายปุ่นก่อนด้วยความเต็มใจและได้อยู่บ้านนายปุ่นนานถึง ๒ ปี ได้ช่วยสอนปี่พาทย์ให้นักดนตรีในวงของนายปุ่นจนสามารถตั้งวงได้ ออกบรรเลงรับงานทั่วไปจนเป็นที่เรียบร้อย เป็นการเสริมประสบการณ์ให้กับ ครูเตือน ให้สูงขึ้น เป็นแนวทางให้ครูเตือนกลับไปตั้งวงเป็นของตนเองที่จังหวัดเพชรบุรีในเวลาต่อมา จากนั้นครูเตือนก็เดินทางกลับจังหวัดเพชรบุรี ตั้งวงปี่พาทย์ของครูเตือนเอง โดยใช้วิธีการชักชวน นักดนตรีที่เคยเป็นนักดนตรีในวงของปู่และบิดามาร่วมวงในนามของวงครูเตือน พาทยกุล โดยมีครูเตือนเป็นหัวหน้าวงและบรรเลงระนาดเอกเอง รวมทั้งเป็นผู้ฝึกซ้อม ต่อเพลงเพื่อใช้บรรเลงในงานต่างๆ ได้เป็นกำลังสำคัญที่ช่วยบิดาได้เป็นอย่างดี เพราะจากการที่บิดาของครูเตือนว่าจ้างคณะลิเก คณะละครมาแสดงที่จังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดใกล้เคียงทางหัวเมืองปักษ์ใต้นั้น ครูเตือนก็ได้รับการมอบหมายจากบิดาให้เป็นผู้ควบคุมวงและเป็นผู้บรรเลงระนาดเอกให้กับคณะที่ควบคุมไปด้วย

ในระยะ ๒ ปีแรกที่ครูเตือนกลับมาอยู่บ้านที่จังหวัดเพชรบุรีนั้น ครูเตือนได้สอนดนตรีทั้ง วงปี่พาทย์และแตรวงจนสามารถไปบรรเลงในงานต่างๆ ได้ โดยเฉพาะแตรวงนั้นครูเตือนได้รับงานบรรเลงประจำที่โรงภาพยนตร์ของบริษัทพัฒนากร ที่ไปเปิดวิกสาขาจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งจัดให้ศิษย์สลับกันบรรเลงทั้งหน้าโรงภาพยนตร์และในภาพยนตร์และครูเตือนยังสร้างชื่อเสียงให้กับวงปี่พาทย์ของตน ด้วยการคว้ารางวัลการประกวดการบรรเลงเพลงชาติไทยของจังหวัดเพชรบุรี อีกทั้งครูยังเป็นผู้นำวงปี่พาทย์มอญและวงอังกะลุงเข้าไปในจังหวัดเพชรบุรีเป็นคนแรก นอกจากด้านดนตรีแล้ว ครูเตือนยังเป็นผู้มีความคิดสร้างสรรค์อีกด้วย เมื่อครั้งอยู่เพชรบุรีได้คิดนำขวดน้ำมาทำเลียนแบบระนาดเอก และการคิดประดิษฐ์ตะโพนและระนาดเอกย่อส่วนขนาดเล็กซึ่งทำด้วยตนเองทั้งสิ้น
ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ได้อพยพครอบครัวย้ายถิ่นฐานจากจังหวัดเพชรบุรีเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ เพราะเล็งเห็นเรื่องอนาคตของบุตรซึ่งควรจะได้รับการศึกษาที่ดีขึ้น ครูเป็นผู้ที่มองการไกล เป็นคนกล้าตัดสินใจ เป็นคนรักครอบครัวและบุตรมาก ส่วนเรื่องการประกอบอาชีพ ครูเตือนยังคงยึดอาชีพทางดนตรีด้วยการตั้งวงรับงานบรรเลงทั่วไป และรับทำเครื่องดนตรีขายให้กับผู้ที่มาว่าจ้างอีกด้วย
เมื่ออายุที่เริ่มมากขึ้น ครูเตือนได้เปลี่ยนแปลงแนวทางในการประกอบอาชีพจากการเป็นนักดนตรีอาชีพ ที่ต้องไปรับจ้างบรรเลงในงานต่างๆ มาเป็นครูพิเศษสอนดนตรีไทยในสถาบันการศึกษาหนึ่งของรัฐและเอกชนหลายแห่ง ที่จากการสอนดนตรีไทยดังกล่าว ครูเตือนจึงเริ่มประพันธ์เพลงใช้บรรเลงในโรงเรียนต่างๆ เริ่มจากการประพันธ์เพลงลาวต่อนกเถา เป็นเพลงแรกเมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๒ และต่อมาก็ได้ประพันธ์เพลงเพิ่มเติมขึ้นอีกหลายเพลง จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ครูเตือนได้สร้างสรรค์ประพันธ์เพลงไทยรวมได้ ๑๘ เพลง ได้แก่
