กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วัฒนธรรมประเพณี
ชิน ประสงค์ ดิน คือแม่แห่งประติมากรรม

วันที่ 12 ก.ค. 2562
 
เรื่อง : กัลยาณมิตร นรรัตน์พุทธิ
ภาพ : กองบรรณาธิการ
 
 
 
ชิน ประสงค์
ดิน คือแม่แห่งประติมากรรม
 
 
 
 
     ศิลปะสะท้อนความรู้สึกดีงาม
และในความงามของศิลปะแต่ละชิ้น ก็
สะท้อนตัวตนของศิลปิน
ผู้รังสรรค์ศิลปะชิ้นนั้นๆ เช่นกัน
 
     "ใครจะคิดว่าช่างหลวง ข้าราชการกรมศิลปากร ผู้สืบสานงานศิลปกรรมแบบไทยประเพณี ช่างสิบหมู่ จะสร้างงานศิลปะล้ำสมัย ที่ทะลุกรอบแบบเดิมๆ ให้เป็นงานที่ร่วมสมัย ที่ดูกี่ครั้งไม่เคยเก่า ประติมากรรมรูปสัตว์อันทรงพลังที่ถูกตัดทอนอย่างเรียบง่าย แต่แฝงไปด้วยจินตนาการ คือ ผลงานการรังสรรค์ของศิลปินอาวุโส ชิน ประสงค์ ที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ ให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) ประจำปี พุทธศักราช ๒๕๖๑
 
     ประติมากรเอกรุ่นใหญ่ วัย ๗๗ ปีนี้ ยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการปั้นพระบรมราชานุสาวรีย์ต่างๆ ขณะรับราชการเป็นประติมากร สังกัดสำนักสถาปัตยกรรมและหัตถศิลป์ กรมศิลปากร และเป็นผู้ปั้นสุนัขทรงเลี้ยงประดับพระเมรุมาศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ซึ่งนับเป็นเกียรติสูงสุดในชีวิตศิลปิน "อาจารย์ชิน ประสงค์” ที่ได้ถวายงานรับใช้ทั้งเบื้องหน้าในฐานะข้าราชการ และเบื้องหลังในฐานะสามัญชนสุดฝีไม้ลายมือเป็นที่ประจักษ์ชัด จนได้รับพระราชทานเป็นนายช่างผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านประติมากรรม กรมศิลปากร
 
     อาจารย์ชิน ประสงค์ เป็นช่างปั้นฝีมืออันดับต้นๆ ของวงการศิลปะ ในสาขาประติมากรรม ดั่งคำโบราณที่ว่า "ยิ่งแก่ยิ่งเก๋า” ผลงานชั้นครูของท่านที่ฝรั่ง เห็นแล้วต้องอึ้ง มักถูกจับจองโดยนักสะสมศิลปะระดับแถวหน้าของประเทศ ไม่เว้นแต่กระทรวงวัฒนธรรม ที่ต้องซื้องานของท่านไว้ให้อนุชนคนรุ่นหลังได้ศึกษา อาจารย์ชิน ประสงค์ ได้ตกผลึกทางความคิดในการสร้างงานประติมากรรมชั้นยอด ด้วย เป็นผู้หลงรักศิลปะแนวนามธรรมมานาน ท่านจึงสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมรูปสัตว์ที่ตัดทอนรายละเอียด ดัดแปลงรูปทรงตามแนวนามธรรม ที่มีความอ่อนช้อย สง่าง่าม ทรงพลัง และร่วมสมัย ชีวิตที่มีไฟหลังเกษียณ ทำให้ท่านมีเวลาและก้าวสู่การเป็นศิลปินอย่างเต็มตัว ท่านยังคงทำงานในชินอาร์ตสตูดิโอที่สร้างขึ้น ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา ย่านวัดแดง ไทรม้า ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่าน
 
 
     แน่นอนว่าท่านย่อมมีครูดี ท่านได้รับการถ่ายทอดความรู้จากอาจารย์สนั่น ศิลากร (ประติมากรเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์) อาจารย์เขียน ยิ้มศิริ และอาจารย์ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) ปี ๒๕๒๙ และศาสตราจารย์ชลูด นิ่มเสมอ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) ปี ๒๕๔๑ รวมทั้งอาจารย์เสวต เทศธรรม ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) ปี ๒๕๖๐ ที่จุดประกายความคิด คอยวิจารณ์ จนเกิดแนวทางสร้างงานของตนเองให้มีพลัง และมีเอกลักษณ์ อันโดดเด่น หรือที่เรียกกันว่า มีลายเซ็นเป็นของตนเอง ที่พอเห็นก็ทราบว่านี่เป็นผลงานของอาจารย์ชิ
 
     อาจารย์ชิน ประสงค์ เกิดเมื่อวันที่ ๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ จังหวัดนนทบุรี เข้าศึกษาระดับประถม ๑-๔ ที่โรงเรียนวัดแดง ระดับมัธยม ๑-๖ ที่โรงเรียนศรีบุณยานนท์ และได้เข้าเรียนศิลปศึกษาที่วิทยาลัยช่างศิลป์ จากนั้นก็พัฒนาฝีมือตัวเองจนสามารถสอบเข้าศึกษาระดับปริญญาศิลปบัณฑิตจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จบการศึกษาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ (ท่านเป็นนักศึกษารุ่นสุดท้ายที่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ออกข้อสอบภาคปฏิบัติ) จากนั้นได้สอบบรรจุเข้ารับราชการที่สำนักสถาปัตยกรรมและหัตถศิลป์ กรมศิลปากร (ปัจจุบันคือสำนักช่างสิบหมู่) จนมาเป็นผู้อำนวยการส่วนประติมากรรม และตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณคือเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะด้านประติมากรรม กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม (ในด้านชีวิตส่วนตัวอาจารย์ชิน ประสงค์ ได้สมรสกับคุณสุนทรีซึ่งเป็นศิลปินวาดรูป และมีทายาท ๒ คน คือคุณปิยะธิดาและคุณพิชพงศ์ ซึ่งคุณพิชพงศ์ บุตรชายก็ได้รับการถ่ายทอดวิชาปั้นจากบิดา และเป็นประติมากรเช่นกัน)
 
     อาจารย์ชิน ประสงค์ ได้เป็นวิทยากรถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางศิลปะ และเป็นที่ปรึกษาให้แก่ผู้ที่สนใจงานด้านประติมากรรม ท่านได้ร่วมแสดงนิทรรศการในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติหลายครั้ง
 
 
     ตลอดอายุงานราชการในส่วนงานประติมากรรม สำนักช่างสิบหมู่ นั้นอาจารย์ชิน ได้รังสรรค์ผลงานปั้นประติมากรรมไว้มากมายผลงานชิ้นสำคัญๆ อาทิ
 
  • พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ประดิษฐาน ณ ค่ายลูกเสือแห่งชาติ จังหวัดชลบุรี
  • ระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จังหวัดสุราษฎร์ธานี
  • พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สวนสาธารณะทุ่งนาเชย หน้าโรงพยาบาลพระปกเกล้าฯ จังหวัดจันทบุรี
  • อนุสาวรีย์พระยาไชยบูรณ์ จ.แพร่
  • อนุสาวรีย์พ่อขุนผาเมือง ที่ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์
  • อนุสาวรีย์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ที่ค่ายภาณุรังษี จ.ราชบุรี
  • ออกแบบพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช หน้าเทศบาล เกาะคา จ.ลำปาง
  • พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเอกาทศรถ จ.พิษณุโลก
  • ออกแบบพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ ทุ่งภูเขาทอง จ.พระนครศรีอยุธยา
  • พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ โรงพยาบาลสมเด็จ
  • พระนเรศวรมหาราช จังหวัดพิษณุโลก
  • ภาพแกะสลักหินนูนต่ำ พระกรณียกิจสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่นิเวศสถาน ย่านคลองสาน
  • ออกแบบและอํานวยการสร้างพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี ประดิษฐานที่สวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ๑๒ แห่งทั่วประเทศ
  • พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ บริเวณเชิงสะพานพระราม ๘ ฝั่งธนบุรี พ.ศ. ๒๕๓๔ - ๒๕๔๕ (เป็นแบบที่ขยายจากผลงานปั้นของ อ.ศิลป์ พีระศรี)
  • ประติมากรรมสุนัขทรงเลี้ยงทั้ง ๑๒ สุนัข ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๓ - ๒๕๕๙ ถวายในหลวงรัชกาลที่ ๙ ก่อนเสด็จสวรรคต
     ท่านมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติสูงสุดในชีวิตในการถวายงานแด่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เป็นครั้งสุดท้ายในชีวิต คือการได้รับมอบหมายจากกรมศิลปากร ให้ปั้นประติมากรรม "คุณทองแดงและคุณโจโฉ” สุนัขทรงเลี้ยง เพื่อนําไปประดับด้านซ้ายพระจิตกาธาน บนพระเมรุมาศของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ซึ่งใช้ระยะเวลาทำงานทั้งสิ้น ๘ เดือน แม้จะเกษียณอายุราชการแล้วก็ตาม อาจารย์ชินยังคงทำงานปั้นที่อาจารย์รักมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน นับเป็นศิลปินชั้นครูอีกท่านที่เราควรต้องศึกษาผลงานของท่าน เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างงานประติมากรรมชั้นดีต่อไป เพราะผลงานของท่านนั้นคู่ควรและสมศักดิ์ศรีอย่างยิ่งกับคำว่าศิลปินแห่งชาติโดยแท้
 
 
ข้อมูล : วารสารวัฒนธรรม ฉบับที่ ๒ ปี ๒๕๖๒
http://magazine.culture.go.th/2019/2/index.html
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)