• เพลงลาวต่อนกเถา
• เพลงโหมโรงเทพอัศวิน ๓ ชั้น
• เพลงนกจาก ๒ ชั้น ทางเปลี่ยน
• เพลงแขกมอญบางช้าง ๒ ชั้น ทางเปลี่ยน
• เพลงโหมโรงนางเยื้อง ๓ ชั้น
• เพลงโหมโรงสดุดีอัสสัมชัญ ๓ ชั้น
• เพลงโหมโรงศรีอยุธยา
• เพลงโหมโรงสามัคคีชุมนุม
• เพลงลาวดำเนินทราย ๒ ชั้น ทางเปลี่ยน
• เพลง ๑๐๐ ปี โรงเรียนอัสสัมชัญ เถา
• เพลงเพชรสามสี เถา
• เพลงนาคบริพัตร ๒ ชั้นทางเปลี่ยน
• เพลงโหมโรงเพชรพวง ๓ ชั้น
• เพลงโหมโรง ๘๕ ปี ๓ ชั้น
• เพลงโหมโรงเยื้องกราย ๓ ชั้น
• เพลงโหมโรงทั่วพระนคร
• เพลงแขกสะมิระ
• เพลงจันทร์กระพริบ
นอกจาการประพันธ์เพลงแล้ว ครูเตือนยังสร้างสรรค์และประดิษฐ์เครื่องดนตรีย่อส่วนไว้อีกมากมาย โดยครูได้แรงบันดาลใจจากการได้มีโอกาสซ่อมเครื่องดนตรีในวงปี่พาทย์ ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ที่ชำรุด จนนำไปสู่การสร้างและประดิษฐ์เครื่องดนตรีไทยย่อส่วนขนาดเล็กครบวง นอกจากเครื่องดนตรีย่อส่วนดังกล่าวแล้ว ยังได้ประดิษฐ์เครื่องดนตรีย่อส่วนขนาดจิ๋วที่วางบนฝ่ามือได้ ซึ่งครูเตือนได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทั้งที่เป็นวงปี่พาทย์เครื่องคู่ เครื่องใหญ่เครื่องดนตรีแต่ละชิ้น และไม่เพียงแต่เครื่องดนตรีย่อส่วนเท่านั้น ท่านยังได้ประดิษฐ์เครื่องดนตรีในจินตนาการอีกด้วย เช่น ระนาดขวด ซอปี๊บ ซอกระป๋อง ซอกระดองเต่า ซอสี่สาย และซอห้าสาย ขึ้นเป็นคนแรกของวงการดนตรีไทยด้วย
จากการที่ครูเตือนได้สร้างสรรค์ผลงานและทำประโยชน์ให้แก่วงการดนตรีไทยและสังคมทำให้ครูเตือนได้รับพระราชทานปริญญาบัตรกิตติมศักดิ์ สาขาดนตรีไทยของสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๔ และในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้พิจารณายกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) เข้ารับพระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อในพุธที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๖ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต นับว่าเป็นเกียรติประวัติสูงสุดในชีวิตศิลปินของ ครูเตือน พาทยกุล ครูเตือน พาทยกุล นับว่าเป็นศิลปินดนตรี ครูดนตรี นักประพันธ์เพลงดนตรีไทย ช่างผู้ประดิษฐ์เครื่องดนตรี ที่มีใจรักต่อดนตรีอย่างแท้จริงโดยตลอดชั่วชีวิตของครูเตือนชีวิตมีความผูกพันอยู่กับดนตรีมาตลอด
ครูเตือน พาทยกุล ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) พ.ศ. ๒๕๓๕ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๖ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ สิริรวมอายุได้ ๙๘ ปี